จามเทวีวงศ์และอาทิตยวงศ์ลำพูน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประวัติพระนางจามเทวีและราชวงศ์
นางพระยาขอมครองนครลำพูน คือสมญานามของพระนางเจ้าจามเทวี ย้อนไปเมื่อใน พ.ศ. 1204 วาสุเทพฤๅษีได้สร้างนครพิงค์ หรือเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน เมื่อสร้างเรียบร้อยแล้วเรียกว่า นครลัมภูณ แล้วส่งทูตไปขอเชื้อสายพระเจ้าจักรวัตติ ซึ่งเป็นกษัตริย์ขอมแห่งกรุงละโว้ในบุคเอกราชมาครองนครลัมภูณ เพราะไม่มีคนดีเสียแล้ว พระเจ้าจักรวัตติกรุงละโว้ได้ทรงประทานนางจามเทวีซึ่งเป็นราชธิดาของตน และเป็นชายาของเจ้ารามราชผู้ครองเมืองราชบุรีมาราชาภิเษก ครั้นเมื่อพระนางจามเทวีมาครองนครลัมภูณแล้ว ได้ทรงเรียกนครลัมภูณว่า นครหริภุญชัย ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกกันว่า ลำพูน เพราะพระนางได้ทรงนั่งบนกองเงินกองทองในพิธีราชภิเษก เป็นเอกนางพระยาขอใน พ.ศ. 1206 ซึ่งเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อในระหว่างที่สิ้นเชื้อสายของพระเจ้าโกณฑัญญวรมัน ผู้ครองกรุงฟูนัน(พนมเปญในปัจจุบัน) กับพระเจ้าศรีภววรมัน ผู้ครองกรุงวยาธปุระ ประเทศกัมพูชา เมื่อพระเจ้าศรีภววรมันตีฟูนันแตก และตั้งตนเป็นกษัตริย์แล้ว ก็มีหลายอาณาจักรที่เคยขึ้นกับฟูนันแต่ดั้งเดิมนั้น ก็มาอ่อนน้อมต่อประเทศกัมพูชา แต่บางอาณาจักรก็ตั้งตัวเป็นอิสระ เช่นอาณาจักรละโว้ เป็นต้น พระเจ้าจักรวัตติกรุงละโว้(ลพบุรี) ซึ่งเป็นพระบิดาของพระนางเจ้าจามเทวีก็ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ในระหว่างการจลาจลนั้นเหมือนกัน และได้รีบส่งพระนางจามเทวีขึ้นไปครองนครหริภุญชัย ตามคำเชื้อเชิญของวาสุเทพฤๅษีและชาวเหนือทั้งหลายดังกล่าว พระนางเจ้าจามเทวีทรงครรภ์โอรสฝาแฝดในขณะที่เดินทางมาครองนครหริภุญไชย ซึ่งขณะเดินทางเพื่อมาขึ้นครองราชย์ก็ได้ทรงครรภ์ฝาแฝดได้ 3 เดือน แล้ว พระองค์ได้เสด็จโดยทางเรือตามลำน้ำแม่ปิงได้ 7 เดือนจึงถึงเชียงใหม่ มีข้าราชบริพารติดสอยห้อยตามมาด้วยเพียง 500 คน กับพระสงฆ์ที่ทรงพระไตรปิฎกจากกรุงละโว้อีก 500 รูป พอถึงหริภุญไชยได้ 7 วัน ก็ทรงประสูติโอรสฝาแฝด 2 องค์ สำหรับองค์พี่นั้นพระนามว่า มหันตยศ ส่วนองค์น้องทรงพระนามว่า อนันตยศ หรืออีกนามหนึ่งว่า อินทวร พอทรงพระชนมายุได้ 5 พรรษา ทั้งสองพระโอรสก็ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงฝาแฝดราชธิดาของพระเจ้าลุงซึ่งครองกรุงละโว้ เจ้าหญิงทั้งสองก็ทรงมีพระชนม์เพียง 5 พรรษาเหมือนกัน เจ้ามหันตยศผู้เป็นเชษฐานั้น ครองนครหริภุญไชยเมื่อพระชนมเพียง 7 พรรษา ส่วนเจ้าอนันตยศผู้น้องนั้น พระฤๅษีสุพรหมซึ่งสถิตอยู่ที่ภูเขาสภบรรพตริมแม่น้ำวัง กับนายพรานเขลางค์ เชิญเสด็จไปครองนครเขลางค์ ซึ่งสุพรหมฤๅษีกับนายพรานเขลางค์เป็นผู้สร้างถวายพระนางเจ้าจามเทวี และใช้นามเขลางค์ของพรานผู้นั้นเป็นนามราชธานีหรืออีกนามหนึ่งก็เรียกกันว่า เมืองผากอง อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำวัง ในภายหลังเจ้าอนันตยศได้สร้างอีกเมืองขึ้นอีกเมืองหนึ่งทางตะวันตกตรงกันข้ามเรียกว่า นครลำพาง หรือลำปาง แล้วไปอัญเชิญพระนางเจ้าจามเทวีผู้เป็นมารดามาครองนครเขลางค์ ส่วนพระองค์นั้นได้ย้ายมาครองนครลำปาง พระนางจามเทวีครองเขลางค์อยู่ 3 ปี ก็ได้ย้ายไปครองลำปางอีก 3 ปี รวม 6 ปีเต็ม แล้วเสด็จกลับไปนครหริภุญชัยได้เพียง 7- 8 วันก็สิ้นพระชนม์ รวมเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น ส่วนพระเจ้ามหันตยศนั้นครองราชย์สมบัติอยู่ที่นครหริภุญชัยได้ถึง 80 ปี (นับตั้งแต่วันประสูติด้วย) ก็สิ้นพระชนม์
อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จมา ทรงเปิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2525 สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญไชยผู้ทรงมีคุณธรรม และเป็นนักปราชญ์ผู้กล้าหาญ
วัดพระนางจามเทวี ทรงสร้างวัดเป็นส่วนของพระนางนั้นถึง 5 วัด คือ 1. วัดอรัญญิกรัมการาม 2. วัดมาลุวราราม 3. วัดอาภัททาราม 4. วัดมหาวนาราม 5. วัดมหาสัตตาราม
วัดจามเทวี วัดจามเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกู่กุด ตั้งอยู่ริมถนนจามเทวี ตำบลในเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ตามถนนสายลำพูน – สันป่าตอง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1298 เป็นฝีมือช่างละโว้ ลักษณะพระเจดีย์ภายในวัดเป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ ภายในเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ตามตำนานเล่าว่า เจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระนาง เมื่อปี พ.ศ. 1298 เดิมมียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ ต่อมาจะเป็นสมัยใดยังไม่แน่ชัด ยอดพระเจดีย์หักหายไปชาวบ้านจึงเรียกว่า “กู่กุด” หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระเจดีย์สุวรรณจังโกฎิ”
พระบรมธาตุหริภุญชัย (ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง) เป็นพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานในพระเจดีย์ เป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ๆที่ลงตัวสวยงาม ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนาไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานนมัสการ และสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี
เชื้อพระวงศ์ของพระนางจามเทวี เมื่อเจ้ามหันตยศ ผู้ครองนครหริภุญชัยสิ้นพระชนม์แล้ว เชื้อสายแห่งราชวงศ์จามเทวีก็สืบราชสมบัติต่อๆ กันมาจนถึงในรัชสมัยของพระเจ้ากมลราช ซึ่งเป็นรัชกาลที่ 19 ได้เกิดโรคอหิวาตโรคระบาด ทำให้ประชาชนพลเมืองของเมืองหริภุญไชยล้มตายไปมากมาย และคาดกันว่าพระเจ้ากมลราชคงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคอหิวาต์ตามลงไปด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้นครหริภุญชัยได้กลายเป็นเมืองร้างนานอยู่ถึง 6 ปี พลเมืองได้พากันหนีไปทั่วทุกทิศทุกทาง บางพวกก็หนีไปอยู่ในประเทศรามัญ เช่น นครสุธรรมหรือสะเทิม และนครหงสาวดีหรือเดี๋ยวนี้ที่เรียกกันว่าพีกิว เมื่อ 6 ปีผ่านไปแล้ว บางพวกก็กลับมาอยู่ภูมิลำเนาเดิม บางพวกก็ไม่กลับมา โดยเฉพาะไอ้ที่หนีไปอยู่ทางประเทศรามัญนั้น เมื่อกลับมาก็ได้พาเอาพวกรามัญ (เม็ง-มอญ) มาอยู่ด้วยเป็นอันมาก พลเมืองของหริภุญชัยจึงแปรชาญไปเป็นรามัญมาก กษัตริย์ขอมได้ปกครองหริภุญชัยมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าอินทรวรราชแห่งรัชกาลที่ 28 ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย นับเป็นเวลานานถึง 384 ปี แต่ล้วนเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระนางจามเทวีทั้งสิ้น ซึ่งสิ้นสุดในพุทธศักราช 1590 (ระหว่างรัชกาลของพระเจ้าราเชทรวรมันที่ 2 กับรัชกาลของพระสุริยวรมันที่ 2 หรือปทุมสุริยวงศ์ กรุงกัมพูชา) และเป็นเหตุให้เกิดประวัติศาสตร์เป็นภาษาบาลีขึ้นเรียกว่าคัมภีร์จามเทวีวงศ์ ซึ่งพระโพธิ์รังษีชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่ง
