เปรต
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เปรต เป็นผีตามความเชื่อไทย มีรูปร่างสูงโย่งเท่าต้นตาล ผมยาว คอยาว ผอมโซ ตัวดำ ท้องโต มือเท่าใบตาล แต่มีปากเท่ารูเข็ม และเปรตจะหิวอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากกินอะไรไม่ได้ จึงชอบมาขอส่วนบุญในงานบุญต่างๆ ซึ่งเมื่อสะสมบุญได้แล้วเกิดใหม่ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานอย่างที่เป็นอยู่
เนื้อหา |
[แก้] ความหมาย
คำว่า เปรต แปลว่า ผู้ละโลกนี้ไปแล้ว ผู้ตายไปแล้ว ในทางพุทธศาสนาหมายถึง สัตว์พวกหนึ่งที่ที่เกิดในเปตสิสัยซึ่งเป็นอบายภูมิ ๑ ใน ๔ ซึ่งประเภทของเปรตมีหลายประเภท เช่นประเภทหนึ่งเรียกว่า ปรทัตตูปชีวิเปรต คือเปรตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยส่วนบุญที่มีผู้ทำอุทิศให้ หากไม่มีส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้ก็มักจะกินเลือดและหนองของตัวเองเป็นอาหาร โบราณมีความเชื่อที่ว่า ถ้าใครทำร้ายพ่อแม่ ชาติหน้าจะไปเกิดเป็นผีเปรต
การทำพลีกรรมแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือการทำบุญอุทิศไปให้ผู้ตายว่า เปตพลี หรือ บุพเปตพลี
[แก้] ประเภทของเปรต
ประเภทของเปรตมีการแบ่งหลายประเภท เช่น
[แก้] แบ่งตาม เปตวัตถุอรรถกถา
แบ่งได้ 4 ประเภท
- ปรทัตตุปชีวิกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ จากอาหารที่มีมนุษย์ให้ เช่น การเซ่นไหว้ เป็นต้น
- ขุปปีปาสิกเปรต คือ เปรตที่อดอยาก ทุกข์จากความหิวโหอยู่เป็นนิจ
- นิชฌามตัณหิกเปรต คือ เปรตที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
- กาลกัญจิกเปรต คือ เปรตในจำพวกอสุรกาย
[แก้] แบ่งตาม คัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์ และ ฉคติทีปนีปกรณ์
แบ่งได้ 12 ประเภท
- วันตาสเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร
- กุณปาสเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินซากศพคนหรือสัตว์ เป็นอาหาร
- คูถขาทกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินอุจจาระต่าง ๆ เป็นอาหาร
- อัคคิชาลมุขเปรต คือ เปรตที่มีเปลวไฟลุกทั่วในปากตลอดเวลา
- สุจิมุขเปรต คือ เปรตที่มีปากเท่าเล็กขนาดเท่ารูเข็ม
- ตัณหัฏฏิตเปรต คือ เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียนจนเกิดทุกข์จากความหิวข้าวหิวน้ำอยู่เสมอ
- สุนิชฌามกเปรต คือ เปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่ถูกเผา
- สุตตังคเปรต คือ เปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้ายาวและคมราวกับมีด
- ปัพพตังคเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายสูงใหญ่เท่าขนาดของภูเขา
- อชครังคเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายราวกับงูเหลือม
- เวมานิกเปรต คือ เปรตที่ต้องเสวยทุกข์เฉพาะในเวลากลางวัน แต่ในเวลากลางคืนได้ไปเสวยสุขในวิมาน
- มหิทธิกเปรต คือ เปรตที่มีฤทธิ์มาก
[แก้] แบ่งตามวินัยและลักขณสังยุตตพระบาลี
แบ่งได้ 21 ประเภท
- อัฏฐีสังขสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่กระดูกติดกันเป็นท่อน ๆ
- มังสเปสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่เนื้อเป็นชิ้นๆ
- มังสปิณฑเปรต คือ เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน
- นิจฉวิปริสเปรต คือ เปรตที่ไม่มีหนังห่อหุ้ม
- อสิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์
- สัตติโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นหอก
- อุสุโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู
- สูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็ม
- ทุติยสูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ ๒
- กุมภัณฑเปรต คือ เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก
- คูถกูปนิมุคคเปรต คือ เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ
- คูถขาทกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินอุจจาระ
- นิจฉวิตกิเปรต คือ เปรตหญิงที่ไม่มีหนังห่อหุ้ม
- ทุคคันธเปรต คือ เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า
- โอคิลินีเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ
- อลิสเปรต คือ เปรตที่ไม่มีศีรษะ
- ภิกขุเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับพระ
- ภิกขุณีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับภิกษุณี
- สิกขมานเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสิกขมานา
- สามเณรเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณร
- สามเณรีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณรี
[แก้] อ้างอิง
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ. (ม.ป.ป.). ภูมิของเปรต. ค้นข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2550