เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์ (Princess Victoria of Hesse and by Rhine) (พระนามเต็ม วิกตอเรีย อัลเบอร์ตา เอลิซาเบธ มาธิลด์ มารี; 5 เมษายน พ.ศ. 2406 - 24 กันยายน พ.ศ. 2493) และต่อมา ทรงดำรงพระยศเป็น วิกตอเรีย เม้านท์แบ็ตเต็น มาร์ชเนสแห่งมิลด์ฟอร์ดฮาเว็น (Victoria Mountbatten, Marchioness of Milford Haven) ทรงเป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ของแกรนด์ดยุคลุดวิกที่ 4 แห่งเฮสส์และไรน์ และ เจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร
พระชนนีของพระองค์สิ้นพระชนม์ขณะที่พระขนิษฐาและพระอนุชายังทรงพระเยาว์ จึงทำให้ทรงมีภาระความรับผิดชอบต่อทุกพระองค์ก่อนเวลาอันควร พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์แห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก พระญาติชั้นที่หนึ่งซึ่งทรงรับราชการอยู่ในราชนาวีแห่งอังกฤษด้วยความรักและทรงมีชีวิตสมรสในสถานที่ต่างๆ ของทวีปยุโรป อันเป็นสถานที่ปฏิบัติราชการในราชนาวีของพระสวามี และได้เสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติด้วย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าหญิงและพระสวามีทรงสละพระอิสริยยศเยอรมันและใช้ราชสกุลที่ฟังดูเป็นอังกฤษว่า เมานท์แบ็ตเต็น พระขนิษฐาสองพระองค์ซึ่งได้อภิเษกสมรสเข้าไปยังพระราชวงศ์รัสเซียทรงถูกปลงพระชนม์โดยกลุ่มปฏิวัติคอมมิวนิสต์ พระองค์ทรงมีทัศนคติแบบเสรีนิยม เปิดเผย ชอบปฏิบัติ และฉลาด
นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงเป็นพระอัยยิกาของเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามีในสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อีกด้วย
เนื้อหา |
[แก้] ชีวิตในวัยเยาว์
เจ้าหญิงวิกตอเรียประสูติในวันอีสเตอร์ ณ ปราสาทวินด์เซอร์ โดยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระอัยยิกาได้เสด็จมาประทับอยู่ด้วย พระองค์ทรงเข้ารับศีลจุ่มตามแบบนิกายลูเธอรันภายในอ้อมพระกรของสมเด็จพระราชินีนาถในวันที่ 27 เมษายน[1] พระองค์ทรงมีชีวิตในวัยเยาว์ที่เมืองเบสซุนเกิน ประเทศเยอรมนี เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 3 พรรษา ครอบครัวของพระองค์ได้ย้ายไปประทับยังพระราชวังใหม่ เมืองดาร์มสตัดท์ ซึ่งเจ้าหญิงประทับในห้องเดียวกับเจ้าหญิงเอลลา พระขนิษฐาจนกระทั่งเจริญพระชนม์เข้าสู่วัยดรุณี ในช่วงการบุกแคว้นเฮสส์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2409 พระองค์พร้อมด้วยเจ้าหญิงเอลลา พระขนิษฐาทรงถูกส่งไปยังประเทศอังกฤษเพื่อไปประทับกับพระอัยยิกาจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงโดยการรวมแคว้นเฮสส์เป็นส่วนหนึ่งของปรัสเซีย[2] พระองค์ทรงได้รับการศึกษาในแบบส่วนพระองค์ถึงในระดับมาตรฐานที่สูงมาก และยังทรงเป็นนักอ่านหนังสืออยู่ตลอดพระชนม์ชีพอีกด้วย[3]
ในช่วงสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียในปี พ.ศ. 2413 พระองค์จำได้ว่าในขณะทรงช่วยทำซุปอยู่ในครัวกับพระชนนี ซึ่งทรงถูกซุปร้อนลวกที่แขน โรงพยาบาลสำหรับทหารได้ตั้งขึ้นอยู่ในเขตพระราชวังและท่ามกลางความหนาวเหน็บของฤดูหนาว[4] เมื่อปี พ.ศ. 2415 เจ้าชายฟรีดริช วิลเฮล์มแห่งเฮสส์และไรน์ พระอนุชาชันษา 18 เดือนทรงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเฮโมฟีเลีย การวินิจฉัยดังกล่าวสร้างความตกตะลึงแก่ราชวงศ์ทั่วทั้งทวีปยุโรป เนื่องจากว่าเป็นเวลายี่สิบปีมาแล้วที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงมีประสูติกาลเจ้าชายเลโอโพลด์ ดยุคแห่งออลบานี พระราชโอรสที่เป็นโรคเฮโมฟีเลีย เป็นการชี้ให้เห็นครั้งแรกว่าความผิดปกติของการหลั่งเลือดในพระราชวงศ์เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม[5] ในปีต่อมา "เจ้าชายฟริตตี้" ทรงตกลงมาจากพระบัญชรลงสู่บันไดหินและสิ้นพระชนม์ในที่สุด นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งแรกในหลายๆ ครั้งที่รุมเร้าเจ้าหญิงวิกตอเรีย
เมื่อปี พ.ศ. 2421 เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงได้รับเชื้อโรคคอตีบ เจ้าหญิงเอลลาทรงย้ายออกจากห้องทันที พระองค์ทรงเป็นสมาชิกในครอบครัวพระองค์เดียวที่รอดพ้นจากโรคดังกล่าว พระชนนีได้พยาบาลดูแลเจ้าหญิงวิกตอเรียและสมาชิกพระองค์อื่นๆ อยู่เป็นเวลาหลายวัน และในที่สุดเจ้าหญิงมารี พระขนิษฐาองค์เล็กของเจ้าหญิงได้สิ้นพระชนม์ลง เมื่อครอบครัวดูเหมือนว่าอาการดีขึ้น พระชนนีของเจ้าหญิงวิกตอเรียเริ่มประชวร พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันครอบรอบการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต[6] ในฐานะพระธิดาองค์ใหญ่ เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงรับหน้าที่เหมือนเป็นมารดาให้กับพระโอรสและธิดาองค์เล็กๆ และเสด็จเคียงข้างพระชนก[7] พระองค์ทรงเขียนว่า "การสิ้นพระชนม์ของพระมารดาเป็นการสูญเสียที่ไม่สามารถเรียกคืนได้ ช่วงวัยเด็กของเราจบสิ้นลงพร้อมกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เพราะว่าเราได้กลายเป็นพี่ใหญ่สุดและมีความรับผิดชอบมากที่สุด"[8]
[แก้] อภิเษกสมรส และ ครอบครัว
ในการรวมตัวกันของสมาชิกในพระราชวงศ์ เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงพบกับพระญาติชั้นที่หนึ่งของพระองค์อยู่เป็นประจำคือ เจ้าชายหลุยส์แห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก เจ้าชายจากรัฐเยอรมันเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งทรงเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นชาวอังกฤษและรับราชการเป็นทหารอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ในช่วงฤดูหนาวปี พ.ศ. 2425 ทั้งสองพระองค์ทรงพบกันอีกครั้งที่เมืองดาร์มสตัดท์และหมั้นกันในฤดูร้อนปีถัดมา[9]
หลังจากการเลื่อนออกไปเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ อันเนื่องมาจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเลโอโพลด์[10] เจ้าหญิงได้ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2427 ณ เมืองดาร์มสตัดท์ พระชนกของพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับการเลือกอภิเษกสมรส โดยในมุมมองของพระชนก เจ้าชายหลุยส์ไม่ทรงร่ำรวยเงินทองมากนักและจะพรากเจ้าหญิงไปจากการเป็นเพื่อนเคียงข้าง เพราะทั้งสองพระองค์จำเป็นต้องเสด็จไปประทับอยู่ในต่างแดนที่ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงเป็นตัวของตัวเองและไม่ได้ทรงใส่พระทัยกับความไม่พอใจของพระชนกมากนัก[11] ยิ่งน่าแปลกใจไปกว่านั้น พระชนกของเจ้าหญิงวิกตอเรียทรงอภิเษกสมรสอย่างลับๆ ในตอนเย็นวันเดียวกันกับอเล็กซานดรีน เด โคเลมีเน นางสนมที่ไร้ยศศักดิ์ซึ่งเป็นอดีตภรรยาของอุปทูตชาวรัสเซียประจำเมืองดาร์มสตัดท์ การอภิเษกสมรสกับหญิงสามัญชนที่หย่าร้างมาแล้วสร้างความตกใจกับพระราชวงศ์อื่นๆ ในทวีปยุโรป และด้วยความกดดันทางครอบครัวและการทูต จึงทำให้ต้องทรงยกเลิกการอภิเษกสมรส[12]
เจ้าหญิงวิกตอเรียและเจ้าชายหลุยส์ ทรงมีพระโอรสและธิดารวม 4 พระองค์ คือ
- เจ้าหญิงอลิซแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก (วิกตอเรีย อลิซ เอลิซาเบธ จูลี มารี; 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2512)
- ทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2446 ณ เมืองดาร์มสตัดท์ กับ เจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก (1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2425 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2487)
- พระชนนีในเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ
- เจ้าหญิงหลุยส์แห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก (หลุยส์ อเล็กซานดรา มารี ไอรีน; 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2508)
- ทรงอภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังเซนต์เจมส์ กับ เจ้าฟ้าชายกุสตาฟ อดอล์ฟ มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดน (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2425 - 15 กันยายน พ.ศ. 2516) ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน หลังการเสวยราชสมบัติของพระสวามี
- เจ้าชายจอร์จแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก (จอร์จ หลุยส์ วิกเตอร์ เฮนรี เซอร์จ; 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2435 - 8 เมษายน พ.ศ. 2481)
- ทรงดำรงตำแหน่ง มาร์ควิสที่ 2 แห่งมิลฟอร์ดฮาเว็น เอิร์ลแห่งเมดินา และไวส์เค้านท์อัลเดอร์เนย์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2464
- ทรงอภิเษกสมรสวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน กับ เค้านท์เตส นาเด็จดา มิคาอิลอฟนา เดอ ทอร์บี้ (28 มีนาคม พ.ศ. 2439 - 22 มกราคม พ.ศ. 2506)
- เจ้าชายหลุยส์แห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก (หลุยส์ ฟรานซิส อัลเบิร์ต วิกเตอร์ นิโคลาส; 25 มิถุนายน พ.ศ. 2443 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2522)
- ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น เอิร์ลเมานท์แบ็ตเต็นที่ 1 แห่งพม่า และบารอนรอมซีย์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2490
- ทรงดำรงตำแหน่งเป็น อุปราชแห่งอินเดีย ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2490
- ทรงดำรงตำแหน่งเป็น ข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดีย ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2490 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2491
- ทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ณ กรุงลอนดอน กับ เอ็ดวินา ซินเธีย แอนเน็ต แอชลีย์ (28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503)
พระสวามีของเจ้าหญิงทรงปฏิบัติราชการทหารอยู่ในราชนาวีอังกฤษและทั้งสองพระองค์ก็ได้ประทับอยู่ในตำหนักหลายที่เมืองเชสเตอร์ มณฑลซัสเซ็กส์ เมืองวอลตัน-ออน-เทมส์ และปราสาทไฮลิเก็นแบร์ก เมืองยูเก็นไฮม์ เมื่อเจ้าชายหลุยส์ทรงรับราชการอยุ่ในกองทัพเรือเมดิเตอร์เรเนียน เจ้าหญิงก็ยังทรงประทับในมอลตาในบางฤดูหนาวด้วย
[แก้] ปลายพระชนม์ชีพ
เจ้าชายหลุยส์ทรงถูกบังคับให้ลาออกจากราชนาวีอังกฤษในช่วงเริ่มแรกของสงครามโลกครั้งที่ 1เมื่อภูมิหลังเยอรมันของพระองค์กลายเป็นความลำบากใจ และทั้งสองพระองค์จึงเสด็จไปอยู่ตำหนักเคนต์ บนเกาะไวท์ในช่วงสงคราม ความเป็นปรปักษ์ของสาธารณชนอย่างไม่หยุดยั้งต่อเยอรมนี ทำให้พระมหากษัตริย์ (สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร) ทรงสละพระอิสรยยศเยอรมันทั้งหมด ขณะเดียวกันเจ้าชายหลุยส์และเจ้าหญิงวิกตอเรียก็ทรงสละพระอิสริยยศของพระองค์ และทรงเปลี่ยนชื่อราชสกุลแบ็ตเต็นเบิร์กให้เป็นภาษาอังกฤษว่า เม้านท์แบ็ตเต็น ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 อีกสามวันต่อมาเจ้าชายทรงได้รับพระราชทานยศขุนนางจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ให้ดำรงพระอิสริยยศเป็นมาร์ควิสแห่งมิลฟอร์ดฮาเว็น หลังจากการปฏิวัติรัสเซียเดือนตุลาคมพวกบอลเชวิคได้ปลงพระชนม์พระขนิษฐาในเจ้าหญิงวิกตอเรียสองพระองค์คือ สมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย และ แกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย พระชายาในแกรนด์ดยุคเซอร์เกย์ อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย
การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายหลุยส์หลังจากสงครามสิ้นสุดลงสามปี เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงย้ายไปประทับยังพระราชวังเคนซิงตัน ซึ่งได้รับพระราชทานจากองค์พระประมุขแห่งอักฤษ ในช่วงปี พ.ศ. 2473 พระองค์ทรงดูแลเกี่ยวกับการศึกษาและการเลี้ยงดูเจ้าชายฟิลิป พระนัดดาระหว่างการแยกกันอยู่ของพระชนกและพระชนนีและการดูแลสาธารณประโยชน์ของพระชนนี
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอากาศของนาซีเยอรมันทิ้งระเบิดที่พระราชวังเคนซิงตัน ทำให้เจ้าหญิงวิกตอเรียเสด็จไปประทับยังปราสาทวินด์เซอร์กับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในช่วงเวลาหนึ่ง
เจ้าฟ้าหญิงวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ ณ พระราชวังเคนซิงตัน กรุงลอนดอน โดยพระศพฝังอยู่ที่โบสถ์นักบุญมิลเดร็ด เมืองวิปปิ้งแฮม บนเกาะไว้ท์
[แก้] พระอิสริยยศ
- พ.ศ. 2406 - พ.ศ. 2427: สมเด็จพระองค์เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์ (Her Grand Ducal Highness Princess Victoria of Hesse and by Rhine)
- พ.ศ. 2427 - พ.ศ. 2460: สมเด็จพระองค์เจ้าหญิงหลุยส์แห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก (Her Grand Ducal Highness Princess Louis of Battenberg)
- 14 กรกฎาคม - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2460: เลดี้เม้านท์แบ็ตเต็น (Lady Mountbatten)
- พ.ศ. 2460 - พ.ศ. 2464: ท่านผู้หญิงมาร์ชเนสแห่งมิลด์ฟอร์ดฮาเว็น (The Most Honourable The Marchioness of Milford Haven)
- พ.ศ. 2464 - พ.ศ. 2493: ท่านผู้หญิงมาร์ชเนสหม้ายแห่งมิลด์ฟอร์ดฮาเว็น (The Most Honourable The Dowager Marchioness of Milford Haven)
[แก้] อ้างอิง
- ^ Hough, Richard (1984). Louis and Victoria: The Family History of the Mountbattens. Second edition. London: Weidenfeld and Nicolson, p.28.
- ^ Hough, p.29
- ^ Hough, p.30
- ^ Hough, p.34
- ^ Hough, p.36
- ^ Hough, pp.46–48
- ^ Vickers, Hugo (2004), "", Oxford Dictionary of National Biography (Oxford University Press)
- ^ Hough, p.50
- ^ Hough, p.57
- ^ Hough, p.114
- ^ Ziegler, Philip (1985). Mountbatten. London: Collins, p.24. ISBN 0002165430.
- ^ Hough, pp.117–122