พุทธเศรษฐศาสตร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พุทธเศรษฐศาสตร์ คือ การประยุกต์แนวความคิดทางศาสนาพุทธเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์มาใช้อธิบายหลักการและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เป็นแนวทางใหม่ในการทำความเข้าใจเศรษฐศาตร์ ไม่ได้มีข้อโต้แย้งมากมายอไรนักเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้อยู่ การนำเอาวิธีการอนุมาณเชิงตรรกะเข้ามาใช้ในวิชาเศรษฐศาสตร์ เช่นเดียวกับการนำไปใช้ในวิชาอื่น ๆ แต่ข้อสมมุติขั้นพื้นฐานบางประการเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักใช้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเพียงพอ นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักส่วนมากไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควรในประเด็นนี้ ส่วนใหญ่จะยอมรับไปโดยปริยาย และนักเศรษฐศาสตร์ก็ได้สร้างเครื่องมือการวิเคราะห์ขึ้นบนรากฐานที่เปราะบาง ผลที่ตามมาคือข้อสรุปส่วนใหญ่ที่ได้จากกระบวนการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถเผชิญกับการท้าทายจากภาวะวิกฤตได้ ข้อสมมุติพื้นฐานบางส่วนที่สร้างขึ้นมาจากเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นจริง และบางครั้งก็ขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ ซึ่งทำให้พลังในการอรรถาธิบายของเศรษฐศาสตร์แบบเดิมอ่อนลงไปมาก
เมื่อนำเอาแนวความคิดในเชิงพุทธเข้ามาทดแทนข้อสมมุติฐานที่เป็นปัญหาดังกล่าว ทำให้การมองปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และกฎเกณฑ์ธรรมชาติใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น และเพิ่มพลังในการอรรถาธิบายของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักให้หนักแน่นมากขึ้น อย่างน้อยก็ในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักของบทความนี้ที่เรียกว่า “ พุทธเศรษฐศาสตร์” แนวคิดนี้ค่อนข้างแตกต่างไปจาก “เศรษฐศาสตร์สำหรับชาวพุทธ” โดยคำหลังไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเพียงพอ และมักจะเป็นเพียงการตรวจสอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์จากมุมมองของชาวพุทธที่มีค่านิยมและความเชื่อเป็นของตนเอง ไม่ได้เป็นการพยายามที่จะค้นหาและตรวจสอบแนวความคิดเชิงพุทธและเชิงเศรษฐศาสตร์ในทางลึกอย่างเพียงพอ
ถ้าปราศจากการท้าทายโดยตรงต่อตัวแบบการคิดของเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน จุดอ่อนในการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะไม่ปรากฏขึ้น พุทธเศรษฐศาสตร์ได้เตรียมรับมือกับการท้าทายนี้โดยมุ่งไปยังจุดอ่อนพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและนำเอาแนวคิดเชิงพุทธที่สอดคล้องกับความป็นจริงมากกว่าเข้ามาทดแทนจุดอ่อนนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งคือความพยายามที่จะเยียวยาวิกฤตการณ์ของการวิเคราะห์ที่ซ้ำเติมภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของเอเซียอยู่ในปัจจุบัน
เนื้อหา |
[แก้] เศรษฐศาสตร์เชิงปฏิฐานและเชิงปทัสฐาน
วิกฤตการณ์ของการวิเคราะห์ในทางเศรษฐศาสตร์มีรากฐานมาจากการแบ่งแยกที่ตายตัวระหว่างแนวความคิดเชิงปฏิฐานนิยม (Positive Economics) และปทัสฐานนิยม (Normative Economics) เศรษฐศาสตร์แบบปฏิฐานนิยมให้คำนิยามการวิเคราะห์ในเชิงวัตถุวิสัย (Objective) ซึ่งบางครั้งเรียกว่ากฏธรรมชาติโดยปราศจากการตัดสินด้วยค่านิยมส่วนตัว แนวความคิดนี้เมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับแนวคิดเชิงปทัสฐานนิยมซึ่งจะเอารวมความเห็นและการตัดสินเชิงคุณค่าเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย การแบ่งแยกกันระหว่างสองแนวทางนี้เกิดจากการขาดความเข้าใจความเชื่อมโยงกับธรรมชาติของมนุษย์
เศรษฐศาสตร์เชิงปฏิฐานนิยมตั้งข้อสมมุติว่า ความโลภ (Greed) หรือจะพูดให้เบากว่านี้คือ ผลประโยชน์ส่วนตน (Self Interest) เป็นธรรมชาติที่สำคัญของมนุษย์ เป็นพฤติกรรมที่มีเหตุผล (Rational Behaviour) ดังนั้นการกระทำใด ๆ เพื่อบรรลุอรรถประโยชน์สูงสุดจึงได้รับการพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่มีเหตุผล en:Jeremy Bentham กล่าวว่ามนุษย์ขาดเสียไม่ได้ที่จะคอยปรนนิบัติความต้องการของตัวเอง ปัจเจกบุคคลทั้งหลายได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการของตนเองให้กระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อบรรลุผลประโยชน์ส่วนตนให้มากที่สุด ความต้องการหรือความปรารถนานี้เกิดขึ้นเพื่อแสวงหาประสบการณ์ที่ตนเองชื่นชอบและพยายามหลีกเลี่ยงหรือหลีกหนีจากความเจ็บปวดต่าง ๆ (Bowden 1990:77) นี่คือจุดเริ่มต้นของมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์เชิงปฏิฐานนิยม
ยังคงมีคำถามอีกหลายประการ แม้ว่า “กฎธรรมชาติ” ที่ได้รับการเสนอแนะโดย Bentham จะเป็นจริงทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่ปัจเจกบุคคลอื่น ๆ สามารถมีพฤติกรรมแตกต่างไปจากนี้ได้โดยเป็นข้อยกเว้นของกฎธรรมชาตินี้ได้หรือไม่ หรือจะถือว่า พฤติกรรมที่แตกต่างไปจากข้อสมมุติฐานนี้ เป็นพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุผล มนุษย์จะมีรูปแบบพฤติกรรมอื่น ๆ มากไปกว่าการบรรลุ อรรถประโยชน์สูงสุดได้หรือไม่ รูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นอยู่ (เช่น การให้ความรักต่อศัตรูของตน หรือการทำงานอย่างหนักเพื่อคนอื่นโดยที่ตนเองต้องทนกระเหม็ดกระแหม่) พฤติกรรมเหล่านี้จะได้รับการพิจารณาว่าไม่มีเหตุผลได้หรือไม่ หรือจะพิจารณาว่าเป็นข้อยกเว้นจากกฎทั่วไป ข้อเท็จจริงก็คือ พฤติกรรมที่เป็นอยู่นี้ขัดแย้งกับข้อสมมุติฐานของเศรษฐศาสตร์เชิงปฏิฐานนิยม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นข้อสรุปเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เชิงปฏิฐานนิยมคือ มันเป็นเพียง “เชิงปฏิฐาน” (Positive) เท่านั้น เนื่องจากมันประกอบด้วยกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่มีคำนิยามของตนเอง ดังนั้นจึงอาจมีคำถามว่า “Positive” หรือเศรษฐศาสตร์เชิงปฏิฐานนั้นเป็นอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักส่วนใหญ่ไม่ต้องการเผชิญกับคำถามที่ค่อนข้างยากนี้ ส่วนใหญ่จะยอมรับเอาแนวความคิดนี้มาใช้โดยปริยาย เพื่อที่จะมุ่งไปยังการพัฒนาการวิเคราะห์แบบจำลองของตน ซึ่งพบว่าอยู่ในฐานะที่สามารถจะควบคุมข้อโต้แย้งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่การสร้างแบบจำลองใด ๆ ก็ตามบนรากฐานที่ไม่มั่นคงย่อมไม่สามารถนำไปสู่คำตอบที่ดีได้
ทฤษฎีอรรถประโยชน์ได้รับการขัดเกลามาเป็นอย่างดีแต่ก็ไม่ได้ทำให้ความคลุมเครือลดน้อยลงแต่อย่างใด ดังเช่นที่ Boulding ให้ข้อสรุปไว้ว่า “นักเศรษฐศาสตร์ตระหนักเป็นอย่างดีว่าความต้องการทางวัตถุเป็นแต่เพียงสินค้าขั้นกลาง ที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายขั้สุดท้ายที่เรียกว่า “อรรถประโยชน์” แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ทราบว่าอรรถประโยชน์แท้จริงคืออะไร เช่นเดียวกันกับที่นักฟิสิกส์ไม่ทราบว่าไฟฟ้าคืออะไรเช่น แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้โดยปราศจากมัน (Boulding 1968 : 193-94)
[แก้] ความเป็นฉับพลันของฟังชั่นก์อรรถประโยชน์
ฟังชั้นก์อรรถประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบทางด้านเวลา มันแสดงลักษณะที่ถึงการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน คนเราจะมีความสนุก เป็นสุข ปิติยินดี มีความพอใจ และชื่นชอบ เมื่อได้บริโภคสินค้าอย่างฉับพลันทันที เงื่อนไขเหล่านี้จะลดลงหลังจากนั้น ความพึงพอใจจะเกิดขึ้นโดยทันที ณ เวลาที่เขาบริโภคสินค้า ไม่มีใครเคยสนใจคำว่าอรรถประโยชน์อย่างจริงจัง เนื่องจากคำนี้ค่อนข้างจะมีความหมายที่คลุมเครือ ไม่มีการพยายมที่จะทำให้ความหมายชัดเจนขึ้น (คล้ายกับที่ Boulding ตั้งข้อสังเกตไว้ข้างต้น)
คุณสมบัติอีกสองประการของฟังชั่นก์อรรถประโยชน์คือ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับมิติทางด้านเวลาและไม่มีการเปรียบเทียบกันระหว่าปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นคุณสมบัติทีน่าหัวเราะเมื่อต้องเผชิญกับ “ความหายาก” ซึ่งเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดในการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ ภายใต้เงื่อนทั่วไปของทรัพยากรที่หายาก ฟังชั่นก์อรรถประโยชน์ไม่สามารถก่อให้เกิดการตัดสินคุณค่าได้ ดังตัวอย่าง จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อผลิตอาหารดีหรือว่าจะผลิตรถยนต์ราคาแพงดี ควรจะใช้ทรัยากรเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงคนยากจนดีหรือผลิตรถยนต์หรูหราเพื่อคนร่ำรวยดี ในสามัญสำนักของคนธรรมดาทั่วไปก็พอจะทราบว่าคำตอบได้ดีว่าควรจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปผลิตอาหารเพื่อคนยากจนมากกว่าผลิตรถยนต์หรูหราเพื่อคนร่ำรวย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่สามารถหาคำตอบที่น่าพอใจต่อคำถามที่ชัดเจนเช่นนี้ได้ ก็ถึงเวลาแล้วแนวความคิดนี้จะต้องถูกตั้งคำถามถึงข้อสมมุติฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้างทฤษฎี
[แก้] คำถามอาจจะสร้างความพึงพอใจและความเจ็บปวด
Jeremy Bentham กล่าวว่ามนุษย์พยายามที่จะแสวงหาความพึงพอใจสูงสุด และลดความเจ็บปวดลงให้เหลือน้อยที่สุดโดยตั้งอยู่บนประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งแนวความคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างในประเทศตะวันตกและยอมรับว่าเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีเหตุผล อย่างไรก็ตามถ้าแนวความคิดเกี่ยวกับ “ความพึงพอใจ (Pleasure)” และ “ความเจ็บปวด (Pain) ถูกแทนที่ด้วยคำว่า “ความสุข(Happiness)” และ “ความทุกข์(Misery or Suffering) ข้อสรุปที่ได้ก็จะมีความหมายแตกต่างออกไปมาก และตั้งสมมุติฐานว่ามนุษย์จะแสวงหาความสุขให้มากที่สุดและพยายามที่จะหลีกเลี่ยงจากความทุกข์หรือทำให้เกิดความทุกข์น้อยที่สุด ข้อสรุปที่ได้จะเปลี่ยนแปลงไปจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งตอบสนองต่อความหมายของคำว่า “ความสุข” และ “ ความทุกข์” ซึ่งความหมายของทั้งสองคำนี้จะพบแต่ในโลกตะวันออกเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาพุทธ
ในศาสนาพุทธ มีแต่เพียงคำว่า “ทุกข์(Misery or Suffering) เท่านั้นที่ต้องการคำนิยามที่ชัดเจน คล้ายกับอุณหภูมิซึ่งต้องการกำหนดระดับของความร้อนให้ชัดเจน ความร้อนน้อยหมายถึงความเย็น ในทำนองเดียวกัน ทุกข์น้อยก็หมายถึงมีสุขมาก ดังนั้นในแนวความคิดของชาวพุทธการทำให้ทุกข์เหลือน้อยที่สุด ก็หมายถึงการทำให้มีความสุขมากที่สุด เช่นเดียวกันกับแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์แกระแสหลักเกี่ยวกับการลดต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุดก็หมายถึงการทำให้มีกำไรมากที่สุด
ความทุกข์ ถูกอธิบายว่าเป็นสภาวะที่ขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกันในตัวของบุคคล(พระราชวรมุนี 1983:21) ความขัดแย้งสำคัญจะปรากฏขึ้นเมื่อคนเราเชื่อ “ความมีตัวตน” และพยายามที่จะยึดติดอยู่กับตัวตนอย่างเหนียวแน่น ตามหลักศาสนาพุทธแล้ว ไม่มีสิ่งที่เราเรียกว่า “ตัวตน” อยู่ สิ่งที่เราตระหนักหรือรับรู้ว่าเป็นตัวตน แท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงการประกอบกันขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” ซึ่งประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ (พระราชวรมุนี 1983:15) ถ้าหากขาดขันธ์ห้าข้อใดข้อหนึ่งไป ก็จะไม่มีความเป็นคนอย่างสมบูรณ์ ทุกขณะจิตที่ผ่านไป คนก็จะไม่เหมือนเดิมเนื่องจากองค์ประกอบของขันธ์ห้าเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่อยู่นิ่งของขันธ์ห้าเกิดขึ้นจากกฎธรรมชาติที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่อยู่นิ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา(พระราชวรมุนี 1983:20) ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันจะเป็นการดีถ้าเรารับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นและตระหนักว่าทุกสิ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งความมีตัวตนด้วย ถ้าเราพยายามที่จะยึดติอยู่กับตัวตนในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลง ผลที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งหรือความไม่สอดคล้องกับกฎธรรมชาติที่ทุกสิ่งไม่อยู่นิ่ง คนส่วนใหญ่พยายามที่จะยึดติดอยู่กับตัวตนคล้ายกับว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่ คนเหล่านี้พยายามที่จะสร้างทุกข์ให้เกิดขึ้น โดยผ่านทางความชั่วร้ายหรือที่เราเรียกว่า กิเลส 3 ประการคือ โลภะ โทสะและโมหะ ซึ่งกิเลสคือสาเหตุที่แท้จริงของทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น(พระราชวรมุนี 1983:31)
ในทางตรงกันข้าม ความสุขหมายถึงการเป็นอิสระจากความโลภหรือความอยาก จากความโกรธและความหลง (พุทธทาสภิกขุ 1996 : 23 และพระราชวรมุนี 1983:28) การปลดเปลื้องสูงสุดสำหรับมนุษยชาติทั้งหลายคือ การเป็นอิสระจากสิ่งชั่วร้ายทั้งสามประการที่กล่าวมาแล้ว คนททั่วไปไม่สามารถปลดเปลื้องตัวเองออกจากกิเลสได้เนื่องจากขาดความรู้ที่ถูกต้อง (พระราชวรมุนี 1983:31) ความรู้ที่สำคัญและสูงกว่าความรู้อื่นทั้งปวงคือ การรู้ว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” ถ้าไม่มีตัวตนก็จะไม่มีใครเห็นแก่ตัว ไม่มีใครมีความเศร้าโศก (พระราชวรมุนี 1983:32)
ตามหลักของศาสนาพุทธ มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีการพัฒนาสูงสุด เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะตามธรรมชาติคือ มีความสามารถในการเรียนรู้ และการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ทั้งห้า (พระธรรมปิฎก 1993:34-36) อัตราการพัฒนาของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป แต่ทุกคนก็สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เนื่องจากสิ่งนี้เป็นคุณภาพที่สำคัญของบุคคล มีเหตุผลเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้บุคคลประพฤติหรือกระทำแตกต่างกันไป นั้นคือความรู้ ถ้ามนุษย์มีความรู้อย่างเพียงพอ เขาจะตอบสนองแตกต่างกันไป การแก้ไขที่เหมาะสมคือ การสร้างความรู้ให้เกิดขึ้น การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เป็นจริงหรือการได้รับคำชี้แนะที่ดีจากกัลยาณมิตร ซึ่งอาจจะเป็นบิดามารดา ครูบาอาจารย์ เพื่อน ญาติมิตรหรือบัณฑิตทั้งหลาย ซึ่งมีความหวังดีต่อทุกคน (พระเทพเวที 1990:16-17)
สิ่งที่พูดมาทั้งหมดคือคำสอนพื้นฐานของศาสนาพุทธ ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวความคิดเกี่ยวกับอรรถประโยชน์สูงสุดมากที่สุด แนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเกี่ยวกับการแสวงหาความพึงพอใจสูงสุดและหลีกเลี่ยงจากความเจ็บปวดต่าง ๆ เป็นความคิดที่ตื้นเขิน ไม่สามารถเข้าถึงธรรมชาติที่เป็นแกนกลางของมนุษย์ได้ แนวคิดของศาสนาพุทธที่ว่ามนุษย์ควรจะปลดปล่อยตนเองออกจากความทุกข์ทั้งหลายเพื่อบรรลุถึงความสุขที่แท้จริงเป็นแนวคิดที่สูงส่งกว่า สาเหตุของทุกข์ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์มากที่สุดคือความอยากหรือความโลภ แนวความคิดเกี่ยวกับ “ความสุข” ในทัศนะของศาสนาพุทธไม่เหมือนกับความสุขในทัศนะของชาวตะวันตก ซึ่งมีความหมายในขอบเขตที่กว้าง ดังที่ได้เสนอมาก่อนหน้านี้ เช่น ความสนุกสนาน ความปิติยินดี ความพึงพอใจ ความหลงไหลและความรัก น่าประหลาดใจอยู่บ้างเล็กน้อยที่แนวคิดเกี่ยวกับ “การบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ” ไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเพียงพอในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
[แก้] ประสิทธิภาพในการบริโภค
ทุกข์ในทางศาสนาพุทธมีสองระดับ ระดับแรกเป็นทุกข์ทางกาย เกิดขึ้นจากขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตเช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค คนจะได้รับความทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงถ้าไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอ มีคำกล่าวในศาสนาพุทธว่า ความทุกข์ที่เกิดจากการขาดแคลนอาหารเป็นความทุกข์ที่เลวร้ายที่สุด มากว่าความทุกข์อื่นใด ดังนั้นผู้หิวโหยจึงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างดีพอและไม่สามารถพัฒนาจิตใจให้ดีขึ้นได้ (พระธรรมปิฎก 1996 : 6) รองลงมาคือทุกข์ที่เกิดจากการขาดแคลนยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย สาเหตุของทุกข์ทางกายแก้ไขได้โดยการตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของบุคคลให้เพียงพอ ไม่มีวิธีการอื่นใดในการแก้ปัญหามากไปกว่านี้ ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์จะต้องได้รับการตอบสนอง โดยความต้องการนี้รู้จักกันในนามของ “ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน” (Essential Needs) ทุกข์ในระดับที่สองคือ ทุกข์ที่เกิดจากความอยากซึ่งผลักดันโดยความโลภของมนุษย์ เป็นทุกข์ที่เกิดจากความรู้ไม่เท่าทันในกฎธรรมชาติหรืออวิชชา คือไม่รู้ว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนดำรงอยู่ ความโลภหรือความอยากเผาผลาญมนุษย์จากภายในใจของตนเอง ถ้าความอยากนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง (พระเทพเวที 1990:79-81) แต่ร่างกายของมนุษย์จะไม่ได้รับผลกระทบจากความอยากหรือทุกข์ในระดับที่สองนี้ เนื่องจากกายแยกออกต่างหากจากจิตใจหรืออารมณ์ความรู้สึก ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์จะไม่ตายจากการไม่ได้รับการตอบสนองความอยากของตน การเยียวยาความอยากที่แท้จริงคือการช่วยให้คนเหล่านั้นตระหนักถึงกฎธรรมชาติเกี่ยวกับความไม่มีตัวตน การตอบสนองความอยากของมนุษย์อย่างไม่จบสิ้นไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา ที่จริงแล้วกลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้หนักขึ้นกว่าเดิม
ถ้าประยุกต์แนวความคิดดังกล่าวเข้าไปในฟังชั่นก์อรรถประโยชน์ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มนุษย์จะบรรลุความพึงพอใจได้ทันทีเมื่อความต้องการได้รับการตอบสนอง เนื่องจากความต้องการทางกายได้รับการตอบสนองไปแล้ว ความต้องการในระดับที่สูงกว่าจะอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์เอง ที่เกิดขึ้นจากความโลภไม่มีที่สิ้นสุด นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ดีจะอ้างถึงงบประมาณหรือรายได้ที่มีอยู่จำกัด คล้ายกับเป็นกำแพงป้องกันการไหลท่วมของความทะยานอยากภายใน โชคร้ายที่หลายคนก่อนจะถึงขีดจำกัดของรายได้ ความเสียหายได้บังเกิดแล้ว โดยการดูดซับทรัพยากรไปใช้เพื่อผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความทะยานอยากที่ไม่รู้จักพอ
จากที่กล่าวมาข้างต้นค่อนข้างจะชัดเจนว่า “ประสิทธิภาพในการบริโภค” หมายถึงการบริโภคที่ตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (ทุกข์ในระดับแรก) ไม่ใช้การตอบสนองต่ออุปสงค์ (Demand) (แม้ว่าจะมีรายได้อย่างเพียงพอ) ที่สร้างขึ้นโดย “ความต้องการเทียม” (artificial want) (ทุกข์ระดับที่สอง) สำหรับเหตุผลที่อธิบายมาแล้วข้างต้น ปัญหานี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างดีพอโดยนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
ถ้าปราศจากการจัดการที่ดีต่อประเด็นนี้ การอภิปรายเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการผลิตของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ก็เปรียบได้กับการเอากรรไกรขาเดียวไปตัดกระดาษซึ่งจะไม่เกิดผลอะไร เพื่อให้การอภิปรายเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการผลิตมีเหตุมีผล ประสิทธิภาพในการบริโภคจะต้องได้รับการอธิบายอย่างชัดเจน แนวคิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการบริโภคจะได้รับการอธิบายอย่างดีก็เฉพาะในเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธเท่านั้น จุดอ่อนที่แท้จริงของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักสืบเนื่องมาจากความล้มเหลวในการอธิบายถึง พฤติกรรมของมนุษย์โดยรวม ไม่เหมือนกับคำอธิบายที่พบในศาสนาพุทธ
[แก้] ความแตกต่างทางทัศนะ
ทั่ง ๆ ที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักอ้างว่าปราศจากค่านิยมและเป็นวิทยาศาสตร์ แท้จริงแล้วก็มีรากเหง้ามาจากการปฏิรูปทางวัฒนธรรมในประเทศตะวันตก ซึ่งกำหนดคุณลักษณะได้ดังนี้
- ผลประโยชน์ส่วนตัว คือแรงผลักดันปกติของมนุษย์ซึ่งคือธรรมชาติที่เป็นจริงส่วนหนึ่งของมนุษย์
- ปัจเจกชนนิยม สิทธิส่วนบุคคล เสรีภาพ และสิทธิในทรัพย์สิน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ได้รับการคุ้มครองและต้องไม่ถูกละเมิด
- สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่มีความสำคัญที่สุดต่อสังคมมนุษย์
- ความสามารถในการควบคุมธรรมชาติจะปรับปรุงคุณภาพให้เหมาะสมในการดำรงอยู่ของมนุษย์
- เทคโนโลยีคือเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการควบคุมธรรมชาติ
สมมุติฐานหลายประการดังกล่าวได้รับการอธิบายจากรากเหง้าของสังคมตะวันตก เช่น จากความแตกต่างของสภาพอากาศ ความต้องการที่จะเอาชีวิตรอดในระหว่างฤดูหนาวอันยาวนาน เหมือนเป็นการให้คำอธิบายที่ดี การสะสมอาหาร เชื้อเพลิงและเสื้อผ้าสำหรับครอบครัวในช่วงฤดูหนาวอันยาวนานเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำ ครอบครัวมีเวลาอยู่ร่วมกันอย่างเพียงพอในช่วงฤดูหนาว มีเวลามากพอสำหรับการอ่านหนังสือ การเขียน และการไตร่ตรองในช่วงระหว่างเดือนอันยาวนานนั้น ความสำเร็จอันหนึ่งคือความพยายามที่จะควบคุมธรรมชาติซึ่งนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิต ผลลัพทืที่เกิดขึ้นคือการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเป็นนวัตกรรมอันหนึ่งที่พัฒนาขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการเอาชนะธรรมชาติ (พระธรรมปิฎก 1998: 54)
วัฒนธรรมเช่นนี้คือรากฐานที่แตกต่างไปจากประเทศตะวันออก ที่ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณภูมิอากาศเขตร้อน บางส่วนอาศัยอยู่ในเขตอบอุ่น ไม่มีแรงกดดันที่ทำให้ต้องสะสมอาหารในระหว่างปี การแบ่งปันอาหารเป็นวิธีการเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหารสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน ดูเหมือนว่าพวกเขามีความโน้มเอียงในการห่วงใยและแบ่งปันซึ่งกันและกัน เนื่องจากธรรมชาติไม่ได้โหดร้ายต่อพวกเขา จึงไม่มีความต้องการที่จะควบคุมหรือเอาชนะธรรมชาติ ประชาชนต่างอาศัยอยู่อย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับธรรมชาติ
ในภูมิอากาศเขตร้อน ประชากรอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างใกล้ชิด ชีวิตชุมชนได้รับการเน้นมากกว่าชีวิตครอบครัวหรือแม้แต่ปัจเจกบุคคล ผลที่เกิดขึ้นคือในสมัยก่อนความเป็นเจ้าของโดยชุมชนจะมีความสำคัญมากกว่าความเป็นเจ้าของโดยส่วนตัว ในสถานการณ์เช่นนี้ ความยากลำบากหรือปัญหาทางกาย ไม่ใช้สิ่งคุกคามที่แท้จริงในสังคมตะวันออก ภายใต้ความสะดวกสบายทางกายภาพพวกเขาก็ยังไม่ได้รับความพึงพอใจอย่างแท้จริง พวกเขายังคงถูกเผาผลาญจากความต้องการภายใน การค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาจะต้องเจาะลึกลงไปให้มากกว่านี้ และจะต้องได้รับการศึกษาอย่างละเอียดเข้าไปในจิตวิญาณของความเป็นมนุษย์ ผู้ร้ายที่แท้จริงที่ถูกค้นพบคือความชั่วร้ายหรือกิเลสทั้งสามประการ คือ โลภะหรือความอยาก โทสะหรือความเกลียดชัง โมหะหรือความหลง ด้วยเหตุนี้คืการจัดการเกี่ยวกับทุกข์ในสังคมตะวันออกจึงมีความแตกต่างจากตะวันตก ซึ่งสาเหตุภายในของทุกข์จะต้องได้รับการค้นหาอย่างจริงจัง
โชคร้ายที่การเปรียบเทียบอย่างแหลมคมระหว่างวัฒนธรรมทั้งสอง (ตะวันออกและตะวันตก) ได้ลดลงเนื่องจากการปรากฏตัวขึ้นของระบบทุนนิยม ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงแรกของศตวรรษที่สิบหกในประเทศยุโรป John Calvin วิศวกรผู้ปรับปรุงคริสจักร (ผู้ก่อตั้ง “จริธรรมแบบพิวริตัน(en:Puritan Ethics)” เพื่อปฏิรูปคริสเตียนให้เหมาะสมกับความรู้สึกของชนชั้นกลางในยุโรป และเพื่อความสะดวกในการสะสมทุน(Tawney 1992: 91-111) ระบบการผลิตแบบโรงงานซึ่งถูกนำมาใช้จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่สิบแปดทำให้เกิดการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก ระบบการผลิตขนาดใหญ่เป็นแรงผลักให้นักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจ กระตุ้นให้มีการเพิ่มการบริโภคโดยผ่านทางการโฆษณาและการรณรงค์ทางการตลาดขนาดใหญ่ ผลก็คือลัทธิบริโภคนิยมเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในระหว่างนี้สิ่งชั่วร้ายสมัยใหม่สามประการได้พัฒนาขึ้น คือ ทุนนิยม อุตสาหกรรมนิยมและบริโภคนิยม เงินตราก็มีการปฏิรูปตัวเองจากการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนไปทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเก็บสะสมมูลค่า ทำให้การลงทุนสามารถแสวงหารายได้ต่อไปอีก เมื่อไม่นานมานี้เงินตราได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร รูปแบบดั้งเดิมของเงินตราได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยใช้เปลือกหอย สัตว์เลี้ยง ไปเป็นแร่เงิน ทองคำในช่วงเริ่มต้น ธนบัตรและบัตรเครดิตในระยะต่อมา การปฏิรูปครั้งล่าสุดของเงินตราคือเงินอิเลคโทรนิคส์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างฉับพลันทันทีไปยังที่ใด ๆ ก็ได้ในโลกใบนี้
ความชั่วร้ายสี่ประการคือ ทุนนิยม อุตสาหกรรมนิยม บริโภคนิยมและการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องของเงินตรา ทำให้เกิดความชั่วขึ้นในจิตใจของมนุษย์ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะโลกตะวันออกปัญหารุนแรงยิ่งกว่า เนื่องจากประชาชนมีประสบการณ์กับพัฒนาการของความชั่วร้ายทั้ง 4 ประการนั้นในระยะเวลาที่สั้นกว่า ไม่เหมือนกับประเทศตะวันตกซึ่งการปฏิรูปค่อนข้างจะยาวนานกว่า ตั้งแต่เริ่มแรกของศตวรรษที่สิบหก ส่วนในประเทศตะวันออกเพิ่งจะเกิดขึ้นในหนึ่งศตวรรษมานี้เอง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงค่อนข้างรุนแรงในประเทศตะวันออกมากกว่าประเทศตะวันตก และยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายล้างต่อไปในประเทศตะวันออก การปรากฏขึ้นของความชั่วร้ายทั้ง 4 ประการ คือปัจจัยหลักที่ตอบสนองต่อการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของวัฒนธรรมเปรียบเทียบทั้งสองคือตะวันออกและตะวันตก แม้ว่าการรวมกันจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่า และความชั่วร้ายทั้ง 4 ประการ นำมาซึ่งปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสภาพแวดล้อมของโลกอย่างรวดเร็ว ความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดขีดจำกัดของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกซึ่งเปรียบเสมือนกับการอยู่ในยานอวกาศลำเดียวกัน ขีดจำกัดนี้เรียกร้องให้พวกเราทุกคนต้องมีการปฏิรูปวัฒนธรรมพื้นฐานของเรา เพื่อการอยู่รวดของมนุษยชาติทั้งมวล นี่คือสาเหตุว่าทำไมการฟื้นฟูเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธจึงเหมือนกับการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปในศาสนาคริสต์ของลัทธิลูเธอร์ราน(en:Lutheranism)ในช่วงอรุณรุ่งของลัทธิพาณิชนิยม( Tawney 1922 : 73-91)
[แก้] การประยุกต์ใช้พุทธเศรษฐศาสตร์
การปรากฏขึ้นของทุนนิยมในช่วงเริ่มแรกของลัทธิพาณิชนิยมกระตุ้นให้ en:John Calvin ปฏิรูปศาสนาคริสต์ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกลาง ในช่วงเวลานี้ข้อเท็จจริงของ “อาณานิคมใหม่” ปรากฏขึ้นบนยานอวกาศโลก กระตุ้นให้มีการเรียกร้องการปรับปรุงอย่างรวดเร็วในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแบบอนุรักษ์นิยม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเศรษฐศาสตร์กระแสหลักขาดเครื่องมือในการวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิผลต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เหมือนกับการปฏิบัติที่ค่อนข้างเป็นกลไก ล้าสมัยและคลุมเครือเในแนวความคิดทางปรัชญาของลัทธิอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาแห่งการขาดแคลนของโลกตะวันตก
แม้ว่าคำสอนของศาสนาพุทธจะเก่ากว่ามาก แต่ก็ยังร่วมสมัยกับปัจจุบัน เนื่องจากคำสอนนี้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาแห่งความอุดมสมบูรณ์ของโลกตะวันออก ปัจจุบันเราก็อยู่ในช่วงเวลาแห่งความสมบูรณ์เช่นกัน แต่หายนะก็ได้บังเกิดขึ้นตรงหน้าเรา มันค่อนข้างเป็นสิ่งใหม่แต่เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างประหลาด เนื่องจากนี่เป็นโอกาสเฉพาะอย่างหนึ่ง ดังนั้นเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธจึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการจัดการกับปัญหาที่เราเผชิญอยู่ปัจจุบัน
เครื่องมือในการวิเคราะห์อันนี้มีความต้องการเพียงให้ประชาชนตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ตามกฎธรรมชาติ คือความไม่มีอยู่ของตัวตน ถ้าแนวความคิดนี้ได้รับความเข้าใจอย่างชัดเจน ชีวิตมนุษย์จะได้รับการมองจากแง่มุมที่แตกต่างออกไปจากการเป็น ผู้บริโภค สิ่งที่มีความหมายมากที่สุดในชีวิตไม่ใช่มาจากการบริโภค การบริโภคอย่างเหมาะสมจะไม่ทำให้ให้เกิดการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จริงแล้วทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสามารถทำให้ดีขึ้นได้พร้อมกับการมีชีวิตอย่างมีผาสุกของประชาชน มีความสะอาด ความสงบและสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นวิธีคิดใหม่นี้จะต้องปลุกให้ตระหนักถึงธรรมชาติที่แท้จริงของมุนษย์และกฎธรรมชาติเกี่ยวกับการไม่มีอยู่ของตัวตนพร้อมกับสิ่งอื่น ๆ ด้วย เช่นกฎแห่งอนิจจังหรือความเปลี่ยนแปลง ความไม่อยู่นิ่งและความเป็นอิสระจากการยึดติดที่สร้างขึ้นโดยเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและการดำรงค์อยู่ของความชั่วร้าย 4 ประการ (ทุนนิยม อุตสาหกรรมนิยม บริโภคนิยมและเงินตรา) จะต้องได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
[แก้] หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ : วิธีการของพุทธเศรษฐศาสตร์
จากที่กล่าวมาแล้วเกี่ยวกับแนวทางของศาสนาพุทธ ซึ่งพยายามจะระงับความโลภ ซึ่งไม่เหมือนกับวิธีการทำให้บรรลุอรรถประโยชน์สูงสุด ที่ไม่นำไปสู่การทำให้เกิดความสุขให้มากที่สุดหรือทำให้ความทุกข์เหลือน้อยที่สุดในแต่ละบุคคล ในเวลาเดียวกันก็เป็นการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือเป็นการใช้อย่างสูญเปล่า วิธีเดียวที่จะหลุดพ้นจากภาวะวิกฤตนี้ได้คือการใช้ “ปัญญา” หรือความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่คนเข้าใจถึงธรรมชาติความเป็นจริงของชีวิตและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงแนวคิดเกี่ยวกับความไม่มีตัวตน แล้วคนจะไม่ยึดติดอยู่กับตัวตน ความโลภทั้งหลายจะไม่เกิดขึ้นได้โดยง่าย รูปแบบการบริโภคของคนจะเปลี่ยนไปเป็นการบริโภคเพื่อตอบสนองต่อความเป็นขั้นพื้นฐานมากกว่าการบริโภคเพื่อสนองต่อความอยากที่จอมปลอม (พระธรรมปิฎก 1993 : 21-22) ดังนั้นการปลูกฝัง “ปัญญา” หรือความสามารถในการไตร่ตรองวิเคราะห์แยกแยะปัญหาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมไทยเพื่อการหลุดจากภาวะวิกฤต ประเทศอื่น ๆ ในเอเซียก็เป็นเช่นเดียวกัน การปลูกฝังปัญญาเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับโรคที่แพร่กระจายจากการเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็วของทุน การเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็วของทุนเป็นสาเหตุแรกของวิกฤตที่ถูกกระตุ้นจากความโลภผ่านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ ในทศวรรษที่ผ่านมาก่อนเกิดภาวะวิกฤต โชคร้ายที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วมาพร้อมกับการสะสมของเสียและการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคแห่งนี้อย่างชัดเจนที่สุด เราต้องการแนวทางใหม่ในการพัฒนาประเทศไทยและภูมิภาคเอเซียหลังจากผ่านพ้นเรื่องไร้สาระทั้งหลายไปแล้ว ภายใต้วิธีการพัฒนาประเทศแนวใหม่นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม 1997 ก่อนวันเฉลิมพระชนม์พรรษา มีใจความดังนี้ “ เศรษฐกิจที่พอเพียงไม่ได้หมายความว่าทุกครัวเรือนจะต้องเพาะปลูกอาหารกินเอง ตัดเย็บเสื้อผ้าใช้เอง แต่หมายถึงหมู่บ้าน ตำบล จะต้องสร้างผลผลิตที่เพียงพอสำหรับตอบสนองความต้องการของชุมชน สิ่งที่เหลือจากความต้องการสามารถนำออกขายให้ชุมชนอื่นที่มีความต้องการได้ แต่การค้าจะต้องไม่ห่างไกลเกินไปนักเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในการขนส่ง” (พระบรมราโชวาท 1997 : 18)
พระธรรมปิฎก(ประยุทธ ประยุทธโต 1996:52-64) ได้เสนอแนวทาง” เศรษฐศาสตร์สำหรับทางสายกลาง” ไว้ โดย “ทางสายกลาง” เป็นแนวความคิดที่สำคัญในศาสนาพุทธ ซึ่งมีความหมายที่จะไม่ทำอะไรในหนทางที่สุดขั้ว ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับ “ จุดดุลยภาพ” ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ตามแนวคิดของพระธรรมปิฎก(ประยุทธ ประยุทธโต) เศรษฐศาสตร์ทางสายกลางหมายถึงการบริโภคแต่พอประมาณ ซึ่งเป็นจุดที่ดีที่สุดที่จะทำให้บรรลุ “คุณภาพชีวิต” (มีความสุขมากที่สุดและมีความทุกข์น้อยที่สุด) การบริโภคแต่พอประมาณจะต้องทำให้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น หรืออีกนัยหนึ่ง การบริโภคจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลที่เป็นปฏิปักษ์กับระบบนิเวศน์วิทยา
แนวความคิดที่ได้รับการชี้แนะจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระธรรมปิฎก((ประยุทธ ประยุทธโต) เป็นเพียงตัวอย่างการนำเอาเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธเข้ามาประยุกต์ใช้สำหรับเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาประเทศเพื่อให้หลุดพ้นออกจากภาวะวิกฤติในปัจจุบันและเป็นการป้องกันวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จริงแล้วแนวความคิดบางอย่างได้เคยนำมาทดลองใช้ในประเทศไทยเป็นระยะเวลากว่าทศวรรษมาแล้ว โดยเฉพาะในหมู่เกษตรกรรายย่อย รูปแบบของไร่นาทางนิเวศน์ เช่น ไร่นาสวนผสม ป่าชุมชน ฯลฯ ได้นำมาทดลองใช้ในหมู่บ้านหลายแห่งในประเทศไทย (Puntasen 1996a:85-91 และ Puntasen 1996b:279 ) ซึ่งให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ชาวนาจำนวนมากที่ทำเกษตรกรรมระบบนิเวศน์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้เลย ที่จริงแล้วชาวนาส่วนใหญ่เหล่านั้นรู้สึกดีขึ้นด้วยซ้ำจากการที่เงินบาทเสื่อมค่าลงในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่คงที่ ทำให้รายได้ที่แท้จริงของเขาสูงขึ้นจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนยังไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ปุ๋ยหรือผลิตภัณฑ์ทางเคมีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต
กิจกรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังม่านของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเช่น กลุ่มออมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลุ่มเครดิตยูเนียนและเครือข่าย เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ บางกลุ่มเริ่มขึ้นด้วยกิจกรรมเล็ก ๆ และริเริ่มขึ้นโดยสมาชิกในชุมชนที่ต้องการออมเงินส่วนเกินของชาวบ้านคนละเล็กละน้อยเช่น คนละ 10 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของครอบครัวที่จะต้องออมเงินของตัวเอง จุดประสงค์หลักของกิจกรรมเหล่านี้คือต้องการกระตุ้นให้ชาวบ้านมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเผชิญอยู่และหาทางแก้ปัญหากันเอง เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งจำนวนเงินที่ชาวบ้านช่วยกันออมคนละเล็กละน้อยได้เพิ่มทวีขึ้น สมาชิกของกลุ่มซึ่งต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีและต่างก็เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกันมาแล้ว โครงการที่มีประโยชน์หลายโครงการต่างได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมาแล้วเป็นอย่างดี ครั้นแล้วก็ถึงเวลาที่จะให้เงินกู้แก่โครงการที่เป็นประโยชน์มากที่สุด โครงการหลายโครงการประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี กลุ่มออมทรัพย์หลายกลุ่มโดยเฉพาะในภาคใต้ มีเงินออมมากกว่า 10 ล้านบาท และบางกลุ่มมีมากกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันประมาณการณ์ว่ามีเงินออมของกลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ ในชุมชนและกลุ่มเครดิตยูเนียนรวมกันทั่วประเทศประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบขนาดของเงินทุนของกลุ่มออมทรัพย์เหล่านี้กับปริมาณเงินในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งประมาณการณ์ว่ามีจำนวนกว่า 4 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก แต่เงินออมเหล่านี้ก็เป็นตัวแทนของกระบวนการทดสอบภาคปฏิบัติของการพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่
ชัดเจนที่สุด ศักยภาพของกลุ่มออมทรัพย์และเครือข่ายใหญ่โตมาก จนถึงปัจจุบันนี้ รายงานการผิดสัญญาการใช้คืนเงินกู้มีน้อยมาก ระบบดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลและประหยัด ต้นทุนในการดำเนินการมีเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเงินทุนของกลุ่ม ต้นทุนในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นมีเพียงหนึ่งหรือสองครั้งต่อเดือน ค่าแรงหรือค่าจ้างผู้ปฏิบัติงานของกลุ่มไม่ได้สูงไปกว่าค่าจ้างในตลาด ระบบทั้งหมดตั้งอยู่บนความเชื่อถือซึ่งกันและกัน กลุ่มออมทรัพย์หลายกลุ่มเริ่มให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อเป็นสวัสดิการสังคมแก่สมาชิก เช่น ค่าฌาปนกิจศพ เงินช่วยเหลือการศึกษาบางส่วน และสวัสดิการเล็ก ๆ น้อย ๆ แก่ผู้สูงอายุ เราสามารถจินตนาการได้ว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มออมทรัพย์และเครือข่ายนี้ รวมทั้งระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและตำบลซึ่งพระราชทานคำแนะนำโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศในอนาคตลดน้อยลง อย่างไรก็ตามการดำเนินการอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะต้องตั้งอยู่ในกรอบของ”เศรษฐศาสตร์แบบสายกลาง” หรือ “พุทธเศรษฐศาสตร์” ซึ่งการบริโภคจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อความสุขของปัจเจกบุคคลหรือ “คุณภาพชีวิต” หรือกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยา นี่คือวิธีการพัฒนาและยุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้ในการลดความรุนแรงของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ความต้องการเพียงอย่างเดียวในกระบวนการพัฒนานี้คือ วิธีการมองชีวิตซึ่งมีความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติอย่างแนบแน่นและโดยความเข้าใจอย่างชัดเจน และความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีสติปัญญาให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาตินี้
[แก้] บทสรุป
วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอาจมองได้ว่าเป็นโอกาสสำหรับวิธีการพัฒนาในทิศทางใหม่มากกว่าเป็นการคุกคามจากความเสื่อมถอยของระบบเศรฐกิจ วิกฤตการณ์นำไปสู่ประเด็นวิกฤตทางด้านการวิเคราะห์ เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่นำมาซึ่งความชั่วร้ายดังที่กล่าวมาแล้วเช่น ทุนนิยม อุตสาหกรรมนิยม บริโภคนิยมและการเปลี่ยนบทบาทอย่างรวดเร็วของเงินตรา ซึ่งเร่งเร้าให้มีการสร้างความโลภขึ้นจาก ความรู้ไม่เท่าทันในกฎธรรมชาติชองความไม่มีตัวตนและกฏธรรมชาติอื่น ๆ
ภายในขอบเขตของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ความไม่รู้นี้ถูกส่งเสริมโดยแนวความคิดที่คลุมเครือเกี่ยวกับอรรถประโยชน์ ซึ่งไม่ได้รับการศึกษาและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพียงพอโดยนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ แนวความคิดถูกอธิบายอย่างหยาบ ๆ ที่ให้ทุกคนมีความสุขกับการบริโภค การบริโภคสินค้าและบริการจะอยู่ภายใต้ขอบเขตของงบประมาณที่จำกัด และไม่มีการเปรียบเทียบความพึงพอใจระหว่างบุคคล โดยเหตุนี้ ความคิดเกี่ยวกับ “ประสิทธิภาพ” ในการบริโภคจึงไม่มีความหมายอย่างเพียงพอต่อการโต้แย้งในกรอบของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แนวความคิดเกี่ยวกับต้นทุนของทรัพยากรที่ใช้ในการบริโภคก็ไม่มีเหตุผลย่างเพียงพอที่จะพูดถึง ดังนั้นการอภิปรายเกี่ยวกับประสิทธิภาพโดยรวมจึงไร้ความหมาย เช่นเดียวกันกับการอภิปรายถึงประสิทธิภาพในการผลิต
พุทธเศรษฐศาสตร์สามารถจัดการกับปัญหานี้อย่างได้ผลโดยผ่านทางแนวคิดเกี่ยวกับความสุขหรือการทำให้มีทุกข์น้อยที่สุด(แทนที่จะทำให้เกิดอรรถปรโยชน์สูงสุด) ในเบื้องต้นการอธิบายเกี่ยวกับทุกข์ว่าเป็นภาวะขัดแย้งกับกฎธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงและความไม่อยู่นิ่ง เพื่อที่จะเข้าใจให้ชัดเจนจะต้องตระหนักถึงความไม่มีตัวตนและกฎธรรมชาติอื่น ๆ แนวความคิดนี้นำไปสู่การอภิปรายถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ซึ่งคือทุกข์ในระดับแรกซึ่งจะต้องตอบสนองโดยความจำเป็นขั้นพื้นฐาน แต่ทุกข์ในระดับที่สองเกิดขึ้นจากความต้องการหรือความอยากจอมปลอม ความพยายามที่จะสร้างความพึงพอใจทำให้เกิดความอยากซึ่งถูกกระตุ้นโดยความชั่วร้านสมัยใหม่ 4 ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลัทธิบริโภคนิยมและเงินตรา วิธีการของชาวพุทธในการระงับความอยากอันจอมปลอมเหล่านี้ ผ่านการรับรู้ในแนวความคิดเกี่ยวกับ “ตัวตน” ว่าเป็นสิ่งลวงตา เพื่อให้ความทะยานอยากเหล่านี้ลดลง “เศรษฐศาสตร์ทางสายกลาง” ต้องได้รับการตระหนักให้ชัดเจนว่าแนวคิดนี้มีเหตุมีผลเพียงพอ แล้วจึงเริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง ซึ่งในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นมาแล้วในบางพื้นที่ของประเทศ คล้ายกับเป็นการสาธิตโดยการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศน์ในไร่นาขนาดเล็กและกลุ่มออมทรัพย์ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่าเกิดจากการบริหารทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้วในกรอบการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามในระดับนานาชาติที่การเคลื่อนย้ายของเงินทุนเป็นไปอย่างรวดเร็ว วิกฤตการณ์จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่รูปแบบใดก็แบบหนึ่ง จากการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย จากความอ่อนแอของระบบเศรษฐกิจ จากความไม่มั่นคงและความอ่อนไหวของระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กซึ่งได้รับเงินทุนจากต่างประเทศ ธรรมชาติของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามที่จริงจังเกี่ยวกับความยั่งยืนไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้นแต่กับประเทศเอเซียอื่น ๆ ทั้งหมด
[แก้] อ้างอิง
- อภิชัย พันธเสน, พุทธเศรษฐศาสตร์: วิวัฒนาการ ทฤษฎี และการประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์สาขาต่าง ๆ, สำนักพิมพ์อมรินทร์