เหตุการณ์ ณ สะพานมาร์โค โปโล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหตุการณ์ ณ สะพานมาร์โค โปโล (Marco Polo Bridge Incident) คือการรบระหว่างกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นกับกองทัพคณะปฏิวัติแห่งชาติจีน เป็นจุดแตกหักที่ทำให้เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น (พ.ศ. 2480-2488) ตัวสะพานหินอ่อนสถานที่เกิดเหตุการณ์ มีชื่อว่า สะพานลูกัว (Lugou Bridge) ที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สะพานมาร์โค โปโล โครงสร้างเป็นสถาปัตยกรรมโค้ง 11 โค้งอันสวยงาม ปฏิสังขรโดยจักรพรรดิกังสี (พ.ศ. 2205-2265)
เนื้อหา |
[แก้] เรื่องเดิม
ญี่ปุ่นเข้ายึดครองแมนจูเรียเมื่อ พ.ศ. 2474 แล้วสถาปนาประเทศ “แมนจูกัว” ยกให้เฮนรี ปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิงขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นรัฐบาลหุ่นที่เชิดโดยกองกำลังญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ที่นั่น แม้พรรคก๊กมินตั๋งและนานาประเทศไม่ยอมรับรองแต่กลับมีการเจรจาสงบศึกในปีเดียวกัน
ในปีต่อมา กองทัพจักรววรรดิญี่ปู่นเริ่มรุกรานดินแดนจีนที่จังหวัดชาฮา ถูกต่อต้านโดยกองทัพก๊กมินตั๋ง กองพลที่ 29 ที่ยังคงใช้หอกดาบและอาวุธล้าสมัยอยู่จึงพ่ายแพ้ ทำให้ภาคตะวันตกของปักกิ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น จากนั้นญี่ปุ่นก็ค่อยๆ บุกรุกและผนวกแผ่นดินจีนไปเรื่อยๆ ถึงปี พ.ศ. 2480 ก็สามารถยึดครองแผ่นดินโดยรอบกรุงปักกิ่งไว้ได้เกือบหมดเหลือเฉพาะด้านใต้ ญี่ปุ่นได้ตั้งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นปกครองเขตพื้นที่ที่ยึดได้อีกหลายแห่งรวมทั้งที่เมืองนานกิง
สะพานมาโคโปโล อยู่ด้านทิศใต้ของปักกิ่ง ทอดข้ามแม่น้ำยองดิง มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์สูง เชื่อกันว่าเป็นสะพานที่มาโคโปโลพรรณาไว้ในหนังสือที่เขาเขียน
[แก้] จุดเริ่มต้นเหตุการณ์
ประมาณปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2480 ญี่ปุ่นส่งทหารจำนวนหลายร้อยนายมาตั้งหน่วยประจำที่สะพานมาร์โค โปโลและทำการฝึกอยู่ที่นั่น ในขณะเดียวกันก็มีกองกำลังทหารจีนก๊กมินตั๋งที่ประจำอยู่ที่เมืองวันปิงใกล้ๆ กัน คอยเฝ้าระวังดูอยู่อย่างใกล้ชิด ในเช้าตรู่วันที่ 7 กรกฎาคม กองกำลังญี่ปุ่นได้โทรเลขไปถึงกองกำลังก๊กมินตั๋งว่ามีทหารของตนหายไปและเชื่อว่าไปซ่อนอยู่ในเมืองวันปิงจึงของเข้าไปค้นหา (ภายหลังได้พบตัวโดยไม่ได้รับอันตราย) มีข้อถกเถียงกันว่าเป็นเหตุบังอิญหรือเป็นการสร้างเรื่องของฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อใช้อ้างเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นบุกเข้ายึดภาคกลางของประเทศจีน
ฝ่ายจีนปฏิเสธไม่ยอมให้กองกำลังญี่ปุ่นเข้าเมือง ในตอนเย็นวันนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นจึงยื่นคำขาดให้ฝ่ายจีนยอมให้ฝ่ายตนบุกเข้าไปค้นคนในเมืองได้ภายใน 1 ชั่วโมง มิฉนั้นจะยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ ครั้นเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน ญี่ปุ่นเริ่มยิงปืนใหญ่และเคลื่อนกองกำลังข้ามสะพานมาโคโปโลตรงไปจะเข้าเมือง ฝ่ายก๊กมินตั๋งจึงส่งทหารจำนวน 1000 นาย เข้าป้องกันสะพานอย่างสุดความสามารถ แต่ญี่ปุ่นก็บุกข้ามไปได้ แต่หลังจากได้รับกำลังเสริมที่มีจำนวนมากกว่าฝ่ายญี่ปุ่น ฝ่ายจีนจึงสามารถยึดสะพานคืนได้สำเร็จในวันต่อมา ญี่ปุ่นด้วยจำนวนกองกำลังที่น้อยกว่าจึงขอเจรจา ทำให้เหตุการณ์ขั้นที่ 1 สงบลงได้ชั่วคราว แต่กองกำลังญี่ปุ่นยังคงตั้งประจำอยู่ที่เดิมไม่ยอมถอย
[แก้] การประทะกันตอนที่ 2
ฝ่ายก๊กมินตั๋งได้ประชุมกันและตกลงว่าจะยึดสะพานต่อไปและพยายามที่จะไม่เจรจากับญี่ปุ่น เพราะเชื่อถือไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี ฝ่ายจีนได้ส่งคนไปเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ฝ่ายญี่ปุ่นยอมเจรจาแต่จะถือว่าหากจีนเพิ่มกองกำลังก็จะถือว่าเป็นการยั่วยุ ซึ่งโดยแท้จริงขณะนั้นฝ่ายญี่ปุ่นกำลังซื้อเวลาด้วยการยอมเจรจาเพื่อรอการเคลื่อนย้ายกองกำลังจากส่วนอื่นมาสมทบ
การเจรจาครั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นสัญญาว่าจะไม่รุกรานปักกิ่งและเทียนสิน แต่ฝ่ายจีนต้องทำการปราบปราบองค์กรต่อต้านญี่ปุ่นในเมืองทั้งสอง จะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ประทะกันเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่สะพานมาโคโปโล และจะต้องให้นายพลซังผู้บัญชาการกองพล 29 เท่านั้นเป็นผู้มาขอขมาต่อกองกำลังญี่ปุ่น เมื่อฝ่ายจีนไม่สามารถรับเงื่อนไขได้ทั้งหมด ฝ่ายญี่ปุ่นจึงบุกเข้ากรุงปักกิ่งโดยใช้กองกำลังเต็มอัตราที่มีอยู่ กองกำลังฝ่ายจีนกองพันที่ 37 และ132 พยายามฝ่าแนวญี่ปุ่นเข้านครปักกิ่งและถูกปิดกั้นอย่างหนักและก็สามารถฝ่าเข้าไปได้อย่างบอบช้ำ หลายวันต่อมาเมื่อถูกล้อมหนักมากขึ้น กองพล 29 จึงได้ตีฝ่าวงล้อมของข้าศึกออกไปจากกรุงปักกิ่งแต่ก็ถูกล้อมอีก กองทัพญี่ปุ่นสามารถเข้ากรุงปักกิ่งได้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม โดยปราศจากการต่อต้านและตั้งนายพลซังเป็นนายกเทศมนตรี แต่เขาก็หนีออกจากเมืองไปอย่างลับๆ ในสัปดาห์ต่อมา
[แก้] เหตุการณ์หลังจากนั้น
หลังจากกรุงปักกิ่งและเทียนสินถูกยึดครอง ที่ราบจีนตอนเหนือก็ตกเป็นเป้าการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นที่มีอาวุธทันสมัยต่อจนถูกยึดครองทั้งหมดในปลายปีนั้น กองทัพจีนก๊กมินตั๋งและกองทัพจีนคอมมิวนิสต์ก็ได้รบไปแต่ล่าถอยไปโดยตลอดจนกระทั่งได้รับชัยชนะต่อกองทัพญี่ปุ่นอย่างยากเย็นที่ไทเออซวง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2480