เนื้อเยื่อ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อเยื่อ (อังกฤษ: Tissue) ในทางชีววิทยาคือกลุ่มของเซลล์ที่ทำหน้าที่ร่วมกันในสิ่งมีชีวิต
วิชาการศึกษาเนื้อเยื่อ เรียกว่า มิญชวิทยา (Histology) หรือ จุลกายวิภาคศาสตร์ (Microanatomy) หรือหากเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโรคเรียกว่า มิญชพยาธิวิทยา (histopathology)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเนื้อเยื่อโดยทั่วไปคือ แท่งขี้ผึ้ง (wax block) , สีย้อมเนื้อเยื่อ (tissue stain) , กล้องจุลทรรศน์แบบแสง (optical microscope) ซึ่งต่อมามีการพัฒนาเป็นกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (electron microscopy) , immunofluorescence, และการตัดตรวจเนื้อเย็นแข็ง (frozen section) เป็นเทคนิคและความรู้ใหม่ที่เพิ่งกำเนิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้เราสามารถตรวจพยาธิสภาพ เพื่อการวินิจฉัยและพยากรณ์โรคได้
เนื้อหา |
[แก้] เนื้อเยื่อสัตว์
ในร่างกายของสัตว์ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ชั้นต่ำลงไปเช่นแมลง ต่างประกอบด้วยเนื้อเยื่อพื้นฐาน 4 ประเภท เนื้อเยื่อเหล่านี้รวมตัวกันเป็นโครงสร้างและอวัยวะต่างๆ กัน
- เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) เป็นเนื้อเยื่อที่ประกอบไปด้วยชั้นของเซลล์ที่ปกคลุมพื้นผิวของอวัยวะต่างๆ เช่น พื้นผิวของผิวหนัง และบุผิวทางเดินอาหาร มีหน้าที่ปกป้องจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หลั่งสารและดูดซึมสาร
- เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ทำหน้าที่เป็นโครงร่างยึดส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น เลือด หรือ กระดูก
- เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ (Muscular tissue) เซลล์กล้ามเนื้อประกอบด้วยฟิลาเมนต์ (เส้นใย) หลายเส้นที่หดตัวได้ สามารถเคลื่อนที่ผ่านกันและเปลี่ยนขนาดของเซลล์ได้ เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภทคือ กล้ามเนื้อเรียบ (visceral or smooth muscle) พบอยู่ที่ผนังของอวัยวะภายใน, กล้ามเนื้อโครงร่าง (skeletal muscle) ซึ่งยึดอยู่กับกระดูก ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหว และกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac muscle) พบได้ที่หัวใจ
- เนื้อเยื่อประสาท (Nervous tissue) ประกอบด้วยเซลล์ที่รวมตัวกันเป็นสมอง (brain) , ไขสันหลัง (spinal cord) , และระบบประสาทนอกส่วนกลาง (peripheral nervous system)
[แก้] เนื้อเยื่อพืช
เนื้อเยื่อที่พบได้ในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์อื่นๆ เช่น เนื้อเยื่อท่อลำเลียง (Vascular tissue) ในพืช เช่น ไซเล็ม (xylem) และ โฟลเอ็ม (phloem) เนื้อเยื่อพืชสามารถแบ่งได้กว้างๆ ออกเป็น 3 ระบบ คือ เนื้อเยื่อชั้นผิว (epidermis) , เนื้อเยื่อพื้น (ground tissue) และเนื้อเยื่อท่อลำเลียง (Vascular tissue) ทั้งหมดนี้เราเรียกรวมกันว่า มวลชีวภาพ (biomass)
- เนื้อเยื่อชั้นผิว (Epidermis) เป็นกลุ่มของเซลล์ที่รวมตัวกันอยู่พื้นผิวภายนอกของใบไม้และพืชที่มีอายุไม่มาก
- เนื้อเยื่อท่อลำเลียง (Vascular tissue) เนื้อเยื่อท่อลำเลียงหลักที่สำคัญของพืชคือ ไซเล็ม (xylem) และ โฟลเอ็ม (phloem) ทำหน้าที่ขนส่งน้ำ สารละลาย และสารอาหารภายในต้นพืช
- เนื้อเยื่อพื้น (ground tissue) เป็นเนื้อเยื่อที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อเยื่ออื่นๆ น้อยที่สุด เนื้อเยื่อพื้นทำหน้าที่ผลิตสารอาหารโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง และเก็บสารอาหารเอาไว้
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- Raven, Peter H., Evert, Ray F., & Eichhorn, Susan E. (1986). Biology of Plants (4th ed.). New York: Worth Publishers. ISBN 0-87901-315-X.
|
---|
เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelial tissue) • เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) • เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ (Muscular tissue) • เนื้อเยื่อประสาท (Nervous tissue) |
|
---|
สิ่งมีชีวิต → ระบบอวัยวะ → อวัยวะ → เนื้อเยื่อ → เซลล์ → ออร์แกเนลล์ → โมเลกุล → อะตอม → อนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม (อนุภาคคอมโพสิท . อนุภาคมูลฐาน) |