พุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนหนึ่งของ ประวัติพุทธศาสนา |
|
ศาสดา | |
จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา | |
พ้นทุกข์ / ความดับทุกข์ | |
ไตรสรณะ | |
ความเชื่อและการปฏิบัติ | |
ศีล · ธรรม ศีลห้า · เบญจธรรม · ศีลแปด บทสวดมนต์และพระคาถา |
|
คัมภีร์และหนังสือ | |
พระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก · พระสุตตันตปิฎก · พระอภิธรรมปิฎก |
|
นิกาย | |
เถรวาท · อาจริยวาท (มหายาน) · วัชรยาน · เซน | |
สังคมพุทธศาสนา | |
เมือง · ปฏิทิน · บุคคล · วันสำคัญ · ศาสนสถาน · วัตถุมงคล | |
ดูเพิ่มเติม | |
ศัพท์เกี่ยวกับพุทธศาสนา หมวดหมู่พุทธศาสนา |
|
สถานีย่อย |
---|
พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านเกาหลี ในหนังสือประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นชื่อ นิฮอนโกชิ ได้บันทึกไว้ว่า วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 1095 เป็นปีที่ 13 ในรัชกาลพระเจ้ากิมเมจิ จักรพรรดิองค์ที่ 19 ของญี่ปุ่น พระพุทธศาสนาได้เข้าสู่ญี่ปุ่น โดยพระเจ้าเซมาโว แห่งเกาหลี ส่งราชทูตไปยังราชสำนักพระเจ้ากิมเมจิ พร้อมด้วยพระพุทธรูป ธง คัมภีร์พุทธธรรม และพระราชสาสน์แสดงพระราชประสงค์ที่จะขอให้พระเจ้ากิมเมจิรับนับถือพระพุทธศาสนา พระเจ้ากิมเมจิทรงรับด้วยความพอพระทัย นี้เป็นการเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น
เนื้อหา |
[แก้] พุทธศาสนาเริ่มรุ่งเรือง
พระพุทธศาสนาได้เจริญขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ในสมัยพระจักรพรรดิกิมเมจิเป็นอย่างมากแต่ภายหลังที่พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว พระจักรพรรดิองค์ต่อๆ มาก็มิได้ใส่พระทัยในพระพุทธศาสนาปล่อยให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลง จนถึงสมัยจักรพรรดินีซุยโก ได้สถาปนาเจ้าชายโชโตกุ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ. 1135 เจ้าชายพระองค์นี้เองที่ได้วางรากฐานการปกครองประเทศญี่ปุ่น และสร้างสรรค์วัฒนะธรรมพร้อมทรงเชิดชูพระพุทธศาสนา และในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1177 พระองค์ได้ประกาศพระราชโองการเชิดชูพระรัตนตรัย อันเป็นพระราชโองการพระจักรพรรดิที่ยกย่องพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคงในญี่ปุ่น ประชาชนญี่ปุ่นรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้าราชการทหาร และพลเรือนทั้งปวง ต่างแข่งขันกันสร้างวัดในพระพุทธศาสนา และสำนักปฏิบัติธรรมเป็นอันมาก ยุคสมัยนี้ได้ชื่อว่า ยุคโฮโก คือ ยุคที่สัทธรรมไพโรจน์ เจ้าชายโชโตกุ ได้ทรงได้ทรงประกาศธรรมนูญ 17 มาตรา ซึ่งเป็นธรรมนูญที่ประกาศหลักสามัคคีธรรมของสังคม ด้วยการเคารพเชื่อถือพระรัตนตรัย นอกจากนี้ยังทรงแสดงพระธรรมเทศนาซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นการแสดงเทศนาเกี่ยวกับพระสูตรในประเทศญี่ปุ่น
[แก้] ความเสื่อมของพุทธศาสนา
ในสมัยนี้ได้มีการติดต่อทางวัฒนะธรรมนำเอาคัมภีร์พระพุทธศาสนา และอรรถกถาต่างๆ เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น แม้ตัวเจ้าชายเองก็ได้ ทรงแต่งคัมภีร์อรรถกถาของพระองค์ด้วย เจ้าชายโชโตกุสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 1165 บรรดาประชาชนทั้งปวงมีความเศร้าโศกเป็นอันมาก จึงได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปขนาดเท่าองค์เจ้าชายโชโตกุ ขึ้น 1 องค์ องค์ประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์ ที่วัดโฮริวจิ หลังจากนั้นมาพระพุทธศาสนาก็ถูกแบ่งออกเป็นหลายนิกาย พระพุทธศาสนาหยุดชะงักความเจริญก้าวหน้ามาตลอด เพราะนโยบายการปกครองประเทศบีบบังคับทางอ้อมจนถึงยุคเมอิจิ พระพุทธศาสนาก็ยิ่งเสื่อมลงไปอีก ลัทธิชินโตได้รับความนิยมนับถือแทนพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาถูกยกเลิกไปจากราชสำนักของพระจักรพรรดิ มีนโยบายล้มล้างพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นศาสนาคริสต์ก็เริ่มเผยแผ่พร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่น เมื่อการศึกษาเจริญมากขึ้น พระพุทธศาสนาถูกยกขึ้นมาในแง่ของวิชาการพระสงฆ์เริ่มงานการศึกษาและวิจัยอย่างจริงจังกว้างขวางตามวิธีสมัยใหม่ ส่วนหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นั้น พระสงฆ์แต่ละนิกายก็ยังคงจัดพิธีกรรมเป็นประเพณีตามนิกายของตน
[แก้] นิกายของพุทธศาสนา
ในปัจจุบันชาวญี่ปุ่นนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับชินโต พระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็นหลายนิกาย นิกายที่สำคัญมี 5 นิกาย ดังนี้
- นิกายเทนได (เทียนไท้)
- พระไซโจ (เด็งกะโยไดชิ) เป็นผู้ตั้ง มีหลักคำสอนเป็นหลักธรรมชั้นสูง ส่งเสริมให้บูชาพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันและพระโพธิสัตว์
- นิกายชินงอน
- พระกุไก หรือโกโบไดชิ เป็นผู้ตั้งในเวลาใกล้เคียงกับนิกายเทนได มีหลักคำสอนตามนิกายตันตระ สอนให้คนบรรลุโพธิญาณด้วยการสวดมนต์อ้อนวอน ถือคัมภีร์มหาไวโรจนสูตรเป็นสำคัญ
- นิกายโจโด (สุขาวดี)
- โฮเนน เป็นผู้ตั้งเมื่อ พ.ศ. 1718 นิกายนี้สอนว่า สุขาวดีเป็นแดนอมตสุขผู้จะไปถึงได้ด้วยออกพระนามพระอมิตาภพุทธะ นิกายนี้มีนิกายย่อยอีกมาก เช่น โจโดชิน (สุขาวดีแท้) ตั้งโดยชินแรน มีคติว่า ฮิโชฮิโชกุ ไม่มีพระไม่มีฆราวาส ทำให้พระในนิกายนี้มีภรรยาได้ฉันเนื้อได้ มีความเป็นอยู่คล้ายฆราวาส
- นิกายเซน (ธยาน หรือ ฌาน)
- นิกายนี้ถือว่า ทุกคนมีธาตุพุทธะอยู่ในตัว ทำอย่างไรจึงจะให้ธาตุพุทธะนี้ปรากฏออกมาได้ โดยความสามารถของตัวเอง สอนให้ดำเนินชีวิตอย่างง่าย ให้เข้าถึงโพธิญาณอย่างฉับพลัน นิกายนี้คนชั้นสูง และพวกนักรบนิยมมาก เป็นต้นกำเนิดของลัทธิบูชิโด นับถือพระโพธิธรรมผู้เผยแพร่ในประเทศจีน
- พระนิชิเรนไดโชนิน เป็นผู้ตั้ง นับถือสัทธรรมปุณฑริกสูตรอย่างเดียว โดยภาวนาว่า นัม เมียว โฮ เร็ง เง เคียว (นโม สทฺธมฺมปุณฺฑริก สุตฺตสฺส ขอนอบน้อมแด่ สัทธรรม ปุณฑริกสูตร) เมื่อเปล่งคำนี้ออกมาด้วยความรู้สึกว่ามีตัวธาตุพุทธะอยู่ในใจ ก็บรรลุโพธิได้
[แก้] พุทธศาสนาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักการศึกษามากมายพยายามเชื่อมประสานพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยจัดตั้งเป็นองค์การขึ้น องค์การสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธที่ใหญ่ที่สุด คือ พุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งญี่ปุ่น ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2500 มีสำนักงานอยู่ที่วัดชุกิจิ ฮองวันจิ ในนครโตเกียวกิจการทางพุทธศาสนาที่สำคัญและมีจุดเด่นก้าวหน้าที่สุดของญี่ปุ่น คือ การจัดการศึกษา ซึ่งพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ จะมีมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียนระดับมัธยมและในด้านความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ในปัจจุบันนี้ พระส่วนใหญ่จะมีครอบครัวได้ ยกเว้นพระระดับเจ้าอาวาสจะมีครอบครัวไม่ได้ และตำแหน่งพระยังสืบทอดเป็นมรดกแก่บุตรคนโตได้ด้วย
[แก้] พุทธศาสนาในปัจจุบัน
ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ประชาชนดำเนินชีวิตด้วยความเร่งรีบเพราะมีการแข่งขันกันมาก ทำให้มีความเครียดและมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นโรคประสาท โรคจิต และสถิติการฆ่าตัวตายสูงมาก สิ่งที่จะช่วยบรรเทาความเครียดได้ ก็คือการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เนื่องจากญี่ปุ่นชอบความเร็วให้ได้ผลทันใจ พระพุทธศาสนานิกายเซนจึงเป็นที่นิยม และมีการสร้างนิกายใหม่ๆ หรือลัทธิใหม่ๆ ที่ปฏิบัติได้ผลรวดเร็วอีกมาก คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งไม่นับถือศาสนาใดเลย แต่ยึดถือลัทธิการเมืองตามความชอบใจของตน และในปัจจุบันนี้ ในประเทศญี่ปุ่นมีประชากรนับถือพุทธศาสนา96%