จิ้งจอกแดง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิ้งจอกแดง จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับสัตว์กินเนื้อ วงศ์สุนัข มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vulpes vulpes ซึ่งอยู่ในวงศ์สุนัข (Canidae) มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับสุนัขทั่วไป แต่มีขนาดเล็กกว่า ขนตามลำตัว มีสีเทาแดงหรือสีน้ำตาลแดง บางตัวอาจมีสีน้ำตาลส้ม สีขนบริเวณปลายหูและขามีสีดำ สีขนอาจมีเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศ กล่าวคือ สีขนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงในช่วงที่มีอากาศมีความชื้นสูง
มีความยาวลำตัวและหัว 49-65 เซนติเมตร ความยาวหาง 20-40 เซนติเมตร รกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง จึงทำให้มีสายพันธุ์ย่อย (Subspecies) มากมายถึง 50 สายพันธุ์ พบทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง ปากีสถาน ภาคเหนือของอินเดีย เนปาล ภูฏาน ภาคเหนือของพม่า จีน ภาคเหนือของลาวและเวียดนาม
จิ้งจอกแดง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้อาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่หลากหลายได้ ป่าสนหรือป่าเบญจพรรณ พื้นที่แห้งแล้งแบบทะเลทราย และพื้นที่เกษตรกรรม กินอาหารได้หลากหลายประเภทตั้งแต่สิ่งมีชีวิต เช่น หนู กระต่าย นก แมลง และพยาธิต่าง ๆ ในบางครั้งอาจกินผักและผลไม้ด้วย เช่น กะหล่ำปลี เป็นต้น มักอาศัยและหากินอยู่เป็นคู่ จิ้งจอกแดงที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียสามารถผสมพันธุ์ได้เกือบตลอดทั้งปี ใช้เวลาตั้งท้อง 49-55 วัน โดยที่ตัวพ่อและแม่จะช่วยกันเลี้ยงดูลูกในรังช่วง 3 เดือนแรก เมื่อลูกมีอายุครบปีแล้ว ก็จะแยกตัวออกไปสร้างครอบครัวของตัวเอง
[แก้] ความเชื่อ
ดูบทความหลักที่ ปีศาจจิ้งจอก
ในความเชื่อของชาวจีนและชาวญี่ปุ่น เชื่อว่า จิ้งจอกแดงที่อายุมาก ๆ จะเป็นปีศาจสามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์และอาศัยปะปนอยู่รวมกับมนุษย์ได้ด้วย
[แก้] อ้างอิง
- ^ Macdonald, D.W. & Reynolds, J.C. (2004). Vulpes vulpes. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 2006-08-09. Database entry includes justification for why this species is of least concern
[แก้] ดูเพิ่ม