ทิเชียน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทิเชียน | |
ภาพเหมือนตนเองเขียนราว ค.ศ. 1512 ที่ (ครั้งหนึ่งเชื่อว่าเขียนโดยอาริออสโต (Ariosto)) การจัดรูปมาจากมีอิทธิพลจากแรมบรังด์ |
|
วันเกิด | ค.ศ. 1485 พิเว ดี คาดอเร |
วันเสียชีวิต | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1576 |
เชื้อชาติ | อิตาลี |
สาขา | จิตรกร |
ประเภทงาน | ภาพเหมือน ภาพภูมิทัศน์ |
การศึกษา/ฝึก | เซบาสเตียน ซุคคาโต เจ็นทิเล เบลลินี และ จิโอวานนี เบลลินี |
ยุค | ฟื้นฟูศิลปวิทยา |
อิทธิพลจาก | แรมบรังด์ |
ทิเซียโน เวเชลลี หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ทิเชียน หรือ ทิชัน (ภาษาอังกฤษ: Tiziano Vecelli หรือ Tiziano Vecellio หรือ Titian) (ค.ศ. 1485 - 27 สิงหาคม ค.ศ. 1576) เป็นจิตรกรยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคนสำค้ญของประเทศอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีความสำคัญทางการเขียนภาพสีน้ำมัน ทิเชียนเป็นจิตรกรผู้นำของศิลปะเรอเนซองส์อิตาลีแบบเวนิส ทิเชียนเกิดที่พิเว ดี คาดอเร (Pieve di Cadore) ใกล้เมืองเบลลูโน ในรัฐอาณาจักรเวนิส ทิเชียนจึงรู้จักกันในนามว่า “ดา คอเดเร” ตามเมืองเกิดด้วย
ทิเชียน เป็นจิตรกรที่มีความสามารถหลายด้าน ผู้เขียนได้ทั้งภาพเหมือนและภาพภูมิทัศน์อันเป็นสองลักษณะที่ทำให้ทิเชียนมีชื่อเสียง และเขียนตำนานเทพ และเรื่องทางศาสนา ถ้าทิเชียนเสียชีวิตเมื่ออายุได้เพียง 40 ปีก็ยังถือเป็นจิตรกรที่มีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในสมัยนั้น แต่ทิเชียนก็อยู่ต่อมาอีก 50 ปีในขณะที่เปลี่ยนแปลงวิธีเขียนภาพจากเดิมเป็นอย่างมาก นักวิจารณ์บางคนไม่เชื่อว่างานที่สร้างเมื่อสมัยต้นและสมัยปลายของทิเชียนเป็นงานของจิตรกรคนเดียวกัน ลักษณะที่ทำให้ทราบว่าเป็นคนเดียวกันคือความสนใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องสี งานในสมัยหลังแม้จะไม่ใช้สีสดและเรืองอย่างสมัยแรก แต่ฝีแปรงที่พริ้วที่แฝงให้เห็นความที่จะเป็นสีต่างๆ เพียงเล็กน้อยเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก
เนื้อหา |
[แก้] ชีวิตเบื้องต้น
วันเกิดจริงของทิเชียนไม่เป็นที่ทราบแน่นอน ในจดหมายที่เขียนถึงพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนเมื่ออายุมากขึ้นทิเทียนก็อ้างว่าเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1477 ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้[1] นักเขียนผู้อื่นผู้ร่วมสมัยกับทิเทียนกล่าวว่าเกิดระหว่าง ค.ศ. 1473 ถึง ค.ศ. 1482 แต่นักวิชาการสมัยใหม่มีความเห็นว่าน่าจะเป็นปี ค.ศ. 1490 มากที่สุด ทิเชียนเป็นลูกคนโตในบรรดาพี่น้องสี่คน เป็นลูกของเกรกอริโอ เวเชลลิ ผู้เป็นมีทหารและสมาชิกสภาผู้มีชื่อเสียงและภรรยาลูเชีย พ่อของทิเชียนเป็นหัวหน้าผู้ดูแลปราสาทของเมืองพิเอเวดิคาดอเร และบริหารเหมืองตามท้องถิ่นให้กับเจ้าของ[2] ญาติของทิเทียนหลายคนรวมทั้งปู่เป็นนายทะเบียน ครอบครัวของทิเชียนมาจากครอบครัวที่มีหลักฐานที่มีหลักแหล่งอยู่ในบริเวณที่ปกครองโดยเวนิส
เมื่อมีอายุได้ราว 10 ถึง 12 ปีทิเชียนและน้องชายผู้ที่อาจจะติดตามมาภายหลังถูกส่งตัวไปหาลุงที่เวนิสเพื่อเข้าไปฝึกงานกับช่างเขียน เซบาสเตียน ซุคคาโตผู้เป็นจิตรกรที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงผู้อาจจะเป็นเพื่อนของครอบครัวจัดการให้สองพี่น้องฝึกงานกับเจ็นทิเล เบลลินี (Gentile Bellini) จิตรกรผู้มีอายุ และต่อมาก็ไปฝึกงานกับจิโอวานนี เบลลินี น้องชายของเจ็นทิเล[2] ในขณะนั้นพี่น้องเบลลินี โดยเฉพาะจิโอวานนีเป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงของเวนิส ทิเชียนก็รวมกลุ่มศิลปินรุ่นๆ เดียวกันในเวนิสซึ่งรวมทั้ง จิโอวานนิ พาลมา ดา เซรินาลตา, ลอเร็นโซ ลอตโต (Lorenzo Lotto), เซบาสเตียน เดล พิออมโบ (Sebastiano del Piombo), และจอร์โจ ดา คาสเตลฟรังโค (Giorgio da Castelfranco) หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า จอร์จิโอเน (Giorgione) (Lorenzo Lotto) ฟรานเชสโค เวเชลโล น้องของทิเชียนต่อมาก็เป็นจิตรกรผู้มีชื่อพอตัวของเวนิส
เชื่อกันว่าจิตรกรรมฝาผนังเฮอร์คิวลีสที่วังโมโรซินี (Morosini Palace) เป็นงานชิ้นแรกๆ ที่สุด ของทิเทียน และอีกชิ้นหนึ่งคือ“พระแม่มารีและพระบุตร” [1] ซึ่งเป็นแบบเบลลินีที่เรียกกันว่า “มาดอนน่ายิบซี” (Gypsy Madonna) ที่เวียนนา และ “การเยือนนักบุญอลิสซาเบ็ธ” (Visitation of Mary and Elizabeth) ที่คอนแวนต์ซานอันเดรียปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เวนิส
ทิเทียนเป็นผู้ช่วยของจอร์จิโอเนแต่นักวิจารณ์ศิลปะร่วมสมัยเห็นว่างานของทิเทียนมีฝีมือดีกว่าเช่นงานจิตรกรรมฝาผนัง (ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว) ที่ทั้งสองคนทำให้ฟอนดาชิโอ เดอิ เทเดสชิและความสัมพันธ์ระหว่างจิตรกรทั้งสองคนก็ออกจะเหมือนเป็นคู่แข่งกันมากกว่า การแยกงานของจิตรกรสองคนนี้ในสมัยนี้เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันระหว่างนักวิชาการ และในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีงานหลายชิ้นแต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นงานของจอร์จิโอเนกลับมาเชื่อกันว่าเป็นของทิเชียน แต่ไม่มีงานของทิเชียนที่เปลี่ยนกลับไปเป็นของจอร์จิโอเน งานชิ้นแรกๆ ที่สุดของทิเชียนเป็นภาพ “พระเยซู” (Ecce Homo) [2]ที่วัดซานรอคโค (Chiesa di San Rocco) เป็นภาพที่เชื่อกันมานานว่าเขียนโดยจอร์จิโอเน
ช่างเขียนสองคนนี้เป็นที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นผู้นำในการเขียนภาพแบบ “สมัยใหม่” (arte moderna) ซึ่งเป็นการเขียนที่มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม และไม่เน้นความสมมาตรอย่างเช่นที่พบในงานของเจ็นทิเล เบลลินี
ระหว่างปี ค.ศ. 1507 ถึงปี ค.ศ. 1508 จอร์จิโอเนได้รับสัญญาจากรัฐให้เขียนจิตรกรรมฝาผนังภายนอกหอพ่อค้าเยอรมัน (Fondaco dei Tedeschi)[3] ทิเชียนและมอร์โต ดา เฟลเตร (Morto da Feltre) ก็ทำงานชิ้นนี้ด้วย งานชิ้นนี้ยังมีเหลืออยู่บ้างแต่เป็นของจอร์จิโอเน งานของทิเชียนและจอร์จิโอเนเป็นที่ทราบเพราะงานสลักโลหะของฟอนทานา หลังจากจอร์จิโอเนเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1510 ทิเชียนก็ยังคงเขียนภาพแบบจอร์จิโอเนอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็เริ่มวิวัฒนาการมาเป็นเอกลักษณ์ของตนเองซึ่งเป็นการใช้ฝีแปรงที่แสดงความรู้สึกมากขึ้น
พรสวรรค์ของทิเชียนในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังจะเห็นได้จากงานเขียนในปี ค.ศ. 1511 ที่วัดคาร์เมไลท์ที่ปาดัว และที่ Scuola del Santo งานบางส่วนยังหลงเหลืออยู่บ้างรวมทั้ง “การพบกันที่ประตูทอง” (Meeting at the Golden Gate), ฉากสามฉากจากชีวิตของนักบุญแอนโทนีแห่งปาดัว, “การฆาตกรรมของหญิงสาวโดยสามี” (Murder of a Young Woman by Her Husband), “เด็กกล่าวเป็นพยานในความบริสุทธิ์ของแม่” (A Child Testifying to Its Mother's Innocence) และ “นักบุญรักษาชายหนุ่มแขนหัก” (The Saint Healing the Young Man with a Broken Limb)
เมื่อปี ค.ศ. 1512 ทิเชียนย้ายกลับไปเวนิสจากปาดัว และในปี ค.ศ. 1513 ก็ได้รับใบอนุญาตจากหอพ่อค้าเยอรมัน และได้เป็นหัวหน้างานของรัฐบาลที่มีหน้าที่บริหารการเขียนภาพต่อจากที่จิโอวานนี เบลลินีที่ทำค้างไว้ภายในวังของดยุ๊ค ทิเชียนตั้งสติวดิโอบนแกรนด์คาแนลที่ซานซามูเอล แต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากใบอนุญาตนี้จนกระทั่งหลังจากเบลลินีเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1516 ใบอนุญาตนี้ทำให้ทิเชียนได้รับเงินรายได้ปีละ 20 คราวน์และได้รับยกเว้นจากภาษีบางอย่างเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเขียนภาพเหมือนของดยุคของเวนิสเป็นจำนวนเงิน 8 คราวน์ต่อภาพ ทิเชียนเขียนด้วยกันทั้งหมด 5 ภาพ
[แก้] งาน
จอร์จิโอเนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1510 และเจ็นทิเล เบลลินีผู้มีอายุมากแล้วในปี ค.ศ. 1516 ทำให้ทิเชียนไม่มีคู่แข่งในการเขียนภาพแบบเวนิส ทิเชียนมีช่างเขียนที่ไม่มีใครสู้ได้อยู่หกสิบปี ในปี ค.ศ. 1516ทิเทียนก็ได้รับเงินบำนาญจากเซเน็ท
ระหว่างปี ค.ศ. 1516 ถึงปี ค.ศ. 1530 เป็นช่วงเวลาที่ทิเทียนประสพความสำเร็จในวิธีการเขียน เริ่มแยกจากอิทธิพลของจอร์จิโอเนมาเป็นลักษณะการเขียนของทิเชียนเอง นอกจากนั้นก็ยังเลือกงานที่สลับซับซ้อนมากขึ้นและชิ้นใหญ่ขึ้น
ในปี ค.ศ. 1518 ทิเทียนเขียนฉากแท่นบูชาเอกที่บาซิลิคา ดิ ซานตา มาเรีย กลอริโอซา เดอิ ฟราริ (Basilica di Santa Maria Gloriosa dei Frari) ที่เป็นงานชิ้นเอก “อัสสัมชัญของพระแม่มารี” งานเขียนชิ้นเด่นนี้เป็นงานเขียนขนาดใหญ่ซึ่งไม่เคยทำกันมาก่อนในอิตาลึ
โครงสร้างของภาพแบ่งเป็นสองหรือสามฉากที่รวมกันในภาพเดียวกันที่ทืเชียนนำไปใช้ในการเขียนภาพที่ซานโดเมนนิโคที่อันโคนาในปี ค.ศ. 1520, เบรสเชีย ในปี ค.ศ. 1522 และซานนิโคโล ในปี ค.ศ. 1523 แต่ละครั้งที่เขียนคุณภาพการเขียนก็ดีขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดก็ถึงจุดที่เป็นสูตรคลาสสิคเช่นในภาพเขียน “พระแม่มารีเปซาโร” (Pesaro Madonna) (ค.ศ. 1518-1526) ที่ซานตา มาเรีย กลอริโอซา เดอิ ฟราริ ที่เวนิส งานเขียนชิ้นนี้ของทิเชียนอาจจะเป็นงานเขียนชิ้นที่ศึกษากันมากที่สุด
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทิเชียนมีชื่อเสียงมากที่สุดและงานของทิเชียนก็เป็นที่ต้องการจากผู้จ้าง ในปี ค.ศ. 1530 ทิเชียนเขียน “ความตายของนักบุญปีเตอร์ผู้พลีชีพ” (The Death of St. Peter Martyr) เดิมอยู่ที่วัดโดมินิกันบาซิลิกาดิซานซานิโปโลแต่ถูกทำลายโดยลูกระเบิดของออสเตรียในปี ค.ศ. 1867 ที่เหลือยู่ก็เพียงรูปที่สลักบนโลหะซึ่งแสดงถึงความรุนแรงของเนื้อหาของภาพและการวาดภูมิทัศน์ ที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ใหญ่ที่ให้เพื่มความเป็นาฏกรรมของภาพมากขึ้นและทำให้ภาพเริ่มออกไปทางบาโรก
ขณะเดียวกันทิเชียนก็ยังเขียนภาพขนาดเล็กเช่นพระแม่มารีซึ่งเป็นภาพท่ามกลางภูมิทัศน์ที่สวยงาม หรือภาพ “พระแม่มารีกับกระต่าย” (Virgin with the Rabbit) และภาพ “การฝังพระเยซู” (Entombment) ในช่วงเวลานี้ทิเชียนก็เริ่มเขียนภาพจากตำนานเทพขนาดใหญ่สำหรับเป็นงานสะสมของอัลฟองโซ เดสเต (Alfonso d'Este) ที่เฟอร์รารา เช่นภาพ “Bacchanals” และ “Bacchus and Ariadne” ซึ่งอาจจะเป็นงานที่ไม่ใช่งานเขียนเกี่ยวกับศาสนาที่ดีที่สุดในสมัยเรอเนซองต์[3] นอกจากนั้นทิเชียนก็ยังเขียนภาพครึ่งตัวของสตรีซึ่งอาจจะเป็นสตรีในราชสำนัก เช่นภาพ “Flora” และ “สตรีในห้องอาบน้ำ” (The Young Woman at Her Toilet)
ในปี ค.ศ. 1525 ทิเชียนแต่งงานกับซิซิเลียซึ่งทำให้พอมโพนิโอลูกคนแรกเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทิเชียนกับซิซิเลียมีลูกด้วยกันอีกสองคนหรืออาจจะสามรวมทั้งลูกคนโปรดของทิเชียน โอราซิโอ ผู้กลายมาเป็นผู้ช่วยของทิเชียนต่อมา ราวปี ค.ศ. 1526 ทิเชียนรู้จัก เปียโร อาเรติโน (Pietro Aretino) ซึ่งเป็นผู้ที่มีลักษณะที่ออกจะเป็นที่รู้จักกันในสมัยนั้น ทิเชียนส่งภาพเหมือนของอาเรติโนไปให้กอนซากา ดยุคแห่งมานตัว
ในปี ค.ศ. 1530 ซิซิเลียเสียชีวิตจากการคลอดลูกสาว ลาวิเนีย ทิเชียนกับลูกสามคนย้ายบ้านและทิเชียนเรียกออร์ซาน้องสาวจากคาดอเรให้มาช่วยดูแลครอบครัว คฤหาสน์ของทิเชียนอยู่ที่บินกรานเดซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้มีฐานะชานเมืองเวนิสพร้อมด้วยสวนและวิวว์ไปทางมูราโน
[แก้] อ้างอิง
- ^ Cecil Gould, The Sixteenth Century Italian Schools, National Gallery Catalogues, London 1975, ISBN 0947645225
- ^ 2.0 2.1 David Jaffé (ed), Titian, The National Gallery Company/Yale, London 2003, ISBN 1 857099036
- ^ Catholic Encyclopedia
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- Titian's paintings ภาพเขียนของทิเชียน (อังกฤษ)
- ทิเชียนที่ Web Gallery of Art (อังกฤษ)
- Bell, Malcolm งานสมัยแรกของทิเทียน ที่ Internet Archive (อังกฤษ)
[แก้] สมุดภาพ
“พระแม่มารีและพระบุตร” (ราวค.ศ. 1512) , พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ, เวียนนา, ประเทศออสเตรีย |
“พระแม่มารีและพระบุตร” (ราวค.ศ. 1516) , พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ, เวียนนา, ประเทศออสเตรีย |
“พระแม่มารีและพระบุตรและนักบุญแอ็กเนสและนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์” (ราว ค.ศ. 1528) พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจอง, ประเทศฝรั่งเศส |
“วีนัสแห่งเออร์บิโน” (ค.ศ. 1538) , พิพิธภัณฑ์อุฟิซิ ฟลอเรนซ์, ประเทศอิตาลี |
|
“ภาพเหมือน สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3” (ค.ศ. 1543) , พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ, เวียนนา, ประเทศออสเตรีย |
“ชะลอร่างพระเยซู” (ราว ค.ศ. 1559) พิพิธภัณฑ์ปราดา, ประเทศสเปน |
“นักบุญแมรี แม็กดาเลน” (ราว ค.ศ. 1565) , พิพิธภัณฑ์เฮอรมิทาจ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, ประเทศรัสเซีย |
“ซาโลเม” และพระเศียรนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ |
“The fall of man” พิพิธภัณฑ์ปราดา, ประเทศสเปน ประเทศรัสเซีย |
ทิเชียน เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ทิเชียน ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |