แอนโทนี แวน ไดค์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แอนโทนี แวน ไดค์ (ภาษาอังกฤษ: Sir Anthony van Dyck หรือ Sir Anthony van Dijck; ภาษาดัทช์: Antoon van Dyck) [2] (22 มีนาคม ค.ศ. 1599 - 9 ธันวาคม ค.ศ. 1641) เป็นจิตรกรยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาชาวเฟลมมิชซึ่งมาเป็นจิตรกรคนสำคัญประจำราชสำนักพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1ที่อังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้มีความเชี่ยวชาญในการเขียนภาพสีน้ำมัน โดยเฉพาะภาพเหมือน ภาพเขียนที่มีชื่อเสียงของแวน ไดค์เป็นภาพเหมือนของพระเจ้าชาร์ลที่ 1 และครอบครัวซึ่งวางท่าลักษณะสบายแต่สง่าแบบที่กลายมาเป็นแบบที่ใช้ในการเขียนภาพเหมือนต่อมาในอังกฤษเป็นเวลาราว 150 ปี
นอกจากภาพเหมือนแล้ว แวน ไดค์ยังเขียนภาพจากพระคัมภีร์และตำนานเทพ และเป็นจิตรกรคนสำคัญผู้ริเริ่มใช้สีน้ำ และ การแกะภาพโลหะ (etching)
เนื้อหา |
[แก้] ชีวิตเบื้องต้น
แอนโทนี แวน ไดค์เกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งที่อันท์เวิร์พในประเทศเบลเยียมปัจจุบัน และเป็นผู้มีความสามารถทางการเขียนมาตั้งแต่ต้น ภายในปี ค.ศ. 1609 ก็ได้เข้าศึกษาการเขียนภาพกับเฮนดริค ฟาน บาเล็น (Hendrick van Balen) และเป็นช่างเขียนอิสระเมื่อปี ค.ศ. 1615 ตั้งเวิร์คช็อพร่วมกับยาน บรูเกล ผู้ลูก (Jan Brueghel the Younger) เพื่อนรุ่นน้อง[3] เมื่อมีอายุได้ 15 ปี แอนโทนี แวน ไดค์ก็เป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงแล้วจากที่เห็นได้จาก “ภาพเหมือนตนเอง” ที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1613-1614. แอนโทนีได้รับเข้าเป็นสมาชิกสมาคมช่างเขียนเซนต์ลูคแห่งอันท์เวิร์พ (Antwerp painters' Guild of Saint Luke) ในฐานะช่างเขียนอิสระเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1618.[4] ภายในสองสามปึก็ได้เป็นผู้ช่วยเอกของปีเตอร์ พอล รูเบนส์จิตรกรผู้มีชื่อเสียงของอันท์เวิร์พและทางตอนเหนือของยุโรปทั้งหมด ผู้ใช้วิธืจ้างเวิร์คช็อพย่อยๆ ให้ทำงานให้เวิร์คช็อพใหญ่ของรูเบนส์เอง รูเบนส์มีอิทธพลต่อแวน ไดค์เป็นอันมาก และกล่าวถึงลูกศิษย์อายุ 19 ปีว่าเป็น “ลูกศิษย์คนเก่งที่สุดในบรรดาลูกศิษย์คนอื่นๆ”[5] ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์จะเป็นอย่างไรไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่สันนิษฐานกันว่าแวน ไดค์เป็นลูกศิษย์ของรูเบนส์ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1613 เพราะงานในสมัยนั้นมีลักษณะอิทธิพลของรูเบนส์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรแน่นอนไปกว่านี้[6] และอาจจะเป็นได้ว่าถึงแม้ว่าแวน ไดค์จะกลับมาอันท์เวิร์พบ้างในบางครั้งแต่แวน ไดค์ก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในต่างประเทศเพราะเมืองอันท์เวิร์พเริ่มหมดความสำคัญลง[6] ในปี ค.ศ. 1620 รูเบนส์ได้รับงานชิ้นสำคัญในการเขียนภาพบนเพดานวัดเยซูอิดที่อันท์เวิร์พ (ปัจจุบันถูกทำลายไปแล้ว) แวน ไดค์เป็นผู้หนึ่งที่ระบุไว้ว่าเป็นผู้วาดภาพจากการออกแบบของรูเบนส์[7]
[แก้] อิตาลี
ในปี ค.ศ. 1620 โดยการแนะนำของพี่ชายของดยุ๊คแห่งบัคกิงแฮม แอนโทนี แวน ไดค์เดินทางไปอังกฤษเป็นครั้งแรกเพื่อไปทำงานในราชสำนักของสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษเป็นเงินจำนวน £100[6] ในลอนดอนแวน ไดค์ได้เห็นงานของทิเชียนที่สะสมโดยทอมัส เฮาเวิร์ด เอิร์ลแห่งอารัลเดลที่ 21เป็นครั้งแรกซึ่งเป็นงานการใช้สีและการวางองค์ประกอบที่แวน ไดค์นำมาปรับปรุงเข้ากับทฤษฏีที่เรียนมากับรูเบนส์มาเป็นการวางรูปและการใช้สีแบบใหม่ของแวน ไดค์เอง[8]
สี่เดือนหลังจากนั้นแวน ไดค์ก็กลับไปฟลานเดอร์ส และในปี ค.ศ. 1621 ก็ได้เดินทางต่อไปอิตาลี ไปเรียนเพิ่มความรู้ในการเขียนภาพและสร้างชื่อเสียงอยู่ที่นั่น 6 ปี เมื่ออยู่ที่นั่นแวน ไดค์ก็มีชื่อเสียงว่าไม่เหมือนใคร เริ่มวางมาตรอย่างมิใช่คนอื่นซึ่งทำให้เป็นที่รำคาญของจิตรกรกลุ่มที่ใช้ชีวิตแบบโบฮีเมียที่โรม จนเบลลอรีกล่าวว่าแวน ไดค์วางท่าเหมือนเซอูซิส เหมือนกับว่าแวน ไดค์จะเป็นเจ้านายมากกว่ามนุษย์เดินดิน แวน ไดค์จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่หรูหราเพราะความที่เคยอยู่ในแวดวงของรูเบนส์และคนชั้นสูงๆ อื่นๆ และตัวของแวน ไดค์เองก็เป็นคนหัวสูงอยู่แล้วจึงต้องทำตัวให้เป็นที่เด่น โดยการแต่งตัวด้วยผ้าไหม ใส่หมวกปักขนนกกลัดด้วยเข็มกลัดอัญมณี ใส่สร้อยทองบนใหล่และมีคนใช้ติดตาม[9]
แวน ไดค์ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เจนัวแต่ก็ท่องเที่ยวไปตามเมืองต่างๆ และไปอยู่ที่ปาร์เลอโมในซิซิลีอยู่พักหนึ่ง ระหว่างที่อยู่เจนัวก็เขียนรูปให้กับเจ้านายที่นั่นโดยการเขียนภาพเหมือนแบบเต็มตัวที่ได้อิทธิพลมาจากการเขียนแบบเวโรนา, ทิเชียน และรูเบนส์ ซึ่งผู้เป็นแบบจะดูสูงแต่สง่าและมองลงมาหาผู้ดูอย่างทรนง ในปี ค.ศ. 1627 แวน ไดค์เดินทางกลับไปอันท์เวิร์พและไปอยู่ที่นั่นอีกห้าปีเขียนภาพให้กับชาวเฟลมมิชตามลักษณะที่เขียนที่เจนัวคือทำให้ผู้เป็นแบบมีลักษณะที่สง่าที่สุดเท่าที่จะทำได้ งานเขียนรูปเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล 24 ภาพที่บรัสเซลส์ถูกทำลายไปหมดเมื่อปี ค.ศ. 1695[10] แวน ไดค์มีเสน่ห์กับลูกค้าและเหมือนกับรูเบนส์ที่เข้ากับเจ้านายได้อย่างสนิทสนมจึงสามารถได้รับสัญญาว่าจ้างจากลูกค้า เมื่อปี ค.ศ. 1630 แวน ไดค์ก็ได้เป็นช่างเขียนประจำสำนักของอาร์คดัชเชสอิสซาเบลลาผู้ว่าการฟลานเดอร์สของแฮ็บสเบิร์ก ในระยะเดียวกันนี้แวน ไดค์ก็วาดจิตรกรรมทางศาสนาหลายชิ้นโดยเฉพาะฉากแท่นบูชาและเริ่มงานภาพพิมพ์ด้วย
[แก้] อังกฤษ
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งของอังกฤษที่นิยมการสะสมศิลปะเพราะทรงถือว่าเป็นเครื่องส่งเสริมความหรูหราโอ่อ่าของพระบารมีขึ้น ในปี ค.ศ. 1628 ทรงซึ้องานสะสมศิลปะของกอนซากาดยุ๊คแห่งมานตัวที่จำต้องขาย นอกจากนั้นก็ยังทรงพยายามชักชวนจิตรกรชาวต่างประเทศผู้มีชื่อเสียงเข้ามาทำงานกับราชสำนักตั้งแต่เริ่มขึ้นครองราชย์ เมื่อปี ค.ศ. 1625 ในปี ค.ศ. 1626 ทรงสามารถเชิญโอราซิโอ เจ็นทิเล (Orazio Gentileschi) จากอิตาลีให้มาตั้งหลักแหล่งในอังกฤษได้ ต่อมาอาร์เทมิเซีย เจ็นทิเลสชิลูกสาวและลูกชายของก็ตามมาด้วย ศิลปินผู้ทรงอยากชวนให้มาจะให้มาที่สุดคือRubens ผู้ซึ่งต่อมาก็มาอังกฤษในฐานะทางการทูตซึ่งก็มาเขียนรูปด้วย ในปี ค.ศ. 1630 และต่อมาอีกครั้งโดยเอาภาพเขียนจากอันท์เวิร์พมาด้วย ระหว่างที่มาอยู่ที่ลอนดอน 9 เดีอนก็ได้รับการรับรองเป็นอย่างดีและได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง แดเนียล ไมเตนสชาวเฟลมมิชเป็นช่างเขียนภาพเหมือนของพระเจ้าชาร์ลที่ 1 ที่ไม่มีอะไรพิเศษนักและการที่พระเจ้าชาร์ลที่ 1 มีพระวรกายที่สูงเพียงไม่ถึงห้าฟุตก็มิได้ช่วยทำให้การเขียนภาพเหมือนของพระองค์ที่ทำให้ดูสง่าผึ่งผายง่ายขึ้นเท่าใดนัก
ขณะที่ไม่ได้อยู่อังกฤษแวน ไดค์ก็ยังมีการติดต่อกับทางราชสำนักอังกฤษอยู่ และยังเป็นผู้ช่วยตัวแทนของราชสำนักอังกฤษในการเสาะหาภาพเขียนในยุโรปสำหรับการสะสมของพระเจ้าชาร์ล นอกจากนั้นก็ยังหาภาพของช่างเขียนคนอื่นแล้ว แวน ไดค์ก็ยังส่งงานของตนเองไปด้วยรวมทั้งภาพเหมือนของตนเองและเอ็นดีเมียน พอร์เตอร์ (Endymion Porter)--ตัวแทนของพระเจ้าชาร์ลคนหนึ่ง--ที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1623; ภาพตำนานเทพ “รินาลโดและอาร์มิลดา” (Rinaldo and Armida)-ค.ศ. 1629 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะบัลติมอร์; และงานศิลปะศาสนาสำหรับพระชายาของพระเจ้าชาร์ล แวน ไดค์เขียนภาพของอลิสซาเบ็ธแห่งโบฮีเมียผู้เป็นพระขนิษฐาของพระเจ้าชาร์ลที่กรุงเฮกเมื่อปี ค.ศ. 1632 ในเดือนเมษายนของปีเดียวกันแวน ไดค์ก็กลับไปอังกฤษและได้เข้ารับราชการในราชสำนักทันที ในเดือนกรกฎาคมก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางและได้รับค่าบำรุงปีละ £200 ต่อปี ตามคำบรรยายหน้าที่ว่า “ช่างเขียนเอกประจำพระองค์” นอกจากเงินประจำปีแล้วตามทฤษฏีจะได้ค่าจ้างเขียนภาพแต่ละภาพเป็นจำนวนมากต่างหาก แต่อันที่จริงแล้วพระเจ้าชาร์ลมิได้จ่ายค่าบำรุงเป็นเวลาถึงห้าปีและลดราคาค่าเขียนภาพหลายภาพ นอกจากนั้นก็ยังมีบ้านให้ที่ริมแม่น้ำที่แบล็คฟรายเออร์ส ซึ่งขณะนั้นอยู่นอกตัวเมืองลอนดอน ฉะนั้นจึงไม่ต้องขึ้นกับสมาคมช่างเขียนของลอนดอน (Worshipful Company of Painter-Stainers) สำหรับบ้านพักนอกเมืองก็เป็นห้องชุดที่วังเอลแธมซึ่งเป็นวังที่ราชวงค์มิได้ใช้แล้ว ห้องเขียนภาพที่แบล็คฟรายเออร์สซึ่งเป็นที่ที่พระเจ้าชาร์ลและพระราชินีเฮ็นเรียตตา มาเรียพระชายาชอบเสด็จมาเยี่ยมบ่อยๆ จนในที่สุดก็ต้องสร้างทางเดินเพื่อเข้าออกได้สะดวก หลังจากแวน ไดค์เข้ามาเป็นช่างเขียนประจำพระองค์ พระเจ้าชาร์ลก็เกือบมิได้นั่งให้ช่างเขียนอื่นเขียนภาพของพระองค์อีก[6] [11]
[แก้] อ้างอิง
- ^ So Ellis Waterhouse (as refs below). But Levey (refs below) suggests that either van Dyck is the sun to which the sun-flower (of popular acclaim?) turns its face, or that it is the face of the King, on the medal he holds, as presented by van Dyck to the world
- ^ เดิม “van Dijck”, ด้วย “IJ” digraph ในภาษาดัทซ์. ชื่อ “Anthony” แปลงมาเป็นภาษาอังกฤษจากภาษาเฟล็มมิช Anthonis หรือ Antoon บางครั้งก็จะใช้ Anthonie, Antonio หรือ Anthonio หรือ Antoine ในภาษาฝรั่งเศส และ Anthonio หรือ Antonio ในภาษาอิตาลี ในภาษาอังกฤษใช้ “V” จนกระทั่งมาในระยะหลังจึงเปลี่ยนเป็น “v”
- ^ Brown, Christopher: Van Dyck 1599-1641, page 15. Royal Academy Publications, 1999. ISBN 0 900946 66 0
- ^ Gregory Martin, The Flemish School, 1600-1900, National Gallery Catalogues, p.26, 1970, National Gallery, London, ISBN 0901791024
- ^ Brown, page 17.
- ^ 6.0 6.1 6.2 6.3 Ellis Waterhouse, "Painting in Britain, 1530-1790", 4th Edn, 1978,pp 70-77, Penguin Books (now Yale History of Art series)
- ^ Martin, op and page cit.
- ^ Brown, page 19.
- ^ Michael Levey, Painting at Court, Weidenfeld and Nicholson, London, 1971, pp 124-5
- ^ DNB accessed may 14 2007
- ^ DNB ret May 3, 2007 (causeway, and Eltham)
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ แอนโทนี แวน ไดค์
- ชืวประวัติของ แอนโทนี แวน ไดค์ (Web Gallery of Art)
- ภาพเขียนของ แอนโทนี แวน ไดค์: ภาพเหมือน (Web Gallery of Art)
- ภาพเขียนของ แอนโทนี แวน ไดค์: ภาพเขียนอื่นๆ (Web Gallery of Art)
[แก้] สมุดภาพ
“ภาพเหมือนตนเอง” |
“มารี ลุย เดอ แทสซีส์” |
“พระราชินีเฮ็นเรียตตา มาเรีย” |
||
“เจมส์ สจ๊วต, ดุคแห่งริชมอนด์” |
“เลดีอลิสซาเบธ ธิมเบิลบีและ |
แอนโทนี แวน ไดค์ เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ แอนโทนี แวน ไดค์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |