บักส์ บันนี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บักส์ บันนี (Bugs Bunny) เป็นตัวการ์ตูนใน ลูนีย์ทูนส์ ซึ่งการ์ตูนซีรี่ส์เป็นตอน ๆ และเป็นตัวการ์ตูนที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก บักส์บอกว่าเขาเกิดในปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) ที่ย่านบรูกลิน ในนครนิวยอร์ก แต่เสียงของ เมล แบลงก์ ซึ่งพากย์เสียงของ บักส์ บันนี เป็นสำเนียงลูกผสมระหว่างคนย่านบรองซ์กับบรูกลิน
บักส์เป็นที่รู้จักกันดีจากการเป็นคู่แค้นกับ เอลเมอร์ ฟัดด์ โยเซมิตี แซม มาร์วิน มาร์เชียน แดฟฟี ดัคก์ แม้กระทั่ง ไวลี อี. ไคโยตี (ซึ่งโดยปกติแล้วจะไล่ล่า โรด รันเนอร์ (Road Runner) หรือ ตัว "บิ๊บ บิ๊บ" ที่เรารู้จักกันดี)
ทุกครั้งที่มีเรื่องมีราวกัน บักส์จะลงเอยเป็นผู้ชนะเสมอ โดยเฉพาะตอนที่กำกับโดย ชัคก์ โจนส์ ผู้ซึ่งชอบจับคู่ชน ระหว่าง "ผู้ชนะ" กับ "ผู้แพ้" เนื่องจากโจนส์เป็นห่วงว่า ในที่สุดผู้ชมจะหมดความเห็นอกเห็นใจให้กับ บักส์ ซึ่งเป็นผู้ชนะตลอด (โดยปกติ ผู้ชนะมักจะเป็นฝ่ายที่ก้าวร้าวกว่า) โจนส์จึงได้วางเนื้อเรื่องให้บักส์นั้นถูกรังแก ถูกล่อลวง และถูกข่มขู่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากอีกฝ่ายที่มีเรื่องกันเสมอ หลังจากถูกหาเรื่อง (ปกติแล้วจะเกิดขึ้น 3 ครั้ง) บักส์ก็จะพูดว่า "Of course, you realize this means war" (แน่นอน คุณก็เห็นว่านี่คือสงคราม) เป็นคำพูดที่ โจนส์ เอามาจาก เกราโช มาร์กซ และผู้ชมก็จะไม่ว่าอะไร ในลักษณะเป็นเชิงให้อนุญาตให้บักส์นั้น เริ่มใช้ความรุนแรงตอบโต้ได้
แต่ในตอนที่บักส์ พบกับตัวการ์ตูนที่เป็น "ผู้ชนะ" เหมือนกัน เช่น ซิซิล เดอะ เทอเทิล ใน Tortoise Beats Hare (กระต่ายกับเต่า) หรือใน WWII (สงครามโลกครั้งที่สอง) the Gremlin of Falling Hare บักส์มักจะเสียสถิติในการเป็นผู้ชนะ เนื่องจากความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
ระวังเสียอรรถรส ข้อความด้านล่างนี้กล่าวถึงเนื้อเรื่องหรือฉากจบ |
[แก้] การ์ตูนกระต่ายช่วงเป็นต้นแบบ
จากบันทึกของนักประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ และ การ์ตูน บักส์ บันนี ปรากฏตัวครั้งแรกใน การ์ตูนสั้น Porky's Hare Hunt ฉายครั้งแรก วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1938 การ์ตูนนี้กำกับร่วมกันโดย แคล ดัลตันและ โจเซฟ เบ็นสัน ฮาร์ดอเวย์ (รู้จักต่อมาในชื่อว่า เบ็น ฮาร์ดอเวย์) โดยตัว ฮาร์ดอเวย์ นั้นมีชื่อเล่นว่า "บักส์" การ์ตูนเรื่องนี้ ลอกเค้าโครงมาจาก Porky's Duck Hunt ที่ออกมาก่อนหน้าแล้ว ในวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 กำกับโดย เท็กซ์ เอฟวรีย์ ซึ่งเป็นตอนแนะนำตัวของแดฟฟี ดัก แต่ในการ์ตูนเรื่องแรกของ บักส์ บันนี นี้ เป็นเรื่องราว ที่นักล่าสัตว์ พอร์คกี พิก ออกไล่ล่าเหยื่อที่ต๊องพอๆ กัน เพราะแทนที่จะหนี กลับอยากที่จะทำให้ผู้ล่านั้นคลั่งเสียสติ ในเรื่องนี้เหยื่อก็คือ กระต่ายขาวตัวเล็ก และยังไม่มีชื่อ แทนที่จะเป็น เป็ดดำ แดฟฟี ดัก เช่นเคย ในเรื่องนี้ เมล บลังค์ เป็นผู้พากษ์เสียงของกระต่าย และคำเปิดตัวคือ "Jiggers, fellers!" และคำคม (ซึ่งถือเป็นลักษณะบ่งชี้เฉพาะตัวของกระต่ายตัวนี้) ก็คือ คำที่คัดลอกมาจาก เกราโช มาร์กซ ที่ว่า "Of course, you know, this means war." พอร์คกี ก็เลยเป็น คู่กัด คนแรกของ บักส์ โดยมีจุดจบคือ ได้เข้าไปนอนหยอดน้ำข้าวต้มในโรงพยาบาล
เรื่องที่สองที่ปรากฏตัว คือ Prest-O Change-O ฉาย 25 มีนาคม ค.ศ. 1939 กำกับโดย ชัค โจนส์ โดยเล่นเป็นกระต่าย ของนักมายากลล่องหน แชม-ฟู เมื่อสุนัข 2 ตัว เข้ามาในบ้านตอนที่นักมายากลไม่อยู่เพื่อหลบพายุ กระต่ายก็เริ่มกลั่นแกล้งเจ้าสุนัขทั้งสอง ในเรื่อง บักส์ จูบ สุนัขตัวหนึ่งถึง 2 ครั้ง นี่เป็นครั้งแรกที่บักส์จูบศัตรูของเขา เพื่อสร้างความสับสน และเรื่องนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ บักส์พ่ายแพ้แก่ศัตรู
ในเรื่องที่สาม Hare-um Scare-um ฉายวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1939 กำกับโดย ดัลตัน และ ฮาร์ดอเวย์ ในตอนนี้กิล เทอร์เนอร์ซึ่งเป็นผู้วาด ได้ให้ชื่อกับ กระต่ายของเรา โดยเขียน "บักส์ บันนี") ไว้ที่กระดาษร่างของเขา ซึ่งมีความหมายว่า ตัวกระต่ายนี้เป็นตัวการ์ตูนของ ฮาร์ดอเวย์ และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแรกที่กระต่ายมีสีเป็นสีเทาแทนที่จะเป็นสีขาว เนื้อเรื่องนั้นเป็นเนื้อเรื่องง่ายๆ คือ บักส์ เจอกับนักล่าสัตว์ และ สุนัขล่าเนื้อของเขา สิ่งที่เด่นในตอนนี้ก็คือ เป็นครั้งแรกที่บักส์ร้องเพลง และนับเป็นครั้งแรกที่บักส์แต่งตัวเป็นกระเทยเพื่อล่อหลอกศัตรู และจากเรื่องนี้เป็นต้นมากระต่ายก็ได้ชื่อว่า "บักส์" โดยผู้ตั้งชื่อให้คือ เหล่าผู้วาดที่ เทอร์ไมท์ เทอเรซ เพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้สร้าง คือเบ็น บักส์ ฮาร์ดอเวย์
ตอนที่สี่ Elmer's Candid Camera โดย ชัค โจนส์ ฉายในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1940 ตอนนี้ ทั้ง บักส์ และ เอลเมอร์ ฟัดด์ ได้ถูกออกแบบรูปร่างหน้าตาใหม่ เพื่อง่ายแก่การจดจำของผู้ชม ตอนนี้เป็นการพบกันครั้งแรกของตัวการ์ตูนทั้งสอง เอลเมอร์นั้นต้องการเพียงจะถ่ายรูปพื้นที่ แต่ บักส์ก็ทำตัวเองราวกับตกเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ความจริงนั้นทำไปก็เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น
[แก้] บุคลิกความเป็น บักส์ บันนี
[แก้] ช่วง ค.ศ. 1940
บุคลิกจริง ๆ ของบักส์นั้น ได้ปรากฏครั้งแรก ในเรื่อง A Wild Hare ของ เท็กซ์ เอฟวรีย์ ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1940 โดยมีบักส์โผล่ออกมาจากโพลงกระต่าย มาทักทายเอลเมอร์ ฟัดด์ ว่า "What's Up Doc?" ซึ่งถือเป็นจุดที่ภาพลักษณ์ของตัวการ์ตูนนั้นได้พัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้ว
บักส์ ได้ปรากฏตัวใน Patient Porky ของ โรเบิร์ต แคลมเพ็ต ซึ่งฉายในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1940 เพียงแค่ช่วงสั้นๆ เพื่อมาประกาศการเกิดของกระต่าย 260 ตัว ในการปรากฏตัวครั้งที่ 7 ของบักส์ ในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1941 ในชื่อตอน Elmer's Pet Rabbit ของชัค โจนส์ นั้น เป็นครั้งแรกที่มีการประกาศชื่อของเขา คือ บักส์ บันนี ให้ผู้ชมได้รับรู้ (ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้กันเฉพาะในกลุ่ม"เทอร์ไมท์ เทอเรซ") ตอนนี้เป็นตอนแรกที่บักส์เริ่มได้รับความนิยม เขาได้กลายมาเป็นตัวการ์ตูนใน ลูนีย์ทูนส์ ที่มีชื่อเสียงในเรื่อง ความใจเย็น ตลบตะแลง ไร้กังวล อันเป็นลักษณะที่ทำให้เขาได้กลายเป็นที่รักของชาวอเมริกัน ทั้งในช่วงสงคราม และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
[แก้] ช่วง ค.ศ. 1941
หลังจากนั้น บักส์ ก็ได้ปรากฏในอีก 5 ตอนในช่วงปี ค.ศ. 1941 เรื่องแรกนั้นก็คือ Tortoise Beats Hare ของ เท็กซ์ เอฟวรีย์ ซึ่งฉายในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1941 เป็นเรื่องราวของนิทานอีสป ที่กระต่ายท้าเต่าให้วิ่งแข่งกัน และได้พ่ายแพ้ให้กับเต่า เนื่องมาจากความมั่นใจในตัวเองที่สูงเกินไป แต่ในการ์ตูนนี้ บักส์ ได้เสียรู้ให้กับเต่าคู่แข่ง คือ ซิซิล เทอร์เทิล โดยเต่าคู่แข่งได้เอาญาติๆ ซึ่งหน้าตาเหมือนกัน มาเรียงรายไว้ตลอดรายทาง เพื่อหลอกให้บักส์หลงเชื่อว่าได้ถูกวิ่งแซง เป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ บักส์ ได้กลับกลายมาเป็นผู้ถูกหลอก และได้รับความอับอาย จากคู่แข่งซะเอง เท็กซ์ เอฟวรีย์นั้น ในภายหลังก็ได้ใช้แนวความคิด ที่ใช้ญาติที่หน้าตาเหมือนๆ กัน ในการ์ตูนตอนที่มี ดรูปปี ด็อก อยู่ในเรื่องตอนอื่นๆ
เรื่องที่สองคือ Hiawatha's Rabbit Hunt ฉายครั้งแรกวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1941 บักส์เป็นเป้าหมายถูกล่าโดย ลิตเติ้ล ไฮอะวาธา (Little Hiawatha เป็น Hiawatha รุ่นเด็ก) ในตอนนี้ได้มีการอ้างอิงถึง "The Song of Hiawatha" ซึ่งเป็นตอนหนึ่งใน บทกวีของเฮนรี แวดสเวิร์ท ลองเฟลโลว์ ลิตเติ้ล ไฮอะวาธา นั้นเคยปรากฏตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว ในการ์ตูน ลิตเติ้ล ไฮอะวาธา ซึ่งฉายในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตวัยเด็กของไฮอะวาธา กำกับโดย เดวิด ดอด แฮนด์ (ชาตะ 23 มกราคม ค.ศ. 1900 — มรณะ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1986) นับเป็นส่วนหนึ่งของการ์ตูนซีรีส์ Silly Symphonie ของ วอลต์ ดิสนีย์ ในตอน Hiawatha's Rabbit Hunt ที่เรากล่าวถึงนี้นั้น เป็นครั้งแรกที่บักส์ของเราประจัญหน้ากับชาวพื้นเมืองอเมริกัน หรืออินเดียนแดงนั่นเอง และก็เป็นตอนแรกเช่นกันที่กำกับโดย ฟริซ เฟรเลง
เรื่องที่สามนั้น กำกับโดย เท็กซ์ เอฟวรีย์ ชื่อตอน The Heckling Hare ฉายครั้งแรก 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 แต่ครั้งนี้ไม่ได้เจอนักล่า แต่เป็นสุนัขล่าเนื้อชื่อวิลเลอบี ซึ่งเมื่อมาถึงจุดนี้ ก็เป็นที่เริ่มคุ้นเคยกันทั่วไปกับลักษณะของบักส์แล้ว ที่เขาจะหลอกล่อกวนโมโหศัตรูของเขาตลอดทั้งตอน และคำถามเดียวที่วนเวียนอยู่ในหัวเขาก็คือ "Let's see...what can I do to this guy next?"
เรื่องถัดมาของบักส์ ก็ยังคงกำกับโดยเอฟวรียร์ ชื่อตอน All this and Rabbit Stew ฉายครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน ค.ศ. 1941 บักส์ ก็ยังโดนไล่ล่าอีกเช่นเคย โดยผู้ล่าเป็นตัวการ์ตูนชาวอเมริกาเชื้อสายแอฟริกาหรือคนผิวดำนั่นเอง โดยใช้รูปแบบของการแสดงที่แต่งหน้าด้วยสีดำเพื่อเป็นการบ่งชี้ หลังจากที่กลั่นแกล้งศัตรูจนเป็นที่พอใจแล้ว บักส์ก็หลอกล่อศัตรูของเขาให้ตัดสินการต่อสู้นี้ด้วยการโยนลูกเต๋า และในที่สุดศัตรูของบักส์ก็ถูกบักส์รูดทรัพย์สินและเสื้อผ้าจนหมด เหลือแต่ใบไม้ปิดบังตัวเท่านั้น และเขาได้พูดถึงสภาพของเขาว่า "Just call me Adam" ซึ่งมีที่มาจากเรื่องของอาดัมกับอีฟ ในพระคัมภีร์ไบเบิลตอนพระเจ้าสร้างโลกนั่นเอง และนี่ก็เป็นตอนสุดท้ายของบักส์ที่กำกับโดย เท็กซ์ เอฟวรีย์ ซึ่งได้ออกจากสตูดิโอ เนื่องจากความขัดแย้งกับผู้ผลิต ลีออน ชเลสซิงเกอร์ และย้ายไปอยู่ที่โรงถ่ายการ์ตูนของ เมโทร-โกลด์วิน-ไมเออร์
ตอนสุดท้ายในปีเดียวกันนี้ของบักส์ ก็คือ Wabbit Twouble ฉายครั้งแรกวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1941 กำกับโดย โรเบิร์ต แคลมเพ็ต ซึ่งถึงเวลานี้ได้มีแค่ฉากที่นำบักส์ไปโผล่เป็นช่วงสั้น ๆ เพื่อเป็นผู้ประกาศ และในตอนนี้บักส์ก็ได้เจอ เอลเมอร์ ฟัดด์ อีกครั้ง และก็อีกเช่นเคย เอลเมอร์เพียงแค่ต้องการเที่ยวพักผ่อน ที่ "Jellostone National Park" (เป็นการเลียนเสียง อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน) นอกจากบักส์แล้ว เอลเมอร์ยังถูกรบกวนจากหมีที่กำลังฉุนเฉียวอีก ผลสุดท้ายทั้งสามถูกตำรวจประจำอุทยานจับเข้าคุกในข้อหาบ่อนทำลายความสงบ ในตอนนี้ เอลเมอร์ถูกวาดให้มีลักษณะสูงและอ้วนกว่าที่เคยเป็น โดยรูปร่างนี้เป็นการออกแบบให้เข้ากับผู้ที่พากย์เอลเมอร์ ซึ่งก็คือ อาเธอร์ คิว ไบรอัน
[แก้] ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
[แก้] ช่วง ค.ศ. 1942
ถัดมา บักส์ ก็ได้ไปปรากฏตัวในช่วงสั้นๆอีกเรื่อง ในการ์ตูนเกี่ยวกับการท่องเที่ยว Crazy Cruise ซึ่งออกมาในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1942 โดย เท็กซ์ เอฟวรีย์ และ โรเบิร์ต แคลมเพ็ต และนี่ก็เป็นตอนสุดท้ายที่กำกับโดย เท็กซ์ เอฟวรีย์ ในขณะที่ยังทำงานให้กับ"เทอร์ไมท์ เทอเรซ"
บักส์ และ เอลเมอร์ ได้พบกันอีกครั้งในตอน The Wabbit Who Came to Supper ของฟริซ เฟรเลง ออกมาในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1942 ในขณะที่ เอลเมอร์ กำลังล่าบักส์อยู่นั้น เขาได้รับโทรเลข แจ้งว่าเขาจะได้รับมรดก $3,000,000 จากลุงลูอีของเขา โดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องเลิกทำร้ายสัตว์ โดยเฉพาะกระต่าย บักส์เลยฉวยโอกาสนี้ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านของ เอลเมอร์ ซะเลย และเรียกร้องสารพัด เอลเมอร์ ตอนหลังได้รับรู้ว่าลุงลูอี้ ได้เสียชีวิตแล้ว และเมื่อหักภาษีของการตกทอดมรดกแล้ว ก็ไม่มีอะไรเหลือถึง เอลเมอร์ บักส์ได้รู้ดังนั้นก็เลยรีบเผ่นออกจากบ้านไปทันที หลังจากนั้นไม่นานบักส์ก็ส่งของขวัญมาให้ เอลเมอร์ ทางไปรษณีย์ ในกล่องของขวัญนั้นเต็มไปด้วยลูกกระต่าย ซึ่งเข้ามาอยู่เต็มบ้านของ เอลเมอร์ ไปหมด
ตอนต่อมาที่บักส์ได้ปรากฏตัว เป็นโฆษณาชื่อ Any Bonds Today? กำกับโดยโรเบิร์ต แคลมเพ็ต ฉายครั้งแรก วันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1942 เป็นการโปรโมทขาย พันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อเอาเงินไปใช้ในสงครามโลกครั้งสอง ในตอนนี้ บักส์ได้ร้องเพลงและเต้นโชว์ และมีการแสดง blackface performance (ที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น) เพื่อล้อเลียน แอล โจลสัน (Al Jolson) ในตอนจบนั้น เอลเมอร์ ฟัดด์ และ พอร์คกี พิก ได้มาร่วมแสดง และนี่ก็เป็นการ์ตูนเพลงเรื่องแรกของบักส์ ความเป็นที่นิยมของ บักส์ เหนือ เอลเมอร์ และ พอร์คกี นั้นค่อนข้างเด่นชัดในช่วงเวลานั้น
บักส์นั้นก็ได้รับอิทธิพลจาก สงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกับการ์ตูนอื่นๆ ซึ่งผู้สร้างการ์ตูนในขณะนั้น เช่น ฟเลซ์เชอร์ (Fleischer) (ผู้สร้าง Popeye) และ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส (Warner Brothers studios) นั้นมีแนวโน้มที่จะวางเรื่องให้ตัวการ์ตูนนั้นเป็นศัตรูกับ ฮิตเลอร์ มุโสลินี กัวริง และ ญี่ปุ่น ในเรื่อง Bugs Bunny Nips the Nips ซึ่งฉายในปีค.ศ. 1944 นั้น บักส์ได้ถูกวางตัวให้ไปอยู่บนเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และต้องต่อสู้กับกองทัพทหารญี่ปุ่น (ซึ่งถูกออกแบบให้มีลักษณะที่น่ากลัว ตามลักษณะที่รู้จักกันโดยทั่วไป) ในตอน Herr Meets Hare ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1945 เป็นตอนซึ่งมี กัวริง และ ฮิตเล่อร์ ปรากฏเป็นตัวเด่น ตอนนี้ก็เป็นตอนที่เด่น เนื่องมาจากเป็นตอนแรกที่บักส์ได้แสดงความเฟอะฟะที่มีชื่อเสียงของเขา คือ "right turn at Albuquerque" (ซึ่งบักส์นั้นจะพลาด make a right turn เลี้ยวขวา ซึ่งเป็น the wrong (ผิด) turn แทนที่จะ make a left (ซ้าย) turn ซึ่งเป็น the right (ถูก) turn --right/left;right/wrong-- ที่เมือง อัลบูเคอกี (Albuquerque) ทางตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโก เป็นประจำ แล้วบักส์ก็จะบ่น "I knew I shoulda takin' that left turn at Albuquerque") และที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ บางฉากในตอนนี้ได้ถูกลอกไปใช้อีกที ในตอน What's Opera Doc?
ในช่วง ค.ศ. 1942 มีการ์ตูนของบักส์ ออกมาทั้งหมด 6 ตอน ตอนแรกนั้นกำกับโดยโรเบิร์ต แคลมเพ็ต ชื่อตอน The Wacky Wabbit ฉายครั้งแรกวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1942 และก็เป็นอีกครั้งที่บักส์ของเรานั้น ได้สนุกสนานกับการกลั่นแกล้ง เอลเมอร์ ฟัดด์ ซึ่งในเรื่องนี้ได้ถูกจัดให้เป็นนักขุดหาทองในทะเลทราย เรื่องที่สองคือ Hold the Lion, Please ฉายครั้งแรก 13 มิถุนายน ค.ศ. 1942 เนื้อเรื่องในตอน เป็นเรื่องของสิงโต ที่พยายามจะพิสูจน์ตัวเองว่ายังเป็น "King of the Jungle" หรือจ้าวป่าอยู่ โดยการออกไปไล่ล่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ไร้ทางต่อสู้ และก็ได้ตัดสินใจที่จะล่าบักส์, แล้วก็พบว่า ตัวเองนั้นเป็นฝ่ายถูกหลอกแบบไร้ทางสู้เลยก็ว่าได้ แต่ในที่สุดแล้ว สิงโด ก็ได้พบจุดอ่อนของบักส์ คือ บักส์นั้นกลัวภรรยา (หรือ ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่า กลัวเมีย) ตอนนี้เป็นตอนแรกที่ภรรยาของบักส์ปรากฏตัว และก็เป็นตอนสุดท้ายด้วย เพราะว่าหลังจากนั้นบักส์ของเรา ก็กลับกลายเป็นโสดเหมือนเดิม ตอนนี้เป็นตอนแรกในช่วงเวลา 2 ปีที่กำกับโดยชัค โจนส์
เรื่องที่สาม กำกับโดย โรเบิร์ต แคลมเพ็ต ชื่อ Bugs Bunny Gets the Boid ฉายครั้งแรกวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1942 เป็นเรื่องของแม่อีแร้ง ที่สอนลูก ๆ อีแร้งที่ขนเพิ่งขึ้น ให้รู้จักล่าอาหารด้วยตนเอง แล้ว บีกกี บัซซาร์ด ซึ่งตัวเล็กที่สุด และอ่อนแอที่สุดในครอก ก็ดันไปล่าเอาบักส์ ไม่เพียงแค่ไม่ประสบผลสำเร็จ สุดท้ายบักส์ต้องเอาตัว บีกกี้ บัซซาร์ด ไปส่งคืนให้แม่อีแร้งซะอีก นกแร้งน้อยตัวนี้ หลังจากที่เปิดตัวในตอนนี้แล้ว ยังได้ออกมาอีกในตอนหลัง บีกกีนั้นมีที่มาจากหุ่นกระบอก มอร์ติเมอร์ สเนิร์ด ซึ่งเล่นโดย เอ็ดการ์ เบอร์เก็น นอกจากนั้น บีกกียังมีส่วนที่คล้ายเจ้าหมากูฟฟี และเสียงพากษ์ของบีกกี โดย เค็นท์ โรเจอร์ส (เสียชีวิต เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944) นั้นก็ยังมีส่วนคล้าย ที่ทำให้นึกถึงผู้ให้เสียง กูฟฟี คือ พินโต โคลวิก อย่างไรก็ตาม ถึงจุดนี้ดูเหมือนว่า โรเบิร์ต แคลมเพ็ต จะเริ่มคุ้นเคยกับการกำกับการ์ตูน บักส์ บันนี แล้ว ในตอนนี้ บักส์ ได้ถูกออกแบบใหม่เล็กน้อย โดยฟันกระต่ายของเขานั้นถูกทำให้เด่นน้อยลง และหัวของเขาก็กลมขึ้นอีกหน่อย ผู้ที่รับผิดชอบในการออกแบบคือ โรเบิร์ต แม็คคิมสัน ซึ่งเป็นนักวาด ที่ทำงานให้กับ โรเบิร์ต แคลมเพ็ต ในขณะนั้น รูปโฉมใหม่ของบักส์นั้น แรกเริ่มก็ใช้อยู่เพียงในกลุ่มของแคลมเพ็ต แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้กลายเป็นรูปโฉมที่ใช้ในการ์ตูนที่กำกับ และสร้างโดยคนอื่นด้วย
