ผู้ชนะสิบทิศ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผู้ชนะสิบทิศ
เนื้อหา |
[แก้] เนื้อเรื่องย่อ
นิยายที่มีเนื้อหาประโลมโลกขนาดยาว เริ่มด้วยเค้าความจริงจากประวัติศาสตร์พม่า มหาราชพม่าพระองค์หนึ่งมีพื้นตระกูลกำเนิดสามัญชน จากนั้นสร้างเรื่องให้แม่ของตัวเอกคือ จะเด็ด เป็นบุตรของพระนมลูกหลวง จึงพลอยได้สมาคมกับพระราชวงศ์ นับแต่ร่วมน้ำนมกับมังตราราชบุตรและตะละแม่จันทรา พระราชธิดา ต่อมาเป็นดั่งดวงใจจะเด็ด ฉากของเรื่องมีสามเมืองใหญ่ที่ถูกผูกเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกัน ด้วยการเมือง การรบ ความแค้นและความรัก คือตองอู เมืองพม่าอันมีจะเด็ดเป็นหนึ่งในตองอู กับเมืองแปรและเมืองหงสาวดีอันเป็นเมืองมอญ ตองอูนั้นสร้างด้วยสามเกลอร่วมใจกัน คือ มังสินธุ ขุนพลผู้ออกบวช ภายหลังเป้นมหาเถรกุโสดออาจารย์ของจะเด็ด, ทะกะยอดิน ขุนพลผู้พอใจเป็นขุนวังและเมงกะยินโย ขุนพลผู้ยกเศวตฉัตรเหนือตองอู มีพระราชธิดา เกิดแต่พระอัครมเหสีนามว่า ตะละแม่จันทรา มีพระราชโอรสเกิดด้วยพระมหาเทวีเป็นรัชทายาทนามว่า มังตรา ส่วนจะเด็ดเป็นลูกคนปาดตาลที่แม่ชื่อ นางเลาชี ซึ่งมหาเถรกุโสดอ ถวายคำแนะนำกษัตริย์ตองอู รับเป็นพระนมของมังตราและจันทรา ฝ่ายเมืองแปร หญิงผู้เป็นแสนรักของจะเด็ดอีกคนเกิดที่นี่ นามตะละแม่กุสุมา พระธิดาพระเจ้าเมืองแปรหรือพระเจ้านรบดี ผู้ครองหงสาวดีคือพระเจ้าสการะวุตพี มีอนุชาชื่อสอพินยา ซึ่งมีบริวารนามว่าไขลู ตัวละครนี้ ยาขอบรักที่สุด เพราะจะสร้างพระเอกอย่างจะเด็ดเท่าไร สร้างได้ไม่ยากนัก แต่จะสร้างคนชั่วช้าอย่างไขลูสร้างได้ยาก ตัวละครในผู้ชนะสิบทิศ มีเป็นอันมากและเวลาในเรื่องกินเวลายาว กระนั้น การที่คนอ่านตราตรึงไม่เพียงบทของตัวละครเอก ยังแผ่ใจจดจำตัวประกอบรองๆ ไม่สับสนหลงลืม เพราะผู้ประพันธ์กำหนดบทบาทและบุคลิกภาพของตัวละครชัดเจน กินใจเป็นกระพี้ที่สำคัญต่อแก่นประสมประสานเป็นองค์เอกภาพเดียวกัน
จะเด็ดเจ้าชู้และเป็นชายชาตรีลูกคนธรรมดา เกือบจะพิมพ์เดียวกับขุนแผน ขณะที่ขุนแผนใช้เวทมนตร์และวิ่งหาความรัก ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตรักโดยเฉพาะชีวิตครอบครัว ส่วนบทบาทของขุนแผนในทางสังคมก็เพียงขุนนางชาวบ้าน ผู้จงรักภักดี แต่จะเด็ดหนุ่มรูปงามคารมดี มิได้ใช้เวทมนตร์ใด หากกิริยาวาจานั้นกำใจทั้งสาวๆ ตัวละครและทั้งคนอ่าน แม้ผู้หญิงตามปกติไม่เห็นใจชายเจ้าชู้ ทว่าจะเด็ดดูว่าเป็นข้อยกเว้น เพราะเคลิ้มตนด้วยความอยากจะเป็นตะละแม่สักนางหนึ่งเมื่อจะเด็ดอ้อนรำพัน "ข้าพเจ้ารักจันทราด้วยใจภักดิ์ แต่รักกุสุมาด้วยใจปอง" ซึ่งหัวใจจะเด็ดยังกว้างเหมือนมหาสมุทรที่ไม่เลือกเรือสำหรับหญิงอื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้จะเด็ดยังมีความภักดิ์ดีต่อราชบัลลังค์ยิ่งทั้งยังเป็นคนหยิ่งในศักดิ์ศรี เมื่อเกิดในแผ่นดินใดแล้วก็ปรารถนาแทนคุณแผ่นดินนั้นจนตัวตาย ดังเช่นเคยกล่าวกับกุสุมาว่า "รักสตรีข้าพเจ้ารักได้หลายนาง แต่เมืองมาตุภูมินั้นจะรักไว้แต่เมืองเดียว" ในความเป็นสามัญชนของจะเด็ดยังแตกต่างจากขุนแผน ที่เป็นเพียงข้าผู้ภักดีในฐานะขุนนาง ทว่าจะเด็ดไม่เพียงเด็ดดอกฟ้าโดยเป็นสวามีพระพี่นางของมังตรา หากสิ้นมังตรายังขึ้นเป็นจอมคนของทั้งแผ่นดิน ผู้ชนะสิบทิศ คุณค่าของผู้ชนะสิบทิศ นอกจากความเริงรมย์ อรรถรสทางภาษาที่ไม่เหมือนใครมีความไพเราะงดงามยังเป็นค่าควรเมือง การสรรค์สร้างผลงานนี้แม้จะมีเค้าของวรรณคดีดั้งเดิม แต่การพลิกปลายปากกาในอีกมุมใหม่เป็นเยี่ยงและอย่างของการอนุรักษ์กับพัฒนาที่ทำอย่างสมน้ำสมเนื้อ
[แก้] เค้าโครงความจริงและที่มาที่ไป
ผู้ชนะสิบทิศ เป็นนิยายที่ยาขอบ หรือโชติ แพร่พันธุ์ ผู้เขียนเรียกว่า " นิยายปลอมพงศาวดาร " โดยหยิบพงศาวดารพม่าเพียงแค่ ๘ บรรทัด ในครั้งแรกใช้ชื่อว่า "ยอดขุนพล" เริ่มเขียนใน พ.ศ. ๒๔๗๔ จบลงใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ในหนังสือพิมพ์ "สุริยา" และเริ่มเขียน "ผู้ชนะสิบทิศ" ในหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" เมื่อ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ จบภาคหนึ่งเมื่อ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ รวมเล่มพิมพ์เมื่อ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ เขียนรวมทั้งหมด ๓ ภาค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ แต่ยังไม่จบ เนื่องจากขาดข้อมูลบางอย่างที่จะต้องใช้ประกอบการเขียน ในเนื้อเรื่องกล่าวถึงราชวงศ์ตองอูตอนต้น เริ่มตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าเมงจีโย ไปจนถึงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ หรือ มังตราราชบุตร โดยชื่อผู้ชนะสิบทิศนั้น เข้าใจว่า มาจากคำที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึง พระเจ้าบุเรงนองว่าเป็น The Conqueror of Ten Direction แต่จากหนังสือประวัติยาขอบ อ้างอิงว่า คุณมาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ตั้งชื่อ ผู้ชนะสิบทิศให้ ผู้ชนะสิบทิศตีพิมพ์ครั้งแรกลงใน นสพ.ประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ในตอน " ความรักครั้งแรก " ฉบับพิมพ์รวมเล่มใช้ชื่อ "ลูกร่วมนม" สร้างชื่อเสียงให้ยาขอบได้แจ้งเกิด จนกลายเป็นกระแสไปทั่วทุกเพศทุกวัย ว่ากันว่าแม้แต่บรรพชิตก็ยังอ่านอย่างไม่กลัวอาบัติ
[แก้] ละครและภาพยนตร์
ผู้ชนะสิบทิศถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยเป็นภาพยนตร์ 1 ครั้ง แต่เเบ่งเป็น 3 ภาค คือ " ยอดขุนพล " (พ.ศ. 2509) " บุเรงนองลั่นกลองรบ " (พ.ศ. 2510) " ถล่มหงสาวดี " (พ.ศ. 2511) นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน แสดงเป็นจะเด็ด กรุณา ยุวกร แสดงเป็นตะละแม่ จันทรา และ พิสมัย วิไลศักดิ์แสดงเป็นตะละแม่กุสุมา
เป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง ครั้งแรก นิรุตติ์ ศิริจรรยา เป็น จะเด็ด นันทวัน เมฆใหญ่ เป็นตะละแม่จันทรา กนกวรรณ ด่านอุดม เป็นตะละแม่กุสุมา พิศาล อัครเศรณี เป็นมังตรา ออกอากาศทางช่อง 4 บางขุนพรหรม
ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2532 สันติสุข พรหมศิริ เป็นจะเด็ด นาถยา แดงบุหงา เป็นตะละแม่จันทรา สินจัย เปล่งพานิช เป็นตะละแม่กุสุมา และไตรภพ ลิมปพัทธ์ เป็นมังตรา ออกอากาศทางช่อง 3
และในต้นปี พ.ศ. 2549 โมเดิร์นไนน์ทีวีก็มีโครงการจะสร้างเป็นละครอีกครั้ง โดยประกาศตามหานักแสดงชายผู้จะรับบทเป็นจะเด็ด แต่โครงการนี้ก็ได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของผู้อำนวยการช่อง ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549
ในการฉายเป็นภาพยนตร์นั้น มีเพลงประกอบที่เป็นที่รู้จักและยังติดอยู่ในความทรงจำตราบจนปัจจุบัน 2 เพลง คือ " บุเรงนองลั่นกลองรบ " ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง และ " ผู้ชนะสิบทิศ " ขับร้องโดยชรินทร์ นันทนาคร
อย่างไรก็ดี ผู้ชนะสิบทิศ เป็นนิยายที่ว่าถึง กษัตริย์พม่าองค์ที่สามารถชนะเอกราชของกรุงศรีอยุธยาได้ จึงเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เสมอ ๆ เมื่อมีผู้จะสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์ในแต่ละครั้ง ว่าสมควรหรือไม่ที่จะเผยแพร่เรื่องเช่นนี้ออกมาสู่สังคม