เจ้าหญิงอลิซ เค้านท์เตสแห่งแอธโลน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงอลิซ เค้านท์เตสแห่งแอธโลน (Princess Alice, Countess of Athlone; พระอิสริยยศแรกเดิม เจ้าหญิงอลิซแห่งออลบานี (Princess Alice of Albany) (อลิซ แมรี่ วิกตอเรีย ออกัสตา พอลีน; 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2426 - 3 มกราคม พ.ศ. 2524) ทรงเป็นสมาชิกพระองค์หนึ่งของพระราชวงศ์อังกฤษ และพระราชนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระองค์ทรงมีจุดเด่นที่ยังคงเป็นเจ้าหญิงในเชื้อพระวงศ์ที่มีพระชนม์ชีพยืนยาวที่สุดของพระราชวงศ์อังกฤษและพระราชนัดดาที่ทรงพระชนม์ชีพอยู่เป็นองค์สุดท้ายในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย อีกทั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา และดัชเชสแห่งแซ็กโซนี พร้อมกับทั้งเจ้าหญิงแห่งเท็คจากการอภิเษกสมรสจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2460 เมื่อพระองค์ต้องทรงสละฐานันดรศักดิ์ทั้งหมดตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5
เนื้อหา |
[แก้] พระชนม์ชีพในวัยเยาว์
เจ้าหญิงอลิซประสูติเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2426 ณ ปราสาทวินด์เซอร์ พระชนกของพระองค์คือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายเลโอโพลด์ ดยุคแห่งออลบานี พระราชโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา พระชนนีคือ เจ้าหญิงเฮเลนาแห่งวัลเด็คและไพร์มอนต์ พระองค์ทรงมีพระอนุชา 1 พระองค์คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด ดยุคที่ 2 แห่งออลบานี ซึ่งในภายหลังทรงเป็นดยุคปกครองรัฐแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา (พ.ศ. 2427 - พ.ศ. 2497)
ในฐานะที่เจ้าหญิงทรงเป็นพระราชนัดดาในองค์พระประมุข ผ่านทางสายพระราชโอรส จึงทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ชั้นเจ้าฟ้า และฐานะพระธิดาของดยุคแห่งออลบานี ก็ยังได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแห่งออลบานี (Her Royal Highness Princess Alice of Albany) อีกด้วย
เจ้าหญิงทรงเข้ารับศีลจุ่มในวันที่ 26 มีนาคม ณ โบสถ์สวดมนต์ประจำราชวงศ์ ปราสาทวินด์เซอร์ โดยมีพ่อและแม่ทูนหัวคือ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย สมเด็จพระจักรพรรดินีและมกุฎราชกุมารีแห่งปรัสเซีย เจ้าหญิงชายาแห่งวัลเด็ค-พีร์มอนต์ ดัชเชสแห่งแคมบริดจ์ เจ้าหญิงพระชายาแห่งเบ็นไธม์ เจ้าชายแห่งเวลส์ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนเธอร์แลนด์ แกรนด์ดยุคแห่งเฮสส์และไรน์ และ เจ้าชายวิลเฮล์มแห่งเวือร์ทเท็มแบร์ก
[แก้] อภิเษกสมรส
เจ้าหญิงอลิซแห่งออลบานีทรงอภิเษกสมรสวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ กับ เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ ออกัสตัส เฟรเดอริค วิลเลียม อัลเฟรด จอร์จแห่งเท็ค พระอนุชาของสมเด็จพระราชินีแมรี่ หลังจากนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงอเล็กซานเดอร์แห่งเท็ค (Her Royal Highness Princess Alexander of Teck)
เจ้าชายและเจ้าหญิงอเล็กซานเดอร์แห่งเท็คทรงมีพระโอรสและธิดา 3 พระองค์ ดังนี้
- เจ้าหญิงเมย์แห่งเท็ค (เมย์ เฮเลน เอ็มมา; 23 มกราคม พ.ศ. 2449 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2537)
- ทรงสละฐานันดรศักดิ์เยอรมัน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และทรงเปลี่ยนพระนามเป็น เลดี้ เมย์ แคมบริดจ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2460
- อภิเษกในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ณ เมืองบัลคอมบ์ มณฑลซัสเซ็กส์ กับ เซอร์ เฮนรี่ อาเบล สมิธ (8 มีนาคม พ.ศ. 2443 - 24 มกราคม พ.ศ. 2536)
- เจ้าชายรูเพิร์ตแห่งเท็ค (รูเพิร์ต จอร์จ อเล็กซานเดอร์ ออกัสตัส; 24 เมษายน พ.ศ. 2450 - 15 เมษายน พ.ศ. 2471)
- ทรงสละฐานันดรศักดิ์เยอรมัน และทรงเปลี่ยนพระนามเป็น รูเพิร์ต แคมบริดจ์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2460
- ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ไวส์เค้านท์เทรมาตัน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2460
- เจ้าชายมอริสแห่งเท็ค (มอริส ฟรานซิส จอร์จ; 29 มีนาคม - 14 กันยายน พ.ศ. 2453) ทรงเป็นโรคเฮโมฟีเลีย
เจ้าหญิงอลิซทรงเป็นพาหะของโรคเฮโมฟีเลีย เหมือนกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย พระอัยยิกา โดยทรงได้รับการถ่ายทอดจากพระชนก ซึ่งทรงประชวรด้วยโรคพระโลหิตไหลไม่หยุดนี้อยู่ พระโอรสของโตของเจ้าหญิงได้รับการถ่ายทอดโรคนี้ทำให้สิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควรจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
[แก้] พ.ศ. 2460
เมื่อพระราชวงศ์อังกฤษได้เลิกใช้พระราชอิสริยยศของเยอรมันเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2460 เจ้าชายอเล็กซานเดอร์แห่งเท็คก็ทรงใช้ราชสกุลแคมบริดจ์ มาเป็นเซอร์ อเล็กซานเดอร์ แคมบริดจ์ (ระยะหนึ่ง) แล้วก็มาเป็นเอิร์ลแห่งแอธโลน โดยสละฐานันดรศักดิ์เจ้าชายแห่งเท็คของราชอาณาจักรเวือร์ทเท็มแบร์กและดำรงอิสริยยศชั้น Serene Highness ด้วยเหตุนี้พระโอรสและธิดาจึงไม่ได้มีฐานันดรศักดิ์ของเวือร์ทแท็มแบร์กไปด้วย ส่วนเจ้าหญิงอลิซได้ทรงสละพระอิสริยยศเจ้าหญิงแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธาและดัชเชสแห่งแซ็กโซนี ในขณะที่เจ้าชายชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา พระอนุชา ที่ได้ทรงปฏิบัติ ราชการให้กองทัพเยอรมัน ได้ทรงถูกถอดถอนพระอิสริยยศของอังกฤษออก อย่างไรก็ดี เจ้าหญิงอลิซก็ยังทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ในชั้นเจ้าฟ้าตามราชสิทธิ์ต่อไป ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าหญิงอลิซ เค้านท์เตสแห่งแอธโลน (Her Royal Highness Princess Alice, Countess of Athlone) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2460 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์
[แก้] แคนาดาและแอฟริกาใต้
เจ้าหญิงอลิซได้โดยเสด็จพระสวามีไปยังประเทศแคนาดาที่ทรงไปเข้ารับตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ ตั้งแต่พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2489 พระองค์ยังได้ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งแอฟริกาใต้ ตั้งแต่พ.ศ. 2467 - พ.ศ. 2474 ด้วย ช่วงเวลาที่ประทับอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระตำหนักริมทะเล ที่โปรดให้สร้างไว้ที่เมืองมุยเซ็นเบิร์ก ซึ่งยังคงเห็นอยู่ในปัจจุบัน และเป็นหนึ่งให้อนุสรณ์สถานแห่งชาติของประเทศแอฟริกาใต้ Cape Town Suburb of Athlone ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าหลวงใหญ่ พร้อมกับพระตำหนักริมทะเล จึงมีความหมายทางกายภาพเกี่ยวกับทีสถานประทับของทั้งสองพระองค์ในแอฟริกาใต้อีกด้วย
[แก้] พระราชกรณียกิจ
เจ้าหญิงอลิซได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งยังทรงได้เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์อังกฤษจำนวน 4 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อีกทั้งยังทรงเป็นผู้บัญชาการกองทัพทหารอังกฤษ 2 กอง และกองทัพทหารโรดีเซีย 1 กอง และในปี พ.ศ. 2493 ก็ได้ทรงเป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยอินเดียตะวันตก(สมัยก่อนคือ วิทยาลัยแห่งอินเดียตะวันตก)
[แก้] ปลายพระชนม์ชีพ
ลอร์ดแอธโลนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ณ พระราชวังเคนซิงตัน กรุงลอนดอน ส่วนเจ้าหญิงอลิซก็ทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่จนถึงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2524 และสิ้นพระชนม์ลงเมื่อพระชนมายุ 97 พรรษา 10 เดือน 9 วัน ทำให้ทรงเป็นเจ้าหญิงอังกฤษจากเชื้อพระวงศ์ที่มีพระชนม์ชีพยาวนานที่สุดและพระราชนัดดาที่ทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวที่สุดของสมเด็จพระราชีนีนาถวิกตอเรีย แต่กระนั้น สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนีทรงเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์อังกฤษจากการอภิเษกสมรสที่มีพระชนม์ชีพยืนยาวที่สุดจนกระทั่งเจ้าฟ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ ทรงทำลายสถิตินี้ลงในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 โดยทรงดำรงพระชนม์ชีพยาวนานกว่า 100 พรรษา
พระราชพิธีฝังพระศพจัดขึ้นที่โบสถ์เซนต์จอร์จ ในปราสาทวินด์เซอร์ โดยมีสมาชิกพระราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงเข้าร่วมพิธี พระศพของเจ้าหญิงได้ถูกฝังไว้เคียงข้างพระสวามีและพระโอรสในลานฝังพระศพประจำพระราชวงศ์ที่ฟร็อกมอร์ ตรงด้านหลังสุสานหลวงของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชอุทยานวินด์เซอร์ ส่วนพระศพของพระธิดากับพระชามาดา (ลูกเขย) ก็ฝังอยู่ไม่ไกลจากกันด้วย
[แก้] พระอิสริยยศ และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้] พระอิสริยยศ
- พ.ศ. 2426 - พ.ศ. 2447: สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงอลิซแห่งออลบานี (Her Royal Highness Princess Alice of Albany)
- พ.ศ. 2447 - พ.ศ. 2460: สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงอเล็กซานเดอร์แห่งเท็ค (Her Royal Highness Princess Alexander of Teck)
- พ.ศ. 2460: สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงอลิซ เลดี้แคมบริดจ์ (Her Royal Highness Princess Alice, Lady Cambridge)
- พ.ศ. 2460 - พ.ศ. 2524: สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงอลิซ เค้านท์เตสแห่งแอธโลน (Her Royal Highness Princess Alice, Countess of Athlone)
[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชวิกตอเรีย ชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the Royal Victorian Order)
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the British Empire)
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต ชั้นที่ 1 (Lady of the Order of Victoria and Albert)