พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี (๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๗ - ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑) หรือที่ถวายเรียกกันว่า เสด็จอธิบดี อธิบดีหญิงคนแรกของประเทศไทย พระองค์เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๗ แต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ทรงร่วมเจ้าจอมมารดากันกับสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕
ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสทวีปยุโรป และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภานี้ได้ทรงรับราชการเป็น "เสด็จอธิบดี" ทรงว่ากล่าวควบคุมความเรียบร้อยและความเป็นไปทุกอย่างในพระบรมมหาราชวัง ร่ำลือกันว่าผู้คนนั้นเกรงกลัว "เสด็จอธิบดี" เสียยิ่งกว่า "สมเด็จรีเยนท์" เสียอีก
ในฐานะที่เป็นพระน้องนางร่วมพระชนนีกับ "เสด็จพระนาง" (สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี) พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภาจึงประทับอยู่ในตำหนักเดียวกัน พร้อมกับพระมารดาคือเจ้าคุณจอมมารดาสำลี แห่งราชนิกุลบุนนาค สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า (หญิง) สุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นอกจากนี้ยังทรงสนิทสนมกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง อีกด้วยในฐานะที่ทรงเป็น "พระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก" เช่นกัน โดยเฉพาะกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ นั้นนอกจากจะทรงวิสาสะกันในฐานะพระพี่พระน้องแล้ว ยังทรงรับผิดชอบบริหารงานราชการฝ่ายในร่วมกัน และได้ทรงเลี้ยงดูพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา (ซึ่งก็นับว่าเป็นพระราชภาติยะของพระองค์ทั้งสองฝ่าย) คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ถึงขนาด "ทูลกระหม่อมติ๋ว" รับสั่งว่า "หากไม่ติดเกรงพระทัยทูลกระหม่อมชาย อยากจะทูลเชิญเสด็จน้ามาประทับอยู่ด้วยกัน"
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภาขึ้นทรงกรม เป็นกรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ เพียง ๑ ใน ๔ พระองค์ที่ได้ทรงกรม และเป็นเพียง ๑ ใน ๒ พระองค์ที่ทรงกรมขณะมีพระชนม์ชีพ และพระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาในรัชกาลที่ ๗
กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ทรงเคยกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ แต่รัชกาลที่ ๗ ไม่ทรงพระอนุญาต จึงทรงรับราชการเรื่อยมาจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองต์จึงได้เสด็จลี้ภัยตามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย
ในระหว่างที่ประทับรถไฟ ทรงคิดได้ว่าที่เมืองบันดุงจะหาหมากเสวยได้ยากลำบาก หากยังจะเสวยหมากอยู่อีกจะเป็นภาระและยุ่งยากนัก ด้วยความเด็ดเดี่ยวในพระทัย จึงทรงโยนเชี่ยนหมากทิ้งตรงชายแดนไทย-มาเลเซีย นับแต่นั้นมา ก็ไม่ทรงเสวยหมากอีกเลย แม้เมื่อเหตุการณ์สงบและเสด็จกลับมาเมืองไทยและประทับที่วังสวนผักกาดแล้วก็ตาม
คราพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๙ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่มีพระชนม์มากที่สุด จึงทรงร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีเป็นผู้ลาดพระที่ในคราวนั้นด้วย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี สิ้นพระชนม์เมื่อปี ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ พระชันษา ๙๔ ปี
[แก้] พระนามกรม
เจ้ากรมพระอาลักษณ์นั้น สามารถคิดพระนามกรมของพระเจ้าลูกเธอชั้น ๔ ให้คล้องจองกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังเช่นเสด็จอธิบดีนั้น มิมีผู้ใดคาดว่าจะได้ทรงกรม แต่เมื่อทรงกรมแล้วอาลักษณ์ก็สามารถคิดพระนามกรมให้เรียงกันได้ดังนี้
... นริศรานุวัดติวงศ์ - มรุพงศ์สิริพัฒน์ - ทิพยรัตนกิริฎกุลินี - สวัสดิวัดนวิศิษฎ์ - มหิศรราชหฤทัย...
[แก้] อ้างอิง
สมัยก่อนหน้า: กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ |
'พระนามกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี' |
สมัยถัดไป: สมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ |