การุณยฆาต
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การุณยฆาต หรือ ปรานีฆาต (อังกฤษ: euthanasia หรือ mercy killing; การุณยฆาตเป็นศัพท์ทางนิติศาสตร์ ส่วนปรานีฆาตเป็นศัพท์ทางแพทยศาสตร์[1]) หรือ แพทยานุเคราะหฆาต (อังกฤษ: physician-assisted suicide) หมายถึง
- การทำให้บุคคลตายโดยเจตนาด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรงหรือวิธีการที่ทำให้ตายอย่างสะดวก หรือ
- การงดเว้นการช่วยเหลือหรือรักษาบุคคล โดยปล่อยให้ตายไปเองอย่างสงบ
ทั้งนี้ เพื่อระงับความเจ็บปวดอย่างสาหัสของบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเป็นโรคอันไร้หนทางเยียวยา อย่างไรก็ดี การุณยฆาตยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นความผิดอาญาอยู่ในบางประเทศ กับทั้งผู้ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าคนชนิดนี้ก็เห็นว่าเป็นการกระทำที่เป็นบาป อนึ่ง การุณยฆาตยังหมายถึง การทำให้สัตว์ตายโดยวิธีการและในกรณีดังข้างต้นอีกด้วย
เนื้อหา |
[แก้] ประเภท
[แก้] การจำแนกประเภทตามเจตนา[2]
1. บุคคลซึ่งเจ็บป่วยสาหัสหรือได้รับทุกขเวทนาจากความเจ็บป่วยเป็นต้นสามารถแสดงเจตนาให้บุคคลอื่นกระทำการุณยฆาตแก่ตนได้ การนี้เรียกว่า "การุณยฆาตโดยเจตจำนง" (อังกฤษ: voluntary euthanasia)
2. ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะจะแสดงเจตนาเช่นว่า ผู้แทนโดยชอบธรรม กล่าวคือ ทายาทโดยธรรม ผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้พิทักษ์ หรือผู้อภิบาลตามกฎหมาย ตลอดจนศาลอาจพิจารณาใช้อำนาจตัดสินใจให้กระทำการุณยฆาตแก่บุคคลนั้นแทนได้ การนี้เรียกว่า "การุณยฆาตโดยไร้เจตจำนง" (อังกฤษ: involuntary euthanasia)
อย่างไรก็ดี การุณยฆาตโดยไม่จำนงยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงความชอบธรรมตามกฎหมายอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากไม่มีหนทางที่ทุกฝ่ายจะมั่นใจได้ว่า ผู้เจ็บป่วยต้องการให้กระทำการุณยฆาตแก่ตนเช่นนั้นจริง ๆ
[แก้] การจำแนกประเภทตามวิธีฆ่า
1. "การุณยฆาตโดยตัดการรักษา" (อังกฤษ: passive euthanasia) คือ การุณยฆาตที่กระทำโดยการตัดการรักษาให้แก่ผู้ป่วย วิธีนี้ได้รับการยอมรับมากที่สุดและเป็นที่ปฏิบัติกันในสถานพยาบาลหลายแห่ง
2. "การุณยฆาตโดยตัดปัจจัยดำรงชีวิต" (อังกฤษ: non-aggressive euthanasia) คือ การุณยฆาตที่กระทำโดยการหยุดให้ปัจจัยดำรงชีวิตแก่ผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้เป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน
3. "การุณยฆาตโดยเร่งให้ตาย" (อังกฤษ: aggressive euthanasia หรือ active euthanasia) คือ การุณยฆาตที่กระทำโดยการให้สารหรือวัตถุใด ๆ อันเร่งให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ซึ่งวิธีนี้เป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน
[แก้] การุณยฆาตและกฎหมาย
[แก้] ประเทศไทย
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2550 เป็นต้นไป ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแสดงเจตจำนงของผู้ป่วยที่จะไม่รับการรักษาดังต่อไปนี้พร้อมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง[3]
มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ "บริการสาธารณสุข" หมายความว่า บริการต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและบำบัดสภาวะความเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสมรรถภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชน "ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข" หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ |
||
[แก้] การุณยฆาตและศาสนา
[แก้] พุทธศาสนา
ตามพระพุทธศาสนา ฆราวาสถือเบญจศีลข้อหนึ่งเกี่ยวกับปาณาติบาตคือการห้ามทำลายชีวิตไม่ว่าของผู้อื่นหรือของตนก็ตาม กับทั้งห้ามยินยอมให้ผู้อื่นทำลายชีวิตของตนด้วย
ภิกษุเถรวาทถือวินัยข้อหนึ่งซึ่งปรากฏในปาฏิโมกข์ว่า "ภิกษุทั้งหลายไม่พึงพรากชีวิตไปจากมนุษย์ หรือจ้างวานฆ่าผู้นั้น หรือสรรเสริญคุณแห่งมรณะ หรือยั่วยุผู้ใดให้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น ท่านผู้เจริญแล้วเอ๋ย ท่านหาประโยชน์อันใดในชีวิตอันลำเค็ญและน่าสังเวชนี้กัน ความตายอาจมีประโยชน์สำหรับท่านมากกว่าการมีชีวิตอยู่ หรือด้วยมโนทัศน์เช่นนั้น ด้วยวัตถุประสงค์เช่นนั้น ถึงแม้ท่านไม่สรรเสริญคุณแห่งมรณะหรือยั่วยุผู้ใดให้ถึงแก่ความตาย ผู้นั้นก็จักถึงแก่ความตายในเร็ววันอยู่แล้ว"[4] [5] กล่าวคือ พุทธบัญญัติห้ามภิกษุทำลายชีวิตมนุษย์ไม่ว่าโดยวิธีการใด
[แก้] ความเห็นเกี่ยวกับการุณยฆาตในประเทศไทย
[แก้] ความเห็นสนับสนุน
- นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ให้ความเห็นว่า[6]
- "รัฐธรรมนูญใหม่ (หมายถึงฉบับ พ.ศ. 2540) บัญญัติไว้ว่า ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงเกิดความคิดว่า ควรจะให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวัง ไม่สามารถรักษาได้แล้ว รอวันจบชีวิตอย่างทนทุกข์ทรมาน มีสิทธิในการตัดสินใจว่าจะมีชีวิตอยู่หรือจบชีวิตลง เพราะการเลือกที่จะตายหรือมีชีวิตอยู่นั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ในกรณีที่เขาตัดสินใจเองไม่ได้ เช่น ภาวะจิตใจไม่สมบูรณ์ สมองไม่ทำงาน หรือเป็นผู้เยาว์ ก็ต้องมาพิจารณากันว่า ใครจะเป็นคนตัดสินใจแทน ใช้หลักเกณฑ์อะไร ในการตัดสิน และควรจะรับผิดอย่างไรในกรณีที่ตัดสินใจผิดพลาด"
- "เราต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วย เพราะว่าเขาอยู่อย่างทุกข์ทรมาน แต่การุณยฆาต ต้องใช้กับผู้ป่วยที่สิ้นหวังจริง ๆ ไม่สามารถรักษาได้แล้ว หรืออยู่ไปก็ทรมานมากเท่านั้น ถ้ายังมีโอกาสหายแม้เพียงน้อยนิดก็ไม่ควรทำ"
- "แพทย์และนักกฎหมายบางคนคิดว่ากฎหมายน่าจะเปิดโอกาส ให้ทำการุณยฆาตได้ คือ อนุญาตให้ผู้ป่วยมีสิทธิตัดสินใจเมื่อเขาเห็นว่าตัวเองไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ทุกข์ทรมานมากเกินไป ไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นคนอยู่แล้ว และบางทีการไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาจริง ๆ ถ้าเราเปิดโอกาสให้ทำการุณยฆาตได้บ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์"
[แก้] ความเห็นไม่สนับสนุน
- คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้ความเห็นว่า:[6]
- "เราคงไม่ต้องมาถกเถียงกันว่าการุณยฆาตเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่...เรารู้ได้อย่างไรว่า แพทย์ทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำไปด้วยเจตนาดีจริง ไม่ใช่ขี้เกียจทำงาน และเกณฑ์วัดว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ป่วยที่สิ้นหวังแล้วอยู่ตรงไหน รู้ได้อย่างไรว่ คนไข้ไม่มีโอกาสรอดแล้วจริง ๆ หมอวินิจฉัยถูกหรือเปล่า พยายามเต็มที่แล้วหรือยัง มีทางรักษาอื่นอีกหรือไม่ แพทยสภาต้องให้คำจำกัดความของคำว่า "สิ้นหวัง" ให้ชัด ๆ สิ้นหวังเพราะแพทย์หมดทางรักษาจริง หรือสิ้นหวังเพราะแพทย์ทำงานไม่เต็มที่ หรือเป็นเพราะญาติไม่เหลียวแล"
- "การทำการุณยฆาตมีช่องโหว่อยู่มากและมีโอกาสถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุตายแล้วเอาอวัยวะไปขาย หรือญาติให้ฆ่าเพื่อเอามรดก เป็นต้น สังคมจึงต้องเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องระหว่างแพทย์กับคนไข้เท่านั้น เพราะมันอาจจะเอื้อให้แพทย์ทำสิ่งผิดได้ เหมือนกับการวิสามัญฆาตกรรม ตำรวจเป็นผู้ที่ถืออาวุธมีสิทธิทำให้คนตายในขณะถูกจับกุมโดยที่ไม่มีใครเอาผิดได้ ในทำนองเดียวกัน แพทย์ก็เป็นผู้ที่ถือเข็มฉีดยาจะทำให้ผู้ป่วยตายเมื่อไหร่ก็ได้ active euthanasia เท่ากับเป็นการวิสามัญฆาตกรรม หรือการฆ่าในอีกรูปแบบหนึ่ง"
- "ถ้าจะมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้เหมือนในต่างประเทศ หมอคงค้านร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ให้เกิดแน่ เพราะว่ามันขัดกับหลักศาสนาพุทธอย่างแรง ถ้าเกิดได้ก็คงเป็นแบบ passive คือ หยุดให้การรักษาเท่านั้น แต่ถึงจะเป็นแบบ passive หมอบางคนก็ยังรู้สึกว่าการหยุดการรักษานั้นเป็นบาปอยู่ดี เหมือนกับให้หมอทำแท้งคือเราไปปลิดชีวิตหนึ่งทิ้ง ฟังดูเจตนาเป็นความกรุณา แต่แท้ที่จริงแล้วไม่แน่ใจว่า มันเป็นความกรุณาจริงหรือเปล่า"
[แก้] อ้างอิงและเชิงอรรถ
- ^ ราชบัณฑิตยสถาน. (ม.ป.ป.). ศํพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php. (เข้าถึงเมื่อ: 10 มิถุนายน 2551).
- ^ Voluntary Euthanasia. (2007, 4 December). Stanford Encyclopedia of Philosophy. [Online]. Available: http://plato.stanford.edu/entries/euthanasia-voluntary/. (Accessed: 9 June 2008).
- ^ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550. (2550, 19 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 124, ตอนที่ 16 ก).
- ^ แปลจากภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้ "Should any bhikkhu intentionally deprive a human being of life, or search for an assassin for him, or praise the advantages of death, or incite him to die (thus): 'My good man, what use is this wretched, miserable life to you? Death would be better for you than life,' or with such an idea in mind, such a purpose in mind, should in various ways praise the advantages of death or incite him to die, he also is defeated and no longer in communion."
- ^ Thanissaro Bhikkhu. (1994). Buddhist Monastic Code I: Chapter 4, Parajika. [Online]. Available: [1]. (Accessed: 11 June 2008).
- ^ 6.0 6.1 กุลธิดา สามะพุทธิ. (2543). การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา. สารคดี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.sarakadee.com/feature/2000/04/vote.shtml. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มิถุนายน 2551).
[แก้] ดูเพิ่ม
- แหล่งข้อมูลภายใน
- แหล่งข้อมูลภายนอก