See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
ราชวงศ์ชิง - วิกิพีเดีย

ราชวงศ์ชิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

大清帝國
ต้าชิงตี้กว๋อ

จักรวรรดิต้าชิง

จักรวรรดิ

Flag
พ.ศ. 2187 – 2455

ธงชาติราชวงศ์ชิง

ธง (พ.ศ. 2433 – 2455)

เพลงชาติ: Gong Jin'ou (2454)
แผนที่แสดงที่ตั้งของราชวงศ์ชิง
เขตแดนต้าชิงในปี พ.ศ. 2435
เมืองหลวง เสิ่นหยาง (พ.ศ. 2179 – 2187)
ปักกิ่ง (2187 – 2455)
39°54′N 116°23′E
ภาษา ภาษาจีน
ภาษาแมนจู
ภาษามองโกล
รัฐบาล ราชาธิปไตย
จักรพรรดิ
 - พ.ศ. 2169 - 2186 หวงไท่จี๋
 - พ.ศ. 2451 - 2467 จักรพรรดิซวนถ่ง
นายกรัฐมนตรี
 - พ.ศ. 2454 Yikuang
 - พ.ศ. 2454 - 2455 หยวน ซื่อไข่
ประวัติศาสตร์
 - การก่อตั้งจิน พ.ศ. 2159
 - เปลี่ยนชื่อจาก "จิน" เป็น "ชิง" พ.ศ. 2187 (ค.ศ. 1644)
 - ยึดกรุงปักกิ่ง 6 มิถุนายน พ.ศ. 2187
ประชากร
 - ประมาณการปี พ.ศ. 2283 140,000,000 
 - ประมาณการปี พ.ศ. 2319 311,500,000 
 - ประมาณการปี พ.ศ. 2355 360,000,000 
 - ประมาณการปี พ.ศ. 2363 383,100,000 
 - ประมาณการปี พ.ศ. 2441 319,720,000 
ก่อนหน้านี้
ต่อจากนี้
ราชวงศ์ซุ่น
ราชวงศ์หมิง
สาธารณรัฐจีน
ดูเพิ่มเติม: สารานุกรมประวัติศาสตร์ สถานีย่อย:ประวัติศาสตร์
แผนที่แสดงช่วงเวลา และขนาดพื้นที่การปกครองในช่วงเวลาหนึ่ง (แสดงภาพด้วยสีเหลือง)
แผนที่แสดงช่วงเวลา และขนาดพื้นที่การปกครองในช่วงเวลาหนึ่ง (แสดงภาพด้วยสีเหลือง)
ธงของราชวงศ์ชิงยุคแรก (รูปสามเหลี่ยม ไม่กำหนดขนาดและอัตราส่วน)
ธงของราชวงศ์ชิงยุคแรก (รูปสามเหลี่ยม ไม่กำหนดขนาดและอัตราส่วน)
ธงของราชวงศ์ชิงยุคหลัง (รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่กำหนดขนาดและอัตราส่วน)
ธงของราชวงศ์ชิงยุคหลัง (รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่กำหนดขนาดและอัตราส่วน)

ราชวงศ์ชิง (ภาษาแมนจู: daicing gurun; ภาษาจีน:清朝 ; พินอิน: qīng cháo ชิงเฉา ; ) หรือบางครั้งเรียกว่า ราชวงศ์แมนจู ปกครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์หมิง และถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศจีน

ราชวงศ์ชิงไม่ได้ก่อตั้งโดยชาวฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศจีน แต่เป็นชาวแมนจูซึ่งอาศัยอยู่ในเขตแมนจูเรีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน ในสมัยนั้น ชาวแมนจูเพียงเป็นกลุ่มชนเร่ร่อนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งยังไม่มีคนรู้จักมากนั้น ในช่วงที่ราชวงศ์หมิงเกิดจลาจลและการเมืองไร้เสถียรภาพ ชาวแมนจูถือโอกาสรวบรวมกำลังพล โดยผู้นำตระกูลอ้ายซินเจวี๋ยโหล และเข้าบุกยึดกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นราชธานีของราชวงศ์หมิง ได้ใน พ.ศ. 2187 และสถาปนาอาณาจักรต้าชิง (ภาษาจีน: 大清帝國, พินอิน: dàqīngdìguó) ราชวงศ์ชิงครองแผ่นดินจีนจนถึงปี พ.ศ. 2454 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ ซึ่งเป็นการปฏิวัติเป็นสาธารณรัฐโดยซุน ยัตเซ็น ราชวงศ์ชิงถูกยึดอำนาจในปีนั้น และใน พ.ศ. 2455 จักรพรรดิองค์สุดท้ายถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์ชิง และการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีน


เนื้อหา

[แก้] ก่อตั้งรัฐแมนจู

รัฐแมนจูสถาปนาโดย นูรฮาชี ในต้นพุทธศตวรรษที่ 22 โดยเริ่มแรก นูรฮาชีเป็นขุนนางของราชวงศ์หมิง ครองที่ดินทางตะวันออกเฉียงเหนือ หรือมณฑลแมนจูเรียในปัจจุบัน นูรฮาชีตั้งตนเป็น จักรพรรดิไท่จู และตั้งรัฐแมนจูขึ้นใน พ.ศ. 2152 พระองค์เร่งสร้างเศรษฐกิจ แรงงาน และเทคโนโลยีของรัฐ โดยการจับชาวจีนที่อาศัยในแมนจูเรียมาเป็นทาส พ.ศ. 2168 จักรพรรดิไท่จู สถาปนาเมืองเสิ่นหยาง (沈阳/瀋陽 Shěnyáng) แต่ในปีต่อมา พระองค์ทรงได้รับบาดเจ็บจากการรบกับแม่ทัพหมิง และสวรรคตในปีเดียวกัน ความสำเร็จที่สำคัญสิ่งหนึ่งของพระองค์คือการตั้งระบบกองธง ซึ่งเป็นระบบในการแบ่งสายการปกครองออกเป็นส่วนๆ มีประโยชน์ทั้งทางด้านการปกครองและการทหาร โดยแรกเริ่มนั้นมี 8 กองธง

ผู้สืบบัลลังก์จากจักรพรรดิไท่จู คือ หวงไท่จี๋ หรือจักรพรรดิไท่จง พระองค์ได้ทรงตั้งกองธงแรกที่เป็นชาวฮั่นขึ้น และได้มีการนำระบบธรรมเนียมการปกครองแบบราชวงศ์หมิงมาปรับใช้บางส่วน แต่ก็ยังให้สิทธิพิเศษกับหน่วยปกครองของแมนจูเองโดยระบบโควต้า เมื่อลิงตันข่าน มหาข่านองค์สุดท้ายของมองโกลสิ้นพระชนม์ลงระหว่างเดินทางไปทิเบตในพ.ศ. 2177 บุตรของเขานาม เอเจยข่าน ได้สวามิภักดิ์ต่อกองทัพแมนจูและมอบตราประจำพระองค์ของอดีตจักรพรรดิหยวนให้จักรพรรดิไท่จง ใน พ.ศ. 2179 จักรพรรดิไท่จงเปลี่ยนชื่อรัฐแมนจูเป็น อาณาจักรต้าชิง (แปลว่า บริสุทธิ์) โดยหมายที่จะขยายอาณาเขตไปนอกแมนจูเรีย พระองค์ทรงชนะศึกในมองโกเลียใน เกาหลี และครอบครองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอาร์มู หรือมณฑลเฮยหลงเจียงในปัจจุบัน

[แก้] การยึดครองประเทศจีน

ในสมัยพระเจ้าหมิงซือจง (明思宗) แห่งราชวงศ์หมิง เกิดเหตุการณ์สำคัญหลายครั้ง ได้แก่ การผนวกที่ดิน การเก็บภาษีเบ็ดเตล็ด ความไม่พอใจของทหาร และภัยแล้งครั้งใหญ่ ทั้งหมดทำให้ประชาชนและทหารไม่พอใจราชวงศ์หมิงอย่างมาก และรวมตัวเป็นกลุ่มย่อยก่อจลาจลในหลายพื้นที่ กินเวลาหลายปี ในที่สุดก็รวมตัวกันก่อจลาจลครั้งใหญ่ ซึ่งนำโดย หลี่จื้อเฉิง (李自成: Lǐ Zìchéng) เข้ายึดครองกรุงปักกิ่ง ราชธานีของราชวงศ์หมิง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2187 จนพระเจ้าหมิงซือจงต้องผูกพระศอปลงพระชนม์ตัวเองที่ต้นไม้บนเนินเขาที่มองเห็นพระราชวังต้องห้ามได้ชัด ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์หมิง

หลังจากที่ยึดครองกรุงปักกิ่งแล้ว หลี่จื้อเฉิงได้นำกำลังพล 60,000 นาย บุกเผชิญหน้ากับอู๋ซานกุ้ย (吳三桂: Wú Sānguì) นายพลหมิงที่คุมกองกำลังกว่า 100,000 นาย ที่ประจำอยู่ในป้อมซานไฮ่กวาน (山海关/山海關: Shānhǎi Guān) ป้อมซานไฮ่กวานเป็นประตูของกำแพงเมืองจีนผ่านไปสู่ตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง ป้อมซานไฮ่กวานถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่คอยกั้นพวกแมนจูอยู่ที่อ่าวไม่ให้เข้ามาสู่แผ่นดินจีนทางใต้ได้ นายพลอู๋จนมุมศัตรูทั้ง 2 ทาง ทั้งกลุ่มกบฎและกองทัพแมนจู จึงตัดสินใจที่จะสวามิภักดิ์ต่อองค์ชายดอร์กอน ผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิซุ่นจื่อ ผู้ซึ่งเป็นพระโอรสของจักรพรรดิไท่จงที่สวรรคตไปหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ในขณะนั้นจักรพรรดิซุ่นจื่อมีพระชนมายุเพียง 6 พรรษา

วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2187 ทั้งกองทัพของนายพลอู๋และกองทัพแมนจูเข้าล้อมกลุ่มกบฏไว้ กลุ่มกบฏมีกำลังไม่เพียงพอจะรักษาเมืองไว้ได้ จึงต้องตีฝ่าวงล้อมออกไปตั้งมั่นที่อื่น ฝ่ายกองทัพนายพลอู๋ก็ปล่อยให้กลุ่มกบฏตีฝ่าไปได้เพราะอ่อนแรงหลังจากต้องต่อสู้กับกองทัพแมนจูก่อนจะสวามิภักดิ์ กองทัพแมนจูได้เข้ายึดกรุงปักกิ่งได้ในวันที่ 6 มิถุนายน ในปีเดียวกัน อย่างไรก็ดี กองทัพแมนจูยังต้องใช้เวลาอีกกว่า 17 ปีเพื่อปรามปราบกลุ่มผู้ภักดีต่อราชวงศ์หมิง ผู้แสร้งทำภักดีต่อชิง และกลุ่มกบฏทั้งหลาย ผู้แสร้งภักดีต่อชิงคนสุดท้ายคือ องค์ชายกุย (桂王) ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์หมิง และหลบหนีอยู่ในพม่า นายพลอู๋ได้เดินทางไปนำตัวขึ้นมาและประหารชีวิตที่มณฑลยูนนานใน พ.ศ. 2205

สิ่งที่เราน่าจะรู้จักกันดีคือ ผมเปียของชาวแมนจู จักรพรรดิชิงทรงออกกฎบังคับให้ชาวฮั่นทุกคนต้องไว้ผมเปียและสวมเสื้อผ้าอย่างชาวแมนจู เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและภักดีต่อราชวงศ์ชิง ชายชาวฮั่นทุกคนต้องโกนผมครึ่งศีรษะและหนวดเครา และผูกผมด้านท้ายเป็นหางเปียยาว กฎนี้ขัดแย้งกับประเพณีปฏิบัติเดิมของชาวฮั่นที่ห้ามตัดผม ชาวจีนทั่วประเทศต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือก มิฉะนั้นจะถูกตัดหัว กว่า 258 ปีที่ราชวงศ์ชิงครองประเทศ ชาวจีนได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้งเนื่องจากกฎดังกล่าวนี้

[แก้] การปกครองสมัยต้นราชวงศ์ชิง

พุทธศตวรรษที่ 23 ในต้นราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นยุคที่ทางราชวงศ์ต้องผจญกับขบวนการกู้หมิงต้านชิง ของชาวฮั่นทั้งหลายที่โกรธแค้นที่ชนต่างเชื้อสายมาเป็นใหญ่ประเทศจีน ดังนั้นในสมัยของ จักรพรรดิคังซี, จักรพรรดิหย่งเจิ้น และจักรพรรดิเฉียนหลง จึงต้องใช้ทั้งนโยบายประนีประนอมเพื่อให้อยู่กับชาวฮั่นได้อย่างเป็นสุข และนโยบายแข็งกร้าวเพื่อควบคุมชาวฮั่นไว้ไม่ให้คิดต่อต้าน ซึ่งนโยบายเหล่านี้กลายเป็นแนวปฏิบัติของจักรพรรดิองค์ต่อๆ มา เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอำนาจรัฐ

ในประวัติศาสตร์จีนได้ปรากฏว่ามีชนกลุ่มน้อยขึ้นตั้งราชวงศ์ปกครองแผ่นดินจีน 2 ราชวงศ์ นั่นคือ ราชวงศ์หยวนของเผ่ามองโกล และราชวงศ์ชิงของเผ่าแมนจู ราชวงศ์หยวนถึงแม้จะเก่งกาจ มีกำลังทหารและอาวุธที่น่าเกรงขาม แต่ไม่มีความรู้ด้านการปกครอง จึงปกครองแผ่นดินจีนได้เพียงแค่ 90 ปีเศษก็ล่มสลายไป ส่วนราชวงศ์ชิงใช้นโยบายประนีประนอมและแข็งกร้าวได้อย่างแยบยล จึงประสบความสำเร็จทั้งทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และสังคม จนสามารถปกครองแผ่นดินจีนได้นานถึง 260 ปี

[แก้] นโยบายประนีประนอม

นโยบายประนีประนอมถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการผูกมิตรเอาอกเอาใจชาวฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ราชวงศ์ชิงเข้าปกครองแผ่นดินจีนใหม่ๆ เพื่อสร้างบารมีให้กับราชวงศ์ชิง และขจัดความคิดต่อต้านแมนจู โดยนโยบายสำคัญๆ มีดังนี้

  • จัดพระราชพิธีปลงพระศพของพระเจ้าหมิงซือจง จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หมิงและพระมเหสี และสร้างสุสานถวายให้อย่างสมพระเกียรติ
  • ยกย่องขุนนางราชวงศ์หมิงที่สละชีพเพื่อปกป้องเยี่ยงวีรบุรุษ และเกลี้ยกล่อมขุนนางหมิงให้สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ชิงและดูแลเป็นพิเศษ
  • ยังคงใช้วิธีคัดเลือกข้าราชการโดยวิธีการสอบจอหงวนตามแบบของราชวงศ์หมิง
  • จักรพรรดิคังซี ทรงจัดทำ พจนานุกรมคังซี ซึ่งรวบรวมตัวอักษรจีนได้ครบถ้วนที่สุดสมัยนั้น และในสมัย จักรพรรดิเฉียนหลง ได้มีการรวบรวมงานวิชาการครั้งยิ่งใหญ่ทั่วประเทศจีนมาเป็น ประมวลสาส์นสี่ภาค (四庫全書 ซื่อคู่เฉวีนซู) มีการส่งเสริมบัณฑิตที่มีผลงานทางวิชาการให้ได้รับบำเหน็จ อย่างไรก็ตาม ในขณะรวบรวมผลงานทางวิชาการ หนังสือหลายเล่มถูกทำลายเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง
  • ยกเลิกหรือลดอัตราภาษีที่ขูดรีดในท้องที่ต่างๆ และล้มแนวการปกครองที่โหดร้ายของราชวงศ์หมิง

[แก้] นโยบายแข็งกร้าว

ในขณะเดียวกัน ราชวงศ์ชิงก็ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวเพื่อสยบชาวฮั่นที่คิดจะต่อต้านไว้ด้วย โดยนโยบายสำคัญมีดังนี้

  • สังหารประชาชนที่รวมตัวก่อจลาจลต่อต้านราชสำนักตามท้องที่ต่างๆ อย่างโหดเหี้ยม
  • ห้ามการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสมาคมอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการรวมพลังมวลชน
  • บังคับให้ชายชาวฮั่นทั่วประเทศต้องไว้ผมแบบชาวแมนจู คือ ไว้หางเปียยาวด้านหลัง และโกนผมครึ่งศีรษะ อย่างที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดีจากภาพยนตร์ ใครฝ่าฝืนจะต้องโทษประหารชีวิต
  • นำกฎหมายอาชญาทางภาษา (เหวินจื้ออวี้) มาใช้หลายครั้ง เพื่อควบคุมความคิดของชาวฮั่นให้อยู่ในกรอบ ในสมัยจักรพรรดิคังซี หย่งเจิ้ง และเฉียนหลง มีปรากฏว่ามีมากถึง 70-80 คดี แต่ละคดีจะมีผู้รับเคราะห์ 10 คน จนถึงหมื่นคนก็มี ตัวอย่างคดีที่สำคัญ เช่น คดีหนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง (หมิงสื่อ) ในสมัยคังซี ที่จวนถิงหลง จัดพิมพ์ไปกล่าวกระทบประวัติศาสตร์แมนจู ราชวงศ์ชิงถึงกับขุดศพจวนถิงหลงมาแยกร่าง ผู้เขียน ตรวจอักษร ขายหนังสือ และแม้แต่ผู้มีหนังสือในครอบครองถูกประหาร 72 คน และถูกขับไล่ให้เป็นทหารแถบชายแดนอีกนับร้อยคน
พระนางซูสีไทเฮา
พระนางซูสีไทเฮา

[แก้] เริ่มระส่ำระสาย

หลังจากเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงต้นราชวงศ์ สภาพทั่วไปในพุทธศตวรรษที่ 24 ราชวงศ์ชิงเริ่มอ่อนแอและความเจริญรุ่งเรืองลดลง เนื่องจากประเทศจีนประสบปัญหาความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของกลุ่มคนในวงการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองที่มีขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวง เศรษฐกิจหยุดนิ่ง เพราะจักรพรรดิเฉียนหลง กษัตริย์เจ้าสำราญโปรดความหรูหราฟุ่มเฟือยและทำสงครามบ่อยครั้ง เงินท้องพระคลังขัดสน และจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนที่ทำกิน จะเห็นได้ว่าราชวงศ์ชิงมีปัญหาความกดดันภายในประเทศที่สะสมมานาน ประกอบกับความกดดันภายนอกจากชาติมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม ที่ราชวงศ์ชิงไม่อาจทานได้เพราะระบบการปกครอง และเศรษฐกิจที่ล้าสมัย

[แก้] กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว

หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น รัฐบาลชิงต้องเสียดินแดนและชำระค่าฝิ่นกับค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนสูง จึงขูดรีดภาษีจากประชาชน การคลังขาดแคลน ประชาชนอดอยาก สังคมเริ่มวุ่นวาย ไร้ความสงบสุข ประชาชนเริ่มรวมตัวต่อต้านอำนาจรัฐกลายเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว โดยมีผู้นำคือ หงซิ่วฉวน เป็นชาวอำเภอฮัวเซี่ยน มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งได้รับอิทธิพลของคริสต์ศาสนา จึงร่วมกับ เฝิงอวิ๋นซาน ก่อตั้งสมาคมนับถือพระเจ้าที่มณฑลก่วงซี แล้วกลายสภาพเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วในเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1851 รัชศกเต้ากวง ปลายรัชสมัยปีที่ 30

กองทัพของหงซิ่วฉวนกับเฝิงอวิ๋นซานบุกยึดเมืองนานกิงได้ในปีค.ศ. 1853 รัชศกเสียนฟง ปีที่ 3 ขณะนั้นกองทัพมีกำลังพลนับล้านกว่าคน หลังจากได้ชัยชนะในหลายสมรภูมิช่วงท้ายของกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว ผู้นำทั้งสองเกิดความขัดแย้งกันเองด้วยการแยกตัวเป็นอิสระ การลอบสังหารกันด้วยความระแวงใจ ทำให้กองทัพกบฏเริ่มอ่อนแอลง กอปรกับราชสำนักชิงขอร้องกองทัพอังกฤษซึ่งมีอาวุธทันสมัยและทหารแข็งแกร่งให้ช่วยกวาดล้างกบฏแลกกับผลประโยชน์ที่เสนอให้อังกฤษ ฝ่ายกบฏเริ่มสูญเสียที่มั่นไปจนถึงปลายปีค.ศ. 1863 รัชศกถงจื้อ ปีที่ 2 ทหารชิงและทหารต่างชาติล้อมเมืองเทียนจิงได้ ปีถัดมาเมืองนั้นเกิดสภาพอดอยาก หงซิ่วฉวนฆ่าตัวตาย เมืองเทียนจิงแตก จึงถือเป็นการปิดฉากกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วลง แต่จิตวิญญาณต่อต้านราชวงศ์ชิงยังฝังแน่นในหัวใจของชาวฮั่นซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้เกิดการปฏิวัติต่อต้านแมนจูในเวลาข้างหน้าอีก

[แก้] สงครามจีน – ญี่ปุ่น ครั้งแรก

หลังการปฏิรูปเมจิในญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเริ่มขยายอำนาจออกนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายที่แผ่นดินจีนอันกว้างใหญ่ ด้วยการนำกองทัพบุกยึดครองเกาหลีซึ่งเป็นประเทศราชของจีนเพื่อหวังเป็นเส้นทางเข้าสู่จีน ปี พ.ศ. 2437 (ค.ศ. 1894) รัชศกกวงซี่ ปีที่ 20 เกาหลีเกิดจลาจลกลุ่มภูมิปัญญาตะวันออก (ตงเสวียตั่ง) ขึ้น จึงร้องขอให้จีนช่วยเหลือ จีนส่งกองทัพไปตามคำขอ ส่วนญี่ปุ่นส่งกองทัพเรือไปยึดครองเกาหลีและโจมตีทหารจีนอันเป็นการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ กองทหารชิงพ่ายแพ้ ญี่ปุ่นยังรุกต่อเนื่องทำให้ราชสำนักชิงหวั่นเกรงความเข้มแข็งของกองทัพญี่ปุ่น จึงรีบขอเจรจาสงบศึกก่อน ในปีค.ศ. 1895 จึงทำสนธิสัญญา ชิโมโนเซกิ ระหว่างขุนนางหลี่หงจัง กับ ผู้นำญี่ปุ่นชื่อ นายอิโต อิโรบูมิ ความสูญเสียของจีนคือ ยกเกาหลี ไต้หวัน คาบสมุทรเหลียวตง ให้ญี่ปุ่น ใช้เงินค่าปฏิกรรมสงครามนับสองร้อยล้านตำลึง อนุญาตให้ตั้งโรงงานตามเมืองท่าของจีนได้

ผลจากสนธิสัญญานี้บางส่วนไปกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซียซึ่งมีดินแดนบางส่วนติดกับจีนที่บริเวณคาบสมุทรเหลียวตง รัสเซียร่วมกับฝรั่งเศส เยอรมัน ทำการคัดค้านการยึดครองดินแดนผืนนั้นอย่างหนักหน่วง ญี่ปุ่นจำใจคืนคาบสมุทรเหลียวตงให้จีน โดยแลกกับเงินแท่งหลายล้านตำลึง การต้องใช้จ่ายเงินจำนวนสูงมากในหลายกรณีโดยราชสำนักชิง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนหนักจากการรีดภาษี ความยากแค้นแผ่ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ แรงคับแค้นใจถูกเก็บอัดแน่นมากขึ้นในหมู่ประชาชน

[แก้] การปฏิรูป / รัฐประหาร อู้ซีว์

หลังการพ่ายแพ้สงครามต่อฝรั่งเศสและญี่ปุ่น รัชศกกวงซีว์ ปีที่ 23 เยอรมันใช้กำลังยึดครองอ่ายเจียวโจว คังโหย่วเหวย ถานซือถง เสนอหลักเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบใหม่เพื่อความเข้มแข็งของชาติ ซึ่งเรียกกันว่า “แผนปฏิรูป อู๋ซีว์” โดยเน้นการผลิตบัณฑิตสมัยใหม่ เปิดกว้างการวิพากษ วิเคราะห์ พัฒนากิจการใหม่ๆที่ส่งผลต่อความเข้มแข็งของชาติ และความอิ่มท้องของชาวบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากพระเจ้ากวงซีว์ ซึ่งต้องการใช้แผนปฏิรูปนี้ยึดคืนอำนาจจากพระนางซูสีไทเฮา ข้าราชสำนักส่วนใหญ่เกิดความระแวงใจว่าแผนดังกล่าวมาจากบัณฑิตชาวฮั่น จึงร่วมมือกับพระนางซูสีทำรัฐประหาร กักขังพระเจ้ากวงซีว์ จับถานซื่อถงกับพวกนักปฏิรูป รวมทั้งลงโทษขุนนางที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สั่งยกเลิกแผนปฏิรูปทั้งหมด เรียกว่า รัฐประหาร อู้ซีว์ ส่วนคังโหย่วเหวยกับเหลียงฉี่เชาหลบหนีไปนอกประเทศได้

หลังการปฏิรูปชาติล้มเหลว ราษฎรเริ่มตระหนักใจว่าหากไม่ล้มล้างรัฐบาลชิงซึ่งไร้ความสามารถ ราชสำนักชิงภายใต้อำนาจของพระนางซูสีเหลวแหลกและเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปไปสู่ความเข้มแข็งของชาติ คนจำนวนมากจึงเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติของดร.ซุนยัดเซน ในเวลาต่อไป

[แก้] ขบวนการอี้เหอถวน / ศึกพันธมิตรแปดชาติ

ตอนปลายราชวงศ์ชิงการรุกรานของต่างชาติทั้งด้านกองทหารและศาสนาคริสต์สร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอันเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันที่ราชสำนักกลัวเกรงต่างชาติโดยไม่คุ้มครองชาวบ้านที่ถูกรังแกเหยียดหยาม จึงสั่งสมความแค้นกลายเป็นพลังต่อต้านต่างชาติอย่างเร็ว กอปรกับภัยพิบัติของแม่น้ำฮวงโหแล้งติดต่อกันหลายปี ทำให้เกิดความยากแค้นจึงมีกลุ่มความเชื่อลัทธิต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอี้เหอถวนในมณฑลซานตงกับเหอเป่ย ซึ่งนอกจากสอนมวยแล้ว ยังฝังความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์ให้ชาวบ้านด้วยพร้อมกับแนวคิดสนับสนุนราชวงศ์ชิง กำจัดต่างชาติ ทำให้มีผู้ร่วมกลุ่มเพิ่มทวีขึ้น นอกจากนั้นราชสำนักชิงโดยพระนางซูสีต้องการใช้กลุ่มนี้ต่อต้านต่างชาติซึ่งคัดค้านพระนางกักขังพระเจ้ากวงซีว์ กลุ่มนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือทำลายต่างชาติของและได้รับการสนับสนุนจากพระนางซูสีซึ่งคอยบงการอยู่เบื้องหลัง อันสร้างความไม่พอใจแก่ชาวต่างชาติอย่างมาก

