มหาวิทยาลัย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัย หมายถึง สถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลากหลายสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญา แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในหลายระดับรวมถึง ปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก รวมทั้งการทำการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
ด้วยคำจำกัดความหลายแบบของมหาวิทยาลัย จึงเป็นการยากที่จะตัดสินได้ว่ามหาวิทยาลัยไหนเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยมีกล่าวถึงมหาวิทยาลัยของเพลโต ในช่วงราว พ.ศ. 200 ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามมีการยอมรับอย่างกว้างขวาง ว่า มหาวิทยาลัยโบโลญญา ในเมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 1631 (ค.ศ. 1088) ถัดมาคือ มหาวิทยาลัยปารีส ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้ง พ.ศ. 1693 (ค.ศ. 1150) และถัดมาคือ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ก่อตั้ง พ.ศ. 1710 (ค.ศ. 1167)
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในแต่ละประเทศ เช่น
- สหรัฐอเมริกา - มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อตั้งปี พ.ศ. 2179 (ค.ศ. 1636)
- ญี่ปุ่น - มหาวิทยาลัยโตเกียว ก่อตั้งปี พ.ศ. 2420 (ค.ศ. 1877)
- ไทย - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งปี พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916)
[แก้] ประวัติมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย
[แก้] เรียงตามการสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย
ลำดับที่ | วันที่ | สัญลักษณ์ | ประวัติย่อ |
---|---|---|---|
1 | 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ขึ้นเป็น " จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย " มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย โดยมี 4 คณะแรกตั้ง ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ | |
2 | 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 | ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ริเริ่มก่อตั้ง "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)" ขึ้น เป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย วิชาเริ่มแรกที่เปิดสอนมี 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต ซึ่งสอนวิชากฎหมายเป็นหลัก และ วิชาการบัญชี ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น " มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" | |
3 | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 | "โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม" ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ " เป็นมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตรแห่งแรกของไทย โดยมีคณะเกษตรศาสตร์ คณะการประมง คณะวนศาสตร์ และ คณะสหกรณ์ เป็นคณะแรกตั้ง ในปัจจุบันคือ คณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และ คณะเศรษฐศาสตร์ | |
4 | 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 | มีการแยกคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล, คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์ และ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งเป็น "มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" ต่อมาได้รับพระราชทานนามมหาวิทยาลัยใหม่ ว่า " มหาวิทยาลัยมหิดล " | |
5 | 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 | "โรงเรียนปราณีตศิลปกรรม" ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น " มหาวิทยาลัยศิลปากร " โดยมีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม เป็นคณะวิชาแรก (ปัจจุบันคือคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์) | |
6 | 21 มกราคม พ.ศ. 2507 | พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย ได้แก่ " มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ " โดยมีคณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ เป็นคณะแรกตั้ง | |
7 | 25 มกราคม พ.ศ. 2509 | มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติ สถาปนาสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ "มหาวิทยาลัยขอนแก่น " | |
8 | 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 | ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า " มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ " ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ | |
9 | 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 | "มหาวิทยาลัยรามคำแหง " ได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันอุดมศึกษาแบบตลาดวิชา โดยมีคณะแรกตั้ง คือ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ | |
10 | พ.ศ. 2514 | มีการรวม "วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี และวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี" จัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูง ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า" แบ่งเป็น 3 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตนนทบุรี วิทยาเขตพระนครเหนือ และวิทยาเขตธนบุรี และเมื่อวันที่19กุมภาพันธ์ 2529 แต่ละวิทยาเขตได้แยกเป็นสถาบันอุดมศึกษาอิสระต่อกัน | |
11 | 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 | "วิทยาลัยวิชาการการศึกษา" ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ " | |
12 | 5 กันยายน พ.ศ. 2521 | มีการสถาปนาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแบบไม่จำกัดรับแห่งที่ 2 ของประเทศ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานนามว่า " มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช " ตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น "กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา" และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย | |
13 | 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 | "โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม แม่โจ้" ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น " มหาวิทยาลัยแม่โจ้ " | |
14 | 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 | พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2533 " มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี " ถือว่าวันนี้เป็นสถาปนามหาวิทยาลัย [1] มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย (ประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) หน้า 93 เล่ม 107 ตอนที่ 131 วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533) |
|
15 | 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 | "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก" ได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 400 ปี ของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า " มหาวิทยาลัยนเรศวร" | |
16 | 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 | ได้มีการยกฐานะ "วิทยาลัยอุบลราชธานี" ในสังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขึ้นเป็น " มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี " | |
17 | 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 | มีพระราชบัญญัติให้ "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน" ยกฐานะขึ้นเป็น " มหาวิทยาลัยบูรพา " | |
18 | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 | "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม" ได้แยกตัวเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศภายใต้ชื่อ "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" | |
19 | 29 มีนาคม พ.ศ. 2535 | พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และพระราชทานชื่อว่า " มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ " อันเป็นสร้อยพระนามในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี | |
20 | 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 | "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา" ยกฐานะเป็นขึ้น " มหาวิทยาลัยทักษิณ " | |
21 | 25 กันยายน พ.ศ. 2541 | ได้มีการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย โดยใช้ชื่อว่า " มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง " เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และให้สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไป | |
22 | 18 มกราคม พ.ศ. 2548 | ได้มีการยกฐานะ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2548 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 พระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 19 มกราคม 2548 เป็นต้นมา | |
23 | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 | ได้มีการรวมสถาบันการศึกษาภายในจังหวัดนราธิวาส เพื่อสถาปนา "มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์" | |
24 | 2 กันยายน พ.ศ. 2548 | มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ของประเทศ ในจังหวัดนครพนม โดยการรวมสถาบันการศึกษาภายในจังหวัด เพื่อสถาปนาขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยนครพนม" |
[แก้] เรียงตามปีที่เปิดสอน
- พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น ต่อมาพัฒนาเป็น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2440 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ โดยความเห็นชอบในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ต่อมาพัฒนา เป็นคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ต่อมาพัฒนาเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2460 ถือกำเนิดโรงเรียนฝึกหัดครู ประถมกสิกรรม ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- พ.ศ. 2460 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้น เรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหอวัง" ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- พ.ศ. 2486 ก่อตั้ง โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2492 ก่อตั้ง โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถือกำเนิดขึ้นจากการผลักดันของ ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งท่านเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- พ.ศ. 2498 ก่อตั้ง วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยบูรพา
- พ.ศ. 2502 รัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ หรือที่รู้จักทั่วไปในชื่อ “เทคนิคไทย–เยอรมัน” ต่อมาพัฒนาเป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- พ.ศ. 2503 ก่อตั้ง ศูนย์ฝึกโทรคมนาคมนนทบุรี สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาพัฒนาเป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- พ.ศ. 2503 ก่อตั้ง วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- พ.ศ. 2503 รัฐบาลชุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลงมติอนุมัติให้จัดตั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- พ.ศ. 2505 ได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เสนอชื่อสถาบันแห่งนี้ว่า สถาบันเทคนิคขอนแก่น และเสนอชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า KhonKaen Institute of Technology มีชื่อย่อว่า K.I.T. ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อสถาบันนี้เป็น มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเวลาต่อมา
- พ.ศ. 2510 ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- พ.ศ. 2510 ก่อตั้ง วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก ตาม พ.ร.บ. วิทยาลัยวิชาการศึกษา ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร
- พ.ศ. 2511 ก่อตั้ง วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ตาม พ.ร.บ. วิทยาลัยวิชาการศึกษา ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- พ.ศ. 2511 ก่อตั้ง วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา ตาม พ.ร.บ. วิทยาลัยวิชาการศึกษา ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยทักษิณ
- พ.ศ. 2514 ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 กำหนดให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา
- พ.ศ. 2518 ก่อตั้ง "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา" ตาม พ.ร.บ. วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พ.ศ. 2518 ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
- พ.ศ. 2521 ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อดำเนินการดำเนินการสอนโดยใช้ระบบการสอนทางไกล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยตามพระนามเดิมของรัชกาลที่ 7 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2522 ส.ส. นครศรีธรรมราชเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ชื่อ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- พ.ศ. 2527 ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ในส่วนภูมิภาค 5 แห่งโดยวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมาให้ใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยสุรนารี" และพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- พ.ศ. 2530 ก่อตั้ง วิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาพัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2540 คณะกรรมการกลั่นกรองงานฝ่ายสังคมของรัฐบาลในสมัยที่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มอบให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่