เบียร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เบียร์ หมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลาย ๆ รูปแบบที่ผ่านกระบวนการหมัก ผลิตภัณฑ์พวกธัญพืช ประวัติศาสตร์ของเบียร์นั้นมีมายาวนาน เบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอลชนิดแรกของโลก เริ่มผลิต 6,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยชนชาติ บาบิโลเนียน เบียร์เป็นที่รู้จักในสมัยอียิปต์โบราณและเมโสโปเตเมีย และมีหลักฐานย้อนไปยาวนานถึง 4,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยใช้ข้าวบาร์เลย์ เป็นวัตถุดิบ ในราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ทีการผสมพืชอีกหนึ่งชนิดเข้าไปคือ ฮอปส์ ทำให้มีกลิ่นหอม, รสชาติขม และ สามารถรักษาคุณภาพของเบียร์ให้เก็บได้นานขึ้น แต่เบียร์เหล่านี้แตกต่างจากเบียร์ในปัจจุบัน และเนื่องจากเครื่องปรุงและกรรมวิธีในการผลิตเบียร์แตกต่างกันไปตามสถานที่ ลักษณะของเบียร์ (ชนิดของเบียร์, รสชาติ, และสี) จึงมีความแตกต่างกันได้มาก
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติการผลิตเบียร์ในประเทศไทย
ประเทศไทยนั้น เริ่มมีการผลิตเบียร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้งบริบัทผลิตเบียร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2473 โดยจะใช้ปลายข้าวในการผลิตแทนข้าวมอลต์. ส่วนตัวโรงงานนั้นได้ถูกสร้างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2476 ในย่านบางกระบือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ชื่อบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และทำการผลิตเบียร์ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้เครื่องหมายการค้า ตราหมี ตราสิงห์แดง ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ทอง ตราว่าวปักเป้า ตรากุญแจ ตรารถไฟ และ ที่ยังคงอยู่จนปัจจุบันนี้คือ ตราสิงห์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 มีโรงเบียร์แห่งที่สองเกิดขึ้น คือ บริษัทบางกอกเบียร์ ผลิตเบียร์ตราหนุมาน ตราแผนที่ และตรากระทิง แต่ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ดื่มจึงได้เลิกกิจการไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 จึงได้เปลี่ยนเจ้าของกิจการและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ผลิตเบียร์อมฤต และซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อเบียร์จากต่างประเทศชื่อ คลอสเตอร์ มาผลิตเมื่อ พ.ศ. 2521
ภายหลังจากที่ประเทศไทยมีโรงงานเบียร์แห่งที่สองแล้ว ภาครัฐก็ไม่ได้มีการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานเพิ่ม เนื่องจากเห็นว่าเบียร์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และตั้งกำแพงภาษีเพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ผลิตในประเทศ จนกระทั่ง พ.ศ. 2535 ภาครัฐมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขของผู้ผลิตเบียร์ จากที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศ ปัจจุบันกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเบียร์ในประเทศไทย ได้แก่
- บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตเบียร์ตราสิงห์ โรงงานอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ขอนแก่น และมีโครงการปลูกข้าวบาร์เลย์ โรงงานแปรรูปมอลท์อยู่ทางภาคเหนือ
- บริษัท ไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตเบียร์ตราอมฤต เอ็นบี คลอสเตอร์ และรับผลิตเบียร์บัดไวเซอร์ จากสหรัฐอเมริกา ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันถูกซื้อกิจการโดย ซาน มิเกล จากฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ. 2547
- บริษัท คอสมอส บริวเวอรี่ (ประเทศไทย)จำกัด ผู้ผลิตเบียร์ตราช้าง ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดีตั้งโรงงานอยู่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- บริษัท เบียร์ทิพย์ บริวเวอรี่ (1991) จำกัด ผู้ผลิตเบียร์ตราช้าง ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดีตั้งโรงงานอยู่ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- บริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด ผู้ผลิตเบียร์ช้าง ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร
- บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตเบียร์ไฮเนเก้น เบียร์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เริ่มวางจำหน่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538 ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี
[แก้] ส่วนผสมหลัก
องค์ประกอบหลักในการหมักเบียร์คือ น้ำ ข้าวมอลต์(คือเมล็ดข้าวอบแห้งหรือคั่ว ของเมล็ดธัญพืชที่แตกหน่อแล้ว โดยปกติใช้เมล็ดข้าวบาร์เลย์) ฮอปส์ และ ยีสต์ และยังมีส่วนผสมอื่น ๆ เช่นผลเชอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และเมล็ดธัญพืชอื่น เช่น เมล็ดข้าวสาลี (Wheat) เรียกว่า แอดจังท์ (Adjunct) หรือ ส่วนผสมข้างเคียง
- น้ำ : เนื่องจากน้ำนั้นเป็นองค์ประกอบหลักของเบียร์ คุณสมบัติของน้ำที่ใช้จึงมีผลต่อรสชาดของเบียร์
- มอลต์ : เมล็ดข้าวมอลต์ จากข้าวบาเลย์นั้นเป็นชนิดที่นิยมใช้มากที่สุด เนื่องมาจากมีปริมาณ เอนไซม์อะไมเลส (amylase enzyme) สูง ซึ่งทำให้กระบวนการแตกตัวของแป้งเป็นน้ำตาลนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากข้าวมอลต์จากข้าวบาเลย์แล้ว เมล็ดธัญพืชอื่น ๆ เช่น ข้าวสาลี (wheat) ข้าวเจ้า (rice) ข้าวโพด (maize) ข้าวโอ๊ต (oat) และ ข้าวไรย์ (rye) ทั้งแบบที่ทำเป็นข้าวมอลต์ และ เมล็ดปกติ ก็ยังใช้เป็นส่วนผสมอีกด้วย
- ฮอปส์ : ส่วนผสมซึ่งให้รสขมในเบียร์ เพื่อสมดุลรสหวานจากมอลต์ นอกจากนั้นยังมีผลเป็นยาปฏิชีวนะ ต่อต้านจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยีสต์ ส่งผลต่อการหมัก
- ยีสต์ : ใช้ในกระบวนการหมักเพื่อย่อยสลายน้ำตาล ที่สกัดจากเมล็ดธัญพืช ให้เป็นแอลกอฮอล์ และ คาร์บอนไดออกไซด์ โดยปกติแล้วระดับแอลกอฮอล์ในเบียร์จะอยู่ที่ 4-6เปอร์เซ็นต์ แต่อาจจะต่ำถึง 2 เปอร์เซ็นต์ หรือ สูงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ยีสต์ที่ใช้แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ยีสต์หมักลอยผิว ยีสต์หมักนอนก้น ยีสต์ธรรมชาติ
[แก้] ประเภทของเบียร์
การแบ่งประเภทของเบียร์นั้นจะแบ่งได้หลายวิธี แต่วิธีหลักๆที่ใช้คือแบ่งตามประเภทของยีสต์ที่ใช้ในการหมัก โดยจะแบ่งเป็น 3 ปรเภทหลักๆ คือ
- ยีสต์หมักลอยผิว (top-fermenting yeast) คือ เชื้อยีสต์ที่จะลอยตัวอยู่ที่ผิวหน้าของเบียร์เมื่อเสร็จสิ้นการหมัก
- ยีสต์หมักนอนก้น (bottom-fermenting yeast) คือ เชื้อยีสต์ที่จะจมอยู่ที่ก้นภาชนะเมื่อเสร็จสิ้นการหมัก
- ยีสต์ธรรมชาติ เป็นการใช้เชื้อยีสต์ตามธรรมชาติ ไม่ได้ใช้เชื้อที่เพาะเลี้ยงขึ้นมา
นอกจากนี้การแบ่งประเภทยังแบ่งตาม สี, แหล่งผลิต, วัตถุดิบที่ใช้, กระบวนการผลิต, ปริมาณแอลกอฮอล์ และ อื่น ๆ
[แก้] ประเภทยีสต์หมักลอยผิว
- เอล (Ale)
- พอร์ทเทอร์ (Porter)
- เบียร์ขาว, ไวท์เบียร์, ไวซ์เบียร์ (White beer)
- อัลท์เบียร์ (Alt beer)
- เคิลช์ (Kölsch)
- สเตาท์ (Stout)
[แก้] ประเภทยีสต์หมักนอนก้น
- ลาเกอร์ (Lager)
- พิลเซ่นเบียร์ (Pilsen beer)
- เบียร์ดำ, ดาร์คเบียร์(dark beer)
- บ๊อคเบียร์ (Bock beer)
[แก้] ประเภทยีสต์ธรรมชาติ
- ลัมบิค (Lambic)
[แก้] การแบ่งประเภทเบียร์แบบอื่นๆ
- เบียร์สด (Draught beer) หมายถึง เบียร์ที่ทำการเสิร์ฟจากถังเบียร์ โดยไม่ได้บรรจุลงขวด หรือ กระป๋อง
- ไลท์เบียร์ (Light beer) หมายถึง เบียร์ที่มีแคลอรี่ และ แอลกอฮอล์ต่ำ มีสีอ่อน และ รสชาดที่จืดชืดกว่า โดยจะมีรสขมน้อย และ ไม่หลงเหลือรสชาติติดปากหลังการดื่ม
- ไอซ์เบียร์ (Ice beer)
[แก้] เบียร์ของประเทศไทย
- สิงห์
- ช้าง
- ไทเบียร์
- อาชา
- ลีโอ
- เบียร์เชียร์
- อีสานเบียร์
[แก้] เบียร์ต่างชาติที่มีจำหน่ายในประเทศไทย
- อัมสเทล (Amstel) - ประเทศเนเธอร์แลนด์
- อาซาฮี (Asahi) - ประเทศญี่ปุ่น
- คาร์ลสเบิร์ก (Carlsberg) - ประเทศเดนมาร์ก
- โคโรนา (Corona) - ประเทศเม็กซิโก
- เออดิงเกอร์ (Erdinger) - ประเทศเยอรมนี
- ไฮเนเก้น (Heineken) - ประเทศเนเธอร์แลนด์
- ไทเกอร์ (Tiger) - ประเทศสิงคโปร์
[แก้] อ้างอิง
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น