เต่าปูลู
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Platysternon megacephalum Gray, ค.ศ. 1831 |
สถานะอนุรักษ์ | สถานะ : เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ |
Platysternon megacephalum pequense
Platysternon megacephalum megacephalum
เต่าปูลู เป็นเต่าน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platysternon megacephalum pequense เป็นเต่าที่หัวโตมาก มีขนาดกว้างหัวประมาณครึ่งหนึ่งของความกว้างกระดองหลัง มีปากงุ้มแหลมคล้ายปากนกแก้ว หัวหดเข้ากระดองไม่ได้ แต่มีคอยาวยื่นออกมาได้มาก เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว มีความสามารถในการปีนต้นไม้และก้อนหิน ขาและเท้าของเต่าปูลูมีขนาดใหญ่และแข็งแรงหดเข้ากระดองไม่ได้ ขาหน้าและขาหลังของเต่าปูลูมีเกล็ดหุ้มทั้งหมด ตั้งแต่โคนขามีเกล็ดขนาดใหญ่ ฝ่าเท้ามีเกล็ดขนาดเล็กลงมา นิ้วมีเกล็ดหุ้ม มีเล็บแหลมคม ขาหน้ามี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีเยื่อพังผืดเล็กน้อยยึดระหว่างนิ้วเกือบถึงโคนเล็บ หางมีขนาดใหญ่และแข็งแรง มีเกล็ดขนาดใหญ่หุ้มเกล็ดหางด้านบนมี 1 แถว ๆ ละ 1 เกล็ด เรียงจากโคนหางมีประมาณ 11 ถึง 14 แถว เกล็ดหางด้านล่างแถวที่ 1 ถึง 4 มีสี่เกล็ดจากแถวที่ห้าถึงปลายหางมีแถวละสองเกล็ดบริเวณโคนหางและโคนขาหลังมีเดือยหนังแหลมยื่นออกมาจำนวนมาก หางของเต่าปูลูยาวมาก มีความยาวมากกว่าความยาวกระดองหลังในอัตราเฉลี่ยความยาวกระดองหลังต่อความยาวหาง มีค่าเท่ากับ 1:1.34 เต่าปูลูจึงจัดว่าเป็นเต่าที่มีหางยาวที่สุดในโลก
เต่าปูลูขนาดเล็ก ที่ยังไม่โตเต็มวัย เกล็ดสันหลัง (median plates) มีลักษณะเป็นสันแนวกลางหลังทั้ง 5 แผ่น เกล็ดชายโครง (costal plates) ทั้ง 4 คู่ มีปุ่มหนาที่บริเวณกลางของแต่ละเกล็ด เกล็ดขอบกระดอง (marginal plates) มีหยักปลายแหลมเล็กน้อย ส่วนกระดองท้องมีลักษณะ dark symmetrical markings กระดองหลังสีน้ำตาลแดง กระดองท้องสีเหลือง ผิวหนังด้านท้องสีเหลือง ด้านข้างของหัวทั้งสองด้านจากท้ายตามีเส้นสีดำ 1 คู่ พาดยาวไปทางด้านหลัง ระหว่างกลางเส้นสีดำมีสีเหลือง ขาทั้ง 4 ด้านบนสีดำด้านล่างสีเหลือง แต่เมื่อโตเต็มวัย (mature) ลักษณะสันกลางหลัง ปุ่มหนามที่เกล็ดชายโครงและรอยหยักที่เกล็ดขอบกระดอง จะหายไปจนหมด ส่วนลักษณะ dark symmetrical markings ที่กระดองท้องสีทั้งหมดจะหายไป หรือจางลงจนสังเกตเห็นไม่ชัด เส้นคู่สีดำข้างหัวจะหายไปด้วย
เต่าปูลูตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย พบที่จังหวัดลำปางมีน้ำหนัก 910 กรัม ความยาวกระดองหลัง 18.7 เซนติเมตร ความกว้างกระดองหลัง 14.5 เซนติเมตร ความกว้างหัว 6.5 เซนติเมตร ความยาวหาง 23 เซนติเมตร
เต่าปูลู ยังมีสายพันธุ์ย่อย (Subspecies) อีก 2 ชนิด ที่พบในประเทศไทย คือ เต่าปูลูเหนือ หรือ เต่าปูลูจีน (Platysternon megacephalum megacephalum) มีขนาดเล็กกว่าเต่าปูลู แต่มีความความแตกต่างที่ชัดเจนมากที่สุดมีเพียงแห่งเดียว คือเกล็ดเหนือโคนหาง เกล็ดขอบกระดอง (marginal plates) มีจำนวน 11 คู่ เท่ากัน (วิโรจน์, 1979 รายงานว่ามี 9 คู่) กระดองท้องของเต่าปูลูเหนือจะเป็นสีเหลืองส้ม ผิวหนังใต้คางสีเหลืองทอง ผิวหนังบริเวณโคนขาจนถึงโคนหางเป็นสีเหลืองอมชมพูเกล็ดเหนือโคนหางซึ่งมี 1 อัน มองเห็นไม่ชัดเจน เมื่อโตเต็มที่ (mature) เกล็ดเหนือโคนหาง (supracaudal) จะมองเห็นชัดเจน
เต่าปูลูเหนือ พบในประเทศไทยน้อยกว่าเต่าปูลูมาก โดยจะพบเฉพาะจังหวัดที่อยู่เหนือสุดเท่านั้น ตัวที่ใหญ่สุดที่พบที่จังหวัดลำปางมีน้ำหนัก 570 กรัม ความยาวกระดองหลัง 14.5 เซนติเมตร ความยาวกระดองท้อง 11.3 เซนติเมตร ความกว้างหัว 5.4 เซนติเมตร ความกว้างกระดองหลัง 11 เซนติเมตร ความยางหาง 24 เซนติเมตร
และ เต่าปูลูใต้ (Platysternon megacephalum vogeli) ซึ่งเป็นชนิดใหม่ล่าสุด พบในลำธารภูเขาในชายแดนใต้ที่ติดกับมาเลเซีย มีรูปร่างและสีสันคล้ายเต่าปูลู (Platysternon megacephalum pequense) มาก
เต่าปูลู เป็นเต่าที่อาศัยอยู่ในลำธารน้ำบนภูเขาสูงเท่านั้น พบในประเทศจีนตอนใต้และในชายแดนที่ติดกับไทย ลาว และพม่า มีนิสัยดุ กินเนื้อและลูกไม้เปลือกแข็งเป็นอาหาร กินอาการโดยวิธีการฉกงับ (Snapping) มีความสามารถปีนป่ายขอนไม้ หรือโขดหินได้เก่ง ความแตกต่างระหว่างเพศผู้และเพศเมีย คือ ตัวผู้มีหางยาวมากกว่า และรูเปิดก้น (cloaca) ของตัวผู้จะอยู่ไปทางปลายหางมากกว่า และตัวผู้จะมีอวัยวะเพศ (penis) อยู่ภายในรูเปิดก้น เต่าปูลูเมื่อยังเล็ก กระดองจะมีลายสีเหลืองและสีน้ำตาล ส่วนตัวเต็มวัยสีเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลเขียวมะกอก ผสมพันธุ์ในน้ำ วางไข่คราวละ 3-5 ฟอง ไข่เปลือกแข็งสีขาว รูปทรงกระบอกหัวท้ายรี ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร เชื่อว่ามีอายุยืนได้ถึง 200 ปี
สถานภาพปัจจุบัน เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกจับเป็นสัตว์เลี้ยงและปรุงยาสมุนไพร
ปัจจุบัน ที่ หมู่บ้านนาดอง ต.ช่อแฮ จังหวัดแพร่ มีโครงการอนุรักษ์เต่าปูลูอยู่ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์พบได้ที่อำเภอน้ำปาด