ราชวงศ์พระร่วง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
-
บทความนี้เกี่ยวกับราชวงศ์พระร่วงโดยตรง สำหรับราชวงศ์สุโขทัย ดูที่ ราชวงศ์สุโขทัย
ตำแหน่งประมุข | พระร่วงเจ้า และ พระมหาธรรมราชา |
สถาปนา | ราว พ.ศ. 1872 (พ่อขุนบางกลางหาว) |
สิ้นสุด | พ.ศ. 2325 (สมเด็จพระปฐมบรมราชชนก) |
ประมุขราชวงศ์ | |
- องค์แรก | พ่อขุนบางกลางหาว |
- องค์สุดท้าย | สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช |
สืบทอดจาก | ราชวงศ์บางยาง |
สืบทอดเป็น | ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์จักรี |
ฐานอำนาจ | พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร |
ดินแดน | - แคว้นสุโขทัย - อาณาจักรล้านนาฝั่งตะวันออก (แคว้นกาวน่านเดิม) - อาณาจักรอยุธยา |
ราชวงศ์พระร่วง หรือ ราชวงศ์สุโขทัย เป็นราชวงศ์หนึ่งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยในสมัยอาณาจักรสุโขทัยต่อเนื่องถึงปลายกกรุงศรีอยุธยา และอาจสืบต่อถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์ เชื่อกันว่าคือ พระพุทธรูปพระร่วง-พระลือ ในซุ้มพระร่วง-พระลือที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงราชวรวิหาร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตามความเชื่อของคนรุ่นเก่าแก่ในจังหวัดสุโขทัย ระบุว่า ที่นี่คือนิวาสถานดั้งเดิม หรือต้นกำเนิดของราชวงศ์พระร่วง
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
ราชวงศ์พระร่วง เป็นราชวงศ์ที่สถาปนาขึ้นเมื่อคราวพ่อขุนบางกลางหาวทรงราชาภิเษกเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ คำว่าพระร่วงเป็นคำกลางที่ใช้เรียกกษัตริย์หรือผู้นำแห่งรัฐสุโขทัย โดยคำว่าร่วง ในสำเนียงไทยกลาง อ่านออกเสียงว่า รุ่ง และสำเนียงล้านช้างอ่านว่า ฮุ่ง ซึ่งอาจจะสืบเนื่องกับตำนานท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง อันเป็นวีรบุรุษในตำนานสองฝั่งโขง อย่างไรก็ตามแต่ คำว่าพระร่วงเป็นคำที่คิดขึ้นใหม่เมื่อครั้งสถาปนาวงศ์ มิใช้ราชวงศ์เดิมที่ติดตัวพ่อขุนบางกลางหาว มาแต่ต้น
ด้วยเหตุความเข้าใจคลาดเคลื่อนนี้ โดยมากจึงคิดกันว่า พ่อขุนศรีนาวนำถุม พ่อขุนผาเมือง ตลอดจนพระมหาเถรศรีศรัทธา ทรงเป็นราชวงศ์พระร่วงเช่นกัน แต่อันที่จริง ทั้งสามพระองค์นี้เป็นราชวงศ์ศรีนาวนำถุม (หรือราชวงศ์นำถุม หรือราชวงศ์ผาเมือง) โดยเอกสารทางวิชาการส่วนใหญ่ยืนยันตรงกันว่า ต้นวงศ์(ผู้สถาปนา) คือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และยังสืบเนื่องต่อมาจนถึงพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งเชื่อกันว่าสืบมาจนถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทรงแยกมาตั้งวงศ์ใหม่ (ราชวงศ์จักรี)
[แก้] กิจกรรมทางการเมืองกับราชวงศ์อื่น
สำหรับกิจกรรมทางการเมืองในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ถึงสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ดูหัวข้อหลักที่ ราชวงศ์สุโขทัย
[แก้] ราชวงศ์ศรีนาวนำถุม
ในช่วงต้น ราชวงศ์พระร่วงยังคงมีแต่สิทธิสภาพภายในนครสุโขทัยเท่านั้น แม้ต่อมาได้ขยายออกไปจนทั่วรัฐ แต่ก็ไม่ทั้งหมด ยังคงเผชิญหน้ากับสายราชวงศ์นำถุมซึ่งมีที่มั่น ณ เมืองสรลวงสองแคว แม้ต่อมาจะมีการสยุมพรทางการเมือง โดยการที่พ่อขุนบานเมืองทรงอภิเษกสมรสกับราชธิดาราชวงศ์นำถุม และมีพระโอรสเป็นพญางั่วนำถุม แต่ก็ไม่เป็นผลมากนัก เพราะต่อมา พญาลิไท ซึ่งมีฐานอำนาจราชวงศ์พระร่วงไปอยู่ ณ เมืองศรีสัชนาลัย ก็ทรงทำการรัฐประหารชิงราชสมบัติกลับมาเป็นฝั่งพระร่วงแท้ แล้วสถาปนาตนใหม่ขึ้นเป็น พระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นการนำคติ พระร่วงเจ้า รวมกับ พุทธราชา และ เทวราชา เพื่อยกฐานะของกษัตริย์สุโขทัยให้สูงขั้น
[แก้] ราชวงศ์น่าน และราชวงศ์เม็งราย
ช่วงกลางรัชสมัยพระเจ้าลิไท ทรงเจริญพระราชไมตรีกับราชวงศ์น่าน และแพร่ ทรงได้พระศรีธรรมราชมาดาธิดาเจ้าเมืองน่านเป็นมเหสี ทั้งยังเสด็จน่านและแพร่อย่างเป็นทางการ และทรงบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์ต่างๆด้วย ส่งผลให้ราชวงศ์และไพร่ฟ้าชาวน่าน-แพร่ เลื่อมใสในพระร่วงเจ้าแห่งสุโขทัย เหตุการณ์นี้ถือเป็นฐานคะแนนของพระยายุทธิษฐิระในยุคต่อมา
ต่อมาประมาณปี 1993 เมื่อพญาติโลกราชทรงตีได้อาณาจักรกาวน่าน เมืองพร้าว เมืองแพร่ ไว้ได้ในพระราชอาณาจักรล้านนา ส่งผลให้เจ้าอินต๊ะ แห่งราชวงศ์น่านทรงหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกับพระยายุทธิษฐิระ ซึ่งพระยายุทธิษฐิระอยู่ในช่วงเอาใจออกห่างสุพรรณภูมิ จึงพยายามสร้างฐานอำนาจขึ้นใหม่ จึงเสด็จขึ้นไปยังเชียงใหม่เพื่อสวามิภักดิ์ต่อพญาติโลกราช แห่งราชวงศ์เม็งราย และเฉลิมพระนามพญาติโลกราช ขึ้นเป็นพระเจ้าติโลกราช เพื่อให้เสมอศักดิ์กับพระบรมไตรโลกนาถแห่งสุพรรณภูมิ หลังจากนั้นพระยายุทธิษฐิระจึงได้เป็นพระร่วงแห่งศรีสัชนาลัยต่อไป ทั้งยังได้ดูแลอาณาจักรกาวน่านซึ่งพระเจ้าติโลกราชเพิ่งได้มาใหม่ด้วย ต่อมาเมื่อเสียสุโขทัย-ศรีสัชนาลัยแก่พระบรมไตรโลกนาถ พระยายุทธิษฐิระได้ทรงเบนหัวเรืออกจากสุโขทัย หันไปสร้างฐานอำนาจใหม่ทางล้านนาตะวันออก จึงถือว่าความเป็นพระร่วงของพระองค์ได้สิ้นสุดลง
[แก้] ราชวงศ์อู่ทอง และราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ในปี พ.ศ. 1897 หลังการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 4 ปี สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงให้ขุนหลวงพะงั่ว ยกทัพมาตีเมืองเหนือ[1] ซึ่งครั้งนั้น ขุนหลวงพะงั่วทรงตีได้และประทับอยู่ ณ ชัยนาทบุรี (พิษณุโลก) ศัตรูทางการเมืองของวงศ์พระร่วงจึงเปลี่ยนจาก ราชวงศ์นำถุมไปเป็น ราชวงศ์อู่ทอง ซึ่งก็เข้าทางกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่จะขยายความสัมพันธ์กับราชวงศ์ต่างๆ จึงได้สยุมพรทางการเมืองอีกครั้ง โดยขุนหลวงพะงั่ว ได้พระพี่นางในพญาลิไท (พระมหาเทวี) เป็นพระมเหสี ต่อมาเมื่อทรงได้เมืองชัยนาทบุรีคืนจากพระเจ้าอู่ทอง ก็ทรงปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อแม้ที่พระเจ้าอู่ทองตั้งไว้ คือไม่ให้พญาลิไทประทับที่สุโขทัย แต่ให้ประทับที่พิษณุโลกแทน ถือกันว่าเป็นการสั่งคลอนฐานอำนาจราชวงศ์พระร่วงในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ราชวงศ์สุพรรณภูมิได้พยายามผูกมิตร กับราชวงศ์สุโขทัยทางราชนิกุลเพิ่มขึ้น จึงเกิดการแข่งขันภายในระหว่างสายกษัตริย์ กับสายราชนิกุล เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคต พญาลิไทจึงเสด็จกลับมาครองสุโขทัยตามเดิม ส่วนพระมหาเทวี กับพระศรีเทพาหุราช (พระราชโอรสในพระมหาเทวี กับขุนหลวงพะงั่ว) ทรงถูกบังคับให้ถอยร่นลงไปสู่กำแพงเพชร
การเมืองภายในระหว่างสายราชนิกุลที่เน้นผูกมิตรสุพรรณภูมิ กัยสายกษัตริย์ที่ไม่เอาทั้งอู่ทองและสุพรรณภูมิ ดูเหมือนจะจบลงตรงที่ชัยชนะของขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งได้เฉลิมขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมาชาธิราช ในที่กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ได้ทรงเสด็จยกทัพมาตีสุโขทัยเป็นครั้งที่สอง และได้สุโขทัยเป็นประเทศราช แต่แล้วพญาไสลือไท หรือ พระมหาธรรมราชาที่ 3 ก็ทรงแข็งขืนต่อต้านราชวงศ์จากเมืองใต้อีกครั้ง โดยสงครามครั้งนี้ ยืดเยื้อจนขุนหลวงพะงั่วเสด็จสวรรคตในที่สุด จนสมเด็จพระราเมศวรกลับมาครองราชย์ครั้งที่สอง ก็ไม่ปรากฏว่าทรงมีกิจกรรมทางการเมืองกับราชวงศ์พระร่วงอีก
เมื่อพญาไสลือไทสวรรคต พระโอรสทั้งสองของพญาไสลือไท คือพระยาราม และพระยาบาลเมือง เกิดรบแย่งกันขึ้นเป็นมหาธรรมราชา สมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) จึงทรงยกทัพขึ้นมาไกล่เกลี่ยให้พระยาบาลเมือง เป็นพระมหาธรรมราชาครองเมืองสองแคว ส่วนพระยารามให้ไปครองศรีสัชนาลัย เป็นอันว่าวงศ์พระร่วงยังต้องเคารพเชื่อฟังวงศ์สุพรรณภูมิอยู่ต่อไป ขณะที่เจ้านครอินทร์เอง ก็ยังคงสยุมพรทางการเมืองต่อไป โดยเชื่อว่าทรงอภิเษกกับราชนิกุลพระร่วง และมีพระราชโอรสคือเจ้าสามพระยา ซึ่งพระองค์ได้ส่งให้ไปอยู่ ณ เมืองชัยนาทบุรี และเจ้าสามพระยาเองก็ทรงอภิเษกกับพระนางสาขะ ผู้เป็นราชนิกุลข้างกำแพงเพชร (เชื่อกันว่ามีวงศ์อู่ทองผสมด้วย) และมีพระราชโอรสคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผู้มีสิทธิ์ชอบธรรมทั้งข้างพระร่วงและสุพรรณภูมิ
ข้างฝ่ายพระยายุทธิษฐิระ ซึ่งเป็นวงศ์พระร่วงแท้อันสืบมาจากพระยาราม เกิดความบาดหมางกับสมเด็จพระยรมไตรโลกนาถ ที่ทรงไม่ให้สิทธิการเป็นมหาธรรมราชาแก่พระองค์ พระองค์จึงเอาใจออกห่างไม่ขึ้นต่อสุพรรณภูมิ แต่หันไปผูกสัมพันธ์กับราชวงศ์น่าน และราชวงศ์เม็งราย พร้อมทั้งย้ายฐานอำนาจไปสถาปนาใหม่ที่เมืองพะเยา เป็นอันสิ้นสุดความเป็นพระร่วงเจ้าในทึ่สุด
เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงได้สิทธิอันชอบธรรมจากการเป็นลูกครึ่งสองราชวงศ์ ทำให้ศักดิ์และสิทธิ์ของราชวงศ์พระร่วงแท้ลดลงไป จนสายกษัตริย์เกือบจะหายไป เหลือแต่เพียงราชนิกุลในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์และพระราชวงศ์ครึ่งพระร่วง-ครึ่งสุพรรณภูมิ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แย่งชิงอำนาจของราชวงศ์อู่ทอง และราชวงศ์สุพรรณภูมิถึงขั้นแตกหักในสมัยท้าวศรีสุดาจันทร์ ขุนพิเรนทรเทพ จึงได้เข้ามามีบทบาทอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ขุนพิเรนทรเทพทรงมีความดีความชอบเป็นพิเศษ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงทรงอวยยศขึ้นให้เป็นพระมหาธรรมราชา ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ถือเป็นเกมการเมืองที่ประสบผลสำเร็จของขุนพิเรนทรเทพ
การกลับมาของตำแหน่งพระมหาธรรมราชา โดยขุนพิเรนทรเทพ ถือเป็นความสำเร็จอีกครั้งที่ราชวงศ์พระร่วงขึ้นมามีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าราชวงศ์อื่นๆ แม้จะมาในชื่อใหม่ว่า "ราชวงศ์สุโขทัย" แต่นักประวัติศาสตร์บางท่านยังถือว่ายังทรงเป็นตัวแทนของราชวงศ์พระร่วงอยู่
ครั้นถึงสมัยสงครามพระศรีสุริโยทัย พระมหาธรรมราชาก็ยังคงเป็นกำลังให้ราชวงศ์สุพรรณภูมิยังคงรักษากรุงศรีอยุธยาไว้ได้ แต่ต่อมาเมื่อพิษณุโลกเกิดสงครามกับพระเจ้าบุเรงนองในสงครามช้างเผือก พระมหาธรรมราชาทรงร้องขอความช่วยเหลือไปยังกรุงศรีอยุธยา แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงเป็นชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งกับวงศ์สุพรรณภูมิ จนล่วงมาสมัยสงครามเสียกรุงครั้งที่ 1 สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงฉวยโอกาสช่วงที่พระมหาธรรมราชาและพระนเรศวรเสด็จหงสาวดี นำตัวพระวิสุทธิกษัตรีย์ และพระเอกาทศรถ มาจำนำไว้ในกรุงศรีอยุธยา เป็นชนวนเหตุให้ความบาดหมางของราชวงศ์พระร่วง และราชวงศ์สุพรรณภูมิถึงขั้นแตกหัก พระมหาธรรมราชาจึงส่งเสริมให้พระเจ้าบุเรงนองเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และได้กรุงศรีอยุธยาในที่สุด ผลจากสงครามนี้ถือเป็นการล้างไพ่ราชวงศ์สุพรรณภูมิในกรุงศรีอยุธยาได้อย่างเด็ดขาด และราชวงศ์พระร่วงจึงได้ขึ้นเป็นใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาแทน
[แก้] ราชวงศ์สุโขทัย
เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พิเรนทรเทพ) ทรงได้ชัยชนะเหนือราชวงศ์สุพรรณภูมิ และได้ผ่านภิภพขึ้นสู่บัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ได้ทรงตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นในชื่อราชวงศ์สุโขทัย ความสัมพันธ์จึงเป็นไปในลักษณะถ่ายทอด และไม่ปรากฏว่าวงศ์พระร่วงสายอื่นๆ ได้มีส่วนเกี่ยวข้องประการใดกับวงศ์สุโขทัย
[แก้] ราชวงศ์ตองอู
ครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชา ยังมิทรงตั้งวงศ์พระร่วง และคงครองพระพิษณุโลกสองแควอยู่นั้น พระพิษณุโลกและกรุงศรีอยุธยาเกิดสงครามกับพระเจ้าบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอู ต่อมาเมื่อครั้งเป็นเมืองขึ้นราชวงศ์ตองอู พระมหินทราธิราช ได้นำตัวพระวิสุทธิกษัตรีย์ และพระเอกาทศรถ ลงมาจำนำไว้ในกรุงศรีอยุธยา ยังผลให้พระมหาธรรมราชาทรงหาที่พึ่งใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับราชวงศ์ตองอูให้แน่นแฟ้นขึ้น และส่งเสริมให้พระเจ้าบุเรงนองเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาเพื่อล้างไพ่ราชวงศ์สุพรรณภูมิให้หมดไปจากกรุงศรีอยุธยาอย่างเด็ดขาด
[แก้] ราชวงศ์ล้านช้าง
ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์พระร่วงกับราชวงศ์ล้านช้าง เริ่มขึ้นเมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มสถาปนาราชวงศ์ขึ้น ตรงกับช่วงพญาลิไทในวงศ์พระร่วง แต่ก็เป็นไปแต่เพียงการระแวงภัยต่อกัน มิได้มีเหตุสงครามแก่กัน จวบจนสมัยพระมหาธรรมราชา (พิเรนทรเทพ) ความสัมพันธ์เปลี่ยนไปในฐานะคู่สงครามทางอ้อม ทั้งเหตุที่พระมหาธรรมราชาชิงตัวพระเทพกษัตรี ซึ่งทางสุพรรณภูมิต้องการสยุมพรทางการเมืองกับวงศ์ล้านช้างอันมีพระไชยเชษฐาธิราชเป็นประมุขในขณะนั้น ไปมอบให้พระเจ้าบุเรงนองทางหงสาวดีแทน ทั้งยังมีชนวนเหตุที่พระไชยเชษฐาทรงร่วมกับพระมหินทราธิราชวางอุบายเข้าโจมตีพิษณุโลก เหตุผลเหล่านี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับราชวงศ์ล้านช้างเปลี่ยนแปลงไป แต่ในเวลาต่อมาก็ไม่ปรากฏว่ามีสงครามต่อกัน เป็นไปในลักษณะต่างฝ่ายต่างอยู่เสียมากกว่า
[แก้] ราชวงศ์ปราสาททอง
ราชวงศ์พระร่วงถูกลดความสำคัญอีกครั้งหลังราชวงศ์ปราสาททองขึ้นมามีอำนาจแทนสายราชวงศ์สุโขทัย ความสัมพันธ์ในระยะนี้ไม่ปรากฏเด่นชัดในช่วงต้นสมัยปราสาททอง แต่ได้ปรากฏราชนิกุลวงศ์พระร่วงขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงมีหม่อมเจ้าหญิงในราชวงศ์พระร่วง และปรากฏขึ้นอีกครั้ง ในนามของหม่อมเจ้าเจิดอุภัย ซึ่งเป็นสวามีในเจ้าแม่วัดดุสิต ทั้งยังเป็นบิดาของพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์
[แก้] ราชวงศ์จักรี
ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์พระร่วงกับราชวงศ์จักรี เป็นไปในลักษณะถ่ายทอดตามอย่างราชวงศ์สุโขทัย โดยเชื่อว่าสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก พระราชบิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และไม่ปรากฏเชื้อพระวงศ์ข้างพระร่วงอื่นๆ เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระบรมราชจักรีวงศ์แต่อย่างใด
[แก้] รายนามและพระนามผู้ที่อยู่ในราชวงศ์พระร่วง-สุโขทัย
บุคคลตามจารึกในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับราชวงศ์พระร่วง
- พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระนามเดิม บางกลางหาว
- นางเสือง
- พ่อขุนบาลเมือง
- พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
- พญาเลอไท
- พญางั่วนำถุม (ผสมวงศ์นำถุมทางราชนิกุล)
- พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท)
- พระมหาธรรมราชาที่ 2 (ลือไท)
- พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสยลือไท)
- พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)
- พระมหาเทวี (พระพี่นางในพญาลิไท)
- พระศรีเทพาหุราช พระโอรสในพระมหาเทวี และขุนหลวงพะงั่ว (ครึ่งพระร่วง-ครึ่งสุพรรณภูมิ)
- พระยาราม (พระเชษฐาพระมหาธรรมราชาที่ 4 ครองศรีสัชนาลัย)
- พระยายุทธิษฐิระ (พระโอรสในพระยาราม เจ้าเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ 3อีกต่อหนึ่ง)
- สมเด็จพระนครินทราชาธิราช (ครึ่งพระร่วง-ครึ่งสุพรรณภูมิ)
- สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (ครึ่งพระร่วง-ครึ่งสุพรรณภูมิ)
- พระนางสาขะ
- สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครึ่งพระร่วง-ครึ่งสุพรรณภูมิ)
- ตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ของกษัตริย์อยุธยาต้องมาจากราชวงศ์พระร่วง
- พระสุริโยทัย
- ขุนพิเรนทรเทพ (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
- พระสุพรรณกัลยา (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
- สมเด็จพระเอกาทศรถ (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
- สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
- สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
- สมเด็จพระเชษฐาธิราช (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
- สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ (ในนามราชวงศ์สุโขทัย)
- หม่อมเจ้าหญิงในราชวงศ์พระร่วง สมัยพระนารายณ์มหาราช
- หม่อมเจ้าเจิดอุภัย
- พระยาโกษาธิบดี (ปาน)
- พระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)
- สมเด็จพระปฐมบรมราชชนก
[แก้] อ้างอิง
- ภาสกร วงศ์ตาวัน. เรื่องเล่าครั้งกรุงเก่า ตอน ยึดบ้านครองเมือง สร้างขื่อแปในจารึกสยาม -- กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ สยามบันทึก, พ.ศ. 2551.
- ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม. สยามประเทศ -- กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2547 พิมพ์ครั้งที่ 4. (ISBN 974-3232-76-1)
- สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงสุโชทัย มาจากไหน? -- กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2548.
- ^ ราชการสงครามในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หอมรดกไทย กองทัพบก