จูหลิง ปงกันมูล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นางสาว จูหลิง ปงกันมูล หรือ ครูจุ้ย (มีนาคม พ.ศ. 2522 - 8 มกราคม พ.ศ. 2550) ผู้ช่วยครู โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ผู้ถูกจับเป็นตัวประกันไปคุมขังไว้ในอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้มัสยิดประจำหมู่บ้าน และถูกรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 เจ้าหน้าที่สามารถช่วยครูจูหลิงได้และนำตัวส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันต่อมา เนื่องจากเธอถูกตีจนสมองกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงรับครูจูหลิงเป็นคนไข้ในพระราชินูปถัมภ์โดยตลอดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
จูหลิง เป็นบุตรสาวคนเดียวของ คุณสูน-คุณคำมี ปงกันมูล เกิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 คุณพ่อเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า "จุ้ยหลิน" ตามชื่อนางเอกหนังจีนกำลังภายใน แต่เจ้าหน้าที่จดทะเบียนเป็น "จูหลิง" และมีชื่อเล่นว่า "จุ้ย" เป็นชาวตำบลบ้านปงน้อย กิ่งอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย จบปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2545
จูหลิงเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถพิเศษในการวาดภาพ เมื่อ พ.ศ. 2545 จูหลิงเป็นหนึ่งในสิบจิตรกรที่ร่วมวาดภาพในหนังสือชุด "ทศชาติแห่งพระบารมี" นำเสนอเรื่องราวของมหาชาดกทศบารมี ที่แสดงให้เห็นถึงพระบารมี 10 ประการ ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร ก่อนที่จะประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุ 4 รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2546
พ.ศ. 2546 เธอเป็นจิตรกรร่วมวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวของสังเวชนียสถาน ในอุโบสถวัดคงคาวดี หรือวัดปากบางภูมี ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวพุทธประวัติบนผนังศาลาการเปรียญ และลวดลายบนเสาศาลาการเปรียญ ของวัดเดียวกัน
จูหลิงมีปณิธานที่จะรับใช้สังคมและชาติด้วยอาชีพครู เธอจึงเรียนต่อในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตเพิ่มอีก 1 ปี สมัครสอบบรรจุครูได้เป็นอันดับหนึ่งและเลือกจะเป็นครูในภาคใต้ โดยให้เหตุผลว่า "อยากช่วยเด็กๆ ที่ใต้เพราะทุกวันนี้พื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้หาครูได้ยากเต็มที" และได้บรรจุเป็นครูสอนวิชาศิลปะของโรงเรียนกูจิงรือปะ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548
นางคำมี ปงกันมูล มารดาของจูหลิง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแม่ดีเด่นประจำปี 2549 ประเภทแม่ของผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ นางคำมี ได้รับประทานพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานและเกียรติบัตร จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในพิธีเปิดงานวันแม่แห่งชาติ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร ในวันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2549
ครูจูหลิงได้เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2550 ด้วยสาเหตุอวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลัน หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ 8 เดือน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและพวงมาลาหน้าศพแก่ ครูจูหลิง ปงกันมูล และทรงรับงานศพของครูจูหลิงที่จะตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดใน จ.เชียงราย ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ด้วย
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- 'ทศชาติแห่งพระบารมี' หนังสือแห่งปี 2546 สมเด็จพระเทพฯ พระชนมายุ4รอบ
- ข้อมูลหนังสือชุด ทศชาติแห่งพระบารมี
- ปิดฉากชีวิต “ครูจูหลิง” นางเอกของคนไทย จาก ผู้จัดการออนไลน์
- ประมวลภาพบรรยากาศรดน้ำศพ "ครูจูหลิง" จาก ผู้จัดการออนไลน์
- ครอบครัวปงกันมูลซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ “ราชินี” ส่งศพครูจูหลิงยิ่งใหญ่ จาก ผู้จัดการออนไลน์
จูหลิง ปงกันมูล เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ จูหลิง ปงกันมูล ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |