อีเมล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อีเมล หรือ อีเมล์[1] (อ่านคล้าย อี-เมว ไม่ใช่ อี-เมน) (e-mail) ย่อจาก จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (electronic mail, ย่อ e-mail หรือ email) คือวิธีการในการเขียนส่ง หรือรับข้อความผ่านทางการเครือข่ายเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ คำว่า อีเมลใช้ใน 2 ความหมาย รวมถึงการส่งข้อความผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยผ่านทาง SMTP และการส่งข้อความภายในเครือข่ายของบริษัทหรือองค์กรโดยผ่านทางระบบมาตรฐานที่ต่างกันออกไป
หลายคนเชื่อว่า อีเมลประสบความสำเร็จได้เกิดจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงอินเทอร์เน็ตเติบโตได้อย่างรวดเร็วเพราะอีเมลเป็นส่วนสำคัญ
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
อีเมลเริ่มใช้กันในปี พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) โดยใช้ในการส่งข้อมูลระหว่างผู้ใช้ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรม ปัจจุบันได้มีการเถียงกันระหว่างเครื่อง SDC's Q32 และ MIT's CTSS ว่าใครเป็นผู้ใช้ระบบอีเมลเป็นเครื่องแรก
ต่อมาพัฒนาให้สามารถส่งอีเมลข้ามระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ โดยระบบแรก ๆ ได้แก่ ระบบ AUTODIN ซึ่งเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (ปีพ.ศ. 2509) และ ระบบ SAGE ซึ่งใช้ตรวจจับเครื่องบินทิ้งระเบิด
ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อาร์พาเน็ต (ARPANET) มีส่วนเป็นอย่างมากในการพัฒนาอีเมล มีการทดลองส่งครั้งแรกในเครือข่ายเมื่อปีพ.ศ. 2512 ในปี พ.ศ. 2514 นายเรย์ ทอมลินสัน (Ray Tomlinson) เริ่มใช้เครื่องหมาย @ ในการคั่นระหว่างชื่อผู้ใช้กับชื่อเครื่อง เขายังเขียนโปรแกรมรับส่งอีเมลที่ชื่อ SNDMAIL และ READMAIL อาร์พาเน็ตทำให้อีเมลได้รับความนิยม และอีเมลก็ได้กลายเป็นงานหลักของอาร์พาเน็ต
เมื่อประโยชน์ของอีเมลเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็มีการคิดค้นระบบอีเมลที่ติดต่อโดยช่องทางอื่นสำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ใช้เครือข่ายอาร์พาเน็ต เช่นผ่านเครือข่าย UUCP หรือ VNET ก่อนที่มีการพัฒนาอีเมลที่ค้นหาเส้นทางในการส่งโดยอัตโนมัติ (auto-routing) การส่งผ่านอีเมลข้ามจากระบบหนึ่งไปยังอีกระบบจำเป็นระบุเส้นทางการส่งโดยใช้เครื่องหมาย ! คั่นชื่อเครื่องระหว่างทาง วิธีนี้สามารถเชื่อมอีเมลจาก อาร์พาเน็ต BITNET NSFNET UUCP เข้าด้วยกัน
ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2520 หน่วยงาน IETF ออกแบบและกำหนดโปรโตคอลในการส่งอีเมลที่มีชื่อว่า SMTP หรือ Simple Mail Transfer Protocol ปัจจุบันโปรโตคอลนี้ถือเป็นมาตรฐานในการรับส่งอีเมลบนอินเทอร์เน็ต
[แก้] รูปแบบของอีเมล
รูปแบบของอินเทอร์เน็ตอีเมล จะใช้ในลักษณะของ RFC 2822 และรูปแบบของชุด RFCs (RFC 2045 ถึง RFC 2049) ซึ่งเรียกรวมว่า MIME อินเทอร์เน็ตอีเมล ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักแยกจากกัน คือ
[แก้] ส่วนหัว
ส่วนหัวของอีเมล กำหนดตามมาตรฐาน RFC 2822 โดยทั่วไปส่วนหัวประกอบด้วยข้อความและตามด้วยเครื่องหมาย ":" และตามด้วยข้อมูล ในแต่ละข้อมูลจะประกอบไปด้วยอย่างน้อย 4 หัวข้อ ได้แก่
- จาก: ที่อยู่อีเมลผู้ส่ง และอาจจะประกอบด้วย ชื่อและนามสกุล
- ถึง: ที่อยู่อีเมลผู้รับ และอาจจะประกอบด้วย ชื่อและนามสกุล สามารถมีได้มากกว่า 1 คน แยกกันด้วย เครื่องหมาย ","
- หัวข้อเรื่อง: สรุปเนื้อความของข้อมูลเพื่อให้ผู้รับสามารถเข้าใจเนื้อหาของข้อความคร่าวๆ
- วันที่: วันและเวลาจากเครื่องผู้ส่ง
หัวข้ออื่น ๆ ได้แก่
- สำเนา: (Cc, Carbon copy) ใช้สำหรับในการส่งข้อความเดียวกันให้คนอื่น (ในสมัยที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีด กระดาษคาร์บอน ใช้ซ้อนในการพิมพ์จดหมาย)
[แก้] ส่วนเนื้อความ
ส่วนเนื้อความของอีเมลเป็นเนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ และอาจแนบไฟล์ไปกับเนื้อหาได้ด้วยการแบ่ง MIME แบบ multipart
[แก้] รูปแบบไฟล์สำหรับเก็บบันทึก
แต่ละโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะใช้รูปแบบไฟล์แตกต่างกันออกไป
- .eml - ใช้ในโปรแกรม เอาท์ลุก เอกซ์เพลส และ ทันเดอร์เบิร์ด
- .mbox - ใช้ในโปรแกรม ยูโดรา
[แก้] ผู้ให้บริการอีเมลฟรี
- ฮอตเมล (Hotmail) บริการอีเมลจากไมโครซอฟท์ [1]
- ยาฮู!เมล (Yahoo! Mail) บริการอีเมลจากยาฮู! [2]
- จีเมล (Gmail) บริการอีเมลจากกูเกิล [3]
- ไทยเมล์ (Thaimail) บริการอีเมลโดยบริษัทเออาร์ไอพี [4]
- AOL Mail บริการอีเมลจาก AOL เป็นที่นิยมของคนอเมริกัน
- คนไทยดอตคอม เป็นบริการอีเมลฟรีสำหรับคนไทยทุกคน ที่ทางกระทรวงมหาดไทยจัดทำให้ โดยชื่ออีเมลจะเป็นตัวอักษร "P" ตามด้วยเลขประจำตัวประชาชน และตามด้วย "@khonthai.com" เดิมสามารถสมัครได้ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ปัจจุบันต้องยื่นเรื่องขอที่ทางสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ
[แก้] โปรแกรมจัดการอีเมล (Email Client)
- Eudora โปรแกรมยอดนิยมในยุคแรก ๆ จากบริษัท Qualcomm [5]
- Microsoft Outlook Express โปรแกรมจัดการอีเมลที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows
- Microsoft Outlook หนึ่งในโปรแกรมจัดการงาน ตารางนัดหมาย ปฏิทิน ที่มาพร้อมกับชุด Microsoft Office [6]
- Netscape ในชุด Netscape Communicator ประกอบไปด้วยเบราว์เซอร์ โปรแกรมจัดการอีเมลและอ่านข่าว รวมไปถึงโปรแกรมเขียนเว็บเพจ [7]
- Thunderbird จาก Mozilla Foundation [8]
- IncrediMail โปรแกรมอีเมลที่ใส่รูปแบบสีสันได้ดี
- Lotus Notes โลตัสโนตส์ เป็นโปรแกรมอีกโปรแกรมหนึ่งซึ่งมีผู้นิยมใช้มาก มีจุดเด่นในเรื่อง Database ที่ใช้ในการส่งข้อมูลภายในองค์กรดีมาก
[แก้] อ้างอิง
- ^ "อีเมล" เป็นการสะกดตามศัพท์บัญญัติจากราชบัณฑิตยสถาน ขณะที่ อีเมล์ สะกดตาม พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. หน้า 166. ISBN 978-974-412-139-4
อินเทอร์เน็ต |
อีเมล - Usenet - เวิลด์ไวด์เว็บ - เมสเซนเจอร์ - File sharing |