กะอฺบะหฺ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กะอฺบะหฺ หรือ กะอ์บะห์ เป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า ลูกบาศก์ กะอฺบะหฺตั้งอยู่ในใจกลาง มัสยิดฮะรอม ในนครมักกะหฺ เป็น กิบลัต (ชุมทิศ, จุดหมายในการผินหน้าไป) ของมุสลิมยามนมาซ และเป็นสถานที่ฏอวาฟ(เวียนรอบ)ในการประกอบพิธีอุมเราะหฺและฮัจญ์
มีคำบันทึกบอกเล่าว่า อาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยนบีอาดัมมนุษย์คนแรกเพื่อใช้เป็นสถานที่เคารพสักการะอัลลอหฺในโลก แต่หลังจากนั้นก็พังทลายลงเมื่อเกิดเหตุการณ์ อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ จนน้ำท่วมโลกในสมัยศาสดานูฮฺ
คัมภีร์อัลกุรอาน (2:127 และ 22:26-27) ระบุว่า กะอฺบะหฺได้ถูกสร้างขึ้นโดยนบีอิบรอฮีมและ อิสมาอีล บุตรชายของท่านตามคำบัญชาของอัลลอหฺทั้งนี้เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการเคารพสักการะพระองค์ หลังจากนั้นอัลลอหฺก็ได้บัญชานบีอิบรอฮีมให้เรียกร้องเชิญชวนผู้คนให้มาเคารพสักการะพระองค์ ณ ที่บ้านหลังนี้ นับตั้งแต่นั้นมา ผู้คนที่ศรัทธาในอัลลอหฺตามคำเชิญชวนของนบีอิบรอฮีมจากทั่วสารทิศก็ได้ทยอยกันเดินทางมาสักการะอัลลอหฺต่อเนื่องกันมาโดยมิได้ขาด เนื่องจากกะอฺบะหฺเป็นบ้านแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับการเคารพสักการะอัลลอหฺ ดังนั้น กะอฺบะหฺจึงได้รับการขนามว่า บัยตุลลอหฺ บ้านแห่งอัลลอหฺ
หลังจากนบีอิบรอฮีมและอิสมาอีลเสียชีวิต ผู้คนในแผ่นดินอารเบียได้ละทิ้งคำสอนของท่านทั้งสอง และได้นำเอาเทวรูปต่างๆมาเคารพสักการะแทนอัลลอหฺ หรือไม่ก็ตั้งเทวรูปขึ้นเป็นพระเจ้าควบคู่ไปกับอัลลอหฺ จนกระทั่งมีเทวรูปรอบกะอฺบะหฺเป็นจำนวนมากมายถึงสามร้อยกว่ารูป ตั้งเรียงรายทั้งในและนอกกะอฺบะหฺ แต่หลังจากที่นบีมุฮัมมัดได้เข้ายึดนครมักกะหฺแล้ว ท่านก็ได้สั่งให้ทำลายเทวรูปทั้งหมดที่อยู่ข้างในและรอบกะอบะหฺ ตั้งแต่นั้นมาแผ่นดินฮะรอมก็เป็นเขตปลอดเทวรูป ไม่มีการเคารพสักการะสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอหฺแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ในตอนที่ท่านมุฮัมมัดยังไม่ได้เป็นศาสดา ชาวนครมักกะหฺได้ร่วมแรงร่วมใจพากันซ่อมแซมกะอฺบะหฺที่สึกหรอเหนื่องจากอุทกภัย แต่เนื่องจากทุนในการบูรณะอันเป็นทรัพย์สินที่บริสุทธิ์ที่เรี่ยไรมามีไม่เพียงพอ ชาวนครมักกะหฺจึงสามารถซ่อมแซมได้ไม่เหมือนกับอาคารดั้งเดิม ปล่อยให้ส่วนที่เรียกว่า ฮิญรุ อิสมาอีล (ห้องและที่ฝังศพของท่านนบีอิสมาอีล) ว่างอยู่ เพียงแต่เอาหินก่อขึ้นเป็นกำแพงกั้นไว้ ในเวลาต่อมาท่านนบีมุฮัมมัดได้กล่าวว่า หากมิเพราะ ยุคญาหิลียะหฺเพิ่งผ่านไปได้ไม่นาน ฉันก็คงจะต่อเติมกะอฺบะหฺให้เป็นเช่นแบบเดิม
ในสมัยที่อับดุลลอหฺ อิบนุซซุเบร หลานตาคอลีฟะหฺ อะบูบักรฺ แข็งเมืองต่อ อับดุลมะลิก บินมัรวาน คอลีฟะหฺ(กษัตริย์)ซีเรีย ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองมักกะหฺ งานชิ้นหนึ่งที่ท่านทำก็คือการบูรณะต่อเติมผนังกะอฺบะหฺออกไปสองด้านจนถึงกำแพง ฮิจญ์รุ อิสมาอีล ให้อาคารกะอฺบะหฺเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทว่าเมื่ออับดุลลอหฺแพ้ศึกและถูกสังหาร พวกทหารซีเรียกเผาและถล่มทำลายกะอฺบะหฺที่อับดุลลอหฺทำไว้ แล้วให้สร้างขึ้นมาใหม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเหมือนเดิมอีกครั้ง
กะอฺบะหที่มีอยู่ในวันนี้ เป็นอาคารที่ถูกสร้างขึ้นด้วยหินธรรมชาติ ตัวอาคารเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมีความกว้างยาวด้านละประมาณ 40 ฟุต และสูงประมาณ 50 ฟุต ผนังทั้งสี่ไม่มีหน้าต่าง มีแต่เพียงประตูด้านเดียว ข้างในว่างเปล่า ตรงมุมด้านหนึ่งของตัวอาคารเป็นที่ตั้งของ หินดำ (อัลฮะญัร อัลอัสวัด) ซึ่งในอดีตเป็นพลอยสีดำเม็ดใหญ่ แต่ต่อมาที่ได้แตกออกเป็นชิ้นเล้กชิ้นน้อย แต่ก็ยังตั้งอยู่ที่มุมข้างประตู ปกปิดด้วยแก้วและครอบทับด้วยเงิน ประตูของกะอฺบะหฺที่เปลี่ยนเมื่อเวลา ๒๐ ปีมานี้ ทำด้วยโลหะปิดด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนักประมาณ ๕๐ กิโลกรัม โดยมีข่าวออกมาว่า ช่างทองที่ทำประตูเป็นชาวไทยมุสลิม
มุมที่ติดตั้งพลอยสีดำนี้ใช้เป็นจุดเริ่มต้นและจุดครบรอบของการเวียนรอบกะอฺบะหฺซึ่งเป็นการปฏิบัติที่จำเป็นอย่างหนึ่งของการประกอบพิธีอุมเราะหฺและฮัจญ์
ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน รัฐบาลผู้ปกครองมหานครมักกะหฺจะมีหน้าที่เป็นผู้ดูแลกะอฺบะหฺและจัดเตรียมความสะดวกให้แก่ผู้ที่มาทำฮัจญ์ สิ่งที่ต้องทำทุกปีคือการเปลี่ยนมุ้งกะอฺบะหฺ
ในซาอุดีอาระเบียจะมีโรงงานทอมุ้งนี้โดยเฉพาะ โดยจะมีช่างผู้มีฝีมือจากต่างประเทศมาทำมุ้งนี้โดยเฉพาะ มุ้งกะอฺบะหฺนี้ทอด้วยด้ายไหมสีดำ แล้วประดับด้วยการปักดิ้นทองเป็นตัวอักษรภาษาอาหรับวิจิตรงดงาม ตัวอักษรที่เขียนคือโองการจากอัลกุรอานและพระนามของอัลลอหฺ เมื่อถึงเทศกาลฮัจญ์จะมีการเปลี่ยนมุ้งใหม่และยกขอบมุ้งขึ้นจนจนเห็นฝาผนังทั้งสี่ด้าน
เนื่องจากมุ้งนี้มีสีดำ จึงทำให้คนเข้าใจว่าหินดำคือตัวกะอฺบะหฺ แต่ความจริงแล้วหินดำคือพลอยสีดำที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมกะอฺบะหฺต่างหาก อีกอย่างกะอฺบะหฺเป็นชุมทิศ เวลานมาซจะมีการหันไปทางกะอฺบะหฺนี้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ากะอฺบะหฺคือหินดำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวมุสลิมเคารพบูชา ซึ่งความจริงแล้ว กะอฺบะหฺเป็นเพียงจุดศูนย์รวมและจุดศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของมุสลิมทั่วโลกเท่านั้น
ได้รับอนุญาตจาก สยามิค
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ข้อมูลเพิ่มเติมโดยละเอียดเกี่ยวกับกะอฺบะหฺ (มีภาษาไทย)
- Islamiyah Free Ahlul-Bayt Encyclopedia: Ka'bah