สุลต่านสุลัยมาน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- ดูความหมายอื่น สุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมัน
สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์ เจ้าเมืองสงขลาคนที่ 2 เป็นบุตรของ โมกอล เจ้าเมืองพัทลุง ซึ่งอพยพมาจากเมืองสาเลห์(ชวาภาคกลาง)
สุลัยมาน สถาปนาตนเองเป็น สุลต่าน และชาห์ เป็นราชาของสิงขรนครี (สิงขรนคร) หรือ สงขลา ท่านได้ปรับปรุงเมืองสิงขรนครีที่หัวเขาแดงให้เจริญรุ่งเรืองหลายด้าน เช่น ด้านการค้ากับต่างประเทศ มีการปรับปรุงท่าเรือให้ทันสมัยจนเป็นท่าเรือเสรี มีการผลิตเงินตราขึ้นมาใช้เอง ด้านการพัฒนาบ้านเมืองมีการสร้างกำแพงเมือง คูเมืองและสร้างป้อมเพิ่มขึ้นมากมาย เมืองสงขลาจึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีป้อมปราการแข็งแรงที่สุดในภาคใต้ ด้านความมั่นคงได้สร้างกองทัพที่เข้มแข็ง ชำนาญ ทั้งการรบและยุทธวิธีในการทำศึกสงครามและด้านการปกครอง
ระยะแรกในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมสุลต่านสุลัยมานยังยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา ครั้นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ประหารพระมหากษัตริย์ อันเป็นพระโอรสของพระเจ้าทรงธรรม และปราบดาภิเษกตนเองเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในปี พ.ศ. 2185 สุลต่านสุลัยมานก็แข็งข้อ ไม่ยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา เพราะได้รับความช่วยเหลือจากฮอลันดาและอังกฤษ เมืองสงขลาจึงเป็นเอกราชประมาณ 38 ปี ในที่สุดก็ถูกกองทัพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนำโดย พระยารามเดโช (ชู) อันเป็นมุสลิม ที่ปกครองนครศรีธรรมราชมาปราบปรามได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2223 เมืองสิงขรนคร ถูกเผาผลาญเสียหายมาก ส่วนป้อม คู และกำแพงเมืองถูกทำลายกลายเป็นเมืองร้าง สิงขรนครจึงย้ายไปตั้งที่เขาไชยบุรี ซึ่งฟาริซีน้องชายสุลต่านสุลัยมานไปสร้างไว้ตามคำสั่งของสุลต่านสุลัยมาน สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงโปรดให้ฟาริซี ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงต่อไป ฟาริซี ถึงแก่อสัญกรรม พ.ศ. ๒๒๒๕ ปีเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต ผู้คนบางกลุ่มอพยพมาสร้างเมืองสงขลาใหม่ที่แหลมสน เรียกว่า เมืองสงขลาที่แหลมสน
ต่อจากนั้น หากมีเชื้อสายสุลต่านสุลัยมาน รับราชการเป็นผู้ใหญ่พอที่จะดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ หรือเจ้าเมืองได้ก็มักจะโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง พระยาพัทลุง
บรรดาบุตรของ สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์ คือ มุสตอฟา ฮะซัน และฮุเซน ถูกจับขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพวกเขาได้รับพระกรุณาธิคุณจนได้รับศักดินาสูงส่ง มุสตอฟา ได้เป็นพระยาไชยา ฮะซันได้เป็นพระยาราชวังสัน และฮุเซนได้เป็นพระยาพัทลุงคนที่ 3