การปฏิรูปสถาบันคริสต์ศาสนา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปฏิรูปสถาบันคริสต์ศาสนา (ภาษาอังกฤษ: Secularization of the church) ในบทความนี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและศาสนาที่มีผลกระทบกระเทือนต่อระบบการปกครองและ/หรือ สิ่งก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ของคริสต์ศาสนจักรเท่านั้น มิใช่ความหมายโดยทั่วไปของคำว่า “Secularization” ซึ่งจะหมายถึงการแยกอาณาจักรออกจากศาสนจักร
การปฏิรูปสถาบันคริสต์ศาสนา ที่กล่าวถึงเป็นความหมายทางประวัติศาสตร์ศาสนา[1]ที่กล่าวถึงการละทิ้งอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์ของวัดโดยการขายจากการที่รัฐบาลสั่งยึดทรัพย์หลังจากที่มีการต่อรองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายปกครองของวัด ตามปรัชญาสถาบันคาทอลิก คำนี้อาจจะหมายถึงการที่สถาบันอนุญาตให้นักบวชแยกตัวมาอยู่นอกสำนักสงฆ์ (monastery) ซึ่งอาจจะเป็นช่วงระยะเวลาจำกัดหรือถาวรก็ได้[2]
เนื้อหา |
[แก้] การปฏิรูปสถาบันคริสต์ศาสนาสมัยปลายยุคกลาง
การปฏิรูปสถาบันคริสต์ศาสนาสมัยปลายยุคกลาง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปเช่น อังกฤษ เยอรมนี หรือ สวีเดน เริ่มมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 จนถึง การปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 การเปลี่ยนแปลงแบบนี้หมายถึงการที่มหาวิหารแยกตัวออกมาจากลัทธิสำนักสงฆ์ เช่น ลัทธิเบ็นนาดิคติน หรือ ลัทธิออกัสติเนียน มาขึ้นกับการปฏิบัติตาม “กฏบัตรคริสต์ศาสนา” (Canon law) โดยทั่วไปเท่านั้น ฉะนั้นสังฆบุคลากรของมหาวิหารประเภทหลังจึงเรียกกันว่า “แคนนอน” (Canon) สถาบันศาสนาแบบนี้จึงรู้จักกันว่า สถาบันแบบ “เซ็คคิวลาร์” (secular)
[แก้] การปฏิรูปสถาบันคริสต์ศาสนาในประเทศเยอรมนีระหว่าง ค.ศ. 1795 – ค.ศ. 1814
เมื่อมีการก่อตั้งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 10 และ 11 ระบบศักดินา (Feudalism) ทำให้เยอรมนีและทางเหนือของอิตาลีแบ่งย่อยออกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยแต่ละแคว้นก็มีเจ้าผู้ครองนครของตนเอง มีระบบ มีสิทธิ และความเป็นอิสระจากแคว้นอื่นทำให้การปกครองขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อจะแก้ปัญหานี้สังฆมณฑล สำนักสงฆ์ และ สำนักชีก็มอบที่ดินและตำแหน่งชั่วคราวเช่น ดยุค หรือ เคานท์ ให้กับจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เรื่อยมา
การแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆโดยสถาบันคริสต์ศาสนา เหล่านี้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน จนในที่สุดพระจักรพรรดิเองก็ไม่สามารถควบคุมสถาบันศาสนาได้ สถาบันทางศาสนาเองก็เริ่มมีอำนาจในการปกครองแคว้นเหล่านี้มากขึ้นจนกลายเป็น “คริสต์ศาสนรัฐ” (ecclesiastical states) ระบบนี้ทำให้เกิดการคอร์รัปชันและการใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อกันภายในคริสต์ศาสนรัฐอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นผลที่ทำให้ระบบการปกครองของสังฆบุคลากรของสถาบันคาทอลิกเสื่อมลง และในที่สุดก็นำไปสู่การปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์
แต่การปฏิรูปซ้อนของนิกายโรมันคาทอลิกทำให้ตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้โดยเฉพาะ “สมเด็จบาทหลวง” (Prince-Bishops) กลับมารุ่งเรืองขึ้นอีกระยะหนึ่ง แต่พอเมื่อมาถึงปลาย “สงครามสามสิบปี” (Thirty Years' War) ระหว่างปีค.ศ. 1618 ถึงปีค.ศ. 1648 ระบบซึ่งผู้อยู่ภายใต้การปกครองของ “คริสต์ศาสนรัฐ” ต้องขึ้นอยู่กับ “สมเด็จบาทหลวง” ก็เสื่อมลง
เมื่อปีค.ศ. 1797 จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้รับชัยชนะต่อจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์โดยผนวกดินแดนทั้งหมดทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไรน์ตาม “สนธิสัญญาแค็มโพฟอร์มิโอ” (Treaty of Campo Formio) เมื่อจักรวรรดิโรมันเสียดินแดนให้กับจักรพรรดินโปเลียน ทางจักรวรรดิโรมันก็ต้องหาที่ดินชดเชยให้กับเจ้านายหรือขุนนางที่ไร้แผ่นดิน ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของ “สมเด็จบาทหลวง” จึงถูกยึด หรือถูก “secularised” และแบ่งปันกันระหว่างเจ้าผู้ครองนครต่างๆในเยอรมนี
“คริสต์ศาสนรัฐ” เมื่อถูกยึดก็จะถูกผนวกกับดินแดนของรัฐข้างเคียง คริสต์ศาสนรัฐที่รอดมาได้จากการถูกผนวกมีเพียงสามแห่ง การปฏิรูปครั้งนี้ทำให้ระบบคริสต์ศาสนรัฐเสื่อมลงและสิ่งก่อสร้างทางศาสนาทรุดโทรมลงตามไปด้วย สำนักสงฆ์และแอบบีเป็นจำนวนมากไม่สามารถอยู่รอดได้ก็ต้องปิดกันไป
[แก้] อ้างอิง
- ^ Casanova, Jose (1994). Public Religions in the Modern World. University of Chicago Press, pg. 13. ISBN 0226095355
- ^ Catholic Encyclopedia at newadvent.org. http://www.newadvent.org/cathen/13677a.htm Retrieved 3/15/07.