โผน กิ่งเพชร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้อมูลส่วนตัว | ||
---|---|---|
ชื่อจริง | มานะ สีดอกบวบ | |
วันเกิด | 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 | |
สถานที่เกิด | อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ |
|
วันที่เสียชีวิต | 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 | |
รุ่น | ฟลายเวท | |
ผู้จัดการ | ทองทศ อินทรทัต หิรัญ สีดอกบวบ (พี่ชาย) |
|
เทรนเนอร์ | นิยม ทองชิต อัล ซิลวานี่ |
|
สถิติ | ||
ชก | 35 | |
ชนะ | 28 | |
ชนะน็อก | 9 | |
แพ้ | 7 | |
เสมอ | - |
โผน กิ่งเพชร ชื่อจริงว่า มานะ สีดอกบวบ เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 มีชื่อเล่นว่า " แกละ " เป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ โผนเป็นนักมวยรูปร่างผอมบาง มีช่วงขาที่ยาว ถนัดขวา ส่วนสูง 5 ฟุต 6½ นิ้ว[1] และเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกที่ได้ครองแชมป์โลกถึง 3 สมัย แต่ด้วยปัญหาส่วนตัว ทำให้โผนหันไปติดสุราจนการชกตกต่ำลง จนเสียแชมป์ไปและไม่มีโอกาสชิงแชมป์คืนได้อีก โผนเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2525 อย่างไรก็ตาม วันที่โผนชิงแชมป์โลกได้ถูกกำหนดให้เป็นวันนักกีฬาไทย และมีการสร้างอนุสรณ์สถานของเขาที่หัวหินหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว 10 ปี ถือเป็นตำนานของวงการมวยสากลคนหนึ่งของไทย
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
[แก้] ชีวิตวัยเด็ก
โผนเป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวน 9 คน ของนายห้อย และนางริ้ว สีดอกบวบ เรียนที่โรงเรียนมัธยมสาธุการจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วจึงเรียนต่อที่โรงเรียนประจำอำเภอหัวหินจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้น จึงไปเรียนที่โรงเรียนหัวหินวิทยาลัยจบการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 6[2] ด้วยความเป็นคนรักกีฬา ชอบเล่นกีฬาทุกประเภท แต่ที่ชอบมากที่สุด คือ มวยสากล ถึงขนาดเคยลั่นวาจาต่อหน้าเพื่อน ๆ ว่า เขาจะเป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยให้ได้[2](เนื่องด้วยก่อนหน้านั้น จำเริญ ทรงกิตรัตน์ เคยชิงแชมเปี้ยนโลกมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลย)
หลังจากนั้นโผนหันมาชกมวยสากลอาชีพอย่างจริงจัง จนได้ครองแชมป์ OPBF รุ่นฟลายเวท และได้ขึ้นชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวทกับ ปาสคาล เปเรซ เจ้าของตำแหน่งในขณะนั้นชาวอาร์เจนตินา ซึ่งโผนชนะคะแนนได้เป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยตามที่ตั้งใจไว้ แม้จะเสียตำแหน่งไป โผนก็ยังชิงแชมป์คืนกลับมาได้ ได้เป็นแชมป์โลกถึงสามสมัยก่อนจะแขวนนวมไป
