See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
กฎบัตรอาเซียน - วิกิพีเดีย

กฎบัตรอาเซียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทความนี้หรือส่วนนี้ ได้รับแจ้งว่าควรมีการปรับปรุงในเรื่องการใช้ภาษา
รวมถึงการเรียบเรียงประโยค การแปลภาษา การทับศัพท์ การเขียนสะกดคำ ตลอดจนรูปแบบการเขียนอื่นที่ไม่เป็นสารานุกรม
คุณสามารถช่วยปรับปรุงแก้ไข โดยการปรับปรุงไวยากรณ์ให้เหมาะสม และแก้ไขคำศัพท์ให้ถูกต้อง ดูเพิ่มที่ คู่มือ และ นโยบายวิกิพีเดีย

กฎบัตรอาเซียน เป็นร่างสนธิสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อเป็นเครื่องมือในการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรของสมาคม ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้

ตามกำหนดการ จะมีการจัดทำร่างกฎบัตรอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550[1]

เนื้อหา

[แก้] เหตุใดอาเซียนจึงมิได้มีกฎบัตรมาแต่ต้น?

อาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยตราสารที่เรียกว่า ปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ปฏิญญากรุงเทพฯ’ (Bangkok Declaration) โดยหากพิจารณาจากเนื้อหาของตราสารและสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วงค.ศ.1967 พิจารณาได้ว่าอาเซียนจำต้องอาศัยรูปแบบความร่วมมือเชิงมิตรภาพในภูมิภาคและเลี่ยงการกำหนดสิทธิหน้าที่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้นำในภูมิภาคได้อาศัยอาเซียนเป็นเวทีดำเนินความร่วมมือบนพื้นฐานของความยินยอมและความสมัครใจของสมาชิกเป็นหลัก การดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือหรือการอาศัยฉันทามติ โดยเลี่ยงการอ้างสิทธิหน้าที่และการแทรกแซงทางการเมืองระหว่างสมาชิก (non intervention) ซึ่งแนวปฏิบัตินี้ที่เรียกว่า “The ASEAN Way” ได้ช่วยให้ความร่วมมือดำเนินมาได้โดยปราศจากความขัดแย้งรุนแรงแม้ว่าสมาชิกแต่ละประเทศจะมีระบบกฎหมายและนโยบายทางการเมืองที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่ออาเซียนมิได้มุ่งที่จะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาเป็นฐานในการดำเนินการ จึงมิได้มีการจัดทำสนธิสัญญาหรือกฎบัตรอาเซียนมาตั้งแต่ต้น

[แก้] กฎหมายระหว่างประเทศมีความสำคัญต่ออาเซียนอย่างไร?

แม้อาเซียนจะมิได้มีสนธิสัญญาหรือกฎบัตรมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาเซียนก็ได้พัฒนาความร่วมมือโดยอาศัยฐานในทางกฎหมายระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น การที่สมาชิกอาเซียนได้จัดทำสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia 1976 หรือ TAC) ซึ่งก็เป็นการนำหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิมแล้วมาเน้นย้ำระหว่างรัฐในภูมิภาค เช่น หลักการเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐ หลักการไม่แทรกแซงกิจการอันเป็นการภายในของแต่ละรัฐ ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติอยู่แล้ว เป็นต้น และอาเซียนก็ได้อาศัยหลักในสนธิสัญญาดังกล่าวมาเป็นหลักการที่อาเซียนยึดถือ และเป็นข้อแม้ในการต่อรองกับรัฐที่ไม่ใช่สมาชิกให้ลงนามเป็นภาคีก่อนจะได้รับให้เข้าร่วมประชุมกับอาเซียนนั่นเอง ข้อพิจารณาสำคัญคือสนธิสัญญาดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องหรือทำขึ้นกับอาเซียนโดยตรง และอาเซียนก็มิได้มีความสามารถในการทำสนธิสัญญาโดยตนเอง เพียงแต่รัฐที่อยู่ในบริเวณเอเชียอาคเนย์ได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าวเพื่อประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคและอาศัยอาเซียนเป็นเครื่องมือในการดำเนินความร่วมมือ และพันธกรณีหรือหน้าที่ตามสนธิสัญญานั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนโดยปริยาย นอกจากนี้อาเซียนยังได้เป็นเวทีที่ทำให้เกิดสนธิสัญญาในเรื่องอื่นๆ เช่น การทำให้ภูมิภาคปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ หรือล่าสุดในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนความตกลงเรื่องเศรษฐกิจและความร่วมมือเฉพาะด้าน เช่น ด้านการส่งเสริมสวัสดิการสังคม การศึกษา การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ สิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ ฯลฯ ซึ่งล้วนอาศัยอาเซียนเป็นกลไกสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้น แม้ในทางรูปแบบแล้วจะไม่ถือว่าอาเซียนได้ตั้งอยู่บนฐานกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ในทางเนื้อหากฎหมายระหว่างประเทศและความตกลงเหล่านี้ก็จะได้มีอิทธิพลต่อการดำเนินการของอาเซียนในช่วงเวลาที่ผ่านมา

