กบฏยังเติร์ก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย เป็นการก่อกบฏเมื่อวันที่ 1 เมษายน - 3 เมษายน พ.ศ. 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ก่อการประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือที่เรียกว่ารุ่น ยังเติร์ก ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร (ม.พัน.4 รอ.), พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.1 รอ.), พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร (ร.2), พันโทพัลลภ ปิ่นมณี (ร.19 พล.9), พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.31 รอ.), พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.1 รอ.), พันเอกบวร งามเกษม (ป.11), พันเอกสาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.11) โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ
คณะผู้ก่อการได้เริ่มก่อการเมื่อเวลา 2.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน โดยจับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโทหาญ ลีนานนท์, พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรีวิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ มีใจความว่า
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พลตรี อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2
การกบฏสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีการต่อสู้กัน โดยเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วเสมือนฝันหรือเป็นการแสดง ประจวบกับเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนตรงกับวันเอพริลฟูลส์ ซึ่งตามธรรมเนียมชาวตะวันตกถือเป็นวันที่ผู้คนโกหกใส่กันได้ จึงได้อีกชื่อนึงในเชิงเหยียดหยันจากสื่อมวลชนว่า กบฏเมษาฮาวาย
ผู้ก่อการเดินทางออกนอกประเทศ พันเอกมนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง และได้รับการคืนยศทางทหาร ในเวลาต่อมา
ภายหลังเหตุการณ์ พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญคุมกำลังทหารต่อต้าน ได้รับความไว้ใจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอันมาก ได้เลื่อนเป็นพลโท แม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- หนังสือ 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน โดย กองบรรณาธิการมติชน ISBN. 974-323-889-1