ธนาคารแห่งประเทศจีน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- ธนาคารแห่งประเทศจีน เป็นคนละธนาคารกับธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนและธนาคารกลางแห่งประเทศจีน ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
ธนาคารแห่งประเทศจีนจำกัด | |
---|---|
ประเภท | บริษัทหุ้นส่วน |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2455 |
ที่ตั้ง | ปักกิ่ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน |
บุคลากรหลัก | ประธานบริษัท ลี่ หลีหุ่ย |
อุตสาหกรรม | การเงิน |
ผลิตภัณฑ์ | บริการทางการเงิน |
รายได้ | 27.4 พันล้าน RMB (ข้อมูลจาก พ.ศ. 2548) |
พนักงาน | 209,265 คน |
เว็บไซต์ | http://www.boc.cn |
ธนาคารแห่งประเทศจีนจำกัด (หุ้นฮ่องกง: 3988) (อักษรจีนตัวย่อ: 中国银行; อักษรจีนตัวเต็ม: 中國銀行; พินอิน: Zhōngguó Yínháng หรือเขียนเป็นตัวย่อว่า 中行; ภาษาอังกฤษ: Bank of China หรือ BOC) คือหนึ่งในสี่ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2455 เพื่อแทนที่ธนาคารรัฐบาลต้าฉิง ซึ่งเป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศจีน โดยตั้งแต่การก่อตั้งของธนาคารจนถึง พ.ศ. 2485 ธนาคารนี้ได้ทำการออกธนบัตรในนามของรัฐบาลกลางร่วมกับอีกสามธนาคารใหญ่ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของในช่วงนั้น ได้แก่ ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน, ธนาคารกสิกรแห่งประเทศจีน และธนาคารแห่งการสื่อสาร (Bank of Communications หรือ BoComm ในปัจจุบัน) แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศจีนจะทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของจีนในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้ง แต่หลังจากที่ตำแหน่งนี้ถูกแทนที่โดยธนาคารกลางแห่งประเทศจีนในปี พ.ศ. 2471 ธนาคารแห่งประเทศจีนจึงกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ไปโดยสมบูรณ์
หลังจากสงครามกลางเมืองจีนสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2492 ธนาคารแห่งประเทศจีนได้แยกที่ทำการของธนาคารเป็นสองส่วนต่างหาก ส่วนหนึ่งตั้งเป็นธนาคารใหม่อยู่ในไต้หวันที่ปกครองโดยรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง และอีกส่วนหนึ่งตั้งที่ทำการอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศจีนในไต้หวันได้แปรรูปไปเป็นธนาคารเอกชนในปี พ.ศ. 2514 และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารพาณิชย์นานาชาติแห่งประเทศจีน ในเวลาต่อมา ธนาคารในไต้หวันจึงได้เข้ารวมกิจการกับธนาคารแห่งการสื่อสารไต้หวัน และรวมเป็นอัครธนาคารพาณิชย์นานาชาติ ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ธนาคารแห่งประเทศจีนยังคงมีลักษณะเป็นธนาคารที่รัฐบาลเป็นเจ้าของอยู่ดังเดิม
ธนาคารแห่งประเทศจีนเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่เป็นอันดับสองโดยรวมจีน (อันดับหนึ่งเป็นสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์และอุตสาหกรรมแห่งประเทศจีน) และเป็นผู้ให้กู้อันดับหนึ่ง ถ้าไม่รวมสถาบันการเงินเข้าไปด้วย และเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับแปดของโลกประเมินจากมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (Market capitalization value) อีกทั้งยังเป็นผู้ให้กู้เงินตราต่างประเทศอันดับหนึ่งในประเทศจีนอีกด้วย ครั้งหนึ่งเคยเป็นของรัฐบาลกลาง 100% ผ่านการถือหุ้นของบริษัทจัดการลงทุนหุยจิ่นกลางและคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อกองทุนประกันสังคม (SSF) ที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของอีกที ธนาคารแห่งประเทศจีนเริ่มเสนอขายหุ้นเป็นครั้งแรก (Initial public offering หรือ IPO) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-float) ในปัจจุบันอยู่ที่ 26%
ธนาคารแห่งประเทศจีนมีทรัพย์สินกว่า 3 ล้านล้านหยวน (RMB) และทำกำไรกว่า 52.7 พันล้านหยวนใน พ.ศ. 2545 ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านๆ มาถึง 20%
[แก้] สัดส่วนผู้ถือหุ้นส่วนเจ้าของบริษัท
- จากการตรวจสอบข้อมูลสัดส่วนผู้ถือหุ้นเจ้าของบริษัทในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2549 หลังจากการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (SEHK:3988) ผู้ถือหุ้นเจ้าของบริษัทมีดังนี้ ได้แก่
- บริษัทจัดการลงทุนหุยจิ่นกลาง ถือหุ้น 69.265%
- รอยัลแบงค์ออฟสกอตแลนด์สาขาประเทศจีน (RBS China) ถือหุ้น 8.467%
- บริษัทเอเชียไฟแนนเชียลโฮลดิ้งส์จำกัด (AFH Pte. Ltd.) ถือหุ้น 4.765% (บริษัทนี้เป็นบริษัทจัดการทรัพย์สินของบริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ โดยมีเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ควบคุมกิจการเป็นบริษัทลูกอย่างเต็มตัว)
- คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อกองทุนประกันสังคม (SSF): 4.576%
- UBS AG: 1.366%
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB): 0.205%
- ผู้ลงทุนรายย่อยที่ซื้อหุ้น H share (หุ้นฮ่องกง) เมื่อเริ่มมีการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก (IPO): 11.356%
[แก้] การทำการนอกจีนแผ่นดินใหญ่
ธนาคารแห่งประเทศจีน (ต่อจากนี้จะเรียกว่า BOC) มีธนาคารสาขาย่อยทำการอยู่ในหลายประเทศนอกสาธารณรัฐประชาชนจีนในลักษณะของบริษัทเอกชน แต่ธนาคารย่อยเหล่านี้ยังคงมี BOC ที่ตั้งอยู่ในปักกิ่งที่เป็นของรัฐบาลจีนควบคุมอยู่ BOC เริ่มตั้งสำนักงานทำการนอกประเทศแห่งแรกที่ฮ่องกง (ซึ่งในขณะนั้นยังคงตกอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิอังกฤษอยู่) ในปี พ.ศ. 2460 และกลายเป็นธนาคารชั้นนำที่เป็นคู่แข่งสำคัญของธนาคารสัญชาติอังกฤษต่างๆ ในฮ่องกง BOC เป็นธนาคารผู้ออกธนบัติให้กับฮ่องกงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 และเป็นผู้ออกธนบัติให้กับมาเก๊าตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา
ต่อมาสาขาทำการในฮ่องกงของ BOC ได้ทำการตั้งกลุ่มบริษัทใหม่และเปลี่ยนเป็นธนาคารแห่งประเทศจีน (ฮ่องกง) จำกัดมหาชน หรือ Bank Of China (Hong Kong) หรือ BOCHK ในปี พ.ศ. 2544 และต่อมาก็เข้าไปเปิดขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 โดยที่ทุนเรือนหุ้นของ BOCHK ถึงสองในสามเป็นของผู้ถือหุ้นรายย่อย ในปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของ BOC ฮ่องกงตั้งอยู่ในอาคารแบงค์ออฟไชน่าทาวเวอร์ ซึ่งเมื่ออาคารเปิดให้สาธารณชนเช่าเปิดสำนักงานในปี พ.ศ. 2533 อาคารดังกล่าวก็กลายเป็นอาคารที่สูงที่สุดในฮ่องกงไปอีกพักใหญ่
ธนาคารแห่งประเทศจีนเปลี่ยนจากบริษัทเป็นบริษัทจำกัดในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 และได้เข้าทำการเปิดขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (โดยขายหุ้นแยกกับ BOCHK ต่างหาก) และสามารถทำการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกได้มากที่กว่าสถาบันทางการเงินใดๆ ในโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา โดยในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่มีการเปิดตัวขายหุ้นสามารถทำรายได้ได้ 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีนักลงทุนรายย่อยสั่งซื้อหุ้น IPO ไปถึง 286 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง (36.7 พันล้าน USD) ซึ่งเป็นการสั่งซื้อหุ้นเกินยอดที่กำหนดไว้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยมีการสั่งซื้อเกินยอดที่กำหนดไว้กว่า 76 เท่าตัว จนทำให้มีนักวิชาการสาขาการวิเคราะห์การเงินบางส่วนออกมาเตือนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)เพิ่มสูงขึ้น กระนั้น กระแสสั่งซื้อจากนักลงทุนก็ไม่ได้ลดลงมากนัก และทำให้ราคาหุ้น IPO ของธนาคารแห่งประเทศจีนที่มีราคาเริ่มต้นที่ 2.95 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น มีราคาเพิ่มขึ้น 15% ในการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในวันถัดมาโดยเพิ่มเป็น 3.40 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น
ต่อมาธนาคารแห่งประเทศจีนได้ทำการเปิดตัวเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (อีกครั้ง) ที่ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ในปี พ.ศ. 2549 และสามารถทำรายได้ได้ประมาณ 20 พันล้านหยวน (2.5 พันล้าน USD) BOC นั้นเป็นธนาคารที่ดูเป็นสากลที่สุดในบรรดาธนาคารสัญชาติจีนทั้งหลาย โดยมีธนาคารสาขาย่อยตั้งทำการอยู่ในแทบทุกทวีป โดยมีที่ทำการอยู่ใน 25 ประเทศ ได้แก่ออสเตรเลีย, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, ประเทศฝรั่งเศส, เยอรมนี, ประเทศอิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, สหพันธรัฐรัสเซีย, ฮังการี, สหรัฐอเมริกา, ปานามา, บราซิล, ประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, คาซัคสถาน, บาห์เรน, แซมเบีย, แอฟริกาใต้ รวมถึงในประเทศไทย และยังมีสาขาย่อยอีกสาขาหนึ่งที่หมู่เกาะเคย์แมน (ที่ไม่ใช่ประเทศแต่เป็นอาณาเขตโพ้นทะเลใต้อาณัติของสหราชอาณาจักร) แต่แม้ว่าจะมีสาขาย่อยเป็นจำนวนมาก ระดับกิจกรรมการเงินภายนอกประเทศจีนโดยรวมกลับมีน้อยกว่า 4% ทั้งในด้านของกำไรและสินทรัพย์ ในขณะที่กิจกรรมทางการเงินในประเทศจีนนั้นทำกำไรให้กับ BOC ถึง 60% ของกำไรทั้งหมด และมีสินทรัพย์โดยรวม 76% ในประเทศจีนจากสินทรัพย์ทั้งหมดที่ BOC มี จากการประเมินในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548
ส่วนธนาคารหรือบริษัทที่ทำงานในด้านการเงินและมีความเกี่ยวข้องกับธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (เป็นธนาคารกลางของจีนในปัจจุบัน) และ BOC ได้แก่:
- ธนาคารการเกษตรแห่งประเทศจีน (中國農業銀行, Agricultural Bank of China)
- ธนาคารแห่งประเทศจีน (ฮ่องกง) หรือ BOCHK (中國銀行(香港)有限公司, Bank of China (Hong Kong))
- ธนาคารการก่อสร้างจีน (中國建設銀行, China Construction Bank)
- บริษัทลงทุนหลักทรัพย์นานาชาติจีน หรือ CITIC (中國國際信托投資公司, China International Trust Investment Company)
- ธนาคารพาณิชย์อุตสาหกรรมแห่งประเทศจีน หรือ ICBC (中國工商銀行, Industrial and Commerce Bank of China)
- กลุ่มบริษัทประกันภัยผิงอานแห่งประเทศจีน (中国平安, Ping An Insurance Company of China)
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาเซินเจิ้น (深圳發展銀行, Shenzhen Development Bank )
|
|
---|---|
ธนาคารกลาง | ธนาคารแห่งประเทศไทย |
ธ.พาณิชย์ไทย | กรุงเทพ • กรุงไทย • กรุงศรีอยุธยา • กสิกรไทย • เกียรตินาคิน • จีอี มันนี่ • ทหารไทย • ทิสโก้ • ไทยธนาคาร • ไทยพาณิชย์ • ไทยเครดิต • ธนชาต • นครหลวงไทย • ยูโอบี • แลนด์ แอนด์ เฮาส์ • สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) • เมกะ สากลพาณิชย์ • สินเอเชีย • เอ ไอ จี |
ธ.พาณิชย์ต่างประเทศ | แห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ • ซิตี้แบงก์ • ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอร์เรชั่น • เอช เอส บี ซี • ดอยซ์แบงก์ • เจพีมอร์แกน เชส • คาลิยง • แห่งอเมริกาเนชั่นแนลแอสโซซิเอชั่น • อินเดียนโอเวอร์ซีส์ • เอบีเอ็น แอมโร เอ็น.วี. • อาร์ เอช บี • โอเวอร์ซี-ไชนิสแบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น • แห่งประเทศจีน • มิซูโฮ คอร์ปอเรต • แห่งโนวาสโกเทีย • บีเอ็นพี พารีบาส์ • โซซิเยเต้ เจเนราล |
ธนาคารรัฐบาล | พัฒนาวิสาหกิจ (เอสเอ็มอี) • เพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส) • เพื่อการส่งออกและนำเข้า (เอ็กซิม) • ออมสิน • อาคารสงเคราะห์ • อิสลามแห่งประเทศไทย |
|
|
ธนาคารในอดีต | แหลมทอง • ศรีนคร • เอเชีย • รัตนสิน • ยูโอบีรัตนสิน • นครธน • สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน • ไทยทนุ • ดีบีเอสไทยทนุ • สหธนาคาร • มหานคร • กรุงเทพพาณิชยการ |
ดูเพิ่ม | ธนาคารโลก • ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ |