มนัส จรรยงค์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มนัส จรรยงค์ | |
นามแฝง: | อ.มนัสวีร์ ฤดี จรรยงค์ รุ่ง น้ำเพชร |
---|---|
เกิด: | 10 มิถุนายน พ.ศ. 2450 จังหวัดเพชรบุรี |
เสียชีวิต: | 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 จังหวัดนนทบุรี |
อาชีพ: | นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ |
บิดา: | ผ่อง จรรยงค์ |
มารดา: | เยื้อน จรรยงค์ |
คู่สมรส: | อ้อม บุนนาค |
แนวทางการเขียน: | เรื่องสั้น |
มนัส จรรยงค์ (10 มิถุนายน พ.ศ. 2450 ที่จังหวัดเพชรบุรี — 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508) เป็นนักเขียนชาวไทย ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ราชาเรื่องสั้นของเมืองไทย "
มนัส จรรยงค์ เกิดที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรคนโตในจำนวน 10 คนของนายผ่องและนางเยื้อน จรรยงค์ เมื่อจบชั้นมัธยม 2 บิดามารดาได้ส่งไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ที่โรงเรียนสุขุมาลัย วัดพิชัยญาติ โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) แล้วไปเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจนจบชั้นมัธยม 6 และออกจากโรงเรียนเมื่อขึ้นชั้นมัธยม 7 เพราะผลการเรียนตกต่ำ ออกไปเผชิญชีวิตภายนอกเป็นนักแสดงกายกรรม แอบโดยสารใต้ท้องรถไฟเพื่อไปเป็นกรรมกรเหมืองแร่ที่ภาคใต้ และถูกนายตรวจจับได้ จึงต้องเดินเท้ากลับ
เมื่อ พ.ศ. 2471 มนัส จรรยงค์ ทำงานเป็นเสมียน และหัวหน้าวงดนตรีไทยที่จังหวัดเพชรบุรี มีโอกาสได้สอนดนตรีไทยให้กับคุณอ้อม บุนนาค ธิดาคนโตของพระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) จนเกิดรักใคร่ชอบพอกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 พระยาสุรพันธเสนี ได้ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลราชบุรี คุณอ้อมต้องย้ายตามบิดา และมีครูสอนดนตรีคนใหม่ เป็นนักเขียนชื่อ สนิท อรรถจินดา
มนัส จรรยงค์ เกิดความหึงหวง จึงคิดจะเป็นนักเขียนแข่งบ้าง เริ่มต้นการเขียนหนังสือด้วยการเขียนเรื่องสั้น ชื่อ "สวรรค์ครึ่งเดือน" โดยใช้นามปากกาว่า อ.มนัสวีร์ ( อ. ย่อมาจาก "อ้อม" หมายความว่า อ้อมผู้กล้าหาญ) ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์ ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2473 โดยบรรณาธิการได้เปลี่ยนชื่อเรื่อง เป็น "คู่ทุกข์คู่ยาก" ต่อมา ถึงแม้จะถูกกีดกันความรัก ทั้งคู่ก็ได้นัดหมายหนีไปใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันในกรุงเทพ เป็นที่เลื่องลือในยุคนั้น
มนัส มีนามปากกาอื่น ๆ ว่า ฤดี จรรยงค์, รุ่ง น้ำเพชร โดยเรื่องสั้นจะใช้ชื่อจริง โดยเรื่องสั้นเรื่อง "จับตาย" ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า "Shoot To Kill" ลงพิมพ์ในหนังสือ SPAN ของสมาคมนักเขียนออสเตรเลียเมื่อ พ.ศ. 2501 รวมมีผลงานเรื่องสั้นกว่า 1,000 เรื่อง เรื่องยาวกว่า 20 เรื่อง
มนัส จรรยงค์ ใช้ชีวิตคู่กับ คุณอ้อม บุนนาค มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ อมรา วิไลเกษม มัทนา บุนนาค มนู จรรยงค์ อาณัติ จรรยงค์ และอ้อมน้อย ทวีศักดิ์สกุล
มนัส จรรยงค์ถึงแก่กรรมด้วยโรคตับ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 รวมอายุได้ 58 ปี 5 เดือน
[แก้] การศึกษา
- ศาลาคามวาสี (ศาสากลางบ้านอยู่ใกล้วัดพลับพลาชัย ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี)
- โรงเรียนประจำจังหวัด วัดคงคาราม หรือ โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน(จบมัธยมปีที่สอง)
- โรงเรียนสุขุมาลัย (วัดพิชัยญาติ) กรุงเทพมหานคร
[แก้] อ้างอิง
- ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย -- กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. (ISBN 974-8267-78-4)[[หมวดหมู่:นักหนังสือพิมพ์]