พระธาตุจอมคีรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระธาตุจอมคีรี ตั้งอยู่บนยอดเขาเตี้ย ๆ ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ มีแต่พระธาตุหรือเจดีย์องค์เดียวเท่านั้น องค์พระธาตูตั้งอยู่ในเขตตำบลป่าแดด โดยมีทางแยกจากถนนสายใหญ่เข้าไปประมาณ 3 กิโลเศษ และมีทางรถยนต์วิ่งเลียบไปข้าง ๆ โรงเรียนป่าแดดวิทยาคม ตำบลป่าแดด อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย
[แก้] ตำนานพระธาตุจอมคีรี
จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา สรุปได้ความเดิมทีเดียวเป็นวัดเก่าร้าง มีเจดีย์เก่า ๆ อยู่ก่อนแล้ว และตามตำนานบอกว่าเดิมชื่อพระธาตุจอคีรี ในสมัยก่อน เมืองพะเยาเป็นอาณาจักรเอกราชในแคว้นล้านนา มีนามว่าเมืองภูกามยาว มีพ่อเมืองปกครองในฐานะกษัตริย์ ในครั้งนั้น พ่อเมืองของภูกามยาวพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระญาคำแดง ซึ่งมีพระอนุชา ทรงพระนามว่าพระญาคำลือ คราวหนึ่งพระญาคำลือ ได้ทรงขอพระอนุญาตพระเชษฐา เพื่อพาอำมาตย์เสด็จประพาสป่าเป็นเวลานาน 9 วัน
วันหนึ่ง ขณะที่พระญาคำลือทรงม้า อยู่บนเขาแห่งหนึ่ง พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นกวางงามตัวหนึ่งสีนำตาลปนแดง ดูคล้ายดั่งทอง พระองค์จึงรับสั่งให้พวกเสนาอำมาตย์ที่เป็นพรานไพรทั้งหลายพยายามคล้องบ่วงเชือกจับกวางนั้นมาให้ได้แต่พวกพรานทั้งหลายก็จับไม่ได้แม้แต่คนเดียวแถมมิหนำซ้ำ กวางยังไล่ควิดนายพรานหลายคนลอยขึ้นบนอากาศทำให้พระองค์แปลกใจมาก เพระพรานไพรต่างเข็ดขยาดไม่กล้าเข้าไปคล้องบ่วงเชือกกวางอีก และพระองค์แม้จะชำนาญในการคล้องเชือกเอาสัตว์นานาชนิดได้อย่างแม่นยำ แต่คราวนี้กลับผิดพลาดไปหมด ทว่ากวางนั้นไม่กล้าขวิดพระองค์ เอาแต่วิ่งหนีอย่างเดียว พระองค์ทรงวิ่งไล่ตามกวางนั้นไปเป็นระทางไกลแสนไกล จากเมืองภูกามยาวมาถึงเขาลูกหนึ่ง จนกวางนั้นหายลับไปกับตา ในที่สุดพระองค์ก็ทอดพระเนตรเห็นผู้หญิงคนหนึ่งรูปโฉมชวนพิศวงยิ่งนัก มีดวงตาประดุจตากวาง ทำให้พระองค์พลั้งวาจาออกไปว่าพระองค์มีบุญมากที่ได้พบนางเทพธิดาเจ้าป่าอย่างนี้ นางจึงเอ่ยปากถามว่าพระองค์เป็นใครมาจากไหน เมื่อพระองค์ทรงเล่าเรื่องให้ฟังนางได้ทราบตลอด นางจึงบอกแก่พระองค์ว่านางมิได้เป็นเทพธิดา และไม่ทราบมาจากไหนเช่นกัน ทราบแต่เพียงว่ามีฤๅษีตนหนึ่งได้เก็บมาเลี้ยงไว้เท่านั้น พระองค์ขอติดตามนางเข้าไปหาฤๅษี แต่นางบอกว่าพระฤๅษีอยู่ในถ้ำไกลมากซึ่งอยู่ในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระองค์ทรงทราบดีว่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันปรากฏต่อพระชษฐาธิราช คือพระญาคำแดงมาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งคราวนั้นพระญาคำแดงได้ติดตามนางเข้าไปถึงที่อยู่ของพระฤๅษี คือถ้ำแห่งหนึ่งปัจจุบันเรียกว่า "ถ้ำผาไฟ" ในอำเภองาว จังหวัดลำปาง แต่ครั้งนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นกับพระญาคำลือเอง พระองค์จึงถามนางต่อว่ามีประสงค์ใดถึงมาที่แห่งนี้ หรือพระฤๅษีมีธุระอันใดใช้ให้มา นางตอบว่าพระฤๅษีให้มาแสวงหาที่ปลอดสัตว์ (บริเวณที่สัตว์จะปลอดภัย)เพื่อปลดปล่อยสัตว์ที่มนุษย์ถูกรังแกหรือหมายจะเอาชีวิตของเขาทั้งหลาย เพราะพุทธองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมาโปรดสัตว์ในบริเวณนี้ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล บริเวณที่นางปรารถถึงคือบริเวณดอยคีรี ในอำเภอป่าแดด ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากเมืองภูกามยาวไป 40 กว่ากิโลเมตร
เมื่อพระญาคำลือเสด็จกลับได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้กับพระเชษฐาฟัง และทรงปรึกษากันว่าจะกระทำประการใด พอดีขณะนั้นพระมหาอุอะเส่งเดินทางจากเมืองม่าน(พม่า)เข้ามาในเมืองภูกามยาว ได้ถวายคำแนะนำแล้วอาสาจะไปเอาพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งมีคนนำมาจากลังกาทวีปมาไว้ที่เมืองม่าน (พม่า) โดยให้สร้างพระเจดีย์ พระญาคำแดงและพระญาคำลือได้ทรงสละพระราชทรัพย์ให้พระบัวจี๋นพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์มาตั้งวัด แล้วก่อเจดีย์ข้างในเพื่อบรรจุพระเกศาธาตุไว้ มีผู้คนเลื่อมใสอพยพมาตั้งถิ่นฐานตามเชิงเขามากพอสมควร และเรียกพระองค์ธาตุว่าพระธาตุจอมคีรี
วัดพระธาตุจอมคีรีจะตั้งอยู่นานเท่าไรไม่ปรากฏ มีคนไปพบพระเจดีย์ และสังเกตได้ว่าเป็นวัดร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2489 และในปีถัดมา พระครูบาศิริปัญญา เจ้าคณะตำบลป่าแดด ในสมัยนั้น ได้ก่อพระเจดีย์ใหม่เข้าทับตรงเจดีย์เก่าอีกครั้ง โดยตั้งชื่อว่าพระธาตุจอมคีรี และเรียกสืบกันมาตราบถึงบัดนี้
พระธาตุจอมคีรีจะมีประเพณี ในเดือน 6 คือวันวิสาขบูชา และทุกปีจะมีประชาชนเลื่อมใสไปเคารพกราบไหว้อยู่เสมอมิได้ขาด
[แก้] เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
- สมัยก่อนชาวอำเภอป่าแดดเรียกประเพณีขึ้นพระธาตุจอมคีรีว่า "งานทอผ้าขึ้นธาตุ ตักบาตรพระอุปครุต บูชาพระพุทธ บนสวรรค"(งานตอผ้าขึ้นต๊าด ตักบาตรพระอุ๊บปะคุ๊ด ปูจาพระปุ๊ทธ บนสวรรค์) ความสำคัญของงานนี้คือ การนำฝ้ายมายทอและย้อมเป็นผ้าเหลือง เพื่อแห่ขึ้นไปห่มตัวพระธาตุจอมคีรี ตักบาตรพระอุปครุต เชื่อกันว่าพระอุปครุตนั้นคือทศชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่เป็นพญานาคาอาศัยอยู่ใต้บาดาลจะขึ้มาโปรดมนุษย์โดยแปลงจะแลงเป็นเณรน้อยมาบิณฑบาตรตองเทียงคืน การบูชาพระพุทธบนสวรรค์คือการปล่อยโคมลอยเพื่อบูชาพระธาตุเกศแก้วมณีบนสวรรค์ กำหนดเวลาไม่แน่นอนเช่นการตักบาตรพระอุปครุตนั้น จะทำกันใน วันพุธ ขึ้น 4 ค่ำ เท่านั้น ซึ่งปีหนึ่งมีเพียงครั้งเดียว หรืออาจมี ถึงสองครั้ง และบางปี ก็ไม่มีวันใดตรงเลย และต้องกระทำการตักบตรตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนขึ้นไปเท่านั้เมื่อ วัน เดือน ปี กำหนดไม่ได้จึงได้ยกเลิกประเพณีนี้ไปเหลือเพียงงานทอผ้าห่มธาตุ บูชาองค์พระพุทธบนสวรรค์ แต่เนื้องด้วยการจัดงานมักใช้เวลาเตรียมงานค่อนข้างนานเสียเวลาสาเหตุเพราะการทอผ้านั้นยุ่งยากและสียเวลา แล้วผ้าเหลืองก็หาซื้อง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อนและปัจจุบันคงเหลือเพียงงานขึ้นพระธาตุเพียงอย่างทีชาวป่าแดดยังคงอนุรักษ์ไว้
- สาเหตุที่จังหวัดเชียงรายไม่ได้รวมพระธาตุจอมคีรีเข้าในหนึ่งพระธาตุ 9 จอม ทั้งที่พระธาตุจอมคีรีมีอายุเก่าแก่พอ ๆ กับพระธาตุจอมอื่น ๆ เพราะพระธาตุจอมคีรีถูกสร้างในเขตเมืองภูกามยาว และเจ้าเมืองภูกามยาว (จังหวัดพะเยา)มิใช่สร้างในเขตเมืองไชยนารายนคร (จังหวัดเชียงราย)
[แก้] อ้างอิง
- สารนุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 9 เรื่องพระธาตุจอมคีรี หน้า 4381-4382
- สงวน โชติสุขรัตน์ ประชุมลานนาไทย พ.ศ. 2515
- กรมศิลปากร การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือ พ.ศ. 2525
พระธาตุจอมคีรี เป็นบทความเกี่ยวกับ อาคาร หรือ สถานที่สำคัญ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ พระธาตุจอมคีรี ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |