การเลื่อนไหลของทวีป
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แนวคิดการเลื่อนไหลของทวีปนั้น (Continental drift) ได้รับการเสนอโดยนักอุตุนิยมวิทยาและนักธรณีฟิสิกส์ชาวเยอรมัน, อัลเฟรด เวเจเนอร์ เมื่อ พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ซึ่งกล่าวไว้ว่า ทวีปที่อยู่ทั้งสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกน่าจะเคยเชื่อมต่อกันมาก่อน โดยเชื่อมต่อกันเป็นมหาทวีปที่เรียกว่าแพงเจีย (Pangea, แพงกีอา) และล้อมรอบด้วยมหาสมุทรผืนเดียวกันเรียกว่าแพนทาลาสซา (Panthalassa) โดยอ้างหลักฐานจากข้อมูลทางสภาพภูมิศาสตร์บริเวณขอบของทวีปต่างๆ ได้แก่ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาเหนือ และ ทวีปอเมริกาใต้ ที่สามารถต่อกันเป็นพื้นเดียวกันได้อย่างเหมาะสม และข้อมูลการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นเผ่าพันธุ์คล้ายคลึงกันในทั้งสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก
โดยก่อนที่เวเจเนอร์จะสังเกตนั้น มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่เคยสังเกตการเลื่อนไหลของทวีปมาก่อนแล้วได่แก่ฟรานซิส เบคอน, อันโตนิโอ สไนเดอร์ เพลลิกรินี, เบนจามิน แฟรงคลิน ฯลฯ ในเบื้องต้นนั้นแนวคิดนี้ถูกเยาะเย้ยว่าไร้เหตุผลโดยนักภูมิศาสตร์ และ นักธรณีวิทยา หลายๆ คน เนื่องจากแนวคิดการเลื่อนไหลของทวีปนั้น ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดการเลื่อนไหลของทวีป และเกิดแรงมหาศาลที่ใช้ในการเลื่อนไหลได้อย่างไร แต่ในขณะเดียวกันแนวคิดนี้ก็ได้รับการสนับสนุนเช่นกันโดยอเล็กซานเดอร์ ดูทอยท์ นักธรณีวิทยาชาวแอฟริกาใต้ ร่วมทั้ง อาเธอร์ โฮล์มส
แม้ว่าแนวคิดการเลื่อนไหลของทวีปนั้น จะไม่ได้เป็นที่ยอมรับจนถึงปีทศวรรษ 1950s (พ.ศ. 2490~) แต่ต่อมาในปีทศวรรษ 1960s มีผู้เสนอหลายทฤษฏีที่สนับสนุน เช่น การขยายตัวของพื้นมหาสมุทร (Sea-floor spreading) และตอบคำถามที่แนวคิดการเลื่อนไหลของทวีปต้องการ คือสามารถอธิบายถึงสาเหตุและแรงที่ทำให้แผ่นทวีปมีการเลื่อนไหล จึงทำให้แนวคิดของเวเจอเนอร์เริ่มได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งต่อมาแนวคิดและทฤษฏีเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฏีใหม่ที่สำคัญที่สุดทางธรณีวิทยา นั่นคือทฤษฏี Plate Tectonics