เกล็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระนางจามเทวี
มีเรื่องเล่าสืบๆ กันมาว่า เดือนในจันทรคติ ที่ชาวเหนือใช้กันในทุกวันนี้ ผิดกับชาวใต้และชาติอื่นๆ คือผิดกันไปสองเดือน เช่น เดือน 11 ใต้เป็นเดือนเกี๋ยง หรือเดือน 1 เหนือ (เดือนอ้าย) เดือน 12 ใต้เป็นเดือน 2 เหนือ (เดือนยี่) ผิดกัน 2 เดือนตลอดขึ้นไปจนถึงเดือน 12 คือว่าเดือน 10 ของชาวใต้นั้นเท่ากับเดือน 12 ของชาวเหนือ สิ้นปีทางจันทรคติเพียงนั้น โดยเรื่องดังกล่าวมีมูลเหตุมาจากพระนางจามเทวีต้องการมีคู่ทุกข์คู่ยากกับเขาบ้าง เพราะได้ตกเป็นพุ่มหม้ายมาหลายปี จึงให้โหราศาสตร์ตรวจดวงชะตาราศีและฤกษ์ยาม บังเอิญเดือน 1 และ 2 เป็นเดือนร้าย ทำนองพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก หรืออยากไรก็ตาม พระนางจึงรับสั่งให้เลื่อนเดือน 2 ลงมาแทนเดือน 12 และเลื่อนเดือน 1 ลงมาแทนเดือน11 ซึ่งชาวเหนือเรียกกันว่าเดือนเกี๋ยง คือให้นับเดือน 11-12 ของชาวใต้เป็นเดือน 1 เดือน 2 ของอาณาจักรหริภุญชัย ด้วยเหตุนี้การนับเดือนในทางจันทรคติของชาวเหนือจึงผิดเพี้ยนไปทางไทยเงี้ยว, ไทยลื้อ, ไทยเขิน, ตลอดจนไทยใต้ ฯลฯ อยู่ในจนทุกวันนี้
ประวัติฟ้อนเทิดขวัญจามเทวี
ผู้ประดิษฐ์
นางสาวนภาพร ขาวสะอาด อาจารย์ประจำวิชานาฏศิลป์ โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน
ฟ้อนเทิดขวัญจามเทวี หรือเรียกว่าการฟ้อนเม็งคะบุตร นำออกแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ใน รายการศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ
แนวคิดในการประดิษฐ์ฟ้อนเทิดขวัญจามเทวี ผู้ประดิษฐ์ได้รับแรงบันดาลใจจาการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองลำพูน ตำนานที่เกี่ยวกับเมืองหริภุญชัยและพระนางจามเทวีตลอดจนข้อมูลทางโบราณคดี จึงได้ประดิษฐ์ฟ้อนเทิดขวัญจามเทวี หรือฟ้อนเม็งคะบุตรมาเพื่อต้องการเทิดทูนพระนางจามเทวีปฐมกษัตรีย์แห่งเมืองหริภุญชัย ผู้นำเอาความเจริญมาสู่ ณ ลุ่มแม่น้ำปิง
ต้นกำเนิดท่าฟ้อนและการแต่งกาย จากการศึกษาท่าฟ้อนซึ่งมีเหลืออยู่ไม่มากนัก นอกจากการฟ้อนพื้นบ้านคือการฟ้อนผีเม็งซึ่งมีลักษณะเป็นความเชื่อ ในการคิดประดิษฐ์ท่วงท่าฟ้อนตัวรองหรือสมมติว่าเป็นนางกำนัล จะฟ้อนด้วยท่วงท่าฟ้อนแบบพื้นเมือง คือฟ้อนเมือง หรือฟ้อนแห่ครัวทาน สำหรับตัวเอกหรือตัวกษัตรีย์ถือว่าเป็นผู้รับวัฒนธรรมจากละโว้ ดังนั้นท่าฟ้อนจึงออกท่วงท่าเป็นแบบลพบุรี
เครื่องแต่งกายมีอยู่ 2 แบบคือ 1.แบบชนชั้นสูงหรือกษัตรีย์ 2.แบบนางกำนัลหรือสามัญชน
การฟ้อนก็มีอยู่ 2 แบบเช่นเดียวกัน 1.แบบมีตัวเอก(ตัวกษัตรีย์แทนองค์พระนางจามเทวี) 2.แบบไม่มีตัวเอก (ฟ้อนกันเป็นหมู่คณะ)
ดนตรีและเพลงประกอบการฟ้อนเทิดขวัญจามเทวี อาจารย์รักเกียรติ ปัญญายศ วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ เป็นผู้ประพันธ์เพลง โดยได้ทำนองเพลงมาจากหมู่บ้านหนองดู อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ครั้งแรกในปี พุทธศักราช 2530 ใช้ชื่อเพลงว่า “เพลงมอญดำ”
ท่าฟ้อนเทิดขวัญจามเทวี 1. เบิกเมืองพระแม่เจ้า 2. ชาวประชาพร้อมสรรพ 3. เตรียมรับแม่หัว 4. อาทรทั่วทวยราษฎร์ 5. เข้มแข็งองอาจ 6. ปกราษฎร์ร่มเย็น 7. บังคมเทวี 8. รับเสาวนีย์พระแม่เจ้า 9. ตรวจพลเลียบเมือง 10. ทวยราษฎร์สืบสานศิลป์ 11. บูชาพระธาตุ 12. ทั่วธรณีร่มเย็น 13. ไร้ทุกข์เข็ญคง 14. ดำรังรัฐราษฏร์จามเทวี