พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช[1] (เรียกกันทั่วไปในเอกสารต่างๆ ว่า "พระวิไชยราชขัติยวงศา") เป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ลำดับที่ 3 (พ.ศ. 2335 - 2354)
พระวิไชยราชขัตติยวงศา มีนามเดิมว่าเจ้าหน้า หรือท้าวฝ่ายหน้า (ตามเอกสารของราชการไทย) ท่านเป็นบุตรของพระตาหรือเจ้าพระตาแห่งเมืองหนองบัวลุ่มภู (หนองบัวลำภู) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าปางคำแห่งเมืองเชียงรุ่ง และเป็นน้องชายของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก ได้อพยพหนีราชภัยจากพระเจ้าสิริบุญสาร แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ มาพร้อมกันกับกลุ่มของเจ้าพระวอและเจ้าคำผง หลังสิ้นสงครามกับเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. 2318 แล้ว พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระปทุมวงศา ได้พาไพร่พลของตนเองจากเวียงดอนกองไปตั้งเมืองอุบลที่บ้านห้วยแจระแม ต่อมาราวปี พ.ศ. 2329 เจ้าหน้าพร้อมกับท้าวคำสิงห์ผู้เป็นหลาน ได้นำพลส่วนหนึ่งไปตั้งมั่นเป็นกองนอกอยู่ที่บ้านสิงห์ท่า (ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองยโสธร)
ในปี พ.ศ. 2334 เกิดเหตุกบฏอ้ายเชียงแก้วที่อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ทางฝ่ายนครจำปาศักดิ์ไม่สามารถรับมือได้ เนื่องจากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้น ถึงแก่พิราลัยกะทันหันหลังจากได้รับทราบข่าวศึก (ก่อนหน้านั้นพระเจ้าองค์หลวงฯ เองก็ประชวรเรื้อรังมานานแล้ว) เจ้าหน้าได้ร่วมมือกับพระประทุมราชวงศา (คำผง) เจ้าเมืองอุบล ผู้เป็นพี่ชาย ยกทัพไปปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วจนราบคาบ และจับอ้ายเชียงแก้วประหารชีวิตที่แก่งตะนะ (อยู่ในแม่น้ำมูล ระหว่างอำเภอพิบูลมังสาหารกับอำเภอสิรินธรในปัจจุบัน) ก่อนหน้าที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึงตามรับสั่งจากกรุงเทพฯ ด้วยความดีความชอบในครั้งนี้ ทำให้เจ้าหน้าได้รับการแต่งตั้งเป็น "พระวิไชยราชขัตติยวงศา"[2] เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ลำดับที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2335 พระวิไชยราชขัตติยวงศาจึงแบ่งไพร่พลเข้ามาอยู่ที่เมืองจำปาสัก และตั้งให้ท้าวคำสิงห์ผู้หลานเป็นราชวงศ์เมืองโขง (สีทันดร)
ในสมัยนี้ พระวิไชยราชขัตติยวงศาได้ย้ายเมืองจำปาศักดิ์จากที่เดิมซึ่งอยู่ที่บ้านศรีสุมัง ริมฝั่งแม่น้ำโขง มาตั้งอยู่ในบริเวณบ้านคันเกิง อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามปากแม่น้ำเซโดน (ปัจจุบันเรียกว่า เมืองเก่าคันเกิง อยู่ในแขวงจำปาสัก ประเทศลาว) เมื่อ พ.ศ. 2339
ปี พ.ศ. 2348 พระวิไชยราชขัตติยวงศาได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ เพื่อขอโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านนายอนเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านนายอนขึ้นเป็นเมืองสพาดตามคำขอนั้น
พ.ศ. 2353 มีครัวชาวเขมรภายใต้การนำของพระยาเดโช เจ้าเมืองกำปงสวาย กับนักปรัง ผู้น้องชาย อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบเมืองโขง เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวเกิดความขัดแย้งกับสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจัน) พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา พระวิไชยราชขัตติยวงศาได้มีใบบอกแจ้งเรื่องมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา คุมกำลังมาคุมครัวเขมรของพระยาเดโชมาตั้งอยู่ที่บ้านลงปลา ส่วนครัวของนักปรังให้แยกมาตั้งอยู่ที่เมืองเซลำเภา "จึ่งมีเขมรแทรกปนอยู่ในแขวงเมืองโขงแต่นั้นมา"[3]
พระวิไชยราชขัตติยวงศา (เจ้าหน้า) ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแมตรีศก จุลศักราช 1173 (พ.ศ. 2354) ครองเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ 21 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา เป็นข้าหลวงแทนพระองค์ ไปพระราชทานเพลิงศพพระวิไชยราชขัตติยวงศ์ และจัดการราชการบ้านเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อทำการปลงศพของพระวิไชยราชขัตติยวงศาเสร็จแล้ว พระยากลาโหมราชเสนาพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาในเมือง จึงก่อเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดเหนือในเมืองเก่าคันเกิง เรียกกันทั่วไปว่า "ธาตุหลวงเฒ่า" มาจนทุกวันนี้ [3]
อนึ่ง ภายหลังเสร็จการพระราชทานเพลิงศพ และการจัดการราชการบ้านเมืองในนครจำปาศักดิ์แล้ว พระยากลาโหมราชเสนาจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาว ซึ่งมีการค้นพบมาตั้งแต่สมัยเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร เป็นเจ้าครองนครจำปาศักดิ์ ลงมายังกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระแก้วขาวองค์นี้ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมช่างเพื่อทำการปฏิสังขรณ์พระแก้วขาว และพระราชทานนามว่า "พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย"[3]
[แก้] เชิงอรรถ
- ^ ชื่อตามหนังสือ ประวัติศาสตร์อีสาน ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ และ ลำดับกษัตริย์ลาว ของ สุรศักดิ์ ศรีสำอาง
- ^ ชื่อตาม พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร
- ^ 3.0 3.1 3.2 พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร
[แก้] อ้างอิง
- เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2546.
- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร. 2545.
- พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร
- ประวัติจังหวัดอุบลราชธานี (ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี)
- http://www.bungfiregames.com/m_01.php
สมัยก่อนหน้า: พระเจ้าองค์หลวงไขยกุมาร พ.ศ. 2280 - 2334 |
เจ้าผู้ครองนครจำปาสัก (สมัยที่ {{{สมัยที่}}}) พ.ศ. 2335 - 2354 |
สมัยถัดไป: เจ้านู (ถึงแก่พิราลัยหลังรับสุพรรณบัตร 3 วัน) |