[แก้] พระนางซูสีหนีภัยสงครามของตนเอง

ปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) รัชศก กวงซีว์ ปีที่ 26 พระนางซูสีไทเฮาสั่งกลุ่มอี้เหอถวนโจมตีเขตสถานทูตของต่างชาติในปักกิ่ง ทำให้ชาติต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหายรวมตัวกันเป็นกองทัพพันธมิตรแปดชาติตอบโต้จีน ทหารชิงแตกพ่าย ทหารพันธมิตรบุกเข้ากรุงปักกิ่งและยึดพระราชวังต้องห้ามไว้ พระนางซูสีพาพระเจ้ากวงซีว์ลี้ภัยหนีไปเมืองซีอาน ส่วนกองทัพพันธมิตรปล้นสดมภ์วังต้องห้ามและบ้านเรือนของชาวบ้าน อันสร้างความเสียหายอย่างมากทั้งสถานที่หรือสมบัติมีค่าของจีน ปีต่อมาราชสำนักชิงส่งตัวแทนเจรจาสันติภาพโดยยอมใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนสูงมาก ยอมให้ต่างชาติตั้งกองทหารในเขตที่ต้องการอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ของชาติ รวมทั้งกำหนดขอบเขตที่ห้ามคนจีนเข้าไปทั้งที่เป็นดินแดนจีน การสูญเสียอธิปไตยเพิ่มเติมจากสัญญาต่างๆที่เคยทำไว้โดยมาจากความอ่อนแอของราชสำนักชิงสร้างความคับแค้นใจแก่คนจีนซึ่งเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ชาติจะรอดพ้นภัยพิบัติได้ด้วยการล้มล้างราชวงศ์ชิงเท่านั้น แนวคิดนี้ลุกลามไปทั่วแผ่นดิน ขบวนการปฏิวัติจึงรวมตัวและเคลื่อนไหวเข้มข้นมากขึ้น อันสั่นคลอนต่ออำนาจของพระนางซูสีไทเฮาและราชสำนักชิงในเงื้อมเงาของพระนางหนักขึ้นทุกขณะ

[แก้] รัฐธรรมนูญของราชสำนักชิง

ช่วงปลายลมหายใจของพระนางซูสีไทเฮา ฝ่ายต่อต้านราชสำนักชิงมีพลังมากขึ้นและแยกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญโดยยังมีฮ่องเต้ของคังโหย่วเหวย กับ ฝ่ายล้มล้างราชวงศ์ชิงของดร.ซุนยัดเซน เพื่อเป็นการลดความร้อนแรงของประชาชน ราชสำนักชิงเลือกจะร่างรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนต้องการ ทำให้ฝ่ายล้มล้างราชวงศ์ชิงไม่เป็นที่สนใจเพราะความหวังใหม่ในท่าทีอ่อนลงของราชสำนัก พระนางซูสีไทเฮาคัดเลือกรัชทายาทใหม่และถือเป็นคนสุดท้ายของราชวงศ์ชิงก่อนสิ้นลมหายใจ คือ พระเจ้าปูยีหรือผู่อี๋ ตอนนั้นมีพระชนมายุไม่ถึง 3 ขวบ และเปลี่ยนเป็นรัชศกเซียนถ่ง โดยมีพระบิดา คือ เจ้าชายฉุน (ไจ้เฟิง) เป็นผู้สำเร็จราชการบริหารแผ่นดินแทน พระบิดาร่างรัฐธรรมนูญต่อไปเมื่อประกาศใช้ในแผ่นดินกลับสร้างความผิดหวังแก่ประชาชนอย่างมาก เมื่อกำหนดให้กลุ่มผู้บริหารประเทศเป็นเชื้อพระวงศ์ชิงส่วนใหญ่ คนจีนตระหนักใจแล้วว่าความหวังเดียวของชาติ คือ ต้องใช้กำลังล้มล้างราชวงศ์ชิงเท่านั้น ฝ่ายที่เคยเรียกร้องรัฐธรรมนูญของคังโหย่วเหวยผันตัวเองไปสนับสนุนกลุ่มดร.ซุนยัดเซนมากขึ้น หลังจากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับของราชสำนักชิงแล้ว ประชาชนเปลี่ยนไปเข้าร่วมแนวคิดของดร.ซุนยัดเซนเพิ่มทวีขึ้นและถือว่าทรงอิทธิพลมาก ชะตากรรมของราชสำนักชิงเข้าสู่จุดวิกฤติ

[แก้] ราชวงศ์ชิงล่มสลาย

ภาพนายพลหยวนซือไข่
ภาพนายพลหยวนซือไข่

ในช่วงต้นของพุทธศตวรรษที่ 25 ประชาชนเริ่มรวมกลุ่มกันประท้วงมากขึ้นและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพระนางซูสีไทเฮาและจักรพรรดิกวางซวีสวรรคตใน พ.ศ. 2451 ทิ้งให้สมาชิกราชวงศ์ที่ไร้บารมีและสถานภาพทางการเมืองไม่แน่นอนยังอยู่ในพระราชวังต้องห้าม ปูยี โอรสขององค์ชายชุนที่ 2 ได้รับการอภิเษกให้เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไปตั้งแต่พระชนมายุเพียง 2 ชันษา โดยให้พระราชบิดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ต่อมา นายพลหยวนซือไข่ ถูกปลดออกจากตำแหน่งทางทหาร ในกลางปี พ.ศ. 2454 องค์ชายชุนที่ 2 ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีหลวง โดยสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นพระญาติสกุลอ้ายซินเจวี๋ยโหล มีหน้าที่บริหารประเทศจีนในเรื่องทั่วไป การตั้งคณะรัฐมนตรีหลวงครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับข้าราชการชั้นสูงทั้งหลาย ซิ่งรวมทั้ง จางจื่อตง ด้วย

ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2454 ได้เกิดจลาจลอู่จางขึ้น และต่อมา นายพลซุน ยัตเซ็น ได้ประกาศก่อตั้งรัฐบาลของตนขึ้นใหม่ ในนามสาธารณรัฐจีน ที่เมืองนานกิง หัวเมืองหลายแห่งเริ่มตีตัวแยกจากรัฐบาลราชวงศ์ชิง เมื่อสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจเช่นนี้ รัฐบาลราชวงศ์ชิงจึงเรียกตัวนายพลหยวนซือไข่รู้สึกไม่พอใจราชวงศ์อยู่แล้วกลับเข้ามาควบคุมกองทัพเป่ยหยาง เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้แข็งข้อทั้งหลาย หลังจากที่ได้ตำแหน่งนายรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลของตนแล้ว นายพลหยวนก็ได้เรียกร้องให้องค์ชายชุนลงจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ โดยการเรียกร้องครั้งนี้ได้รับคำแนะนำจาก หลงหยูฮองเฮา

หลังจากองค์ชายชุนออกจากตำแหน่งแล้ว หยวนซือไข่และนายพลจากกองทัพเป่ยหยางก็ครอบงำราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ ประเทศจีนในครั้งนั้นก็มี รัฐบาล 2 ฝ่าย รัฐบาลหยวนซือไข่ปฏิเสธการทำสงครามกับรัฐบาลสาธารณรัฐของซุน ยัตเซ็น โดยให้เหตุผลว่าเสียค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีเหตุผล คำเรียกร้องของราชวงศ์ชิงคืออยากให้ประเทศจีนปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และซุนยัตเซ็นอยากให้ก็ประเทศปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ หลังจากที่ได้รับการอนุญาตจากหลงหยูไทเฮาแล้ว นายพลหยวนก็ได้เปิดการเจรจากับซุนยัตเซ็น โดยที่ซุนยัดเซ็นมีเป้าหมายว่าถ้าก่อตั้งสาธารณรัฐจีนสำเร็จแล้ว อาจจะให้นายพลหยวนขึ้นเป็นประธานาธิบดี ใน พ.ศ. 2455 หลังจากการเจรจา หลงหยูไทเฮาก็ได้ออกพระราชเสาวนีย์ประกาศให้จักรพรรดิปูยีผู้เป็นพระโอรสบุญธรรมสละราชบัลลังก์

การล่มสลายของราชวงศ์ชิงใน พ.ศ. 2454 ถือเป็นการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในจีนที่มีมายาวนานกว่า 2,000 ปี

[แก้] อ้างอิง

  • โจวจยาหรง. ประวัติศาสตร์จีน. กรุงเทพมหานคร: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2546.

[แก้] ดูเพิ่ม

Commons
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
ราชวงศ์ชิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น



aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -