See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ สายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ - วิกิพีเดีย

รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ สายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เป็นระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) สายนำร่องของกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี ซึ่งเริ่มเกิดแนวคิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ในสมัยของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยงบประมาณ 1,400 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างจริงเมื่อปี 2550 และคาดว่าจะเปิดให้บริการในวันที่ 12 สิงหาคม 2551 โดยจะให้บริการฟรี 6 เดือน [1]

เนื้อหา

[แก้] พื้นที่ให้บริการ

กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร แขวงช่องนนทรี แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม และแขวงบุคคโล เขตธนบุรี

[แก้] เส้นทางที่ให้บริการ

เส้นทางเริ่มต้นจาก ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ที่สี่แยกนราทร ผ่านสี่แยกถนนจันทน์ สี่แยกถนนรัชดาภิเษก-พระรามที่ 3 และเลี้ยวขวาที่สี่แยกนราธิวาส-พระรามที่ 3 เข้าสู่ถนนพระรามที่ 3 ขึ้นสะพานข้ามแยกสาธุประดิษฐ์ แยกสะพานพระราม 9 และแยกถนนเจริญราษฎร์ ก่อนจะขึ้นสะพานพระราม 3 ข้ามสี่แยกถนนตก แม่น้ำเจ้าพระยา สี่แยกบุคคโล และสี่แยกมไหสวรรย์ เข้าสู่ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ และสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ บริเวณใต้สะพานข้ามสี่แยกรัชดาภิเษก-ตลาดพลู (ฝั่งเดียวกันกับห้างเดอะมอลล์ ท่าพระ)

[แก้] ผลกระทบด้านการจราจรในเส้นทาง

  • หลังการก่อสร้างช่องทางเดินรถ พื้นผิวจราจรบนถนนนราธิวาสราชนครินท์แต่ละฝั่งจะยังมีครบทั้ง 4 เลน เพียงแต่เลนจะมีขนาดลดลงจากเดิม 3.50 เมตร จะลดลงเหลือ 2.85 เมตร ซึ่งรถอื่นยังสามารถวิ่งได้สะดวกเหมือนเดิม โดยอาศัยการประสานงานเพื่อให้ตำรวจดูแลไม่ให้มีรถจอดเลนซ้ายสุดบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์
  • บนสะพานพระราม 3 จะทำเป็นไดมอนด์เลนทางด้านขวาสุด ซึ่งเปิดให้รถยนต์ที่มีผู้โดยสารตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปเข้ามาใช้เลนพิเศษนี้ได้

[แก้] การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น

  • ต้นทาง (สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี) จะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี และปลายทางจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสในอนาคต ที่สี่แยกรัชดาภิเษก-ตลาดพลู ของส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า
  • จากการศึกษาเส้นทางเรือ พบว่ามี 4-5 ท่าเรือที่จะสามารถข้ามจากฝั่งธนบุรี มาใช้บริการได้ เช่น ท่าเรือธนาคารกสิกรไทย ผู้โดยสารสามารถข้ามฟากมาใช้บริการที่สถานีวัดดอกไม้ได้โดยตรง

[แก้] การต่อขยายเส้นทาง

  • มีแนวคิดที่จะต่อขยายในเส้นทาง ช่องนนทรี-สุขสวัสดิ์ โดยแยกจากเส้นทางช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ บนถนนพระรามที่ 3 ไปตามถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ข้ามสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมไปลงที่ถนนสุขสวัสดิ์ และสามแยกประชาอุทิศ สามารถรองรับประชาชนย่านสุขสวัสดิ์ที่คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 30,000 คนต่อวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

[แก้] รายละเอียดปลีกย่อยของระบบ

  • ตัวรถ ได้จัดซื้อในเบื้องต้นจำนวน 45 คัน (วิ่งจริง 42 คันและสำรอง 3 คัน) รูปแบบเป็นรถโดยสารตอนเดียว ยาวไม่น้อยกว่า 11-12 เมตร ใช้เครื่องยนต์ก๊าซธรรมชาติ(NGV) มาตรฐาน EURO III เครื่องยนต์มีกำลังไม่น้อยกว่า 170 กิโลวัตต์ หรือไม่น้อยกว่า 230 แรงม้า รับน้ำหนักบรรทุกรวมไม่เกิน 18,000 กิโลกรัม จุผู้โดยสารคันละไม่ต่ำกว่า 80 คน
  • ภายในรถ มีระบบข้อมูลผู้โดยสารซึ่งจะประกาศชื่อสถานีอัตโนมัติบนจอแสดงภาพแบบแอลอีดี(Light Destination Indicator) และป้ายอิเลคทรอนิกส์บอกจุดหมายปลายทางด้านหน้ารถ นอกจากนี้ยังมีระบบระบุพิกัดตำแหน่งตัวรถ และการส่งคลื่นวิทยุไปยังศูนย์ควบคุมที่เกี่ยวข้อง
  • ระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในรถ ได้แก่กล้องโทรทัศน์วงจรปิด(ซีซีทีวี) ภายในรถ พร้อมกับเครื่องบันทึกภาพที่สามารถบันทึกภาพในระบบดิจิตอลได้ไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง, กล้องโทรทัศน์วงจรปิดภายนอกรถด้านหลังเพื่อช่วยในการถอยรถ พร้อมจอภาพสำหรับพนักงานขับรถ, ปุ่มกดเพื่อแจ้งขอหยุดรถแบบฉุกเฉิน, ถังดับเพลิง 2 ชุด, และมีระบบนำร่องเข้าจอดที่ชานชาลาสถานี บังคับตัวรถเข้าชิดชานชาลาสถานีโดยอัตโนมัติ
  • มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการที่นั่งรถเข็น โดยรถทุกคันจะมีตัวล็อกรถเข็น 2 คัน และเวลาขึ้นลงรถจะต้องมีทางพาดออกจากตัวรถเทียบกับสถานี
  • เวลาให้บริการ : 05.30-24.00 น.
  • ความถี่ในการเดินรถ ชั่วโมงเร่งด่วน 3-5 นาทีต่อคัน นอกชั่วโมงเร่งด่วน 5-7 นาทีต่อคัน ความเร็วเฉลี่ย 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เดินรถคันละ 6 เที่ยวต่อวันหรือ 200 กิโลเมตร
  • ใช้เวลาเดินทางเฉลี่ยสถานีละ 5-7 นาที หรือตลอดสาย 25-35 นาที (เร็วกว่ารถยนต์ทั่วไปที่ใช้เวลาเฉลี่ย 45 นาที-1 ชั่วโมง)
  • เก็บค่าโดยสารในอัตราเดียวกันกับรถโดบสารปรับอากาศ ตั้งแต่ราคา 12-18 บาท แต่ในระยะเริ่มแรกอาจจะให้บริการฟรีก่อนเพื่อทดลองใช้
  • ระบบตั๋วร่วมในเบื้องต้นจะใช้ตั๋วเดือนร่วมกันกับรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ กทม. จะดำเนินการตั๋วเที่ยวเดียวเอง
  • มีจุดจอดแล้วจร (Park&Ride) ที่สถานีราชพฤกษ์
  • มีการตั้งสถานีก๊าซ NGV ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงรถบีอาร์ที บริเวณโรงบำบัดน้ำเสียช่องนนทรี ด้วยความร่วมมือจาก ปตท.[2]
  • โครงการนี้ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 50,000-60,000 คนต่อวัน จุดคุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 180-200 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 12-15 ล้านบาท

[แก้] การดำเนินงาน

ดำเนินการโดยทางกรุงเทพมหานครลงทุนทั้งหมด และให้บริษัทกรุงเทพธนาคมตั้งบริษัทลูกมาบริหารจัดการ จัดซื้อรถ และจัดหาพนักงานมาปฏิบัติการ แต่ไม่มีส่วนเข้ามาลงทุน และไม่มีส่วนในการแบ่งผลกำไร จึงไม่ขัดต่อ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พรบ.ร่วมทุน)

[แก้] ความคืบหน้าของโครงการ

  • วันที่ 3 มกราคม 2550 ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ยกเว้นมติครม.เดิมเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2526 ที่อนุญาตเพียงองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัทบางกอกไมโครบัส เท่านั้นที่สามารถเดินรถในกรุงเทพมหานครได้ ทำให้ กทม.ได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถประจำทางด่วนพิเศษชิดเกาะกลางหรือบีอาร์ที ในเส้นทางจากช่องนนทรี-ราชพฤกษ์
  • วันที่ 4 มกราคม 2550 สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้เซ็นสัญญาว่าจ้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ชนะการประกวดราคาสร้างทางวิ่งและสถานี มูลค่า 661.21 ล้านบาท และ บริษัทเอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ ที่ปรึกษาคุมงานโยธามูลค่า 7.5 ล้านบาท แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 8 เดือน
  • วันที่ 22 มีนาคม 2550 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้รับเหมาการก่อสร้างงานโยธา เริ่มลงพื้นที่ก่อสร้าง โดยเปิดหน้าดินสำรวจระบบสาธารณูปโภคบริเวณทางเท้าถนนพระราม 3 ด้านขาออกบริเวณหน้าวัดปริวาส และบริเวณเทคนิคกรุงเทพ ความยาว 50-70 เมตร เพื่อเตรียมรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคก่อนการก่อสร้างสะพานข้ามเชื่อมสถานีบีอาร์ทีบริเวณเกาะกลาง โดยปิดช่องจราจรในถนนด้านชิดทางเท้าราวครึ่งช่องทาง ควบคู่กับการเปิดหน้าดินบริเวณเกาะกลางอีกครึ่งช่องทางเพื่อสำรวจสาธารณูปโภคถนนและเตรียมพื้นที่ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภค แต่ยังคงจัดช่องจราจรแต่ละด้านให้ได้ 3 ช่องทางเท่าเดิมแต่ขนาดจะแคบลง จากนั้นจึงทยอยทำงานเพื่อก่อสร้างสะพานและสถานีจนครบทั้ง 12 สถานี
  • วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ Bangkok BRT สายนำร่อง ช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ณ สถานที่ก่อสร้างสถานีต้นทางช่องนนทรี เพื่อเป็นมงคลฤกษ์แก่โครงการ
  • วันที่ 9 พฤศจิกายน 2550 มีการประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีออกชั่น) เพื่อจัดซื้อรถโดยสารชนิดใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 45 คัน วงเงิน 388,777,410 บาท โดยมีผู้ยื่นซื้อซองประกวดราคา 18 ราย แต่กลับไม่มีเอกชนสนใจเข้าร่วมประกวดราคาเลย เพราะเงื่อนไขในการประกวดราคาสูงมาก เช่น หากรถเสียเอกชนจะต้องหารถมาเปลี่ยนและจ่ายค่าปรับคันแรก 20,000 บาท คันที่ 2 ต้องจ่าย 40,000 บาท และต้องมีพนักงานซ่อมบำรุงตลอดระยะเวลาที่เดินรถ รวมทั้งต้องมีอุปกรณ์ซ่อมแซมครบครัน ค่าปรับกรณีส่งมอบรถช้าวันละ 777,554 บาท เป็นต้น ขณะที่บางรายอ้างว่าราคากลางต่ำ หรือระยะเวลาในการจัดทำเอกสารน้อยเกินไป
  • วันที่ 20 ธันวาคม 2550 มีการประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีนายวินัย ลิ่มสกุล รองผู้อำนวยการสำนักการขนส่งและจราจร กรุงเทพมหานครเป็นประธานคณะกรรมการในการจัดซื้อ ปรากฏว่าบริษัท เบสท์ลิน กรุ๊ป จำกัด ชนะการประกวดจากผู้ที่มายื่นซองเพียง 4 ราย ในราคา 387 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางประมาณ 1 ล้านบาท คาดว่าจะลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ประมาณกลางเดือน ม.ค. 2551 โดยทีโออาร์กำหนดให้บริษัทส่งรถทั้งหมดภายใน 270 วัน และส่งรถต้นแบบ 3 คัน ภายใน 210 วัน แต่ กทม. จะเจรจาให้บริษัทส่งรถต้นแบบมาก่อน 20 คันภายใน 120 วัน เพื่อให้ กทม นำรถไปทดลองวิ่ง และกำหนดกรอบการส่งมอบรถทั้ง 45 คัน ภายใน 180 วัน เพื่อให้ กทม. ได้เปิดบริการช่วงปลายเดือนกรกฎาคม -สิงหาคม 2551[3]
  • วันที่ 10 มีนาคม 2551 กรุงเทพมหานครได้เซ็นสัญญาซื้อรถกับบริษัท เบสท์ลิน กรุ๊ป จำกัด จำนวน 45 คัน โดย 3 คันแรกจะจัดส่งภายใน 5 เดือน จากนั้นเดือนที่ 6 จัดส่งอีก 20 คัน เดือนที่ 7 จัดส่งที่เหลือ ซึ่งเมื่อรถโดยสาร 3 คันแรกส่งถึง กทม.แล้วก็จะดำเนินการปิดช่องจราจร 1 ช่องทาง เพื่อจัดเตรียมสำหรับรถบีอาร์ทีที่จะทดลองวิ่งปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป เพื่อส่งสัญญาณให้ประชาชนตื่นตัวที่จะมาใช้บริการ พร้อมทั้งปรับแผนการเปิดให้บริการเป็นวันที่ 12 สิงหาคม และเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี 6 เดือนไปจนถึงเดือนมกราคม 2552[4]
  • ระบบขนส่งอัจฉริยะ (ITS) ซึ่งเป็นระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถบีอาร์ทีให้รถบีอาร์ทีได้ไฟเขียวทันทีที่เดินทางผ่านแยก และสามารถบอกได้ว่ารถบีอาร์ทีคันต่อไปจะมาถึงในเวลาอีกกี่นาที เดิมจะประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ประมาณเดือนมกราคม 2551 วงเงิน 389 ล้านบาท แต่เลื่อนมาเป็นวันที่ 24 มีนาคม และเนื่องจากผู้รับเหมาขอเลื่อนเวลาเพราะจัดทำข้อเสนอไม่ทัน จึงเลื่อนมาอีกครั้งเป็นวันที่ 8 เมษายน ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเลือกให้เข้าเสนอราคาวันที่ 28 เมษายน ซึ่งผู้รับเหมาจะมีเวลาติดตั้งและทดสอบ 420 วันหรือ 14 เดือน โดยต้องติดตั้งระบบให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน และทดสอบระบบอีก 180 วัน ดังนั้นระหว่างการทดสอบระบบรถและทดลองเดินรถในเดือนกรกฎาคมนี้ อาจต้องใช้ระบบแมนนอลหรือระบบสัมผัสควบคู่ไปกับระบบอัจฉริยะ[5]
  • วันที่ 31 มีนาคม 2551 คุณหญิงณัฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เข้ายื่นเอกสารหลักฐานแก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเชื่อว่ามีการฮั้วประมูลการจัดซื้อ, สเปกรถจากเดิมกำหนดให้มี 37 ที่นั่ง แต่เมื่อมีการส่งมอบรถยนต์เหลือเพียง 34 ที่นั่ง และเชื่อว่าราคาในการจัดซื้อยังสูงเกินความเป็นจริง เนื่องจากประมูลซื้อในราคาคันละ 7 ล้านบาท แต่ราคาที่ขายในท้องตลาดเพียง 4 ล้านบาท จึงต้องการให้มีการตรวจสอบหากเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542[6]
  • สำนักการจราจรและขนส่งได้กำหนดวันเปิดประมูลซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะครั้งใหม่เป็น วันที่ 30 มิถุนายน 2551 เนื่องจากการประมูลในเดือนเมษายนปรากฏว่ามีผู้รับเหมายื่นเอกสารประมูลเพียง 1 ราย คือ บริษัทจัสมิน เทเลคอมซิสเต็ม จำกัด (มหาชน) ทำให้กรุงเทพมหานครต้องล้มการประมูลเพื่อเปิดประมูลโครงการรอบใหม่ ทำให้สามารถเปิดวิ่งรถบีอาร์ทีได้ภายในต้นปี 2552 ส่วนโครงการจัดซื้อรถบีอาร์ทีอยู่ระหว่างการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กรุงเทพมหานครตั้งขึ้น มีนางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน ตามที่มีการร้องเรียน หากสรุปผลสอบว่าโครงการจัดซื้อรถบีอาร์ทีไม่เข้าข่ายฮั้วประมูลก็จะสามารถให้บริษัทที่ชนะการประมูลดำเนินการประกอบรถบีอาร์ทีต่อทันที เพื่อให้นำมาวิ่งให้บริการได้ตามกำหนด[7]


[แก้] ความคืบหน้าของการก่อสร้างสถานี

  • ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินงานสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และติดตั้งบันไดเลื่อน
  • สถานีนำร่อง ได้แก่สถานีนราราม 3 และสถานีเจริญราษฎร์ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเปิดใช้สะพานข้ามถนนเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2551
  • สถานีเทคนิคกรุงเทพ สถานีถนนจันทน์ สถานีวัดด่าน สถานีวัดปริวาส สถานีสะพานพระราม 9 และสถานีสะพานพระราม 3 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม 2551
  • สถานีอาคารสงเคราะห์ และสถานีวัดดอกไม้ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2551
  • สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี และสถานีรถไฟฟ้ารัชดา-ราชพฤกษ์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน 2551

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=24115&catid=27 กทม.เล็งซื้อคืน'บีทีเอส' ตามความต้องการนายกฯ
  2. ^ ผู้จัดการรายสัปดาห์ 19 ธันวาคม 2550
  3. ^ ผู้จัดการรายสัปดาห์ 20 ธันวาคม 2550
  4. ^ ผู้จัดการออนไลน์ 19 มีนาคม 2551
  5. ^ เดลินิวส์ 31 มีนาคม 2551
  6. ^ Bangkokbiznews 31 มีนาคม 2551
  7. ^ ไทยรัฐ 2 มิถุนายน 2551

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -