ปลาหางไหม้
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อันดับ | Cypriniformes |
วงศ์ | Cyprinidae |
วงศ์ย่อย | Cyprininae - Systomini |
สกุล | Balantiocheilos |
สปีชีส์ | Balantiocheilus melanopterus Balantiocheilos ambusticauda |
สถานะอนุรักษ์ | สถานะ : สูญพันธุ์จากธรรมชาติ[1] |
ปลาหางไหม้ ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Balantiocheilus melanopterus ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) วงศ์ย่อย Cyprininae - Systomini มีรูปร่างคล้ายปลาตามิน (Amblyrhynchichthys truncatus) มีรูปร่างและทรวดทรงที่เพรียวยาว ตาโต ปากเล็ก ขยับปากอยู่ตลอดเวลา ใต้คางมีแผ่นหนังเป็นถุงเปิดออกด้านท้าย ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็กสัดส่วนของครีบทุกครีบเหมาะสมกับลำตัว โดยเฉพาะครีบหางซึ่งเว้าเป็นแฉกลึก สีของลำตัวเป็นสีเงินแวววาว ด้านหลังสีเขียวปนเทา ครีบหลัง ครีบท้อง ครีบก้นและครีบหาง สีเหลืองและขอบเป็นแถบดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ว่ายน้ำได้ปราดเปรียวมาก และกระโดดขึ้นได้สูงจากน้ำมาก มีขนาดโตเต็มที่ไม่เกิน 20 เซนติเมตร
นิยมอยู่เป็นฝูง หากินตามใต้พื้นน้ำ ในอดีตพบชุกชุมในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในประเทศไทย ในต่างประเทศพบได้ที่เกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย (ปลาที่พบในอินโดนีเซียสีของครีบหางจะออกเหลืองสดกว่า) แต่สถานภาพในปัจจุบัน ในประเทศไทยได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ (Extinct in the Wild) ในอินโดนีเซียก็ใกล้จะสูญพันธุ์เช่นกัน
ปัจจุบัน ปลาที่พบขายในตลาดปลาสวยงาม เป็นปลาที่เกิดจากการผสมเทียมทั้งสิ้น
มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "หางเหยี่ยว" หรือชื่อในวงการปลาสวยงามเรียกว่า "ฉลามหางไหม้" อันเนื่องจากความรวดเร็วในการว่ายน้ำ
ในปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) มีการอนุกรมวิธานปลาหางไหม้ชนิดใหม่ของโลก ในอินโดนีเซีย มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Balantiocheilos ambusticauda