วงศ์ปลาตะเพียน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อันดับ | Cypriniformes |
วงศ์ | Cyprinidae |
วงศ์ปลาตะเพียน (อังกฤษ Cyprinidae) Cyprinidae มาจากคำว่า ปลาทอง ในภาษากรีก ประกอบด้วยปลาจำพวกปลาไน, ปลาตะเพียน, ปลาทอง และปลาซิว
ถือเป็นวงศ์ที่ใหญ่ที่สุดในปลาน้ำจืด ประกอบไปด้วยชนิด (Species) มากกว่า 2000 ชนิดใน 200 สกุล (Family) ปลาในวงศ์นี้จัดอยู่ในอันดับ Cypriniformes
เป็นวงศ์ที่มีชนิดและจำนวนปลามากที่สุดในปลาน้ำจืดของไทย และมีความหลากหลายเป็นอันดับสามของโลก ปัจจุบันพบแล้วอย่างน้อย 204 ชนิด
ปลาในวงศ์ ไม่มีฟันที่ริมฝีปาก แต่มีฟันซี่ใหญ่อยู่ในลำคอ เกล็ดเป็นแบบขอบเรียบและบาง (Cycloid) ครีบเป็นก้านครีบอ่อน ครีบหางส่วนมากเป็นเว้าแฉกลึก ครีบท้องอยู่ค่อนมาทางตอนกลางของลำตัวด้านท้อง
ลำตัวมักแบนข้างหรือเป็นแบบปลาตะเพียนที่เรารู้จักดี แต่ก็มีบางชนิดที่ลำตัวค่อนข้างกลม เช่น ปลาเล็บมือนาง (Crossocheilus reticulatus) เป็นต้น
ปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์คือ ปลากระโห้ (Catlocarpio siamensis)
อาศัยเฉพาะในน้ำจืด ส่วนมากเป็นปลากินพืช แต่ก็พบมีหลายชนิดกินเนื้อหรือแพลงก์ตอน
ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกันมาก ยกเว้นบางชนิดสีและตุ่มข้างแก้มในตัวผู้ ต่างจากตัวเมีย
แพร่พันธุ์โดยการวางไข่จำนวนมาก พบในแม่น้ำเขตร้อน เขตอบอุ่นและเขตหนาวเกือบทั่วโลก ยกเว้นขั้วโลก ทวีปออสเตรเลีย และทวีปอเมริกาใต้
จัดเป็นวงศ์ปลาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมาก