หง ซิ่วฉวน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หงซิ่วฉวน (ภาษาอังกฤษ : Hóng Xiùquán) (ภาษาจีนกลาง : 洪秀全) ผู้นำกบฏชาวนาหรือกบฏไท่ผิง เกิดในครอบครัวชาวนาเชื้อสายจีนแคะ ในหมู่บ้านกวนลู่ผู่ อำเภอฮัวเสี้ยน มณฑลกวางตุ้ง เมื่อปี พ.ศ. 2356 ตรงกับรัชกาลที่ 2ของไทย ปีระกา
หงซิ่วฉวนได้ศึกษาตำราขงจื๊อ เพื่อสอบเข้ารับราชการเช่นเดียวกับชายหนุ่มทั่วไปในสมัยนั้น และสอบไล่เป็นซิ่วไฉ (บัณฑิตระดับต้น) ที่เมืองกวางเจาถึงสามครั้ง ก็ไม่ผ่าน
ในการไปสอบซิ่วไฉครั้งที่สอง หงซิ่วฉวนได้พบกับนักสอนศาสนาชาวตะวันตก และได้รับแจกหนังสือภาษาจีนอธิบายเกี่ยวกับศาสนาคริสต์จากนักสอนศาสนาผู้นั้นมาเล่มหนึ่ง หนังสือนั้นชื่อว่า " สุนทรกถาเพื่อปลุกเร้ายุคสมัย " เขียนโดยชาวจีนชื่อ เหลียงอาฝา เหลียงอาฝาเป็นผู้ช่วยของ โรเบิร์ต มอริสัน มิชชันนารีชาวอังกฤษ ผู้เดินทางมาเผยแพร่นิกายโปรเตสแทนท์ในประเทศจีนเป็นคนแรก
หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีอิทธิพลต่อหงซิ่วฉวน จนเมื่อสอบตกเป็นครั้งที่สาม หงซิ่วฉวนล้มป่วยหนักเจียนตายอยู่ 40 วัน ระหว่างป่วยเกิดนิมิตว่า ถูกนำไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง มีแสงสว่างจ้า เขาถูกเปลี่ยนอวัยวะภายใน แล้วถูกนำไปพบกับ ผู้เฒ่าสวมเสื้อคลุมดำ ผู้เฒ่ามอบดาบวิเศษให้เขาเพื่อประหารปีศาจร้ายให้หมดสิ้น และผู้เฒ่านั้นได้ด่าบริภาษขงจื๊อมากมาย ซึ่งเมื่อหายป่วยแล้วหงซิ่วฉวนเชื่อว่า ผู้เฒ่านั้นคือพระเจ้าและตัวเขาเองเป็นพระอนุชาของพระเจ้า เป็นพระเชษฐาของพระเยซูคริสต์ และพระผู้เป็นเจ้าได้มอบหมายให้เขากำจัดปีศาจร้ายให้หมด นั่นคือ ราชวงศ์ชิงนั่นเอง
หลังจากนั้น หงซิ่วฉวนก็ได้เปลี่ยนไปเป็นคนละคน มีคุณลักษณะของผู้นำมากขึ้น เขาหันมาสนใจหนังสือ " สุนทรกถาเพื่อปลุกเร้ายุคสมัย " ของเหลียงอาฝา จนในที่สุด เขาก็สร้างลัทธิความเชื่อแบบของเขาขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำการเผยแพร่จนมีผู้คนเชื่อถือตามมากขึ้นเรื่อยๆ
หงซิ่วฉวนสร้างลัทธิของเขาว่า พระผู้เป็นเจ้าส่งเขาลงมาโลกมนุษย์พร้อมด้วยดาบเพื่อสังหารปีศาจร้าย คริสต์ศาสนาแต่เดิมเป็นคำสอนทางศาสนาของชาวจีน เคยแพร่หลายมาก่อนลัทธิขงจื๊อ อาณาจักรจีนเดิมเป็นที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า หากแต่ปัจจุบันพวกปีศาจร้ายเข้ามาครองครอง พระผู้เป็นเจ้ามีประกาศิตให้หงซิ่วฉวนมาปราบปีศาจร้าย โดยจุดสำคัญคือเรื่องความเสมอภาค ภราดรภาพ ตามอุดมคติของคริสต์ศาสนา ซึ่งเป็นแนวความคิดใหม่ที่โดนใจทาสกสิกรที่ถูกศักดินากดขี่ขูดรีดอย่างทารุณ
หงซิ่วฉวนไปเผยแพร่ลัทธิในเขตชาวจีนแคะที่ลำบากยากจนตามภูเขาในมณฑลกวางสี และได้สหายร่วมอุดมการณ์สำคัญสี่คนซึ่งก็ล้วนเป็นคนจีนแคะทั้งสิ้น คือ หยางซิ่วชิง-คนเผาถ่าน, เซียวเฉากุ้ย-คนตัดฟืน, ซือต๋าไค-หนุ่มลูกชายเจ้าที่ดิน และวุ่ยจางฮุย-เจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ ผู้ออกทุนในการเตรียการลุกขึ้นสู้ถึงหนึ่งแสนตำลึง ทั้งสี่คนนี้ภายหลังเป็นแม่ทัพคนสำคัญของกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว
หงซิ่วฉวนตระเตรียมฐานที่มั่นของกองทัพไว้แถบภูเขาจื่อจิงซาน มีกำลังพลนับหมื่นคน ทางราชสำนักแมนจูจึงส่งกองทัพไปปราบในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2393 แต่ก็พ่ายแพ้ และในครั้งนี้มีชนพื้นเมือง เช่น ชาวจ้วง ชาวม้ง ร่วมกบฏด้วย
กองกำลังสมาคมบูชาพระเจ้า (ไป้ส้างตี้หุ้ย) ของหงซิ่วฉวนรบชนะกองทัพหลวง ก็เลยประกาศสถาปนา " ไท่ผิงเทียนกั๋ว " (太平天国) (เมืองแมนแดนสันติ) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ไท่ผิง (太平) ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในอุดมคติ หงซิ่วฉวนสถาปนาตัวเองเป็น " เทียนหวาง "(ราชาแห่งสวรรค์) ประกาศยกเลิกประเพณีเก่า ๆ ที่เป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชนและขัดต่อศาสนาคริสต์ เช่น การรัดเท้าผู้หญิง,การมีโสเภณี, การสูบฝิ่น, การกราบไหว้บูชารูปเคารพ เป็นต้น และได้ยกพลสามหมื่นบุกเข้าโจมตีเมืองต่างๆ แถบกวางสีและกวางตุ้ง ได้รับชัยชนะยึดได้เมืองต่างๆ มากขึ้น
จนกระทั่งสามารถตีนครหนานจิง ตั้งเป็นเมืองหลวงใช้ชื่อว่า " เทียนจิง " (เมืองสวรรค์) ตั้งสหายร่วมรบคนอื่น ๆ เป็น " หวาง " (อ๋อง) มากมายหลายคน แล้วหงซิ่วฉวนก็วางมือ ไม่ค่อยยุ่งกับการบริหารดูแลบ้านเมือง ปล่อยให้หวางคนอื่น ๆ รับหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้กบฏไท่ผิงต้องล้มสลายในที่สุด เนื่องจากบรรดาหวางทั้งหลายชิงดีชิงเด่นกัน ต่างคนก็พยายามช่วงชิงผลประโยชน์ส่วนตัวให้ได้มากที่สุดและหนักสุดถึงขนาดฆ่ากันเอง ในขณะที่ตัวผู้นำคือ หงซิ่วฉวน ก็ได้วางมือเร็วไปก่อนเวลา ท้ายสุดในปี พ.ศ. 2407 กบฏไท่ผิงก็ถึงจุดล่มสลายเมื่อพ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อราชสำนักที่ผสมกำลังปราบปรามร่วมกับกำลังของชาติตะวันตกที่มีผลประโยชน์กับจีน เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส และหงซิ่วฉวนได้ฆ่าตัวตาย มีกบฏล้มตายเป็นจำนวนถึง 30 ล้านคน
ในช่วงปี พ.ศ. 2393 ถึง พ.ศ. 2399 นับเป็นช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดของกลุ่มกบฏไท่ผิง นอกจากยึดนานกิงเป็นศูนย์กลางอำนาจได้แล้ว ยังได้ครอบครองดินแดนทั้งหมดของมณฑลเจียงซี อันฮุย และส่วนใหญ่ของมณฑลหูเป่ย์
ปัจจุบัน นักวิชาการร่วมสมัยวิเคราะห์ถึงการล่มสลายว่าเป็นเพราะกลุ่มกบฏซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา ไม่มีเจตจำนงทางอุดมการณ์หรืออุดมคติอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น และเมื่อได้ผลประโยชน์แล้วแนวทางที่ดำเนินการอยู่ก็ได้ล้มเลิกไป
เรื่องราวของหงซิ่วฉวนเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ ดร.ซุน ยัตเซ็น ในการปฏิวัติการปกครองด้วยในเวลาต่อมา โดยในระยะเเรก ๆ มีบางคนกลาวว่า ดร.ซุน ยัตเซ็น คือ หงซิ่วฉวนคนที่สองด้วยซ้ำ
เรื่องราวของหงซิ่วฉวน ได้ถูกเล่าขานต่อมาจนถึงปัจจุบัน และได้ถูกแต่งเเต้มสีสันต่อเติมมามากมาย และเชื่อว่า หงซีกวน วีรบุรุษในนิยายหรือภาพยนตร์กำลังภายในยุคร่วมสมัยนี้ ก็คือ หงซิ่วฉวน นี่เอง