คิม ดุ๊กกู
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้อมูลส่วนตัว | ||
---|---|---|
ชื่อจริง | คิม ดุ๊กกู | |
วันเกิด | 8 มกราคม พ.ศ. 2502 | |
สถานที่เกิด | โกจิน เกาหลีใต้ | |
วันที่เสียชีวิต | 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 | |
สถานที่เสียชีวิต | ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา | |
รุ่น | ไลท์เวท | |
สถิติ | ||
ชก | 19 | |
ชนะ | 16 | |
ชนะน็อก | 8 | |
แพ้ | 2 | |
เสมอ | 1 |
คิม ดุ๊กกู (김득구 , MC: Gim Deuk-gu , MR: Kim Tŭk-ku ?) นักมวยชาวเกาหลีใต้ผู้โชคร้าย ผู้จากไปจากการชกบนผืนสังเวียนเลือดด้วยอายุเพียง 23 ปี ในปี พ.ศ. 2525
คิม ดุ๊กกู เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2502 ที่หมู่บ้านชาวประมงยากจนในเมืองโกจิน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่ออายุได้ 5 ขวบ พ่อก็เสียชีวิต เมื่ออายุ 14 ได้เดินทางเข้ามายังกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศ เพื่อศึกษาต่อด้านวิชาชีพและชกมวยอาชีพ ซึ่งประสบความสำเร็จภายในระยะเวลา 4 ปี เมื่อได้ครองแชมป์ของสหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) ในรุ่นไลท์เวท
และได้มีโอกาสได้เดินทางไปชกชิงแชมป์โลกในรุ่นเดียวกันนี้ ของสมาคมมวยโลก (WBA) กับ เรย์ มานชินี่ เจ้าของฉายา " บูม บูม " แชมป์โลกชาวอเมริกันถึงลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 โดย คิม ดุ๊กกู มีอันดับโลกเป็นรองแชมป์อันดับ 1 และเป็นการป้องกันตำแหน่งครั้งแรกของมานชินี่ด้วย การชกครั้งนี้จัดบนเวทีกลางแจ้งในเวลาเย็น การชกเป็นไปอย่างดุเดือด เพราะคิม ดุ๊กกู ถูกมานชินี่ไล่ชกแต่เพียงข้างเดียว แต่ก็กัดฟันยืนสู้ได้มาจนยกที่ 14 จึงล้มลงกองกับเวที ไม่ฟื้น แพทย์สนาม คือ น.พ.ลอนนี่ แฮมมาร์เกร็น ได้ทำการตรวจสมองของ คิม ดุ๊กกู พบว่าสมองไม่ทำงานเสียแล้ว ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลเดเสิร์ตสปริงทันที
วันต่อมา ข่าวนี้ได้แพร่ไปถึงประเทศเกาหลีใต้ นางซุน เยียว ยาง มารดาของคิม ดุ๊กกู ได้ทราบข่าวได้แต่ร้องไห้ ทางรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้นางและลูกชายอีกคน คือ นายคิม คุน ยอง เดินทางไปดูอาการของคิม ดุ๊กกู ถึงสหรัฐอเมริกา
หลังจากคณะแพทย์ทำการผ่าตัดสมองหลายรอบแล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้น รวมทั้งได้รับการรักษาแบบฝังเข็มด้วยคณะแพทย์เกาหลี 4 คนที่เดินทางไปด้วย นางซุน เยียว ยาง ได้ตัดสินใจให้แพทย์ถอดเครื่องปั๊มหัวใจออก และให้คิม ดุ๊กกู จากไปอย่างสงบ ในตอนเย็นของวันที่ 17 พฤศจิกายน จากนั้นได้มีการทำพิธีส่งมองร่างของคิม ดุ๊กกู เพื่อส่งกลับประเทศ โดยมีเทศบาลเมืองลาสเวกัสเป็นผู้ทำพิธีให้ และหลังจากกลับมาเกาหลีใต้แล้ว เพียง 4 วันต่อมา นางซุน เยี่ยว ยาง มารดาก็ได้ผูกคอตายตามลูกชายไป
การเสียชีวิตของ คิม ดุ๊กกู ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก และทำให้ต่อมาการชกมวยสากลอาชีพได้ทำการปรับเปลี่ยนกติกาจากเดิม 15 ยก มาเป็น 12 ยก เช่นในปัจจุบัน