ปลาดุกลำพัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดุกลำพัน เป็นชื่อปลาดุกชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clarias nieuhofii (ชื่อเดิม Prophagorus nieuhofii) อยู่ในวงศ์ปลาดุก Clariidae มีลำตัวเรียวยาวกว่าปลาดุกชนิดอื่น ๆ มาก
เนื้อหา |
[แก้] ลักษณะ
ส่วนหัวเล็กสั้น ครีบหลังและครีบก้นใหญ่ยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว ครีบหางเล็กอยู่ชิดกับครีบหลังและครีบก้น บางตัวก็เชื่อมติดกัน อาจเป็นเพราะถูกกัดเมื่อตอนเล็กแล้วงอกใหม่ ครีบท้องเล็ก ตัวสีคล้ำอมน้ำตาลแดง มีจุดเป็นแนวตั้งตลอดลำตัว ด้านท้องสีจาง มีขนาดประมาณ 30 ซ.ม. ใหญ่สุดที่พบ 60 ซ.ม.
[แก้] แหล่งอาศัย
อาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่เป็นกรด และมีสีชา เช่น ตามป่าพรุ และลำธารในป่าดิบชื้น พบเฉพาะในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป และภาคตะวันออกตั้งแต่ จังหวัดจันทบุรี และยังพบในมาเลเชียถึงบอร์เนียว มีพฤติกรรมชอบรวมกลุ่มกันเป็นฝูงในฤดูแล้ง มีขายเป็นครั้งคราวในตลาดสดทางภาคใต้ เช่น ที่จังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช เนื้อมีรสชาติดีกว่าปลาดุกชนิดอื่น ๆ มีราคาขายค่อนข้างสูง และยังมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่มีพบขายเป็นครั้งคราวในตลาดปลาสวยงามอีกด้วย
[แก้] ชนิดอื่น
นอกจากนี้ ดุกลำพันยังมีอีกชนิดหนึ่ง ที่พบในประเทศไทย คือ ดุกลำพันภูเขา ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clarias cataractus (ชื่อเดิม Prophagorus cataractus) มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่มีลำตัวที่สั้นกว่าและพบในแหล่งน้ำแถบภูเขาในภาคอีสานเท่านั้น
ทั้ง 2 ชนิดจัดเป็นปลาที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง (Endangered) เพราะถิ่นที่อยู่ถูกทำลายไป ประกอบกับการจับในอัตราสูง