[แก้] ชีวิตครอบครัว
หลังจากได้เป็นแชมป์โลกแล้ว โผนจึงรู้จักกับ มณฑา เพชรไทย ซึ่งเป็นบุตรสาวของ พ.ต.ต. พยุง เพชรไทย แต่งงานกันเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ก่อนที่โผนจะไปป้องกันแชมป์โลกกับไฟติ้ง ฮาราด้า โผนมีบุตรสาว 2 คน [2]
[แก้] บั้นปลายชีวิต
หลังจากแขวนนวม ชีวิตของโผนตกต่ำอย่างที่สุด เพราะทรัพย์สินเงินทองเมื่อครั้งได้จากการชกมวยก็ร่อยหรอ แม้แต่โรงเรียนมานะวิทยา ที่เคยสร้างไว้ที่บ้านเกิด เมื่อครั้งรุ่งเรือง ก็ต้องขายทิ้ง ประกอบอาชีพค้าขายก็ขาดทุน เพราะไม่เจนจัดเล่ห์เหลี่ยมการค้า ส่วนตัวโผนเองก็มีโรคประจำตัวเรื้อรังคือ โรคเบาหวาน
ท้ายที่สุด ขณะรับประทานอาหารกับครอบครัวที่บ้านหัวหิน อาหารเกิดสำลักเข้าไปติดอยู่ในหลอดลม ทำให้เกิดการบูดเน่าและโลหิตเป็นพิษ อาการของโผนทรุดหนัก เพราะเป็นหวัดอยู่ด้วยและเป็นโรคปอดแทรกซ้อนเข้ามา ครอบครัวต้องนำส่งโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นการด่วน อาการก็ไม่ดีขึ้น จนในที่สุด เวลา 5 ทุ่ม ของคืนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 โผนก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ ด้วยวัยเพียง 47 ปี 3 เดือน 19 วัน[2]
[แก้] ผลงานด้านการชกมวย
โผน ฝึกและขึ้นชกมวยครั้งแรกที่หัวหินบ้านเกิด มีฝีมือดีที่เป็นที่ลือลั่น แต่ สง่า สีดอกบวบ พี่ชายคนโต ไม่เห็นชอบด้วย จึงนำโผนมาฝากไว้กับ นายห้างทองทศ อินทรทัต เจ้าของบริษัทเทวกรรม โอสถ ซึ่งเป็นเจ้าของค่าย "กิ่งเพชร" ในซอยชื่อเดียวกับค่าย ย่านถนนเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2497[2] ซึ่งโผนได้รับการฝึกสอนและขึ้นชกสม่ำเสมออย่างจริงจัง โดยที่มาของชื่อ " โผน " นั้น เป็นชื่อของน้องชายนายห้างทองทศ ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏวังหลวง พ.ศ. 2492 ก่อนหน้านี้ (พ.ต. โผน อินทรทัต อดีตเสรีไทย และผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ในขณะนั้น)
การชกของโผนดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชนะน็อก กู้น้อย วิถีชัย แชมป์ฟลายเวทของเวทีราชดำเนิน ได้อย่างงดงาม ทั้ง ๆ ที่โผนมีประสบการณ์น้อยกว่าอย่างเทียบไม่ติด และต่อมาเมื่อมีการแก้มือกัน โผนก็ชนะคะแนนไปได้อีกครั้ง ก่อนจะขึ้นครองแชมป์เวทีราชดำเนิน โผนชกชนะนักมวยชื่อดังในรุ่นฟลายเวตและแบนตัมเวทในยุคนั้นมาแล้วหลายคน เช่น บุญธรรม วิถีชัย พร พัลธุมเกียรติ สมยศ สิงหพัลลภ ประยุทธ ยนตรกิจ เป็นต้น[3] ต่อมา โผนได้ขึ้นชิงแชมป์ภาคตะวันออกไกล ฯ (OPBF) โดยชนะคะแนน แดนนี่ คิด เจ้าของตำแหน่งชาวฟิลิปปินส์ โผนจึงได้มีชื่อติดอันดับโลก และเป็นกรุยทางสู่การชิงแชมป์โลก
[แก้] แชมป์โลกคนแรกของไทย
การชิงแชมป์โลกของโผนได้กระทำต่อหน้าพระพักตร์ กับปาสคาล เปเรซ แชมเปี้ยนชาวอาร์เจนตินา ณ เวทีมวยลุมพินี เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 โดยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรด้วย การชกในวันนั้น ไม่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ เนื่องจากประเทศไทยขณะนั้นยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ แต่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียง และมีการบันทึกการชกเป็นหนังสารคดีฉายตามโรงภาพยนตร์ในภายหลังแทน [4][2] เริ่มแรกกำหนดการชิงแชมป์โลกของโผน คือ 2 เมษายน แล้วจึงเลื่อนออกมาเป็น 16 เมษายน มีการแต่งเพลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงด้วยทำนองเพลงกราวกีฬาว่า [5]
วันที่ 2 เมษามหาฤกษ์ ชาวไทยเอิกเกริกกันทั่วหน้า โผนจะได้ชิงมงกุฏสุดโสภา เป็นมิ่งขวัญประชาชาติไทย | ||
ก่อนถึงวันชก มีการโปรโมตตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น แต่งเพลงเชียร์โผนเป็นทำนองเพลงมาร์ช ปลุกใจ ตามวิทยุ หรือ รถกระจายเสียง ซึ่งผู้แต่ง คือ สุรพล โทณะวนิก และผู้ขับร้อง คือ มีศักดิ์ นาครัตน์ มีเนื้อร้องบางช่วงว่า
เราเชียร์โผน...เราเชียร์โผน...เราเชียร์โผน..โผน...โผน...โผน...โผน เปเรซจะแข็งอย่างไร แต่โผนเลือดไทย....ต้องเชียร์ไว้ดีกว่า..... | ||
แต่ก็มีเด็ก ๆ ไปเเปลงเนื้อเป็น[6]
โผน กิ่งเพชร เปเรซ กิ่งไผ่ โผน มือไวต่อยไข่ เปเรซ | ||
สำหรับ ปาสคาล เปเรซ แชมเปี้ยนนั้น เคยครองเหรียญเงินโอลิมปิกมาแล้ว จากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ที่กรุงลอนดอน ในปี พ.ศ. 2491 และก่อนหน้าจะมาป้องกันตำแหน่งกับโผนนั้น ได้ป้องกันตำแหน่งไว้ได้แล้วถึง 10 ครั้ง ครองแชมป์อย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 5 ปี โดยอายุของเปเรซขณะนั้นได้ 33 ปี ขณะที่โผนอายุเพียง 25 ปี ผ่านการชกมาแค่ 22 ไฟท์ เมื่อมาถึง คนไทยให้ฉายาเปเรซว่า "ยักษ์แคระ" เพราะเป็นนักมวยรูปร่างเล็ก แต่มีช่วงแขนที่ใหญ่ ดูบึกบึน
