ชะนี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Hylobates
Hoolock
Nomascus
ชะนี (Gibbon) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับวานร เป็นลิงที่ไม่มีหาง (Apes) ซึ่งชะนีถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ Hylobatidae และถูกจัดให้เป็น 1 ใน 4 ลิงที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด (ประกอบไปด้วย ชะนี, ชิมแปนซี, อุรังอุตัง, กอริลลา ซึ่งชะนีมีความใกล้เคียงมนุษย์น้อยที่สุดในบรรดาทั้ง 4 นี้)
มีทั้งหมด 4 สกุล (แต่ข้อมูลบางแหล่งอาจใช้เพียงสกุลเดียว คือ Hylobates) 11 ชนิด 10 ชนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 1 ชนิด คือ ฮูล็อก (Hoolock, Hylobates hoolock) ที่พบในเอเชียใต้และจีนตอนใต้
สำหรับประเทศไทยพบทั้งหมด 4 ชนิด คือ
- ชะนีมือขาว (Hylobates lar)
- ชะนีมงกุฎ (Hylobates pileatus)
- ชะนีมือดำ (Hylobates agilus)
- ชะนีดำใหญ่ หรือ เซียมมัง (Symphalangus syndactylus)
ชีววิทยาของชะนีส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ โดยอยู่กันแบบครอบครัวที่มีผัวเดียวเมียเดียว แต่อยู่เป็นฝูง ฝูง ๆ หนึ่งมีสมาชิกตั้งแต่ 2-5 ตัว ชะนีมีแขนที่ยาวและแข็งแรงรวมทั้งมือ ใช้สำหรับห้อยโหนต้นไม้จากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งอย่างคล่องแคล่ว อาหารของชะนีหลัก ๆ คือ พืช จำพวก ใบไม้ ผลไม้ ต่าง ๆ แต่อาจจะกินสัตว์ขนาดเล็กได้เพื่อเพิ่มโปรตีน โดยปกติแล้วชะนีจะใช้ชีวิตแทบทั้งหมดอยู่บนต้นไม้สูง จะลงมาพื้นดินก็แค่ดื่มน้ำหรือเหตุอย่างอื่น ซึ่งตามปกติชะนีจะดื่มน้ำโดยการควักล้วงจากโพรงไม้หรือเลียตามใบไม้
ชะนีเป็นสัตว์ที่มนุษย์รับรู้ดีว่า มีเสียงร้องที่สูงและดังมาก มีหลายโทนเสียงและหลายระดับหลากหลายมาก สำหรับติดต่อสื่อสารกัน โดยเสียงร้องของชะนีมักจะร้องว่า "ผัว ๆ ๆ ๆ ๆ" ทั้งตัวเมียและตัวผู้ ดังนั้น คำว่า ชะนี จึงเป็นศัพท์สแลงในหมู่กะเทยที่หมายถึง ผู้หญิงแท้ ๆ ชะนีทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2535