อำเภอห้วยยอด
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
อำเภอห้วยยอด เป็นอำเภอเก่าแก่อำเภอหนึ่งในจังหวัดตรังความหมาย "ห้วยยอด" เนื่องจากสภาพทั่วไปของอำเภอห้วยยอดมียอดเขาเรียงรายตลอดแนวทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเรียกว่า ภูเขาบรรทัด และในพื้นที่มีแม่น้ำตรังไหลผ่านมีสายห้วยต่าง ๆ มากมายในพื้นที่มีทั้งห้วย มีทั้งยอดเขา จึงได้เรียกว่า "ห้วยยอด" มาจนปัจจุบัน
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
ห้วยยอด จากข้อมูลที่ค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2355 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 พื้นที่ปกครองของอำเภอห้วยยอดถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรังและพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตรังบางส่วน ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตรังส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับเมืองตรัง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองตรัง ปรากฏว่ามีกรรมกรจีนจำนวนมากจากเกาะปีนัง เข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุก ที่บ้านท่ามะปราง ทำให้ชุมชนบริเวณนั้นเจริญมากขึ้น และเกิดตลาดแห่งแรกที่บ้านท่ามะปราง ต่อมามีเรือขุดแร่ของฝรั่งมาทำการขุดแร่แถวหน้าวัดห้วยยอด จึงทำให้ชุมชนบริเวณอำเภอห้วยยอดเจริญขึ้นตั้งแต่นั้นมา
ต่อมา พ.ศ. 2423 ได้โอนเมืองตรังไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ จึงได้โอนพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรังมาขึ้นกับเมืองตรังด้วย ทำให้เกิดแขวงขึ้น 4 แขวง คือ แขวงบางกุ้ง แขวงบ้านนา แขวงปากคม แขวงเขาขาว จนกระทั่งปี พ.ศ. 2430 จึงได้รวมท้องที่บ้างส่วนของเมืองนครศรีธรรมราชทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรังเป็นอำเภอเขาขาวขึ้น โดยตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.เขาขาว แล้วย้ายมาที่ตำบลน้ำพรายแต่ยังเป็นชื่ออำเภอเขาขาว ต่อมาตำบลน้ำพรายบางส่วนเปลี่ยนชื่อเป็น ตำบลห้วยยอด ดังนั้นในปี พ.ศ. 2455 จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็นอำเภอห้วยยอด เพื่อให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ในปี พ.ศ. 2460 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเขาขาวอีกครั้ง และในปี พ.ศ. 2482 เปลี่ยนชื่ออำเภอเขาขาว เป็นอำเภอห้วยยอดจนกระทั่งปัจจุบัน
เดิม การปกครองในจังหวัดตรัง มีเพียง 6 อำเภอ และอำเภอห้วยยอดเป็นอำเภอเดียวที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล เนื่องพื้นฐานเศรษฐกิจของอำเภอห้วยยอดมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก เมื่อจำนวนประชากรมากขึ้น จึงได้มีการแยกส่วนการปกครองของจังหวัดเพิ่มขึ้น และเมื่อ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2534 ได้แยกส่วนหนึ่งของอำเภอห้วยยอด ได้แก่ ตำบลควนเมา ตำบลคลองปาง ตำบลหนองบัว ตำบลหนองปรือ และตำบลเขาไพร ออกไปเป็น อำเภอรัษฎา ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย[1]
[แก้] คำขวัญ
ห้วยยอดเมืองตรัง เค็กลือเลื่องทั่วทิศ งามวิจิตรถ้ำเล เสน่ห์โตนคลาน ตำนานเขาปินะ กรุพระวัดหาร เล่าขานเลสองห้อง ถิ่นทองแดนธรรม
[แก้] อาณาเขตและหน่วยการปกครอง
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติด อ.รัษฎา จังหวัดตรัง และ อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช
- ทิศใต้ ติด อ.เมืองตรัง จังหวัดตรัง
- ทิศตะวันออก ติด อ.ทุ่งสง และ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช อ.ป่าพยอมและ อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง
- ทิศตะวันตก ติด อ.วังวิเศษ จังหวัดตรัง
อำเภอห้วยยอดแบ่งเขตการปกครองย่อย เป็น 3 เขตเทศบาล 16 ตำบล 16 อบต และ 133 หมู่บ้าน
- เทศบาลตำบลห้วยยอด
- เทศบาลตำบลลำภูรา
- เทศบาลตำบลนาวง
การแบ่งเขตการปกครองในอำเภอห้วยยอด 16 ตำลบล ดังนี้
[แก้] สถานที่น่าสนใจ
[แก้] ตำบลห้วยยอด
สถานีรถไฟห้วยยอด เดิมเป็นอาคารไม้ขนาดเล็ก ต่อมาทำการขยายต่อเติมที่พักผู้โดยสาร เมื่อ พ.ศ. 2510 บริเวณลานจอดรถด้านหน้าสถานี และที่ทำการแขวงบำรุงทางห้วยยอด มีรถซ่อมบำรุงทาง ของเก่าตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลก จอดเป็นอนุสรณ์อยู่กลางวงเวียนขนาดเล็ก
อำเภอห้วยยอด มีการจัดเทศกาลกินเจ ซึ่งถือปฏิบัติมายาวนาน โดยมีศาลเจ้า(โรงพระ)ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ ศาลเจ้าแม่กวนอิม และศาลเจ้ากิมอ๋อง ซึ่งตั้งอยู่ในรั้วเดียวกัน ที่นี่จะมีการกินเจปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณเดือนสิงหาคม กินเจเนื่องในโอกาสวันเกิดเจ้าแม่กวนอิม โดยมีระยะเวลา 7 วัน ส่วนครั้งที่สอง ก็คือช่วงเทศกาลกินเจที่เรารู้จักกันทั่วประเทศ คนห้วยยอดจะเรียกกินเจนี้ว่ากินเจของ กิวอ๋อง
[แก้] ตำบลเขากอบ
- ถ้ำเลเขากอบ
ถ้ำเลเขากอบเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดธารน้ำไหลตลอดถ้ำบนแผ่นดิน มีลักษณะเป็นภูเขาผาหินสูงชันสลับซับซ้อน มีลำคลองที่ไหลมาจากเทือกเขาบรรทัด เมื่อไหลมาถึงบริเวณเขากอบจะแยกออกเป็น 3 สาย โดยสองสายจะไหลอ้อมภูเขาและอีกสายหนึ่งจะไหลลอดถ้ำใต้ภูเขา ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย ระยะทาง 4 กิโลเมตร อบต.เขากอบ ได้จัดเรือพายบริการนำเที่ยวชมความงามของถ้ำ ถือเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนในท้องถิ่น ค่าบริการเรือลำละ 200 บาท/6 คน หรือคนละ 30 บาท ใช้เวลาในการล่องเรือประมาณ 1 ชั่วโมล่องเรือได้ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบ โทร. 0 7520 6620, 0 7550 0088
การเดินทาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอห้วยยอด ตามถนนเพชรเกษมประมาณ 7 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าบ้านเขากอบประมาณ 700 เมตร
[แก้] ตำบลบางดี
- ทะเลสองห้อง
ทะเลสองห้อง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางดี ห่างจากตัวอำเภอห้วยยอดประมาณ 27 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามถนนเพชรเกษม สายห้วยยอด-กระบี่ ถึงสามแยกท่ามะพร้าว แยกขวาไปอีก 12 กิโลเมตร เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติกว้างใหญ่คล้ายทะเลสาบโอบล้อมด้วยภูเขาหลายลูก ดูสลับซับซ้อน และอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้นานาชนิด ตอนกลางของแอ่งน้ำมีเขายื่นออกมาเกือบติดต่อกัน แบ่งแอ่งน้ำออกเป็น 2 ตอน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ทะเลสองห้อง”
- ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ
ทะเลสองห้อง ยังเป็นที่ตั้งของค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งถือได้ว่า เป็นค่ายลูกเสือระดับชาติ ประจำภาคใต้อีกด้วย ค่ายลูกเสือแห่งนี้ มีทัศนียภาพสวยงามของภูเขา และทะเลสาบสองห้อง มีอาคารประชุม ที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการอยู่ ค่ายพักแรมพร้อม ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดตรัง เพียง 60 นาที สถานที่ติดต่อค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติบ้านทะเลสองห้อง หมู่ที่ 10 ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง โทร.0 7521 0258
วัดถ้ำเขาสาย เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่โบราณ เป็นที่ตั้งเมืองตรังครั้งแรก มีบันทึกในประวัติศาสตร์เป็นหนังสือที่เขียนโดย ปโตเลมี นักปราชญ์ชาว กรีก ได้กล่าวถึง แม่น้ำไครโลนาส หมายถึง แม่น้ำตรัง แม่น้ำอัตตาบาส์ หมายถึง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปะลันดา หมายถึง คลองโอ๊ก และคลองมีน ในจังหวัดตรังเป็น 1 ในแหล่งมวลสารวัตถุจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระสมเด็จจิตรลดา
[แก้] ตำบลลำภูรา
วัดถ้ำพระพุทธ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เดิมชื่อ วัดถ้ำพระ ตั้งอยู่ เลขที่ 5/1 บ้านถ้ำพระ หมู่ที่ 6 ตำบลหนองบัว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย มีที่ดินทั้งวัดเนื้อที่ 84 ไร่ 60 ตารางวา เป็น 1 ในแหล่งมวลสารวัตถุจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระสมเด็จจิตรลดา
- วัดถ้ำโสราษฎรประดิษฐ์
วัดถ้ำโสราษฎรประดิษฐ์ ตั้งอยู่หมู่ 7 บ้านชายเขา ตำบลลำภูรา ทางเข้าอยู่ตรงข้ามกับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ที่ตั้งของวัดเป็นภูเขาสูงมีทางเดินขึ้นภูเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของจังหวัดตรังโดยทั่วไปได้อย่างชัดเจน ภายในถ้ำสามารถเดินเข้าไปชมหินงอกหินย้อยได้ และถายในบริเวณวัดมีสถานที่กว้างสามารถจอดรถได้อย่างสะดวก ทั้งยังอยู่ในบริเวณเดียวกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้ำพรายอีกด้วย
- หมู่บ้านขนมเค้ก
ตำบลลำภูรา เป็นแหล่งกำเนิดของเค้กขึ้นชื่อเมืองตรัง ซึ่งมรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ได้เคยมาแวะชิม และแนะนำให้คนไทยได้รู้จัก เค้กขึ้นชื่อของลำภูรามีทั้งเค้กขุกมิ่ง เค้กนำเก่ง เค้กศรียง เค้กศิริวรรณ เป็นต้น
[แก้] การเดินทาง
- ทางรถยนต์
- เส้นทางที่ 1 ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม จากกรุงเทพ ลงมาจนถึงแยกปฐมพร แล้วแยกเข้าจังหวัดระนอง ลงมาตามถนนเพชรเกษม ผ่านจังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ เข้าสู่อำเภอห้วยยอด จนกระทั่งถึงสี่แยกห้วยยอด ตรงเข้ามาทางเส้นทางเก่า จะถึงที่ว่ากาอำเภอห้วยยอด เส้นทางนี้ เป็นถนนสายหลักดั้งเดิม แต่จะมีความคดเคี้ยวของถนนมาก และค่อนข้างเปลี่ยวโดยเฉพาะในช่วงเส้นทางจากชุมพร-ระนอง-พังงา การขับขี่ต้องอาศัยความระมัดระวัง แต่จะเป็นเส้นทางที่ผู้ขับขี่ได้สัมผัสอำเภอห้วยยอดได้มาก และผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญต่าง ๆ ของอำเภอห้วยยอด
- เส้นทางที่ 2 ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม จากกรุงเทพ ลงมาถึงจังหวัดชุมพร จึงใช้เส้นทางสายเอเซียเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณทางแยกเข้าอำเภอทุ่งสง จะต้องกลับรถใต้สะพานข้ามทางรถไฟ เพื่อเข้าสู่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เส้นทางดังกล่าวมีระยะทางประมาณ 812 กิโลเมตร เป็นถนน 4 เลนตลอดเส้นทาง การเดินทางค่อนข้างสะดวกสบาย และเป็นเส้นทางที่รถโดยสารประจำทางกรุงเทพ - ตรัง ใช้เดินทางในปัจจุบัน
- ทางรถไฟ
ปัจจุบันมีรถไฟ 2 ขบวน เดินทางโดยตรงจากกรุงเทพ ถึงจังหวัดตรัง โดยทั้งสองขบวนจะแวะรับส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟห้วยยอด ได้แก่
-
- ขบวนรถด่วนสายกรุงเทพ-ตรัง ออกเดินทางจากกรุงเทพ เวลา 17.30 น. ถึงสถานีรถไฟห้วยยอด เวลา 8.00 น. โดยประมาณ
- ขบวนรถด่วนสายตรัง-กรุงเทพ ออกเดินทางจากสถานีรถไฟห้วยยอด เวลา 18.45 น. ถึงกรุงเทพ เวลา 9.30 น. โดยประมาณ
- ขบวนรถเร็วสายกรุงเทพ-กันตัง ออกเดินทางจากกรุงเทพ เวลา 18.30 น. ถึงสถานีรถไฟห้วยยอด เวลา 11.00 น. โดยประมาณ
- ขบวนรถเร็วสายกันตัง - กรุงเทพ ออกเดินทางจากสถานีรถไฟห้วยยอด เวลา 14.30 น. ถึงกรุงเทพ เวลา 7.00 น. โดยประมาณ
[แก้] อ้างอิง
- ^ http://www.dmcr.go.th/dclm/DownloadAlldata/doc/trang.doc
- ^ เป็นตำบลที่แยกออกไปตั้งเป็นอำเภอรัษฎา
- ^ เป็นตำบลที่แยกออกไปตั้งเป็นอำเภอรัษฎา
- ^ เป็นตำบลที่แยกออกไปตั้งเป็นอำเภอรัษฎา
- ^ เป็นตำบลที่แยกออกไปตั้งเป็นอำเภอรัษฎา
- ^ เป็นตำบลที่แยกออกไปตั้งเป็นอำเภอรัษฎา
- อำเภอดอตคอม, ออนไลน์ เข้าถึงเมื่อ 8 มีนาคม 2550
- ห้วยยอดโซนดอตคอม, ออนไลน์ เข้าถึงเมื่อ 8 มีนาคม 2550
- คณะลูกเสือแห่งชาติ, ออนไลน์ เข้าถึงเมื่อ 9 มีนาคม 2550
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแมปส์
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย
อำเภอในจังหวัดตรัง | ||||
---|---|---|---|---|
อำเภอ: |
เมืองตรัง - กันตัง - ย่านตาขาว - ปะเหลียน - สิเกา - ห้วยยอด - วังวิเศษ - นาโยง - รัษฎา - หาดสำราญ |
แก้ |
อำเภอห้วยยอด เป็นบทความเกี่ยวกับ จังหวัด อำเภอ หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ อำเภอห้วยยอด ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ประเทศไทย |