[แก้] กฎบัตรอาเซียนมีความเป็นมาและกระบวนการจัดทำอย่างไร?

เมื่อเดือนธันวาคม 2540 ในการประชุม ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมประกาศ “วิสัยทัศน์อาเซียน 2020” (ASEAN Vision 2020) โดยกำหนดเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) อาเซียนจะมีรูปแบบความร่วมมือที่พัฒนาใกล้ชิดมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ต่อมาในการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 9 ในเดือนตุลาคม 2546 ที่บาหลี ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) เพื่อให้เกิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยจะประกอบด้วย 3 เสาหลัก (pillars) ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community–ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2547 ได้มีการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 10 ณ กรุงเวียงจันทน์ และบรรดาผู้นำอาเซียนได้ประกาศแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme) ซึ่งได้สนับสนุนการจัดทำกฎบัตรอาเซียนเพื่อรองรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2563 และในเดือนธันวาคม 2548 ได้มีการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 11 ณ กรุงบาหลี โดยบรรดาผู้นำได้ร่วมกันประกาศ หลักการสำคัญในการจัดทำกฎบัตรอาเซียนและได้มอบหมายให้ “คณะผู้ทรงคุณวุฒิ” (Eminent Persons Group) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการต่างประเทศจากแต่ละประเทศสมาชิก เป็นผู้จัดทำข้อเสนอแนะเบื้องต้นและลักษณะทั่วไปของกฎบัตรอาเซียน ซึ่งคณะผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้ประชุมหารือร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จนสามารถสรุปข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการจัดทำกฎบัตรในรูปแบบ “รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องกฎบัตรอาเซียน” ในเดือนธันวาคม 2549 ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2550 ในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 12 ณ กรุงเซบู บรรดาผู้นำได้ร่วมกันประกาศ รับรองรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับกฎบัตรอาเซียนและได้มอบหมายให้ “คณะทำงานระดับสูง” หรือ High Level Task Force ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญจากแต่ละประเทศสมาชิกเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำร่างกฎบัตรอาเซียนและเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โดยให้อาศัยหลักการสำคัญที่บรรดาผู้นำได้ร่วมกันประกาศไว้ ณ กรุงบาหลี และกรุงเซบู รวมถึงให้พิจารณาจากข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถนำร่างกฎบัตรไปพิจารณาในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 ณ ประเทศสิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ต่อไป จากนั้นก็จะได้มีการตรวจสอบ รับฟังความคิดเห็น ก่อนผู้นำจะลงนาม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ประชาไท, เปิดร่าง ‘กฎบัตรอาเซียน’ (ที่ร่างกัน 10 คนจาก 10 ประเทศอาเซียน), 9 พฤศจิการยน พ.ศ. 2550
ภาษาอื่น


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -