การสอบสนามหลวง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนหนึ่งของ ประวัติพุทธศาสนา |
|
ศาสดา | |
จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา | |
พ้นทุกข์ / ความดับทุกข์ | |
ไตรสรณะ | |
ความเชื่อและการปฏิบัติ | |
ศีล · ธรรม ศีลห้า · เบญจธรรม · ศีลแปด บทสวดมนต์และพระคาถา |
|
คัมภีร์และหนังสือ | |
พระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก · พระสุตตันตปิฎก · พระอภิธรรมปิฎก |
|
นิกาย | |
เถรวาท · อาจริยวาท (มหายาน) · วัชรยาน · เซน | |
สังคมพุทธศาสนา | |
เมือง · ปฏิทิน · บุคคล · วันสำคัญ · ศาสนสถาน · วัตถุมงคล | |
ดูเพิ่มเติม | |
ศัพท์เกี่ยวกับพุทธศาสนา หมวดหมู่พุทธศาสนา |
|
สถานีย่อย |
---|
สอบสนามหลวง คือการสอบไล่วัดความรู้พระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย โดยคำว่า "สนามหลวง" นั้นสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "การสอบพระปริยัติธรรมบาลีในพระราชวังหลวง" โดยการสอบสนามหลวงในสมัยก่อนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับเป็นพระราชภาระ ถวายความอุปถัมภ์การจัดสอบขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โดยจัดสอบแบบปากเปล่า คือพระภิกษุหรือสามเณรผู้ศึกษาบาลีมีความรู้พอสมควรแล้ว เข้าสอบบาลีสนามหลวงโดยการแปล คัมภีร์ภาษาบาลีเป็นภาษาไทย หรือแต่งภาษาไทยเป็นภาษาบาลี ต่อหน้าพระที่นั่งและคณะกรรมการพระเถรานุเถระ โดยผู้สอบไล่ได้ในชั้นประโยคต่างๆ จะได้รับการพระราชทานสมณศักดิ์ พัดยศ ไตรจีวร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้ให้เป็นเปรียญ และรับนิตยภัตของหลวง เป็นการยกย่องเชิดชู
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติความเป็นมาการสอบสนามหลวง[1]
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
การสอบบาลีสนามหลวงนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสอบในทำนองเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ 3 ปีมีการสอบครั้งหนึ่ง เป็นการสอบแบบปากเปล่า มีพระเถราจารย์ผู้ทรงภูมิความรู้เป็นกรรมการสอบ
[แก้] การสอบไล่ปากเปล่าในอดีต
วิธีการสอบไล่ในอดีตคือผู้เข้าสอบเข้าไปแปลคัมภีร์อรรถกถาต่อหน้าพระเถราจารย์ และพระเถราจารย์จะซักถามผู้เข้าสอบไล่ จึงเป็นที่มาของคำว่า ไล่ความรู้ หรือ สอบไล่
วิชาที่สอบแต่ละประโยคนั้นก็จะกำหนดพระสูตรต่างๆ สำหรับแต่ละประโยค เริ่มตั้งแต่ประโยค 1 ไปจนถึง ประโยค 9 โดยการสอบนั้น จะมีการสอบตั้งแต่ประโยค 1 ขึ้นไป ถ้าสอบประโยค 1 - 2 ได้ แต่สอบประโยค 3 ไม่ได้ ก็ต้องไปเริ่มสอบประโยค 1 ใหม่ เว้นแต่เมื่อสอบได้ประโยค 3 แล้ว ก็สามารถสอบไล่ไปทีละประโยคหรือหลายประโยคก็ได้
ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระภิกษุทุกรูปต้องเล่าเรียนและเข้าสอบบาลีสนามหลวง ภิกษุรูปใดสอบไล่ได้เป็นเปรียญตั้งแต่ 3 ประโยคแล้ว ถ้าได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตั้งแต่พระครูสมณศักดิ์ขึ้นไป เป็นอันหยุดไม่ต้องเข้าสอบบาลีสนามหลวงต่อไปก็ได้ แต่ถ้าสมัครใจจะเข้าแปลต่อก็ได้ ส่วนภิกษุที่ยังไม่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ก็ต้องสอบต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบเป็นเปรียญ 9 ประโยค
[แก้] การเปลี่ยนรูปแบบสอบไล่บาลีมาเป็นข้อเขียน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นในคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเวลานั้นทรงเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกนิกายได้ทรงกำหนดหลักสูตรของมหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้น โดยกำหนดให้ผู้เรียน เรียนทั้งหนังสือไทยและบาลีไวยากรณ์ โดยผู้เข้าเรียนในสำนักมหามกุฎราชวิทยาลัย นี้มีทั้งพระภิกษุ สามเณร และฆราวาส
จึงทำให้การสอบบาลีสนามหลวงในสมัยนั้นแบ่งออกเป็นสองสนาม คือ สนามที่สอบปากเปล่าแบบเก่า และสนามที่จัดสอบผู้เล่าเรียนตามหลักสูตรมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งใช้วิธีสอบแบบข้อเขียน และแบ่งการสอบเป็น 3 ชั้น เรียกว่า เปรียญตรี เทียบคุณวุฒิเสมอเปรียญ 4 แบบเก่า เปรียญโท เทียบคุณวุฒิเสมอเปรียญ 5 และเปรียญเอกเทียบคุณวุฒิเปรียญ 7
การสอบไล่ตามหลักสูตรมหามกุฎราชวิทยาลัย คงดำเนินมาจนถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ปรับหลักสูตรการศึกษาบาลีสนามหลวงทั้งหมด โดยใช้หลักสูตรของมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นหลัก และเลิกการสอบเปรียญ ตรี โท เอก เปลี่ยนมาเป็นสอบบาลีตั้งแต่ประโยค 1 - 9 ดังในปัจจุบัน
[แก้] การสอบสนามหลวงในปัจจุบัน
การสอบสนามหลวงในปัจจุบันนี้แบ่งเป็นสองประเภทคือการสอบบาลีสนามหลวง และสอบธรรมสนามหลวง
การสอบสนามหลวงแผนกบาลีในระดับชั้นเปรียญตรี(ป.ธ.1-2 ถึง 3) และระดับชั้นเปรียญโทเปรียญแรก (ป.ธ. 4)ในปัจจุบันนับว่ามีความสะดวกสบายกว่าแต่ก่อนมาก คือผู้สมัครสอบไม่ต้องเข้ามาสอบที่ส่วนกลางทั้งหมด แต่ให้มีสนามสอบประจำจังหวัด ๆ ละหนึ่งแห่งทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้เป็นส่วนกลาง
[แก้] การสอบบาลีสนามหลวงในปัจจุบัน
การสอบพระปริยัติธรรมแผนกบาลี หรือ การสอบบาลีสนามหลวง แบ่งการสอบออกเป็น 9 ประโยค
- ประโยค 1-2 ถึงประโยค 3 เป็นเปรียญตรี (กระทรวงศึกษาธิการเทียบวุฒิให้เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้น)[2]
- ประโยค 4 ถึงประโยค 6 เป็นเปรียญโท (กระทรวงศึกษาธิการเทียบวุฒิให้เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย)
- ประโยค 7 ถึงประโยค 9 เป็นเปรียญเอก (กระทรวงศึกษาธิการเทียบวุฒิให้เทียบเท่าปริญญาตรี)
การจัดสอบวัดผลบาลีสนามหลวงในปัจจุบันนั้นแบ่งเป็นสองครั้ง ครั้งแรกคือชั้นประโยค 6 ถึงประโยค 9 และครั้งที่สองคือ ประโยค 1-2 ถึง ประโยค 5 โดยแต่ละครั้งจะจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ใช้ข้อสอบที่ออกโดยแม่กองบาลีสนามหลวง
- ครั้งที่ 1
- ตรงกับวันขึ้น 2, 3 ค่ำ เดือน 3 จัดสอบเปรียญธรรม 6- 7 และวันขึ้น 4, 5, 6 ค่ำ เดือน 3 จัดสอบเปรียญธรรม 8-9
- ครั้งที่ 2
- ตรงกับวันแรม 10, 11 12 ค่ำ เดือน 3 จัดสอบประโยค 1-2 ถึงเปรียญธรรม 5 ประโยค
[แก้] การสอบธรรมสนามหลวงในปัจจุบัน
การสอบพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือ การสอบธรรมสนามหลวง แบ่งการสอบออกเป็น 2 ประเภท คือ การสอบ นักธรรม สำหรับพระภิกษุ สามเณร และการสอบ ธรรมศึกษา สำหรับฆราวาส
โดยแบ่งชั้นการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ
- นักธรรมตรี, นักธรรมโท, นักธรรมเอก
- สำหรับพระภิกษุ สามเณร (ผู้สอบไล่ได้นักธรรมเอกนั้น กระทรวงศึกษาธิการเทียบวุฒิให้เทียบเท่าประถมศึกษาตอนปลาย)
- ธรรมศึกษาตรี, ธรรมศึกษาโท, ธรรมศึกษาเอก
- สำหรับฆราวาส
การจัดสอบวัดผลธรรมสนามหลวงนั้นจัดให้มีการสอบปีละ 2 ครั้ง[4]
- ครั้งที่ 1
- ตรงกับวันขึ้น 9 - 12 ค่ำ เดือน 11 จัดสอบนักธรรมชั้นตรี สำหรับพระภิกษุ สามเณร
- ครั้งที่ 2
- ตรงกับวันแรม 2 - 5 ค่ำ เดือน 12 จัดสอบนักธรรมชั้นโทและเอก สำหรับพระภิกษุ สามเณร
สำหรับธรรมศึกษานั้นจัดสอบวันเดียวคือวันแรม 5 ค่ำ เดือน 12
[แก้] อ้างอิง
- ^ การศึกษาของพระ ป.ธ.3 ถึง ป.ธ. 9 คืออะไร, จุลสารพระธรรมทูตวัดไทยลาสเวกัส
- ^ พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2527
- ^ กำหนดการสอบบาลีสนามหลวง
- ^ กำหนดการสอบธรรมสนามหลวง