สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๕๔- ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๑๗๑) เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา และ เป็นพระองค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์สุโขทัย
เนื้อหา |
[แก้] พระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระนามเรียกในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ เดิมเป็นพระภิกษุเรียกในพระราชพงศาวดาร ว่า พระศรีสิน ผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระพิมลธรรมอนันตปรีชา
ต่อมา จมื่นเสาวลักษณ์ หรือ จหมื่นศรีสรรักษ์ บุตรเลี้ยงได้สมคบกันสำเร็จโทษสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ แล้วอัญเชิญพระพิมลฯให้ลาสิกขาบท ขึ้นเสวยราชสมบัติ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๖๔ (พ.ศ. ๒๑๕๕) บางเเห่งระบุว่า จุลศักราช ๙๘๒ (พ.ศ. ๒๑๖๓) แต่หลักฐานของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ระบุว่า พ.ศ. ๒๑๕๓ เป็นที่ถูกต้อง
พระพิมลฯได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า พระเจ้าทรงธรรม หรือ พระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม และ ทรงแต่งตั้งจหมื่นศรีสรรักษ์ เป็นมหาอุปราช แต่ดำรงตำแหน่งอยู่เพียง ๓ วันก็สิ้นชีวิต สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชโอรส ๓ พระองค์ ได้แก่ พระเชษฐากุมาร พระพันปีศรีศิลป์ และ พระอาทิตยวงศ์ ส่วนจดหมายเหตุวันวลิต วิลันดาระบุว่า พระองค์ มีพระราชโอรส ๙ พระองค์ พระราชธิดา ๘ พระองค์
[แก้] พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงเป็นนักปราชญ์ รอบรู้ในวิชาการหลายด้าน มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงประพฤติราชธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาราษฎรและชาวต่างชาติ พระองค์ไม่นิยมการศึกสงคราม ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระเอกาทศรถ ในด้านการปกครองบ้านเมือง ทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสี คือ พระเชษฐาธิราช กับพระอาทิตยวงศ์
พระกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ มุ่งส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ เช่น โปรดเกล้า ฯ ให้คัดลอกพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก ทรงให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงถวาย นับเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของสมัยอยุธยา ได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างมณฑปครอบรอบพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ กับกุฏิสงฆ์ ถวายให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา พระพุทธบาทสระบุรี จึงมีความสำคัญ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่นั้นมาตราบถึงปัจจุบัน
พระองค์ทรงมีสัมพันธไมตรีกับบรรดาต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคแถบนี้ของโลก ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอลันดา อังกฤษและญี่ปุ่น ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ริมคลองปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ ให้ชาวฮอลันดาตั้งคลังสินค้า และในปี พ.ศ. ๒๑๑๕ พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ แห่งอังกฤษ ได้มีพระราชสาส์นทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาได้สะดวก ส่วนชาวญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีชาวญี่ปุ่นสมัครเข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนได้มีการจัดตั้งกรมอาสาญี่ปุ่น ขึ้นมาช่วยราชการกรุงศรีอยุธยา ชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในวงการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ คือ ยามาดะ นางามาซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข
นื่องจากพระองค์ไม่นิยมการทำสงคราม ด้วยเหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงต้องเสียเมืองทวาย อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันตก ในทะเลอันดามัน พม่ายกกำลังมาตีเมืองทวายได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๖๕ ต่อมากัมพูชา และเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นประเทศราช ของไทยมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ ต่างก็พากันแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา
ตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ ขณะที่พระองค์ทรงประชวรหนัก มีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร และทรงแต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช โดยทรงมอบให้ออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพระญาติที่ไว้วางพระทัย เป็นผู้ดูแลพระเชษฐาธิราช จนกว่าจะได้ครองราชย์
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ครองราย์ได้ ๑๗ ปี จึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๑๗๑ ซึ่งเป็นวันที่ชาวฮอลันดาได้บันทึกไว้
[แก้] อ้างอิง
[แก้] ดูเพิ่ม
รัชสมัยก่อนหน้า: สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ ราชวงศ์สุโขทัย |
พระมหากษัตริย์ไทย อาณาจักรอยุธยา ราชวงศ์สุโขทัย 2153 - 2171 |
รัชสมัยถัดไป: สมเด็จพระเชษฐาธิราช ราชวงศ์สุโขทัย |