วิกิพีเดีย:ทำไมจึงควรสร้างบัญชีผู้ใช้?
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
- สร้างบัญชีผู้ใช้ได้ที่หน้าสร้างบัญชีผู้ใช้ และ ล็อกอิน
ทำไมจึงควรสร้างบัญชีผู้ใช้ คำถามที่มักจะถามถึงเวลาใช้งานวิกิพีเดีย โดยจริงๆ แล้วผู้ใช้ทุกคนสามารถอ่าน เขียน หรือแก้ไขในวิกิพีเดียได้โดยไม่จำเป็นต้องล็อกอินหรือสร้างบัญชีผู้ใช้ สำหรับหน้าสารานุกรมทุกหน้า อย่างไรก็ตามการสร้างบัญชีผู้ใช้ในวิกิพีเดียนั้นฟรี และใช้เวลาเพียงไม่เกิน 15 วินาที และมีเหตุผลหลายๆ อย่างที่สนับสนุนให้สร้างบัญชีผู้ใช้
[แก้] ถูกบล็อก?
ไอพีแอดเดรสที่ใช้ร่วมกันอย่างที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือไอเอสพีเดียวกันนั้น มักจะถูกบล็อกเป็นครั้งคราวจากการก่อกวน ซึ่งทำให้กระทบผู้ใช้ที่มีเจตนาดีและต้องการช่วยพัฒนาวิกิพีเดีย ที่ใช้ไอพีแอดเดรสเดียวกัน ซึ่งหากคุณมีบัญชีผู้ใช้จะช่วยให้หลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้
[แก้] ชื่อผู้ใช้
ถ้าคุณตัดสินใจสร้างบัญชีผู้ใช้ คุณสามารถเลือกชื่อผู้ใช้ (username) ตามที่ต้องการ และเมื่อทำการเขียนบทความในวิกิพีเดีย หรือแก้ไขหน้าใดหน้าหนึ่ง ชื่อผู้ใช้ของคุณ จะถูกเก็บไว้ในส่วนประวัติของหน้านั้นแสดงให้เห็นถึงผลงานของคุณที่ได้เขียนในวิกิพีเดีย ถ้าไม่ได้ทำการล็อกอิน ประวัติการแก้ไขของหน้าใดๆ จะแสดงผลเป็นหมายเลขไอพีของเครื่องที่ใช้งานอยู่แทน นอกจากนี้คุณสามารถเรียกดูได้ว่า หน้าไหนที่ได้เขียนไปจากคำสั่ง "เรื่องที่เขียน" ที่จะปรากฏด้านมุมขวาบนถ้าได้ทำการล็อกอิน และยังสามารถนับจำนวนบทความที่ได้เขียนหรือร่วมเขียนจาก โปรแกรมนับจำนวนการแก้ไข
หลังจากที่ได้ทำการสร้างบัญชีผู้ใช้ คุณจะได้ "หน้าผู้ใช้" ของตัวเองซึ่งสามารถเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง เช่น ใส่รูปนิดหน่อย และอธิบายเกี่ยวกับตัวของคุณเอง เช่น งานอดิเรก กีฬาที่ชอบ ดนตรีที่ชอบ ชาววิกิพีเดีย ส่วนใหญ่นิยม รวบรวมรายการบทความที่ได้เขียน หรือช่วยเขียน เพื่อความสะดวกในการติดตามดูแลและแก้ไขเนื้อหา หรือใช้เก็บรวบรวมบทความอื่นๆที่สนใจในวิกิพีเดีย
นอกจากนี้ ยังได้ "หน้าพูดคุยส่วนตัว" ไว้สำหรับติดต่อกับชาววิกิพีเดียคนอื่น โดยเมื่อมีข้อความส่งถึง จะมีข้อความเตือนขึ้นมาหลังจากที่ได้ล็อกอินว่า มีข้อความใหม่ และหากได้ให้ที่อยู่อีเมลไว้ตอนสมัคร ชาววิกิพีเดียคนอื่นยังสามารถติดต่อผ่านทางอีเมล โดยคนอื่นจะส่งอีเมลผ่านทางระบบวิกิพีเดีย โดยทางระบบจะทำหน้าที่ส่งอีเมลให้โดยที่ผู้ส่งไม่ทราบอีเมลของผู้รับ เพื่อป้องกันปัญหาสแปมในภายหลัง
[แก้] ความน่าเชื่อถือ
การมีบัญชีของตัวเองทำให้คนอื่นที่ได้เข้ามาอ่านบทความนั้นจะจำชื่อคุณไว้ ยิ่งเมื่อคุณได้เขียนบทความดีดีหลายเรื่อง คนอื่นที่อ่านจะยกย่องและรู้จักและเชื่อถือในผลงานของคุณมากขึ้น โดยเมื่อมีการร่วมกันลงชื่อ โหวต ออกเสียงในการปรับเปลี่ยนนโยบาย รวมถึงการคัดเลือกให้เป็นผู้ดูแลระบบ ชาววิกิพีเดียคนอื่นจะจดจำคุณได้ง่าย และให้ความเชื่อถือมากกว่าผู้ใช้ที่ไม่ได้สร้างบัญชีผู้ใช้ ถึงแม้ว่าวิกิพีเดียยินดีต้อนรับกับผู้เขียนทุกคนไม่ว่าจะสร้างหรือไม่สร้างบัญชีผู้ใช้ ถ้าไม่ได้ทำการล็อกอินและทำการแก้ไข ชื่อที่ปรากฏในหน้า "หน้าประวัติของหน้า" จะแสดงเป็นหมายเลขไอพี 12 หลัก ซึ่งยากต่อการจำ เปลี่ยนแปลงได้ และอาจมีผู้ใช้หลายคนใช้ไอพีเดียวกัน
เนื่องจากวิกิพีเดียเปิดให้ทุกคนเข้ามาเขียนได้โดยไม่ต้องสร้างบัญชีผู้ใช้ บทความหลายบทความในวิกิพีเดีย ถูกเขียนเล่น ถูกลบ เขียนโฆษณาขายสินค้า รวมถึงการเขียนคำด่าต่อว่า หลายครั้งในแต่ละวัน ผู้ใช้เหล่านี้ที่มาก่อกวนในวิกิพีเดียในรูปแบบของผู้ใช้ที่ไม่ได้สร้างบัญชีผู้ใช้ไว้ ซึ่งการสร้างบัญชีผู้ใช้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่แบ่งแยกระหว่างผู้เขียนบทความจริงๆ กับผู้ที่มีก่อกวน นอกจากนี้ บางครั้งอาจมีการตักเตือนหรือห้ามแก้ไขจากผู้ดูแลต่อบางหมายเลขไอพี ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นที่ใช้หมายเลขไอพีร่วมได้รับผลกระทบ
ความคิดเห็นต่างๆ อาจขึ้นอยู่กับความต้องการความเป็นส่วนตัวของผู้แสดงความคิดเห็น บางคนอาจเห็นว่าความเป็นส่วนตัวจะลดความรับผิดชอบต่อกฎระเบียบ และอาจนำไปสู่การกระทำที่ไม่เหมาะสม บางคนเห็นว่าการร่วมมอบข้อมูลและข้อคิดเห็นโดยไม่ได้ใช้ชื่อจริงทำให้พวกเขาคิดว่าเป็นการปิดทองหลังพระ เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเหมาะสม ฯลฯ การสร้างบัญชีผู้ใช้สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
[แก้] ความเป็นส่วนตัว
ในการสมัครในวิกิพีเดียนั้นไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลส่วนตัวภายนอก (เช่น ชื่อจริง ที่อยู่ อีเมล) กับทางวิกิพีเดีย แต่สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการรับรหัสผ่านในกรณีที่ลืมหรือต้องการพูดคุยกับผู้อื่นผ่านทางอีเมล สามารถให้อีเมลไว้กับทางวิกิพีเดียได้ โดยอีเมลที่ให้ไว้จะถูกจัดเก็บไว้ในระบบที่ปลอดภัยของทางวิกิพีเดีย โดยที่ไม่มีใครสามารถรับรู้ได้แม้แต่ผู้ดูแลระบบเอง เมื่อใดก็ตามที่มีคนต้องการส่งอีเมลถึงคุณ ผู้ใช้นั้นเพียงแต่พิมพ์ข้อความผ่านทางวิกิพีเดีย และทางระบบวิกิพีเดียจะส่งต่ออีกทีหนึ่ง ซึ่งช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวของคุณไม่ให้ผู้อื่นรู้อีเมลของคุณได้
สำหรับผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนการเขียนและแก้ไขบทความในวิกิพีเดีย หมายเลขไอพีของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้อยู่ขณะนั้นจะถูกจัดเก็บไว้ ในส่วนของประวัติหน้านั้นๆ แต่ถ้าคุณได้ล็อกอิน ชื่อผู้ใช้ของคุณจะถูกจัดเก็บไว้แทน ดังนั้น การสมัครบัญชีผู้ใช้อาจมีความเป็นบุคคลนิรนามมากกว่าการแก้ไขโดยไม่ล็อกอินเสียอีก เพราะสิ่งที่ผู้อื่นเห็นจะมีเพียงชื่อบัญชีที่คุณตั้งขึ้น และข้อมูลที่คุณเลือกที่จะเปิดเผยเท่านั้น ความเป็นส่วนตัวและระเบียบอื่นอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตขึ้นอยู่กับ ขึ้นอยู่กับ กฎหมายในประเทศ รวมถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ
[แก้] สิ่งอำนวยสะดวกในการเขียนและแก้ไข
คุณสมบัติต่างๆของโปรแกรมมีเดียวิกิ (ซอฟต์แวร์ของวิกิพีเดีย) ที่อนุญาตให้ใช้สำหรับผู้ใช้ที่สร้างบัญชีเท่านั้น เช่น
- การอัปโหลดภาพ - สำหรับโหลดภาพเข้ามาในระบบวิกิพีเดียไทย สำหรับนำภาพไปใส่ในบทความสร้างบทความให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- การเปลี่ยนชื่อบทความ - ถ้าพบว่าบทความไหนควรจะเปลี่ยนชื่อเป็นชื่ออื่นที่เหมาะสมกว่า
- รายการเฝ้าดู - หน้าพิเศษที่ช่วยในการติดตามบทความที่สนใจ โดยจะมีปุ่ม "เฝ้าดู" อยู่ด้านบนของหน้าเพิ่มขึ้นมา โดยเมื่อเลือกคำสั่ง "รายการเฝ้าดู" ในด้านบน บทความที่อยู่ในรายการเฝ้าดูจะปรากฏ เพิ่มความสะดวกในการติดตามการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของหน้าที่คุณเขียนหรือสนใจ
- จาวาสคริปต์สำหรับผู้ใช้ - คุณสามารถใช้จาวาสคริปต์ในการเขียนคำสั่งต่างเพิ่มเติมในวิกิพีเดีย เพื่อให้การใช้งานรวดเร็วขึ้น หรือมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดูเพิ่มที่วิกิพีเดีย:สคริปต์ผู้ใช้ หรือเลือกใช้สคริปต์ผู้ใช้สำเร็จรูปจากผู้ใช้อื่น ดูเพิ่มที่ สคริปต์จัดให้
[แก้] ตั้งค่าพิเศษเฉพาะตัว
นอกเหนือจากเครื่องมือต่างๆ คุณสามารถปรับแต่งการใช้งานต่างๆ ตามใจชอบในส่วน การตั้งค่าผู้ใช้ ในหลายๆด้านเช่น
- หน้าตาเว็บไซต์ - เลือกหน้าตาการแสดงผลแบบต่างๆ ตามความชอบ
- สูตรคณิตศาสตร์ - เลือกการแสดงผลของสูตรคณิตศาสตร์ที่ปรากฏในวิกิพีเดียไม่ว่าจะเป็น รูปภาพแบบPNG หรือเก็บไว้ในลักษณะต้นฉบับแบบ TeX หรือ MathML
- ไฟล์ - กำหนดความใหญ่ของภาพมาตรฐานที่ปรากฏในวิกิพีเดีย
นอกจากนี้ความสามารถด้านอื่นๆ เช่น ลายเซ็นสำหรับพูดคุยกับผู้อื่น ลักษณะวันที่และเวลา ขนาดความกว้างของช่องสำหรับแก้ไข และค่าพิเศษต่างๆ
[แก้] การมีส่วนร่วมในสังคมวิกิพีเดีย
ไม่ว่าจะเป็นการเสนอชื่อเป็นผู้ดูแลระบบ การลงคะแนนเสียง การพูดคุยต่างๆ จะเห็นได้ว่าถ้ามีชื่อบัญชีผู้ใช้ จะแสดงถึงความน่าเชื่อถือรวมถึงผลงานที่ผ่านมา และอย่างยิ่งการเป็นผู้ดูแลระบบจากที่เห็นได้ชัดว่าต้องเป็นผู้ใช้ที่มีชื่อผู้ใช้ของตัวเองและมีผลงานที่เป็นที่น่าเชื่อถือ ถ้ามีชื่อผู้ใช้แล้วและต้องการเป็นผู้ดูแล ดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:เสนอชื่อเพื่อเป็นผู้ดูแล
[แก้] ช่วยให้ตรวจสอบง่ายขึ้น
ถ้าคุณได้ทำการล็อกอิน นอกจากจะมีประโยชน์ที่กล่าวมาด้านบนแล้ว คุณสามารถช่วยชาววิกิพีเดียที่ร่วมทำการตรวจสอบการก่อกวนได้อีกทางหนึ่ง วิกิพีเดียไทยมีผู้ใช้ทั้งล็อกอินและไม่ล็อกอินหลายคนรวมกันเขียน โดยผู้ใช้ที่ไม่ล็อกอินกลุ่มเล็กๆส่วนหนึ่งได้พยายามก่อกวนวิกิพีเดีย เช่น สอดแทรกคำหยาบ แก้ไขตัวเลขให้ผิดไป หรือแกล้งลบข้อความทั้งหมด และผู้ใช้ที่ก่อกวนส่วนใหญ่จะไม่ล็อกอินเพราะไม่ต้องการรับผิดชอบกับการกระทำ ถ้าคุณล็อกอินคุณสามารถช่วยให้ผู้อื่นร่วมตรวจสอบได้ง่ายขึ้น โดยสามารถเลือกบทความที่เขียนโดยเฉพาะผู้ใช้ไม่ล็อกอินมาตรวจสอบได้