เรื่องที่สี่ เป็นของ ฟริซ เฟรเลง ชื่อ Fresh Hare ฉายครั้งแรก 22 สิงหาคม ค.ศ. 1942 ในตอน บักส์หลบซ่อนอยู่ในป่าทางตอนเหนือของประเทศแคนาดา จากการไล่ล่าของ เอลเมอร์ ฟัดด์ ตำรวจแห่งชาติแคนาดา (Royal Canadian Mounted Police) ตามหมายจับซึ่งต้องการตัวบักส์ ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย แต่ถ้าเป็นไปได้ให้จับตาย หลังจากการดิ้นรนอย่างสุดชีวิต ในที่สุด บักส์ก็ถูกจับ และ ตัดสินให้ถูกประหารด้วยการยิงเป้า ในขณะที่กำลังจะถูกประหาร บักส์ ได้เริ่มร้องเพลง "Dixie's Land" ซึ่งแต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1859 โดย แดเนียล ดีเคเตอร์ เอ็มเม็ต (ชาตะ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1815 - มรณะ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1904) แล้วลานประหารก็กลายเป็นทุ่งฝ้าย และตำรวจก็เริ่มแสดงละครเพลง
เรื่องถัดมาของบักส์ ก็กำกับโดยฟริซ เฟรเลง ชื่อ The Hare-Brained Hypnotist ออกฉายวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1942 ในตอนนี้ เอลเมอร์ ฟัดด์ ได้สะกดจิตตัวเอง เพื่อให้มีความสามารถที่จะจับบักส์ได้ แต่ในระหว่างการไล่ล่า บักส์ได้ทำการสะกดจิตเอลเมอร์ ให้หลงเข้าใจว่าตัวนั้นเป็นกระต่าย แต่ เอลเมอร์ นั้นกลับหลงคิดว่าตัวเองคือบักส์ ผลคือ บักส์เลยได้ลิ้มรสชาติเล่ห์กลของตัวเองจาก เอลเมอร์ แล้วทั้งสองก็ไล่ล่าพยายามที่จะสะกดจิดฝ่ายตรงข้าม ในตอนจบ เอลเมอร์ กลับเป็นปกติ แต่บักส์นั้นขับเครื่องบินไล่หาสนามบิน เนื่องจากถูกสะกดจิตว่าตัวเองเป็นนักบินขับเครื่องบินทิ้งระเบิด ตอนนี้ เป็นตอนที่ลักษณะการดวลกันระหว่าง เอลเมอร์ และ บักส์ นั้นตรงข้ามกับปกติ คือ เอลเมอร์ นั้นเป็นฝ่ายได้เปรียบ (บ้าง ถึงแม้จะเป็นในช่วงสั้นๆ ก็ตาม)
ตอนที่เก้าซึ่งเป็นตอนสุดท้ายในปี กำกับโดยชัค โจนส์ ชื่อตอน Case of the Missing Hare ออกฉายเมื่อ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1942 ในตอนนี้ บักส์ได้สร้างบ้านอยู่ในรูกลวงในต้นไม้ แล้วก็เกิดรำคาญขึ้นมาเนื่องจากนักมายากล อลา บามา (เป็นการเล่นคำ จากชื่อของ ชื่อมลรัฐอลาบามา) นั้นเอาแผ่นโฆษณาการแสดงมาแปะไว้รอบๆต้นไม้ บักส์จึงได้ตามนักมายากลไป และได้ขึ้นไปร่วมแสดงบนเวทีด้วย ซึ่งการแสดงของบักส์นั้นทำให้นักมายา ได้รับความอับอาย
[แก้] ช่วง ค.ศ. 1943
บักส์ได้ออกการ์ตูนอีกทั้งหมด 7 ตอนในช่วงปี ค.ศ. 1943 เรื่องแรกกำกับโดย โรเบิร์ต แคลมเพ็ต ชื่อตอน Tortoise Wins by a Hare ออกฉาย 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ซึ่งจากการพ่ายแพ้ให้กับเต่า ซิซิล เทอร์เทิล ในตอน Tortoise Beats Hare ของ เท็กซ์ เอฟวรีย์ นั้น ในตอนนี้บักส์ได้ท้าเต่า ซิซิล เทอร์เทิล เพื่อขอแก้มือ จากคำแนะนำของ ซิซิล นั้นบักส์ก็ได้สร้างชุด ลดแรงเสียดทาน ซึ่งดูคล้ายกระดองเต่า ไว้ใช้แข่ง ในทางกลับกัน ซิซิล ก็วางแผน ที่จะวิ่งโดยใส่ชุดพรางตัวเป็นกระต่าย บักส์นั้นไม่ได้รู้ตัวเลยว่า กลุ่มแก๊งค์กระต่ายมาเฟีย นั้นได้วางเดิมพันฝั่งกระต่าย ซึ่งทางแก๊งค์ก็จะต้องพยายามโกงให้กระต่ายชนะ ฝ่าย ซิซิล ซึ่งรู้ตัวอยู่ล่วงหน้า และได้พรางตัวเป็นกระต่าย ปล่อยให้บักส์ต้องไปผจญกับ หลุมพรางต่างๆ ที่ทางแก๊งค์เตรียมเอาไว้เพื่อขัดขวางเต่า บักส์ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแข่งขัน และในขณะที่เขาเข้าใกล้เส้นชัย และเริ่มได้กลิ่นของชัยชนะลางๆแล้ว เขากลับถูกกลุ่มแก๊งค์กระต่ายรุม ในขณะที่กลุ่มแก๊งค์มาเฟียกระต่ายกำลังง่วน อยู่กับการลงเท้าบักส์ ซิซิล ก็ได้คืบคลานเข้าเส้นชัยไปอย่างง่ายดาย ปล่อยให้บักส์ต้องนอนเกลือกกลิ้งเคล้าน้ำตาของผู้แพ้อยู่ข้างหลัง ที่น่าสนใจคือหนังสือพิมพ์ ที่ประกาศการแข่งแก้มือของบักส์นั้น มีบทความ "Adolf Hitler Commits Suicide" (เหมือนกับเป็นสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้น) และสิ่งที่เหลือเชื่อคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ทำการฆ่าตัวตายจริงๆ ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นเวลามากกว่า 2 ปีหลังจากนั้น และก็บังเอิญที่วันนั้นก็เป็นการฉลองครบรอบการเปิดตัวของบักส์ ใน Porky's Hare Hunt อย่างไรก็ตามตอนนี้ ก็ถือเป็นตอนที่บักส์ได้แสดง ความรู้สึกทางอารมณ์ต่อชัยชนะ ซึ่งได้แสดงออกมาทางเสียงพากย์ด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะออกเป็นลักษณะที่กะล่อนไร้กังวล นี่จึงเป็นตอนที่ตัวการ์ตูนบักส์ได้เข้าถึงความรู้สึกของผู้ชม
ในตอนที่สองซึ่งออกฉายในปีเดียวกันนี้นั้น กำกับโดย ชัค โจนส์ ชื่อตอน Super Rabbit ออกฉายเมื่อ 13 เมษายน ค.ศ. 1943 เป็นการล้อเลียน ซูเปอร์แมน จากการ์ตูนซีรีส์ของ ฟเลเชอร์สตูดิโอ โดยบักส์นั้น ได้รับพลังยอดมนุษย์ (super powers) จากการกิน super carrots ที่พัฒนาโดย ศาสตราจารย์ คานาฟราซ (Canafrazz) ภาระกิจแรกของบักส์นั้นคือ ต่อสู้กับ คาวบอย จาก มลรัฐเทกซัส ผู้ซึ่งเกลียดกระต่าย และนี่ก็เป็นภาระกิจสุดท้ายของบักส์ในขณะที่เป็นยอดมนุษย์ แล้วบักส์ได้แสดงถึงความรักชาติ โดยสละชุดที่มีสีสันออก และประกาศ "This looks like a job for a real super hero" แล้วก็โผล่ออกมาในชุดเครื่องแบบทหาร ของ กองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งขณะนั้นยังคงรบอยู่ในสงครามโลกครั้งที่สอง
ตอนที่สามคือ Jack-Wabbit and the Beanstalk กำกับโดย ฟริซ เฟรเลง ฉาย 12 มิถุนายน ค.ศ. 1943 เนื้อเรื่องมีเค้าโครงมาจากเรื่อง แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ (Jack and the Beanstalk) โดยวางตัวให้บักส์เป็นผู้ฆ่ายักษ์์ ตัวยักษ์นั้นได้ถูกถ่ายทอดออกมาให้มีลักษณะที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ และความรู้สึกว่าตัวนั้นเหนือชั้นกว่าบักส์ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากคำพูด "Well he can't outsmart me, 'cause I'm a moron" (เป็นมุขคือ ไม่มีความฉลาด (smart) ที่จะให้ฉลาดกว่า (outmart) ได้ -- moron นั้นคือ คนที่สมองหยุดเจริญเติบโตตั้งแต่เด็ก) แต่บักส์ก็ได้พิสูจน์ถึงปัญญาที่เหนือชั้นกว่าในตอนจบ เป็นที่น่าสังเกตว่ามิคกี เมาส์ นั้น ก็ได้ออกตอนแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ ในชื่อ Brave Little Tailor ฉาย 23 กันยายน ค.ศ. 1938 ก่อนหน้านั้นแล้ว และ มิคกี เมาส์ ก็ได้ชนะยักษ์ด้วยปัญญาเช่นกัน แต่ในลักษณะที่แตกต่างไปจากบักส์ นี่ก็เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นว่า การ์ตูนของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส นั้น มีลักษณะความขำขันเป็นของตัวเอง และก็เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ การ์ตูนของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ในช่วงยุค 40
ตอนถัดมาคือ Wackiki Wabbit โดยการกำกับของ ชัค โจนส์ ออกฉาย 3 มิถุนายน ค.ศ. 1943 เป็นเรื่องของ คน 2 คนติดเกาะร้าง โดยไม่มีอาหารติดตัวไปด้วย การต่อสู้ของทั้งสองนั้น มีต้นแบบมาจาก ไมเคิล มัลทีส และ เท็ด เพียร์ส ซึ่งเล่นเป็นเสียงพากย์ของทั้งสอง และเป็นผู้เขียนบทพูดด้วยเช่นกัน ทั้งสองคนนั้นได้มีส่วนเป็นผู้เขียนบทพูดของบักส์ในอีกหลายตอน ซึ่งตอนนี้นั้น เพียร์สเป็นผู้เขียน ตัวการ์ตูนทั้งสองนั้น ตั้งใจที่จะกินอีกฝ่ายเป็นอาหาร และแล้วบักส์ก็ได้มาที่เกาะ เมื่อทั้งสองนั้นเห็นบักส์เข้า ก็ตั้งใจจะจับกิน แต่บักส์ก็หาทางหนีไปจนได้ทุกครั้งเช่นเคย
ตอนที่ 5 ของปี เป็นเพียงการปรากฏตัวสั้นๆ ใน Porky Pig's Feat ฉาย 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1943 เป็นครั้งแรกที่ผู้กำกับ แฟร็งค์ แทชลิน ที่ใช้ตัวการ์ตูนบักส์ เป็นเรื่องการเดินทางของ พอร์คกี พิก และ แดฟฟี ดัก ทั้งสองได้มาพักที่โรงแรม "Broken Arms Hotel" (โรงแรมแขนหัก) โดย แดฟฟี ดัก นั้น ถังแตกจากการพนัน เหลือเงินติดตัวแค่พอค่าใช้จ่ายเท่านั้น ส่วน พอร์คกี ก็ถูกขูดรีด โดยโดนเก็บค่าที่พักแพงกว่าปกติ ทั้งคู่ถูกข่มขู่ว่า ถ้าไม่จ่าย ทั้งคู่จะได้รู้จักเหตุที่มาของชื่อโรงแรม ตลอดทั้งตอนเป็นเรื่องราว ที่ทั้งคู่พยายามหนีออกจากโรงแรมโดยไม่จ่ายค่าที่พัก นี่เป็นตอนแรกที่ พอร์คกี ปรากฏตัวพร้อมกับ บักส์ และ แดฟฟี ซึ่งปกติเป็นศัตรูของเขา ในลักษณะที่ค่อนข้างเป็นมิตร ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม
ทั้งสามคือ บักส์ พอร์คกี้ และ แดฟฟี นั้นได้ออกตอน A Corny Concerto กำกับโดย โรเบิร์ต แคลมเพ็ต ฉาย 18 กันยายน ค.ศ. 1943 ตอนนี้เขียนบทพูดโดย แฟรงค์ แทชลิน เป็นเรื่องล้อเลียนภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง แฟนตาเซีย ของ วอลต์ ดิสนีย์ ในเรื่อง ตัวการ์ตูนจะถูกแบ่ง ให้แสดงตามเสียงเพลงวอลทซ์ ของโยฮันน์ สเตราส์ บุตร สองท่อน เอลเมอร์ ฟัดด์ ได้ทำการพูดแนะนำเพลงทั้งสองท่อน ในฐานะที่เป็นวาทยากรประจำวงออเคสตรา ของ คอร์นี-จีฮอลล์ ซึ่งเป็นการล้อเลียน ลีโอโปลด์ สตอโควสกี และ คาร์เนกีฮอลล์ จากเรื่อง 'แฟนตาเซีย' ในเพลงท่อนแรก "A Tale of the Vienna Woods" (Geshicthen aus dem Wienerwald - ค.ศ. 1868) พอร์คกี พิก และสุนัขล่าเนื้อของเขา ไล่ล่าบักส์เป็นครั้งแรก แล้วปืนของ พอร์คกี บังเอิญลั่นขึ้น ในขณะที่ปากกระบอกนั้นหันไปยังทั้งสามคน ทั้งสามคนก็คิดว่าตัวนั้นถูกยิง หลังจากที่โอดครวญจะเป็นจะตาย ท่อนเพลงก็จบลงด้วยการที่ทั้งสามนั้นโล่งใจที่ตัวเองไม่ได้ถูกกระสุน เพลงท่อนที่สองคือ "The Blue Danube" (An der schönen, blauen Donau - ค.ศ. 1867) เป็นเรื่องของลูกเป็ด แสดงโดย แดฟฟี ดัก เลียนแบบเรื่อง Ugly Duckling - ค.ศ. 1843 (ลูกเป็ดขี้เหร่) ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน โดยลูกเป็ดนั้นกำพร้า และถูกเลี้ยงดูโดยครอบครัวหงส์ แต่ลูกเป็ดนั้นก็จะโดนดูถูก และแล้วในขณะที่อีแร้งมาจับลูกหงส์ แดฟฟี ดัก ได้ต่อสู้เอาชนะอีแร้ง และช่วยเหลือลูกหงส์ไว้ได้ ทำให้ได้รับการยอมรับจากครอบครัวหงส์ ตอนนี้เป็นตอนแรกที่ บักส์ แดฟฟี พอร์คกี และ เอลเมอร์ ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนที่มีชื่อเสียง จาก ลูนีย์ทูนส์ ปรากฏตัวพร้อมกัน เนื้อเรื่องตอนนี้นั้น เป็นเนื้อเรื่องที่พื้นๆ ง่ายต่อการนำเสนอ และถือเป็นตอนเด่นของการ์ตูนในช่วงเวลานั้น ทั้งทางด้าน ความมีชีวิตชีวา และ การจัดท่าเต้น
การปรากฏตัวครั้งที่ 7 ของบักส์ ในปี ค.ศ. 1943 นั้นกำกับโดย โรเบิร์ต แคลมเพ็ต ชื่อตอน Falling Hare บักส์ในตอนนี้นั้น กำลังพักผ่อน อ่านหนังสือ "Victory Through Hare Power" อยู่ที่ลานบินซึ่งดูเหมือนจะไม่มีใครอื่นอยู่ด้วย บักส์นั้นในขณะที่กำลังสนุกสนานอยู่กับเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัว เกรมลิน ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีหน้าที่สร้างความหายนะให้กับเครื่องบิน ก็ได้ยินเสียงจากเครื่องบินทิ้งระเบิดที่อยู่ใกล้ๆ เมื่อเขาไปตรวจดูก็พบตัวเกรมลินกำลังก่อวินาศกรรมเครื่องบินอยู่ บักส์ได้พยายามเข้าไปขัดขวาง มารู้ตัวอีกทีเขาก็กำลังขับเครื่องบินอยู่ การบินนั้นเป็นไปอย่างทุลักทุเล และ ทำให้บักส์นั้นถึงกับเสียวสันหลังเลยทีเดียว แต่เขาก็ช่วยเครื่องบินเอาไว้ได้ก่อนที่จะพุ่งโหม่งพื้นโลก ตอนนี้เป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ตอนที่บักส์นั้นได้เสียความเยือกเย็น เรียกได้ว่า แตกตื่นเสียจริตไปเลยก็ว่าได้
[แก้] ช่วง ค.ศ. 1944
ในช่วง ค.ศ. 1944 นั้นบักส์ได้ออกตอนใหม่อีก 12 ตอน ตอนแรกนั้นกำกับโดย ฟริซ เฟรเลง ชื่อ Little Red Riding Riding Rabbit ออกฉายวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1944 เป็นตอนที่บักส์นั้นได้เข้าไปมีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์ในเรื่อง หนูน้อยหมวกแดง ในเรื่องก็มีหมาป่าจากเรื่องดั้งเดิม และ หนูน้อยหมวกแดงแต่เป็นในช่วงวัยรุ่น ซึ่งพูดจาเสียงดังน่ารำคาญ และ ขอบชวนทะเลาะ ซึ่งเป็นที่น่ารำคาญแก่บักส์มากกว่าหมาป่าซะอีก ส่วนคุณยายนั้นไม่อยู่บ้านเนื่องจากได้งานทำในโรงงานของ บริษัทลอกฮีด (เป็นชื่อล้อเลียนมาจาก บริษัท Lockheed Martin ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาวุธใหญ่ของอเมริกา ซึ่งผลิตทั้ง จรวด และ เครื่องบิน) ตอนนี้เด่นในฉากการไล่ล่า และ มุขตลก ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในตอนหลังๆของ ลูนีย์ทูนส์ อีกหลายครั้ง และก็เป็นการทำตลกล้อเลียนเทพนิยายที่รู้จักกันดี ได้อย่างมีคุณภาพ
เรื่องหนูน้อยหมวกแดงนี้ ได้เคยถูกทำเป็นการ์ตูนมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ครั้งแรกนั้นสร้างโดย วอลต์ ดิสนีย์ เป็นส่วนหนึ่งของการ์ตูนซีรีส์ "Laugh-O-Grams" ซึ่งฉาย 29 มิถุนายน ค.ศ. 1922 ครั้งที่สองกำกับโดย วอลเตอร์ แลนทซ์ ระหว่างที่เขาทำงานที่โรงถ่ายเบรดี และออกฉาย 4 มกราคม ค.ศ. 1925 ทั้งสองตอนนี้ และ ตอนที่กำกับโดย เฟรเลง นั้นได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการสร้างการ์ตูน ในช่วงเวลา 25 ปี
เรื่องที่สองคือ What's Cookin' Doc? กำกับโดย โรเบิร์ต แคลมเพ็ต ออกฉาย 8 มกราคม ค.ศ. 1944 เป็นเรื่องการปรากฏตัวของบักส์ในงานฉลองมอบรางวัลออสการ์ปี ค.ศ. 1943 บักส์นั้นไม่พอใจที่ เจมส์ แคกนีย์ ได้รับรางวัลดาราแสดงนำชายดีเด่น จากหนังเรื่อง Yankee Doodle Dandy ซึ่งบักส์เชื่อว่าเขาควรจะได้รับ เขาได้แสดงหลักฐานสนับสนุน ด้วยการฉายช่วงหนึ่งจากตอน Hiawatha's Rabbit Hunt บักส์พยายามพิสูจน์ความสามารถในการแสดงของเขา โดยการเลียนแบบลีลาการแสดงของนักแสดงในช่วงเวลานั้น หลังจากเชื่อว่าเขาได้แสดงหลักฐานที่หนาแน่น เขาก็เรียกร้องที่จะได้รับรางวัล แต่ก็โดนคัดค้านโดยผู้เข้าร่วมงาน สิ่งที่เด่นในตอนนี้คือ เหล่านักแสดงที่มีชื่อเสียงที่ปรากฏในการ์ตูน และการที่บักส์กล่าวอ้างว่าตัวนั้นเป็นนักแสดงที่ดีที่สุด
ตอนถัดมาซึ่งกำกับโดย ชัค โจนส์ ชื่อ Bugs Bunny and the Three Bears ออกฉาย 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 มีเค้าโครงมาจากเรื่อง "Goldilocks and the Tree Bears" ในเรื่องมีหมี 3 ตัวคือ พ่อหมี "Papa Bear" แม่หมี "Mama Bear" และ ลูกหมี "Junyer Bear" พ่อหมีนั้นมีเสียงหยาบห้าว พากย์โดย เมล บลังค์ ซึ่งตอนหลังได้เปลี่ยนให้ วิลเลียม เบล็ทเชอร์ (ชาตะ 24 กันยายน ค.ศ. 1894 - มรณะ 5 มกราคม ค.ศ. 1979) ซึ่งมีเสียงทุ้มต่ำเป็นผู้พากย์แทน
[แก้] หลัง ค.ศ. 1944
หลังจากนั้น บักส์ก็ปรากฏในการ์ตูนซีรีส์ ลูนีย์ทูนส์ อีกหลายตอน รวมทั้งการ์ตูนเช้าวันเสาร์ และ การ์ตูน syndicated animated series ลักษณะของบักส์นั้น ทำให้เขาเป็นที่โปรดปรานของผู้กำกับการ์ตูนหลายคน เช่น ฟริซ เฟรเลง โรเบิร์ต แม็คคิมสัน เท็กซ์ เอฟวรีย์ และ ชัค โจนส์ และนอกจากนั้น ยังได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์จอใหญ่ เช่นเรื่องสเปซแจม โดยร่วมแสดงกับ ไมเคิล จอร์แดน
ตอน Knighty Knight Bugs ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องในยุคของอัศวิน บักส์ได้ดวลกับ โยเซมมะที แซม (ซึ่งเป็น "Black Knight") และมังกรพ่นไฟของเขา บักส์ได้รับรางวัลออสการ์ จากตอนนี้ ในตอน What's Opera, Doc? ที่กำกับโดย ชัค โจนส์ และมี เอลเมอร์ ร่วมล้อเลียน โอเปร่า " Der Ring des Nibelungen ของ ริชาร์ด วากเนอร์ นั้น ได้รับการยกย่องว่า มีความสำคัญทางวัฒนธรรม โดย ห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา และ ได้ถูกอนุรักษ์ไว้ในหอภาพยนตร์แห่งชาติ โดยเป็นการ์ตูนเรื่องเดียวในขณะนั้น ที่ได้รับเกียรติอันนี้
[แก้] เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ บักส์ บันนี
- ชื่อ บักส์ หรือ บักซี่ มีความหมายว่า บ้าคลั่ง
- บักส์ บันนี ถูกสงสัยว่าเป็นเกย์เนื่องจากการปรากฏตัวในชุดของผู้หญิงบ่อยครั้งนั่นเอง
[แก้] อ้างอิง
- Bugs Bunny: 50 years and Only one Grey Hare, by Joe Adamson (1990) , Henry Holt, ISBN 0805018557
- Chuck Amuck : The Life and Times of an Animated Cartoonist by Chuck Jones, published by Farrar Straus & Giroux, ISBN 0374123489
- That's Not All, Folks! by Mel Blanc, Philip Bashe. Warner Books, ASIN 0446390895 (Softcover) ASIN 0446512443 (Hardcover)