หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล (๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๘ - ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓)ทรงเป็นธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเฉื่อย ดิศกุล (ยมาภัย) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๘ ที่วังสามยอด เชิงสะพานดำรงสถิตย์ ได้ทรงศึกษาภาษาไทยชั้นต้นกับคุณหญิงวิทยาปรีชามาตย์ (อ่อง) และข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิอีกบางท่าน และทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสกับครูสตรีชาวต่างประเทศเจ้าของภาษานั้น ๆ นอกจากทรงศึกษาความรู้รอบตัวจากพระบิดา และจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ยังทรงศึกษาวิชาสำหรับกุลสตรีจากสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดลอีกด้วย
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ไทย และพระพุทธศาสนาจนทรงรอบรู้แตกฉาน พระนิพนธ์ชิ้นแรกซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายคือ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่อง ศาสนคุณ ที่ทรงแต่งประกวดในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๔๗๒ และได้รับพระราชทานรางวัลชั้นที่ ๑ พระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ชีวิตและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประเพณีไทย สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ฯลฯ และสารคดีอีกหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมีพระนิพนธ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบำเพ็ญกรณียกิจในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดมาเป็นระยะเวลานานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผลงานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล คือ ได้ทรงร่วมก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) และทรงดำรงตำแหน่งประธานขององค์การนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๗ กิจการขององค์การ พ.ส.ล. ให้ตั้งสำนักงานใหญ่เป็นการถาวรอยู่ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยค็องกุ๊ด กรุงโซล ประเทศเกาหลี ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อศาลติของมวลมนุษยชาติ และได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ถึงชีพิตักษัย เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓
[แก้] อ้างอิง
- กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย : สารัตถะทักษสัมพันธ์ เล่ม ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓) ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, พิมพ์ครั้งที่ ๑, กรุงเทพฯ, พ.ศ. ๒๕๔๖
- [1]
- กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย -- กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, พ.ศ. 2547. (ISBN 974-9527-87-9)