ผลการแข่งขันในการชกในครั้งนั้น ปรากฏว่าโผนชนะคะแนนอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ โดยกรรมการ โลเรนโซ เทอเลบ้า กรรมการห้ามบนเวทีชาวอาร์เจนตินา ชาติเดียวกับเปเรซ ให้เปเรซชนะ 145 - 143 กรรมการชาวไทย วงศ์ หิรัญยเลขา ให้โผนชนะ 148 - 137 และ แน็ต แฟลชเชอร์ กรรมการจากเดอะ ริง ให้โผนชนะ 146 - 140 ได้ครองแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท ของสถาบันเดอะริง (The Ring) เป็นแชมป์โลกคนแรกของไทย ภายหลังการรู้ผลการชก ที่อำเภอหัวหินบ้านเกิดของโผนได้มีการจุดพลุฉลองทั่วทั้งเมืองทันที ต่อมา สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 16 เมษายน ของทุกปี เป็น วันนักกีฬายอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย หรือวันนักกีฬาไทย[7]โดยมีการมอบรางวัลถ้วยพระราชทานเป็นประจำทุกปี (คนละวันกับวันกีฬาแห่งชาติ (16 ธันวาคม)ที่กำหนดตามวันที่ในหลวงทรงได้เหรียญทองซีเกมส์ )
ในการชกครั้งต่อ ๆ มา เมื่อโผน กิ่งเพชร เสียตำแหน่งไปก็สามารถชิงกลับมาได้ถึง 3 ครั้ง โดยมีหลายไฟท์ในความทรงจำ เช่น การแก้มือกับ ปาสคาล เปเรซ ที่ลอสแอนเจลิส โดยชนะทีเคโอไปอย่างหายสงสัย และชนะคะแนน " เสือหมัดซ้าย " มิตสุโนริ เซกิ ถึงกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โผนเสียแชมป์สมัยแรกให้กับไฟติ้ง ฮาราด้า นักมวยดาวรุ่งจากญี่ปุ่น ก่อนการชก โผนเป็นฝ่ายได้เปรียบทั้งในด้านประสบการณ์และฝีมือ แต่เมื่อชกกันจริง ปรากฏว่า ฮาราด้าใช้ความหนุ่มแน่น บุกตะลุยเข้าชกตั้งแต่ยกแรกจนโผนตั้งตัวไม่ติด อ่อนแรงลงและแพ้น็อคไปในที่สุด [8]
โผนได้ชกแก้มือกับฮาราด้าอีกครั้งที่กรุงเทพฯ เมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2506 ซึ่งในหลวงได้เสด็จมาทอดพระเนตรด้วย การชกครั้งนั้นจัดที่อาคารยิมเนเซียม 1 หรือที่เรียกว่าอาคารนิมิบุตรในปัจจุบัน เป็นศึกชิงแชมป์โลกครั้งที่ 4 ที่จัดในเมืองไทย ในวันนั้นคนดูเข้าซื้อตั๋วที่สนามจนแน่น ตั้งแต่เวลา 17.00 น. และมีคนดูที่ซื้อตั๋วแล้วแต่เข้าสนามไม่ได้อีกมาก[9]
การชกในยกแรก ๆ โผนใช้เชิงชกที่เหนือกว่าและหมัดแย็ป เก็บคะแนนไปเรื่อย ๆ ส่วนฮาราด้ายังบุกตะลุยเข้ามาในแบบเดิม จนโผนเริ่มหมดแรง ยืนขาตายหนีไม่ออก ถูกฮาราด้าไล่ถลุง ขณะนั้นในหลวงเสด็จถึงสนามมวยพอดี เมื่อโผนทราบว่าในหลวงเสด็จมาแล้วก็เกิดกำลังใจออกไปชกกับฮาราด้าได้ในรูปแบบเดิมใช้จังหวะฝีมือที่เหนือกว่าหลอกล่อฮาราด้า แทบจะเป็นฝ่ายชกข้างเดียวครบ 15 ยก โผนจึงเป็นฝ่ายชนะคะแนน ได้ครองแชมป์โลกสมัยที่ 2[8]
หลังจากชิงแชมป์คืนมาจากฮาราด้า โผนว่างเว้นจาการชกไปนานเนื่องจากโผนไม่ยอมเข้าค่ายซ้อม แม้จะมีผู้ท้าชิงจากญี่ปุ่น คือ ฮิโรยูกิ เอบิฮาร่า ติดต่อมา แต่ก็ต้องเลื่อนกำหนดการชกออกไปหลายครั้ง ระหว่างนี้ นิยม ทองชิตร ถอนตัวจากการเป็นเทรนเนอร์ หิรัญ สีดอกบวบ พี่ชายเข้ามาเป็นผู้จัดการแทน ในที่สุดกำหนดการชกระหว่างโผนกับเอบิฮาร่ามีขึ้นเมื่อ 18 กันยายน พ.ศ. 2506 และโผนเป็นฝ่ายแพ้น็อคแค่ยกแรกเท่านั้น[10] แต่ก็สามารถชกแก้มือ ชิงแชมป์โลกคืนจากเอบิฮาร่า เป็นสมัยที่สาม หลังจากนั้น ชื่อเสียงของโผนเริ่มตกต่ำลง การชกมวยของโผนไม่เป็นที่ราบรื่น เพราะขัดแย้งกับเทรนเนอร์ และผู้จัดการเสมอ ๆ จนต้องมีการเปลี่ยนตัวบ่อยครั้ง ประกอบกับโผนเองก็ติดสุราอย่างหนัก จนเกือบเป็นสุราเรื้อรัง หนีซ้อม ผลการชกก็ตกลงเรื่อย ๆ จนเสียแชมป์ให้กับซัลวาโตเร่ เบอรูนี่ ที่อิตาลี จากนั้น โผนไม่มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกเลย กลับมาชกไต่อันดับก็แพ้คะแนน เบบี้ โรโรน่า (ฟิลิปปินส์) โผนจึงแขวนนวมในปี พ.ศ. 2509 เมื่ออายุได้ 31 ปี
[แก้] ผลงานการชกครั้งสำคัญ
ผลงานการชกครั้งสำคัญของโผน[11] ได้แก่
- แชมป์ประเทศไทยรุ่นฟลายเวท
- ชิง 14 ตุลาคม 2499 ชนะคะแนน กู้น้อย วิถีชัย
- สละแชมป์
- แชมป์ OPBF รุ่นฟลายเวท (2500)
- ชิง, 6 มกราคม 2500 ชนะคะแนน แดนนี่ คิด ที่ กรุงเทพฯ
- ป้องกันครั้งที่ 1, 14 กันยายน 2500 ชนะคะแนน ฮิโตชิ มิซาโกะ ที่ กรุงเทพฯ
- แชมป์โลกรุ่นฟลายเวท (2503 – 2505)
- ชิง, 16 เมษายน 2503 ชนะคะแนน ปาสคาล เปเรซ ที่ เวทีลุมพินี
- ป้องกันครั้งที่ 1, 22 กันยายน 2503 ชนะน็อค ปาสคาล เปเรซ ยก 8 ที่ สหรัฐ
- ป้องกันครั้งที่ 2, 27 มิถุนายน 2504 ชนะคะแนน มิตสุโนริ เซกิ ที่ ญี่ปุ่น
- ป้องกันครั้งที่ 3, 30 พฤษภาคม 2505 ชนะคะแนน เคียว โนกูจิ ที่ ญี่ปุ่น
- เสียแชมป์, 10 ตุลาคม 2505 แพ้น็อค ไฟติ้ง ฮาราด้า ยก 11 ที่ ญี่ปุ่น
- แชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBA, WBC (2506)
- ชิง, 12 มกราคม 2506 ชนะคะแนน ไฟติ้ง ฮาราด้า ที่ กรุงเทพฯ
- เสียแชมป์, 18 กันยายน 2506 แพ้น็อค ฮิโรยูกิ เอบิฮาร่า ยก 1 ที่ ญี่ปุ่น
- แชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBA, WBC (2507 – 2508)
- ชิง, WBA, WBC 23 มกราคม 2507 ชนะคะแนน ฮิโรยูกิ เอบิฮาร่า ที่ เวทีราชดำเนิน
- เสียแชมป์, 23 เมษายน 2508 แพ้คะแนน ซัลวาโตเร่ เบอร์รูนี่ ที่ อิตาลี
- เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ
- ชิงแชมป์ OPBF รุ่นแบนตัมเวท 7 กรกฎาคม 2500 แพ้คะแนน เลียว เอสปิโนซ่า ที่ กรุงเทพฯ
[แก้] ผลงานด้านอื่น
[แก้] การแสดงภาพยนตร์
เมื่อยังเป็นแชมป์โลกอยู่นั้น โผน กิ่งเพชร เคยแสดงภาพยนตร์เรื่อง " เทพบุตรนักเลง " ในปี พ.ศ. 2508 ด้วย นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ โดยโผนแสดงเป็นตัวประกอบ เนื่องจากเป็นบุคคลที่โด่งดังอยู่ในเวลานั้น และมี อภิเดช ศิษย์หิรัญ นักมวยไทยชื่อดังร่วมสมัยแสดงด้วย นอกจากนี้ เมื่อโผนเสียชีวิตไปแล้ว ในปี พ.ศ. 2529 กันตนาจึงได้ผลิตละครชีวประวัติของโผน กิ่งเพชร ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5[12]
[แก้] การฝึกสอนมวยสากล
โผนเป็นนักมวยที่มีจุดเด่นที่หมัดแยปรวดเร็ว ฟุตเวิร์กคล่องแคล่ว หาจังหวะชกฉาบฉวยได้ดี และมีปฏิภาณไหวพริบในการชก ไม่ใช่มวยหมัดหนักแบบ"โป้งเดียวจอด" [5] เมื่อโผนเลิกชกมวยแล้ว เคยมีนักมวยรุ่นหลังมาฝึกมวยกับโผนหลายคน รวมทั้ง พเยาว์ พูลธรัตน์ ส่วน ชาติชาย เชี่ยวน้อย แชมป์โลกคนที่ 2 เคยมาเป็นคู่ซ้อมของโผนอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อราว พ.ศ. 2519 - 2520 มีชาวญี่ปุ่นมาเชิญโผนไปสอนมวยสากลที่ญี่ปุ่น แต่โผนปฏิเสธ โดยกล่าวว่าเขาไม่ต้องการให้วิชามวยนี้ไปอยู่ต่างประเทศ แต่ไม่มีหน่วยงานใด ๆ ในไทยมาเชิญโผนไปสอนมวยสากลอย่างจริงจัง ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีฟิล์มภาพยนตร์บันทึกภาพการชกของโผนไว้ศึกษาในพิพิธภัณฑ์ [2]
[แก้] กิจกรรมด้านสังคม
เมื่อโผนได้เป็นแชมป์โลก และเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง โผนได้สร้างโรงเรียนที่อำเภอหัวหินชื่อ "โรงเรียนมานะวิทยา" เพื่อเปิดโอกาสให้คนจนได้เรียน โดยเซ้งกิจการต่อจากโรงเรียนจีนที่ใกล้จะปิดกิจการ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.3 แต่เปิดอยู่ได้ไม่นาน ก็ซบเซาจนต้องปิดกิจการ และถูกกระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดเมื่อ พ.ศ. 2520[2]
[แก้] อนุสรณ์สถาน
แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างอนุสรณ์สถานของโผน กิ่งเพชรเริ่มขึ้นตั้งแต่โผนเสียชีวิต แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2532 หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดฉายภาพยนตร์การชกระหว่างโผนกับเปเรซ เก็บเงินบริจาคได้จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีการสร้างอนุสรณ์สถาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2534 สมาคมกิจวัฒนธรรมได้เคลื่อนไหวเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานอีกครั้ง และได้เสนอให้สร้างอนุสาวรีย์ของโผนที่หาดหัวหิน เทศบาลหัวหินได้จัดงานแสดงดนตรีเพื่อระดมทุนก่อสร้างเมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2534 จากนั้น จึงเริ่มการสร้างและมีพิธีเปิดเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2535[7] ลักษณะรูปปั้น สูง 2 เมตร 20 เซนติเมตร อยู่ในท่ายืน มือขวาชูกำปั้น มือซ้ายถือเข็มขัดแชมป์โลก[13] โดยประติมากรผู้ปั้นรูปโผน คือ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2549[14]
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ที่ตั้งชื่อให้เกียรติกับโผน คือ "น้ำตกโผนพบ" ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย โดยโผนได้เคยมาฟิตซ้อมบนภูกระดึงเพื่อให้เคยชินกับอากาศของต่างประเทศ ก่อนเดินทางไปแข่งขัน จึงได้ตั้งชื่อนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่โผน กิ่งเพชร[15]
[แก้] อ้างอิง
- ^ boxrec.com
- ^ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 ทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์. โผน กิ่งเพชร ผู้บุกเบิกตำแหน่งแชมป์โลกของไทย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5(6): เมษายน 2527 หน้า 88-97
- ^ อาว์สังข์ สุดเสียง. เรื่องเก่าเล่าใหม่:สนอง ร.ส.พ. หนึ่งเดียวที่โผนกิ่งเพชรไม่กล้าทาบ. นิตยสารมวยโลก. เล่มที่ 1128 เมษายน 2539 หน้า 40 - 43
- ^ รายชื่อภาพยนตร์ไทย พ.ศ. 2503
- ^ 5.0 5.1 อัศศิริ ธรรมโชติ.โผนรำลึก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5(6) เมษายน 2527 หน้า 100 - 103
- ^ พล นิกร กิมหงวน ตอน ไปเชียร์โผน
- ^ 7.0 7.1 โดม สุขวงศ์. เปิดอนุสาวรีย์ โผน กิ่งเพชร 16 เมษายน 2535. ศิลปวัฒนธรรม. ปี่ที่ 13(6): 121-126 เมษายน 2535
- ^ 8.0 8.1 คนเหล็ก. ย้อนอดีตมวยดัง:มาซาฮิโกะ ไฟติ้ง ฮาราด้า ผู้เขี่ยโผนหล่นจากบัลลังก์โลก. นิตยสารมวยโลก. เล่มที่ 1197 สิงหาคม 2550 หน้า 40 -41
- ^ ท่านปลัด. เรื่องเก่าเล่าใหม่: 2 ศึกชิงแชมป์โลกที่ลืมไม่ลง. นิตยสารมวยโลก. เล่มที่ 1132 พฤษภาคม 2549 หน้า 19-21
- ^ อาว์สังข์ สุดเสียง. เรื่องเก่าเล่าใหม่:โผน VS เอบิฮาร่าที่โตเกียว ...โผนถูกน็อกยกแรก. นิตยสารมวยโลก. ฉบับที่ 1135 หน้า 18-21 มิถุนายน 2549
- ^ สถิติการชก boxrec.com (อังกฤษ)
- ^ ขอเชิญร่วมระลึกละครกันตนา-ททบ.5 ก่อนที่สิ่งดีๆจะมาถึง
- ^ เอกรินทร์ พึ่งประชา. โผน กิ่งเพชร "เพชร" เฉิดฉายที่ชายหาดหัวหิน. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 13 (6): 128-132. เมษายน 2535
- ^ ลำดับเหตุการณ์กว่าจะเป็นบ้านพิพิธภัณฑ์
- ^ คำเล่าขานกับตำนานภูกระดึง se-ed.net
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- คลิปวีดีโอ โผน กิ่งเพชร V.S. ปาสคาล เปเรซ ครั้งที่ 2
- คลิปวีดีโอ โผน กิ่งเพชร V.S. ฮิโรยูกิ เอบิฮาร่า
สมัยก่อนหน้า: ปาสคาล เปเรซ |
แชมป์โลกรุ่นฟลายเวท 16 เม.ย. 2503 - 10 ต.ค. 2505 |
สมัยถัดไป: ไฟติ้ง ฮาราด้า |
สมัยก่อนหน้า: ไฟติ้ง ฮาราด้า |
แชมป์ WBC,WBA รุ่นฟลายเวท 12 ม.ค. 2506 - 18 ก.ย. 2506 |
สมัยถัดไป: ฮิโรยูกิ เอบิฮาร่า |
สมัยก่อนหน้า: ฮิโรยูกิ เอบิฮาร่า |
แชมป์ WBC,WBA รุ่นฟลายเวท 23 ม.ค. 2507 - 23 เม.ย. 2508 |
สมัยถัดไป: ซัลวาโตเร่ เบอร์รูนี่ |