แพนด้ายักษ์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สกุล | Ailuropoda Milne-Edwards |
สปีชีส์ | A. melanoleuca |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | 'Ailuropoda melanoleuca' (David, 1869) |
สถานะอนุรักษ์ | สถานะ : ใกล้สูญพันธุ์ |
แพนด้ายักษ์ หรือไจแอนท์แพนด้า (Ailuropoda melanoleuca) คนไทยนิยมเรียกหมีแพนด้า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์หมี (Ursidae) ถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน [1]
อาหารโปรดของแพนด้ายักษ์คือไผ่ นอกนั้นจะเป็นหญ้าชนิดอื่น ๆ ลักษณะเฉพาะของแพนด้ายักษ์คือมีขนสีดำรอบดวงตา, ใบหู, บ่า และขาทั้งสี่ข้าง ส่วนอื่นประกอบด้วยขนสีขาว ปัจจุบันแพนด้ายักษ์เป็นหนึ่งในสัตว์สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดสายพันธุ์หนึ่งของโลก จากการสำรวจประชากรแพนด้าปี พ.ศ. 2547 มีแพนด้ายักษ์ประมาณ 1,600 ตัวอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ และมีประมาณ 160 ตัวที่เลี้ยงในกรงเลี้ยง [2]
[แก้] ลักษณะทั่วไป
แพนด้ายักษ์มีถิ่นอาศัยอยู่ตามพื้นที่ภูเขา เช่น มณฑลเสฉวน ซานซี กานซูและทิเบต แพนด้ายักษ์เป็นสัญลักษณ์ของกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund:WWF) องค์กรด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 แพนด้าได้กลายเป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศจีน และรูปภาพของมันได้อยู่บนเหรียญทองของจีน
ถึงแม้พวกมันจะจัดอยู่ในวงศ์ของหมี แต่พฤติกรรมการกินของมันแตกต่างจากหมีโดยสิ้นเชิง แพนด้าเป็นสัตว์กินพืชเป็นอาหาร โดย 99% ของอาหารที่มันกินคือไผ่ แต่บางทีอาจพบว่ามันก็กินไข่ ปลา และแมลงบางชนิดในไม้ไผ่ที่มันกิน นี่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ
หลายสิบปีที่ผ่านมา การจัดจำแนกสายพันธุ์ที่แน่นอนของแพนด้ายังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แพนด้ายักษ์และแพนด้าแดงซึ่งเป็นญาติสายพันธุ์ห่าง ๆ กัน และยังมีลักษณะพิเศษที่เหมือนทั้งหมีและแรคคูน อย่างไรก็ตาม การทดลองทางพันธุกรรมบ่งบอกว่าแพนด้ายักษ์เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของหมี (วงศ์ Ursidae) หมีที่สายพันธุ์ใกล้เคียงที่สุดของแพนด้าคือหมีแว่นของอเมริกาใต้ (ข้อขัดแย้งที่ยังคงเป็นที่สงสัยอยู่คือแพนด้าแดงนั้นอยู่ในวงศ์ใด เป็นที่ถกเถียงว่าอาจจะอยู่ในวงศ์หมี (Ursidae), วงศ์แรคคูน, วงศ์โพรไซโอนิเด (Procyonidae), หรืออยู่ในวงศ์เฉพาะของมันเอง ไอเลอริเด (Ailuridae))
แพนด้าเป็นสัตว์สปีชีส์ที่ถูกคุกคามหรืออยู่ในอันตรายต่อการสูญพันธ์ ทั้งนี้มาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่จากการบุกรุกของมนุษย์ อัตราการเกิดต่ำทั้งในป่าและในกรงเลี้ยง เชื่อว่ามีแพนด้ายักษ์เพียง 1,600 ตัว อาศัยอยู่รอดในป่า
หมีแพนด้ามีอุ้งตีนที่ผิดจากธรรมดา คือมีนิ้วหัวแม่มือ และมีนิ้วอีก 5 นิ้ว นิ้วหัวแม่มือที่จริงแล้วมาจากการปรับปรุงรูปแบบของกระดูกข้อต่อ สตีเฟน เจย์ กาวลด์ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ โดยมีชื่อเรื่องว่า The Panda's Thumb หรือ นิ้วหัวแม่มือของแพนด้า หางของแพนด้ายักษ์นั้นสั้นมาก โดยมีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร
แพนด้ายักษ์ เป็นที่รู้จักในตะวันตกเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2412 โดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส อาร์มันด์ เดวิด ผู้ซึ่งได้รับหนังของแพนด้ามาจากนายพรานเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2412 ส่วนชาวตะวันตกคนแรกที่เป็นที่รู้จักว่าเห็นแพนด้ายักษ์ที่ยังมีชีวิตคือนักสัตว์วิทยาเยอรมัน ฮิวโก เวยโกลด์ เขาซื้อลูกของมันมาในปี พ.ศ. 2459 เคอร์มิท และ ธีโอดอร์ รูสเวลท์ จูเนียร์ ได้เป็นชาวต่างชาติแรก ที่ยิงแพนด้าในการเดินทางศึกษาที่ประเทศจีน เพื่อนำไปสตัฟฟ์และใช้ในการศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ฟิลด์ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ในปี พ.ศ. 2479 รุธ ฮาร์คเนส เป็นชาวตะวันตกคนแรก ที่นำเข้าแพนด้ายักษ์ที่มีชีวิตมายังสหรัฐฯ เป็นลูกแพนด้าชื่อซู-ลิน โดยนำมาเลี้ยงที่สวนสัตว์บรูคฟิลด์ในชิคาโก
แพนด้ายักษ์ถือเป็นสัญลักษณ์ทางการทูตอย่างหนึ่งของจีน จะเห็นได้ว่าจีนส่งหมีแพนด้าไปยังสวนสัตว์สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยการให้ยืม ซึ่งเป็นเครื่องหมายการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนและชาติตะวันตก การปฏิบัติเป็นธรรมเนียมเช่นนี้ทำให้มีคนเรียกแพนด้าว่า "ทูตสันถวไมตรี"
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ไม่มีการใช้หมีแพนด้าในฐานะทูตสันถวไมตรีอีกต่อไป แต่จีนมีการเสนอที่จะส่งแพนด้ายักษ์ไปยังชาติอื่นโดยให้ยืมเป็นเวลา 10 ปี โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ และมีข้อกำหนดว่าลูกของแพนด้ายักษ์ใด ๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณรัฐประชาชนจีน
[แก้] อ้างอิง
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น