สุภา ศิริมานนท์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุภา ศิริมานนท์ | |
สุภา ศิริมานนท์ และ จินดา ศิริมานนท์ ภริยา |
|
นามแฝง: | จิตติน ธรรมชาติ ษี บ้านกุ่ม |
---|---|
เกิด: | 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง |
เสียชีวิต: | 15 มีนาคม พ.ศ. 2529 |
อาชีพ: | นักเขียน นักแปล นักหนังสือพิมพ์ |
บิดา: | หลวงนฤมานสัณหวุฒิ (เทียบ ศิริมานนท์) |
มารดา: | แม้น ศิริมานนท์ [1][2] |
คู่สมรส: | จินดา ศิริมานนท์ (สุนทรโรหิต) |
สุภา ศิริมานนท์ (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 — 15 มีนาคม พ.ศ. 2529) นามปากกา จิตติน ธรรมชาติ เป็นนักคิด นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์และนักวารสารศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทย และผู้สื่อข่าวสงครามคนแรกของประเทศไทย (ในสงครามจีนญี่ปุ่น) เคยเป็นบรรณาธิการ “นิกรวันอาทิตย์” และ “อักษรสาส์น” เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ประจำสถานทูตไทย ณ ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป คือ สหภาพโซเวียต สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส เป็นผู้บริหารและฝ่ายวิชาการของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย และเป็นอาจารย์พิเศษที่ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[แก้] ประวัติ
สุภา ศิริมานนท์ เกิดเมื่อวันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 ที่ ตำบลบ้านท้ายตลาด อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง บิดาคือ หลวงนฤมานสัณหวุฒิ มารดาชื่อ แม้น เข้าศึกษาที่โรงเรียนสมเด็จเจ้าพระยา, โรงเรียนสวนกุหลาบ (ส.ก. 6153), ถึงแก่กรรมในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2529 โดยโรคมะเร็งในตับอ่อน
[แก้] ผลงาน
เป็นผู้แปล “แคปปิตอลลิซม์” (ทุนนิยม) ของ คาร์ล มาร์กซ์ เป็นภาษาไทย โดยใช้ชื่อว่า แคปิตะลิสม์ สุภาเป็นผู้แต่งหนังสือ “วรรณสาส์นสำนึก” (พิมพ์ในนิตยสารช่วง พ.ศ. 2492 - 2495 พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2529) ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน งานเขียน “ภาวะของศิลปะใต้ระบอบเผด็จการฟาสซีสม์” ของสุภา (ใช้นามปากกา จิตติน ธรรมชาติ) เคยถูกตีตราว่าเป็น "หนังสือต้องห้าม" ในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ถูกแต่งตั้งจาก คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งได้ออกรายชื่อหนังสือต้องห้ามกว่าสองร้อยรายการ ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารสิ่งตีพิมพ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง [3] แต่ในภายหลังก็ถูกยกเลิกไป
นอกจากงานเขียนเชิงวิชาการแล้ว สุภายังมีผลงานนวนิยาย (เรื่องเดียวในชีวิต ใช้นามปากกา "ษี บ้านกุ่ม") คือ “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?” โดยมีเค้าเรื่องจากบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ใช้เหตุการณ์จลาจลปลายสมัยกรุงธนบุรี นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอคำสอนพระราชาด้วยแนวคิดสังคมนิยม จึงแตกต่างกับวรรณกรรมคำสอนพระราชาทั่วไป ซึ่งมีแนวคิดแบบจารีตนิยม[4]
[แก้] อ้างอิง
- ^ หนังสือ ยอดคนวรรณกรรม เขียนโดย ส. ทรงศักดิ์ศรี ระบุว่า มารดาของสุภา ศิริมานนท์ ชื่อ ผิน เป็นบุตรสาวของหลวงนฤมานสัณหวุฒิ (เดิมมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนไชยสุภา) ผิน พบรักและมีลูกกับลูกน้องของขุนไชยสุภาชื่อ นายเขียน ศิริบูรณ์ เมื่อคลอดได้ 9 เดือน นายเขียน ศิริบูลย์ บิดาที่แท้จริงเสียชีวิต ขุนไชยสุภาจึงได้จดทะเบียนรับหลานตัวมาเป็นลูกบุญธรรม และตั้งชื่อว่า "สุภา" ตามชื่อสร้อยของบรรดาศักดิ์ของตนในขณะนั้น
- ^ ส. ทรงศักดิ์ศรี. ยอดคนวรรณกรรม -- กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, . (ISBN 974-602-642-8)
- ^ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง เรื่องกำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง] ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ในวิกิซอร์ซ
- ^ “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ของสุภา ศิริมานนท์ : วรรณกรรมคำสอนพระราชานอกกระแสจารีต บาหยัน อิ่มสำราญ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร