See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
ข้อต่อ - วิกิพีเดีย

ข้อต่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข้อต่อ (Joints) ในทางกายวิภาคศาสตร์ หมายถึงบริเวณที่กระดูกตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไปมีการติดต่อกัน ทำให้กระดูกมีการทำงานร่วมกันเป็นระบบเพื่อการค้ำจุนปกป้องร่างกายและการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม ข้อต่อในร่างกายมนุษย์มีหลายแบบ และสามารถจัดจำแนกได้ตามลักษณะโครงสร้าง และคุณสมบัติในการเคลื่อนไหว

เนื้อหา

[แก้] ข้อต่อจัดจำแนกตามโครงสร้าง

เราสามารถแบ่งชนิดของข้อต่อในร่างกายได้ตามลักษณะการติดต่อกันของกระดูกแต่ละชิ้น โดยแบ่งได้เป็นสามแบบ คือ ข้อต่อแบบเส้นใย (fibrous joints) ข้อต่อแบบกระดูกอ่อน (cartilaginous joints) และข้อต่อแบบซินโนเวียล (synovial joints)

[แก้] ข้อต่อแบบเส้นใย (Fibrous joints)

ในข้อต่อลักษณะนี้ กระดูกจะเชื่อมติดกันโดยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนาแน่น (dense connective tissue) ซึ่งทำให้ข้อต่อชนิดนี้เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวได้น้อยมาก ข้อต่อในลักษณะนี้ยังแบ่งได้เป็นสามแบบ คือ

  • ซูเจอร์ (Sutures) เป็นข้อต่อที่อยู่ระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นของกะโหลกศีรษะ จะมีลักษณะเป็นแนวรอยต่อที่ประกบกันอย่างสนิทคล้ายกับการเข้าไม้ และมีความคงทนแข็งแรงมาก
  • ซินเดสโมซิส (Syndesmosis) เป็นข้อต่อที่มีแผ่นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนาแน่นขึงอยู่ พบในกระดูกแบบยาว เช่นระหว่างกระดูกเรเดียสและกระดูกอัลนาของรยางค์บน และกระดูกทิเบียกับกระดูกฟิบูลาในรยางค์ล่าง ข้อต่อในลักษณะนี้จะเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย
  • กอมโฟซิส (Gomphosis) เป็นข้อต่อระหว่างรากฟันกับเบ้าฟันของกระดูกขากรรไกรบน (maxilla) และกระดูกขากรรไกรล่าง (mandible)

[แก้] ข้อต่อแบบกระดูกอ่อน (Cartilaginous joint)

ภาพวาดแสดงหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นตัวอย่างของข้อต่อแบบกระดูกอ่อน
ภาพวาดแสดงหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นตัวอย่างของข้อต่อแบบกระดูกอ่อน

ข้อต่อในแบบนี้จะมีการเชื่อมติดกันโดยมีกระดูกอ่อนคั่นอยู่ตรงกลาง เนื่องจากกระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น จึงทำให้ข้อต่อในลักษณะนี้มีการเคลื่อนไหวได้มากกว่าข้อต่อแบบเส้นใย แต่น้อยกว่าข้อต่อแบบซินโนเวียล ข้อต่อแบบกระดูกอ่อนสามารถจำแนกออกได้เป็นสองแบบ ตามลักษณะของกระดูกอ่อน คือ

  • ซินคอนโดรซิส (Synchondrosis) เป็นข้อต่อที่กระดูกสองชิ้นเชื่อมกันด้วยกระดูกอ่อนแบบไฮยาลิน (hyaline cartilage) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนที่พบได้ตามปลายของกระดูก ตัวอย่างของข้อต่อในลักษณะนี้ ได้แก่ข้อต่อระหว่างกระดูกซี่โครงกับกระดูกอก
  • ซิมไฟซิส (Symphysis) เป็นข้อต่อที่กระดูกสองชิ้นเชื่อมกันด้วยกระดูกอ่อนแบบเส้นใย (Fibrocartilage) ทำให้มีความแข็งและเหนียว ตัวอย่างเช่น หมอนรองกระดูกสันหลัง (intervertebral discs) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนแบบเส้นใยที่เชื่อมต่อกระดูกสันหลังแต่ละท่อน

[แก้] ข้อต่อแบบซินโนเวียล (Synovial joint)

โครงสร้างพื้นฐานของข้อต่อแบบซินโนเวียล
โครงสร้างพื้นฐานของข้อต่อแบบซินโนเวียล

ข้อต่อแบบซินโนเวียลจะไม่ได้มีการเชื่อมติดต่อกันของกระดูกโดยตรง แต่จะมีโครงสร้างที่เรียกว่า แคปซูลข้อต่อ (articular capsule) เป็นตัวกลาง และภายในแคปซูลข้อต่อนี้จะเป็นโพรงข้อต่อ (articular space) ซึ่งจะมีของเหลวคือ ซินโนเวียล ฟลูอิด (synovial fluid) ที่สร้างจากเนื้อเยื่อโดยรอบแคปซูลข้อต่อ ช่วยในการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ข้อต่อในแบบซินโนเวียลนี้จึงเป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มาก และพบได้ในเกือบทุกข้อต่อของทั้งรยางค์บนและรยางค์ล่าง

[แก้] ข้อต่อจัดจำแนกตามคุณสมบัติในการเคลื่อนไหว

ข้อต่อยังสามารถจำแนกได้ตามลักษณะและระดับของในการเคลื่อนไหว ซึ่งโดยทั่วไปก็จะสอดคล้องกับลักษณะทางโครงสร้างของข้อต่อนั้นๆ โดยสามารถจำแนกได้เป็นสามแบบ คือข้อต่อที่เคลื่อนไหวไม่ได้ (Synarthrosis) ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้น้อย (Amphiarthrosis) และข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มาก (Diarthrosis)

[แก้] ข้อต่อที่เคลื่อนไหวไม่ได้ (Synarthrosis) และข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้น้อย (Amphiarthrosis)

ข้อต่อในทั้งสองแบบนี้มักมีการเชื่อมต่อกันโดยตรง หรือมีกระดูกอ่อนเป็นตัวเชื่อม จึงทำให้การเคลื่อนไหวจำกัดอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ข้อต่อในลักษณะนี้จะมีความเสถียรสูง โดยส่วนใหญ่ข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวที่จำกัดนี้จะเป็นข้อต่อแบบเส้นใย หรือเป็นข้อต่อแบบกระดูกอ่อน

[แก้] ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มาก (Diarthrosis)

ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มาก ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ 1. แบบเบ้า 2. แบบวงรี 3. แบบอานม้า 4. แบบบานพับ 5. แบบเดือย
ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มาก ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ 1. แบบเบ้า 2. แบบวงรี 3. แบบอานม้า 4. แบบบานพับ 5. แบบเดือย
ภาพวาดแสดงข้อต่อสะโพก ซึ่งเป็นข้อต่อแบบเบ้าที่ชัดเจน
ภาพวาดแสดงข้อต่อสะโพก ซึ่งเป็นข้อต่อแบบเบ้าที่ชัดเจน

ข้อต่อในลักษณะนี้มักจะเป็นข้อต่อแบบซินโนเวียล และมีการเคลื่อนไหวได้ทั้งในสองมิติและสามมิติ ข้อต่อในกลุ่มนี้ยังสามารถแบ่งออกได้ตามรูปร่างลักษณะของข้อต่อเป็น 6 แบบ ได้แก่

  • ข้อต่อแบบเบ้า (Ball and socket joint) จัดว่าเป็นข้อต่อที่มีความอิสระในการเคลื่อนไหวสูงที่สุด เนื่องจากสามารถเคลื่อนไหวได้ในสามมิติ อย่างไรก็ตาม ข้อต่อแบบเบ้ามีโอกาสเลื่อนหลุดได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีเอ็นรอบข้อต่อและกล้ามเนื้อจำนวนมากเพื่อเพิ่มความเสถียรของข้อต่อ ตัวอย่างของข้อต่อแบบเบ้า ได้แก่ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล (glenohumeral joint) ของไหล่ และข้อต่อสะโพก (hip joint)
  • ข้อต่อแบบบานพับ (Hinge joint) มีการเคลื่อนไหวในสองมิติคล้ายบานพับประตู ตัวอย่างของข้อต่อแบบบานพับ เช่น ข้อศอกและข้อเข่า
  • ข้อต่อแบบเดือย (Pivot joint) เป็นข้อต่อที่กระดูกชิ้นหนึ่งจะมีส่วนยื่นออกไปเป็นเดือย และรับกับกระดูกอีกชิ้นที่มีลักษณะคล้ายเบ้าหรือวงแหวน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบหมุนตามแนวแกนของเดือย ตัวอย่างที่เห็นชัด คือข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังชิ้นที่ 1 และชิ้นที่ 2 (Atlantoaxial joint) ซึ่งทำให้มีการหมุนของศีรษะและลำคอได้
  • ข้อต่อแบบวงรี (Ellipsoidal/Condylar joint) มีพื้นผิวของข้อต่อคล้ายกับข้อต่อแบบเบ้า แต่จะมีการจำกัดการเคลื่อนไหวในด้านใดด้านหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ข้อต่อของข้อมือ
  • ข้อต่อแบบอานม้า (Saddle joint) เป็นข้อต่อที่มีการประกบกันของส่วนเว้าของปลายกระดูกทั้งสองในแนวที่ต่างกัน ทำให้มีการจำกัดการหมุน ตัวอย่างเช่นข้อต่อฝ่ามือ (carpometacarpal joint) ของนิ้วหัวแม่มือ
  • ข้อต่อแบบเลื่อน (Gliding joint) เป็นข้อต่อที่มีเพียงการเคลื่อนไหวในแนวระนาบ เช่นข้อต่อระหว่างกระดูกข้อมือ

[แก้] อ้างอิง

  • Marieb, E.N. (1998). Human Anatomy & Physiology, 4th ed. Menlo Park, California: Benjamin/Cummings Science Publishing.
  • Netter, Frank H. (1987) , Musculoskeletal system: anatomy, physiology, and metabolic disorders, Summit, New Jersey: Ciba-Geigy Corporation.
  • Tortora, G. J. (1989) , Principles of Human Anatomy, 5th ed. New York: Harper & Row, Publishers.


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -