พระเจ้านันทบุเรง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้านันทบุเรง (Nanda) พระราชโอรสพระองค์โตของพระเจ้าบุเรงนอง ได้เดินทางพร้อมพระราชบิดามาในทัพเมื่อคราวสงครามเสียสมเด็จพระสุริโยทัยเมื่อปี พ.ศ. 2091เมื่อพระชนมายุได้ 11 พรรษา
พระเจ้านันทบุเรง มีชื่อที่เรียกในภาษาพม่าว่า "นานเตี๊ยะบาเยง" ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2124 ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อขึ้นครองราชย์ มีพระนามว่า "หานตาวดี เซงยูงาซีเชง" แปลว่า "พระเจ้าหงสาวดีช้างเผือกทั้ง 5" พระเจ้านันทบุเรงมีพระประสงค์จะขยายอำนาจของอาณาจักรหงสาวดีให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โตยทำสงครามกับเมืองใหญ่น้อยต่าง ๆ รอบข้างรวมทั้งพิษณุโลกและอยุธยาด้วย ซึ่งผิดแผกไปจากพระเจ้าบุเรงนอง พระราชบิดาของพระองค์ เนื่องจากหลักการปกครองของพระเจ้าบุเรงนองจะเป็นไปในลักษณะเมืองใหญ่ปกครองเมืองน้อย ดูแลเมืองที่ขึ้นเป็นประเทศราชต่าง ๆ และผูกสัมพันธ์ไมตรีเอาไว้
พระองค์มีราชโอรสองค์โตชื่อ "เมงกะยอชวา" (ไทยเรียก มังสามเกียด) ที่เจริญชันษามาพร้อมกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และได้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหาอุปราชา ต่อมา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อปี พ.ศ. 2127 พระเจ้านันทบุเรงได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยาหลายต่อหลายครั้ง เช่น ปี พ.ศ. 2129 ที่พระองค์ยกทัพมาเองพร้อมกำลังทหารราว 2 แสน ปิดล้อมกรุงศรีอยุธยานานถึง 6 เดือน แต่ไม่สามารถหักตีเข้าได้ และในปี พ.ศ. 2135 ที่พระองค์ส่งพระมหาอุปราชยกทัพเข้ามาในขอบขัณฑสีมาของอยุธยา และได้กระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จนถึงขั้นสิ้นพระชนม์ขาดคอช้าง พระเจ้านันทบุเรงเมื่อทราบข่าว ทรงพิโรธมาก ทรงเข้าไปหาพระสุพรรณกัลยาที่ยังคงอาศัยอยู่ในกรุงหงสาวดีและใช้พระขรรค์ฟันพระนางพร้อมพระธิดาจนสิ้นพระชนม์ทั้ง 2 พระองค์
และเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทราบข่าวนี้ ก็ทรงพิโรธ ยกทัพมาด้วยความฮึกเหิม หมายจะเผากรุงหงสาวดีให้ราบคาบเพื่อเป็นการแก้แค้น แต่ก่อนหน้านั้น พระเจ้าอังวะได้แข็งเมืองได้วางแผนซ้อนกลลวงให้พระเจ้านันทบุเรงเสด็จออกจากเมืองไปเสียก่อน หงสาวดีเลยกลายเป็นเพียงเมืองร้าง และพระเจ้านันทบุเรงก็ได้ถูกจับกุมตัวไว้
วาระสุดท้ายของพระเจ้านันทบุเรง ถูกพระเจ้าตองอูและนัดจิงหน่องแย่งชิงราชบัลลังก์ สิ้นพระชนม์เพราะถูกวางยาพิษ ในปี พ.ศ. 2142 พระองค์จบพระชนชีพลงอย่างน่าอนาถเพราะเป็นนักโทษในคุกของพระเจ้าอังวะ
ภายหลังการสิ้นพระชนม์ อาณาจักรหงสาวดีที่เคยยิ่งใหญ่ก็อ่อนอำนาจลง เนื่องจากถูกศูนย์กลางแห่งอำนาจได้สูญเสียผู้นำที่เข้มแข็งลง ประกอบกับพระราชโยบายของพระเจ้าบุเรงนองที่เคยประนีประนอมกับหัวเมืองต่าง ๆ ได้ถูกทำลายลงในรัชสมัยของพระเจ้านันทบุเรง จนในที่สุดก็อ่อนแอลงเรื่อย ๆ และนำไปสู่การแตกสลาย มอญก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ ก่อนที่จะถูกสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรใหม่ในสมัยพระเจ้าอลองพญา ในอีกเกือบ 200 ปีต่อมา
พระเจ้านันทบุเรง มีพระนามที่ชาวไทยจะรู้จักดีในนาม "มังไชยสิงห์" หรือ "มังเอิน" ซึ่งเป็นนามที่ได้รับการตั้งโดยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เมื่อสามารถช่วยเหลือบิดาตนเอง คือ มหาอุปราชบุเรงนอง ระหว่างที่กำลังเพลี่ยพล้ำต่อทหารอยุธยาในคราวสงครามเสียสมเด็จพระสุริโยทัย ในปี พ.ศ. 2091 โดยที่มีอายุเพียง 11 ขวบเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกาจอีกพระองค์หนึ่งของพม่า พระองค์เองก็เคยทำยุทธหัตถีชนะพระเจ้าแปรได้ แต่ทว่าพระราชโยบายการปกครองของพระองค์เป็นไปอย่างเเข็งกร้าว ไร้ไมตรี จึงนำมาสู่การล่มสลายของอาณาจักรในที่สุด
รัชสมัยก่อนหน้า: พระเจ้าบุเรงนอง ราชวงศ์ตองอู |
พระเจ้านันทบุเรง (อาณาจักรหงสาวดี) ราชวงศ์ตองอู 2124 - 2142 |
รัชสมัยถัดไป: พระเจ้าอโนเพตลุน ราชวงศ์ตองอู |