พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาท ใน พระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีพระที่นั่งพิมานรัตยา พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา และ เรือนบริวาร หรือ เรือนจันทร์ ต่อเนื่องทางด้านหลังในเขตพระราชฐานชั้นใน พระที่นั่งองค์นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระที่นั่งทรงไทยแท้องค์เดียว ในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะเรือนยอดพระมหาปราสาท (กุฎาคาร) มีรูปทรงต้องด้วยศิลปะลักษณะอันวิจิตรงดงาม
[แก้] ประวัติ
เมื่อปี พ.ศ. 2332 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้น บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ซึ่งถูกฟ้าผ่าไหม้จนหมด จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมหาปราสาทขึ้นใหม่บนพื้นที่เดิม นามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
[แก้] ธรรมเนียม
เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จออกว่าราชการที่ท้องพระโรง นอกจากนั้นสถานที่นี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงด้วย อย่างเช่น เมื่อรัชกาลที่ ๑ เสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาตั้งไว้ที่พระที่นั่งองค์นี้ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่จะต้องประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า และ สมเด็จพระอัครมเหสีไว้บนพระที่นั่งองค์นี้
ในรัชกาลปัจจุบัน ได้ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระที่นั่งองค์นี้ไม่ได้เป็นเพียงที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพเท่านั้น ยังเป็นสถานที่เพื่อทำพระราชพิธีสำคัญด้วย อย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2454 ในรัชกาลสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ในปัจจุบัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี และ พระราชกุศลต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล ในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย หรือ กูเกิลแมป
- แผนที่ จาก มัลติแมป หรือ โกลบอลไกด์
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์